มะเร็งปากมดลูก โรคร้ายที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต อันดับต้น ๆ ของหญิงไทย

หนึ่งในมะเร็งตัวร้ายอย่าง มะเร็งปากมดลูก หนึ่งในโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิงไทย และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ที่มักเกิดจากการมีเพศสัม 

 729 views

หนึ่งในมะเร็งตัวร้ายอย่าง มะเร็งปากมดลูก หนึ่งในโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิงไทย และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ที่มักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่หลายคนไม่เคยรู้ วันนี้ Mamastory จะพาไปรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น และไปดูกันค่ะว่ามีวิธีไหนบ้างที่สามารถลดความเสี่ยง ในการเกิดมะเร็งปากมดลูกบ้าง

มะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร ?

โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่เกิดขึ้นในเซลล์ปากมดลูก ที่อยู่บริเวณช่วงล่างที่เชื่อมต่อกับช่องคลอด โดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส หรือเอชพีวี (HPV) ที่มักติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัส จะอยู่ในร่างกายประมาณ 10-15 ปี และจะแสดงอาการชัดเจนเมื่ออายุ 30-60 ปี

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ HPV ครั้งแรกร่างกายก็จะปกป้องจากการติดเชื้อ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจทำให้เซลล์ที่ปากมดลูกเกิดความผิดปกติ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งปากมดลูกในที่สุด ในระยะแรกอาจจะไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่เมื่อเป็นหนักถึงจะมีอาการแสดงออก เช่น มีเลือดออกผิดปกติที่ช่องคลอด มีอาการตกขาวผิดปกติ ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อ HPV จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้

มะเร็งปากมดลูก



มะเร็งปากมดลูกมีกี่ระยะ ?

1. ระยะก่อนมะเร็ง

ระยะนี้เซลล์มะเร็งจะยังอยู่ภายในชั้นเยื่อผิวบุปากมดลูก ยังไม่ลุกลามเข้าไปด้านใน ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการผิดปกติใด แต่หากเข้ารับการตรวจคัดกรอง สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจคัดกรองทางเซลล์วิทยา หรือตรวจแพปสเมียร์ (Pep Smear)

2. ระยะลุกลาม

  • ระยะที่ 1 มะเร็งลุกลามอยู่ภายในปากมดลูก
  • ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปที่เนื้อเยื่อข้างปากมดลูก ผนังช่องคลอดส่วนบน
  • ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปที่ด้านข้างของเชิงกราน ผนังช่องคลอดส่วนล่าง หรือกดท่อไตจนเกิดภาวะไตบวมน้ำ
  • ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปที่กระเพาะปัสสาวะ ไส้ตรง หรืออวัยวะอื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคเบาหวาน (Diabetes) สาเหตุ อาการ และความเชื่อผิด ๆ



สัญญาณเตือนอาการมะเร็งปากมดลูก

อย่างที่บอกในข้างต้นว่า มะเร็งปากมดลูกหากเป็นในช่วงระยะแรก อาจจะยังไม่มีอาการแสดงให้เห็นมากนัก แต่ต้องหมั่นสังเกตตัวเอง เพื่อจะได้รักษาได้ทันท่วงที ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก อาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ตกขาวผิดปกติเห็นได้ชัด มีมากกว่าปกติ หรือตกขาวมีเลือดปน
  • เลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังมีเพศสัมพันธ์ หลังจากหมดประจำเดือน
  • ปวดท้องน้อย ปวดบริเวณหัวหน่าว
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ปัสสาวะไม่ค่อยออก ปวดบวม ปัสสาวะ/อุจจาระปนเลือด
  • ปวดหลัง ขาบวม ไตวาย
  • น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย



มะเร็งปากมดลูก



กลุ่มเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

  • ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 18 ปี
  • ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน หรือแฟนมีคู่นอนหลายคน
  • คลอดบุตรมากกว่า 3 คนขึ้นไป
  • เป็นโรคที่ทำให้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  • มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน



วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อก่อนมีอาการ เป็นการตรวจหาโรคที่สามารถทำได้ทั้งในระยะก่อนเป็น และเป็นมะเร็งไปแล้วในระยะเริ่มแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งปากมดลูก หรือลุกลามเกินกว่าจะรักษาได้ โดยสามารถเลือกตรวจได้ดังนี้


  1. ตรวจแพปสเมียร์ (Pep Smear) เป็นการตรวจทางเซลล์วิทยาด้วยการการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ ที่สามารถตรวจพบเซลล์มะเร็ง ที่ต่อเนื่องจากการตรวจภายใน และตรวจด้วยกล้องขยาย
  2. การตรวจด้วยวิธี ThinPrep Pap Test การตรวจคัดกรองโดยเก็บตัวอย่างเซลล์ด้วยของเหลว สามารถนำไปตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ต่อได้ โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างซ้ำ
  3. การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยการตรวจ DNA เป็นการตรวจร่วมกับการตรวจทางเซลล์วิทยา และการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV วิธีการตรวจนี้สามารถระบุสายพันธุ์ได้ และสามารถค้นพบโรคได้เร็ว



ในปัจจุบัน แนะนำให้ผู้หญิงตรวจภายใน พร้อมตรวจแพปสเมียร์ในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ประมาณ 3 ปี หรืออายุมากกว่า 30 ปี หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ


การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ แต่ในกรณีที่ตรวจพบภายหลัง สามารถเลือกรักษาได้หลายวิธี ดังนี้

1. การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgery)

การรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ผ่าตัดปากมดลูกแบบกว้าง (radical hysterectomy) แต่หากมะเร็งปากมดลูกมีขนาดเล็กและเป็นระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยอาจจะได้รับการผ่าตัดเพียงปากมดลูกและมดลูก (simple hysterectomy) เท่านั้น แต่ถ้าหากกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ในอนาคต สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อผ่าตัดที่สามารถเก็บมดลูกไว้ได้เช่นกัน


มะเร็งปากมดลูก



2. การรักษาด้วยการใช้รังสีรักษา (Radiation)

หลังทราบผลชิ้นเนื้อและพบว่ามีความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำ แพทย์อาจแนะนำการใช้รังสีรักษา เพื่อร่วมรักษาเพิ่มเติมหลังผ่าตัด การรักษาด้วยรังสีรักษามี 2 ประเภทหลัก ๆ ประเภทแรกคือการฉายรังสีระยะไกล และการให้รังสีระยะใกล้ ซึ่งการใช้รังสีรักษาอาจกระตุ้นให้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด

3. การรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy)

การรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง แพทย์จะใช้เคมีบำบัดในปริมาณเล็กน้อยร่วมกับการใช้รังสีรักษา นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาด้วยการใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้า ที่แพทย์มักจะใช้การรักษารูปแบบนี้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด

มะเร็งปากมดลูกมีวิธีที่ป้องกันได้ดีที่สุด คือการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี (HPV) และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 2-3 ปี และการตรวจหาเชื้อ HPV ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์สำหรับแนวทางการตรวจคัดกรองมดลูก โดยทั่วไปจะแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองมดลูกในหญิงที่อายุ 21 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าเพิ่มขึ้น หากรู้ตัวได้ไวและเริ่มการตรวจคัดกรองได้ก่อน ก็จะช่วยป้องกันโรคได้ในระดับหนึ่ง หากมีความสนใจอาจปรึกษาสูติ-นรีแพทย์ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ต้อกระจก อาการเป็นอย่างไร อันตรายไหม รักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง?

กรดไหลย้อน (GERD) อาการอันตรายที่ควรต้องรู้ เพราะเกิดหลังการทานอาหาร !

โรคแพนิค โรคที่ไม่ได้แค่นิสัยขี้ตกใจ แต่เป็นภัยร้ายทำลายสุขภาพจิต

ที่มา : 1