แหวะนม อาการที่พบได้บ่อยในทารก เรื่องปกติที่ต้องระวัง !

ในช่วงที่เพิ่งคลอดลูกออกช่วงแรก หากเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ที่ไม่ได้มีใครให้คำปรึกษา หรือไม่มีโค้ชอย่างใกล้ชิด อาจจะมีอาการแพนิกหรือตื่น 

 927 views

ในช่วงที่เพิ่งคลอดลูกออกช่วงแรก หากเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ที่ไม่ได้มีใครให้คำปรึกษา หรือไม่มีโค้ชอย่างใกล้ชิด อาจจะมีอาการแพนิกหรือตื่นตระหนก ในทุกอาการที่เกิดกับลูกได้ ซึ่งข้อนี้รวมไปถึงอาการ แหวะนม อาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยในทารก แต่พ่อแม่อาจจะไม่เข้าใจ

วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความเข้าใจกับอาการแหวะนมของทารก อาการปกติที่เกิดขึ้นได้ กับเด็กที่อายุยังไม่ถึง 6 เดือน แล้วแม่จะต้องระวังเพราะอะไร หาคำตอบได้เลยที่นี่ค่ะ !

อาการแหวะนมคืออะไร ?

อาการแหวะนม เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทารก ที่ยังอายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณหลอดอาหารและกระเพาะ ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ซึ่งทารกบางราย อาจจะมีอาการแหวะนมที่ไหลออกทางจมูกได้ พ่อแม่อาจจะต้องเฝ้าระวังอาการสำลัก ที่อาจจะเกิดกับเด็กเล็กได้ค่ะ

ซึ่งอาการลูกอ๊อกนม หรือแหวะนม เป็นอาการที่ลูกบ้วนหรือสำรอกออกมาหลังจากการกินนม เมื่อลูกกินนมมากเกินกว่าที่กระเพาะอาหารจะรับได้ ทำให้น้ำนมไหลย้อนกลับขึ้นมา ประกอบกับนมเป็นของเหลว ที่สามารถไหลย้อนได้ง่าย บางครั้งอาจจะออกมาในลักษณะคล้ายลิ่มเต้าหู้ ซึ่งสาเหตุของการแหวะนมที่พบได้บ่อย ก็คือการกินนมมากเกินไป หรือกินนมบ่อยเกินไปนั่นเองค่ะ

แหวะนม



ลูกแหวะนมอันตรายหรือไม่ ?

การแหวะนมเกิดได้บ่อยหลังการกินนม ไม่อันตรายและไม่ส่งผลกระทบต่อสารอาหารที่ทารกได้รับ หากลูกยังสามารถกินนมได้ต่อได้หลังจากแหวะนม ก็ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร แต่ถ้าเมื่อไรที่ลูกแหวะนม แล้วมีสิ่งเจือปนอื่นด้วย เช่น มีเลือด หรือสีเหลืองของน้ำดี หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ อาการเหล่านี้ต้องพาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด



อาการแหวะนมแบบไหนที่ผิดปกติ

กล่าวคือเมื่อลูกแหวะนมที่มากเกินไป ส่งผลให้ลูกกินแค่ไหนก็น้ำหนักไม่ขึ้น ลูกร้องไห้บ่อย ไม่กินนมทั้งที่หิวนม ไอหรือสะอึกขณะดูดนม แหวะสีเหลืองมีน้ำดีหรือเลือดปน มีอาการอาเจียนพุ่ง มีภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ สำลัก หายใจหอบ อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกรดไหลย้อน (Gerd) ควรนำลูกไปพบคุณหมอ ซึ่งในทารกบางรายอาจจะมีการแหวะนม จนเกิดการสำลักได้ พ่อแม่จึงควรระวังข้อนี้เป็นพิเศษ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกอาเจียน (Vomiting) สัญญาณบอกโรคอันตราย ที่พ่อแม่ควรระวัง !



วิธีไม่ให้ลูกแหวะนม

1. จับลูกไล่ลมหลังมื้อนม

แนะนำให้จับลูกเรอทุกครั้งหลังกินนมอิ่ม เพื่อไล่ลมออกจากกระเพาะ โดยให้คุณแม่อุ้มลูกตัวตั้งขึ้น 20-30 นาที จะจับตั้งในท่านั่งหรืออุ้มพาดบ่าก็ได้ เวลาที่ลูกเรออาจมีเสียงเบา หรืออาจไม่มีเสียงก็ได้



2. ไม่ปล่อยให้ลูกหิวนมมาก

เพราะความหิวจะทำให้รีบและดูดมากกว่าปกติ หากลูกกินนมที่มากเกินจากที่กระเพาะรับได้ จะทำให้ลูกแหวะนม แนะนำคุณแม่ควรให้นมลูกตรงตามเวลา



3. ไม่ให้นมขณะลูกร้องไห้

หากลูกร้องไห้ขณะจะให้นม ควรปลอบลูกให้หยุดร้องไห้ เพราะหากให้ลูกดูดนมทั้งยังร้องไห้ จะทำให้ลูกดูดลมเข้าไปในท้องด้วย



4. จัดท่าให้นมที่ถูกต้อง

ไม่ว่าจะให้ลูกดูดนมแม่หรือดูดจากขวด ควรจัดท่าให้นมในท่าที่ลูกสบาย ด้วยการยกศีรษะลูกขณะกินนม ให้สูงตรงขึ้นเล็กน้อย



แหวะนม



5. ไม่ให้นมในปริมาณที่มากเกินไป

การให้นมที่มากเกินที่กระเพาะรับได้ จะทำให้ลูกแหวะนมออกมา จึงควรสังเกตว่าการที่ลูกร้องไห้ อาจไม่ได้เป็นเพราะหิวนมเสมอไป



6. ระวังการเคลื่อนไหวลูกก่อนและหลังให้นม

ก่อนการให้นมและหลังให้นม ควรระวังไม่ให้ลูกเคลื่อนไหวร่างกายแรง ๆ หลังการกินนม เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการแหวะนมออกมา



7. สังเกตจุกของขวดนม

หากบ้านไหนเลี้ยงลูกด้วยการกินนมขวด ควรดูให้แน่ใจว่ารูจุกนมไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ที่จะทำให้ลูกดูดเอาลมเข้าไปพร้อมการกินนม



8. เปลี่ยนสูตรนมผง

หากลูกกินนมผงอาจพิจารณาเปลี่ยนสูตร ที่เหมาะกับระบบย่อยและทางเดินอาหารของลูก ซึ่งช่วยลดอาการแหวะนมได้ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอได้



9. ใช้หมอนหรือเบาะกันกรดไหลย้อน

หากแก้ยังไงก็ไม่หาย ลองเปลี่ยนมาใช้หมอนกันกรดไหลย้อน หรือเบาะนอนกันกรดไหลย้อนร่วมด้วย ซึ่งออกแบบให้มีองศาการลาดเอียงที่เหมาะสม ช่วยกันการแหวะนม อ๊อกนม และป้องกันกรดไหลย้อนได้ดี


ปัญหาการแหวะนมของลูก เป็นอาการที่สามารถค่อย ๆ ดีขึ้น และหายไปได้เองตามธรรมชาติในช่วง 3-4 เดือนหลังคลอด แต่ถ้าหากยังไม่ดีขึ้น อาจจะพิจารณาการให้อาหารเสริมลักษณะข้นกว่าน้ำนม ที่จะช่วยลดอัตราการแหวะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีทารกบางราย ที่ยังมีอาการแหวะนมไปจนอายุ 10-12 เดือน ถึงจะอาการดีขึ้นเช่นกันค่ะ

เมื่อเวลาผ่านไป ลูกอาจจะมีการพัฒนาระบบย่อยอาหารที่แข็งแรงขึ้น และหายจากการแหวะนมได้ค่ะ แต่ถ้าลูกยังมีอาการแหวะนมอยู่ และยังไม่ดีขึ้นอาจจะพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษาและวิธีดูแลที่ถูกต้องได้ค่ะ เพราะหากปล่อยไว้จนมากเกินไป อาจจะมีอาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้




บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ลูกมีผื่นแดง ปัญหาผิวที่แม่ป้องกันได้ แค่เพียงรู้สาเหตุ !

โรคไอกรน (Pertussis) ในเด็กเล็ก ป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ !

โรคโปลิโอในเด็ก กลุ่มอาการรุนแรงมากที่สุด ป้องกันอย่างไร ?

ที่มา : 1