โรคคอตีบ เป็นโรคติดต่อที่เรารู้จักกันดีมาตั้งแต่เด็ก หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าโรคนี้ คือโรคอะไร และทำไมเด็กต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ คอตีบ เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่อาจทำให้เกิดการอักเสบได้ ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการรุนแรงที่ทำให้การเกิดการตีบตันของระบบเดินหายใจ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรง ก็อาจเสี่ยงในการเป็นอัมพาต และเสียชีวิตได้ วันนี้เรามีบทความดี ๆ เกี่ยวกับโรคคอตีบมาฝาก เพื่อให้คุณแม่ได้พร้อมรับมือกับโรคติดต่อนี้ค่ะ
โรคคอตีบ คืออะไร?
โรคคอตีบ (Diphtheria) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียร้ายแรง ซึ่งส่งผลต่อเยื่อเมือกในลำคอ และจมูก หรืออาจเกิดกับผิวหนังในผู้ป่วยบางราย โรคคอตีบถือเป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อกันได้ง่าย ๆ ผ่านการไอ จาม และการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อคอตีบโดยตรง นอกจากนั้นการสัมผัสกับของใช้ของผู้ป่วย ก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคคอตีบที่ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังระบบประสาท หัวใจ และไตได้ ถือเป็นโรคที่อันตรายแก่ชีวิตอย่างมาก
โรคคอตีบ เกิดจากอะไร?
โรคคอตีบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium Diphtheriae ซึ่งเมื่อเกิดการติดเชื้อที่จมูก และลำคอ แบคทีเรียจะแพร่กระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อ และเลือด ซึ่งเชื้อเหล่านี้มักแพร่กระจายผ่านสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
- ละอองในอากาศ : เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อคอตีบ ก็จะมีอาการไอหรือจาม เชื้อโรคจะแพร่กระจายอยู่ในอากาศ ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่มีโอกาสในการติดต่อเชื้อโรคนี้
- ของใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ : การใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วยโรคคอตีบ มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อสูง จากการหยิบจับ และใช้ร่วมกัน เช่น กระดาษชำระที่ใช้แล้ว เนื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรือของเล่นเด็ก
- การสัมผัสบาดแผลของผู้ติดเชื้อ : ผู้ป่วยที่สัมผัสกับบาดแผลจากการติดเชื้อบริเวณผิวหนังโดยตรง สามารถได้รับเชื้อคอตีบได้
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคคอตีบ
โรคคอตีบสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัย ดังต่อไปนี้
- ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ
- มีความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกัน
- เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคคอตีบ
- อาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ และมีการแพร่ระบาดของโรคคอตีบ
โรคคอตีบ มีอาการอย่างไร?
อาการของโรคคอตีบมักเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อ 2-5 วัน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- มีน้ำมูก
- หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- กลืนอาหารลำบาก
- เมื่อยล้า อ่อนเพลีย
- เจ็บคอ ไอ เสียงแหบ
- มีไข้สูง 38 องศาขึ้นไป
- ต่อมน้ำเหลืองในคอบวม
- เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก
- เป็นแผล มีเยื่อบุสีเทาในลำคอ และบริเวณต่อมทอนซิล
ภาวะแทรกซ้อนของโรคคอตีบ
สำหรับผู้ป่วยบางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งถือเป็นภาวะที่อันตรายแก่ชีวิตหากไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงที โดยภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้
- เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก ปอดติดเชื้อ และอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลว
- สร้างความเสียหายแก่ระบบประสาท และมีโอกาสเป็นอัมพาต
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และมีโอกาสหัวใจวาย
การวินิจฉัยโรคคอตีบ
สำหรับการวินิจฉัยโรคคอตีบ แพทย์จะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วย เช่น มีอาการเจ็บคอ และเยื่อบุสีเทาเกิดขึ้นในบริเวณลำคอ และทอนซิลหรือไม่ โดยแพทย์จะนำเยื่อบุในคอไปวินิจฉัยต่อไปนี้ นอกจากนี้ยังใช้ตัวอย่างจากแผลที่ผิวหนังของผู้ป่วยอีกด้วย เพื่อเป็นการยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคคอตีบอย่างแน่นอน
การรักษาโรคคอตีบ
คอตีบ เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง ซึ่งหากปล่อยไว้นานก็อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ดังนั้นหากลูกป่วยเป็นโรคคอตีบ คุณแม่ต้องพาไปแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการรักษา และป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายสู่ผู้อื่น ซึ่งวิธีการรักษาในปัจจุบันนั้น มีดังนี้
- รับยาปฏิชีวนะ : การรับยาปฏิชีวิตสามารถช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ เช่น เพนิซิลลิน
- รับยาต้านพิษ : การใช้ยาต้านพิษ มีสรรพคุณในการหยุดพิษผลิตแบคทีเรียที่กำลังโจมตีร่างกาย ซึ่งหากคนไข้เป็นโรคคอตีบ หมอจะฉีดยาเข้าหลอดเลือด หรือกล้ามเนื้อเพื่อช่วยควบคุมไม่ให้เชื้อแบคทีเรียลุกลาม
- ทำความสะอาดบาดแผล : การทำความสะอาดบาดแผลเป็นประจำ ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อทางผิวหนังได้
การป้องกันโรคคอตีบ
การป้องกันโรคคอตีบที่ดีที่สุด คือการเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคคอตีบ ซึ่งในประเทศไทยได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบให้ตั้งแต่ทารก และช่วงวันเด็ก รวมถึงยังมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นในช่วงวัยรุ่น และผู้ใหญ่ด้วย นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถป้องกันโรคคอตีบ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ดูแลทำความสะอาดบ้านให้สะอาดเสมอ : คุณแม่ควรจัดการสุขอนามัยในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อเป็นการป้องกัน และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น : หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กที่ต้องเข้าเรียน อาจมีการใช้ของร่วมกันกับผู้อื่น ดังนั้นคุณแม่ควรแยกของใช้ส่วนตัวของลูกเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อคอตีบ
- เข้ารับการฉีดวัคซีน : การฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด คุณแม่ควรพาลูกไปฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน ตั้งแต่อายุ 2-6 เดือน 15-18 เดือน และ 4-6 เพราะวัคซีนชนิดนี้จะมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น ดังนั้นเด็กจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอีกครั้งเมื่ออายุประมาณ 12 ปี นอกจากนี้ผู้ใหญ่ก็สามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบได้เช่นกัน โดยจะต้องรับวัคซีนในทุก ๆ 10 ปีค่ะ
โรคคอตีบ ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณแม่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ลูกน้อยได้ ทั้งนี้การป้องกันโรคคอตีบที่ดีที่สุด คือการเข้ารับการฉีดวัคซีน ดังนั้นอย่าลืมพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัดทุกครั้งนะคะ เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพ และป้องกันการติดต่อของโรคชนิดนี้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไรให้ห่างไกลจากโรค?
โรคหัด คืออะไร อันตรายหรือไม่ หากลูกเป็นโรคหัดควรทำอย่างไร?
รู้ทัน “วัณโรค” โรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา