ภาวะตัวเหลืองในทารก คืออะไร สังเกตอย่างไรจึงรักษาได้ทัน

ภาวะตัวเหลืองในทารก อาจพบได้จนผู้ปกครองรู้สึกว่าไม่มีความอันตราย แต่หากมีอาการที่รุนแรงอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ หากพบว่าทารกมีอาการน 

 1068 views

ภาวะตัวเหลืองในทารก อาจพบได้จนผู้ปกครองรู้สึกว่าไม่มีความอันตราย แต่หากมีอาการที่รุนแรงอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ หากพบว่าทารกมีอาการนี้จึงไม่ควรรักษาเอง แต่ให้พามาพบแพทย์ และรอรักษาจนกว่าทารกจะหายดี จึงจะพากลับบ้านได้

ภาวะตัวเหลืองในทารก คืออะไร ?

ภาวะตัวเหลือง (Jaundice) เป็นผลมาจากมีสาร “บิลิรูบิน (Bilirubin)” ในกระเลือดมากจนเกินไป จนทำให้เด็กมีสีตัวออกเหลือง โดยสารนี้ คือ เม็ดเลือดแดงที่ถูกสลายผ่านกระบวนการในตับ ซึ่งจะถูกขับออกมาผ่านทางระบบขับถ่าย แต่เพราะอวัยวะของทารกแรกเกิดอาจยังไม่แข็งแรง ทำให้ไม่สามารถกำจัดสารนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพพอ ภาวะนี้เป็นภาวะที่พบได้ในทารกแรกเกิดช่วง 2 – 3 วัน หลังคลอด โดยนอกจากจะทำให้ทารกมีผิวเหลืองแล้ว ยังสามารถสังเกตได้จากตาขาวของทารกที่มีสีออกเหลืองอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกน้อย “ขาโก่ง” รักษาอย่างไร จำเป็นต้องดัดขาหรือไม่ ?

ภาวะทารกตัวเหลือง เกิดจากอะไร ?

ทารกที่มีภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ทำให้มีความเสี่ยงอยู่รอบตัว ทั้งเกิดจากอวัยวะที่ทำงานไม่เต็มที่ จนเกิดผลกระทบกับร่างกาย หรือโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กมีความเสี่ยงมากขึ้น สรุปได้ดังนี้

  • แบบปกติ : ทารกที่มีความเข้มข้นของเม็ดเลือดสูง แต่ตับไม่สามารถทำงานได้เหมือนกับผู้ใหญ่ จนเกิดการสะสมของสารบิลิรูบินมากจนเกินไป หากเกิดจากสาเหตุนี้ เมื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์จะใช้เวลาในการรักษาให้อาการดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์
  • แบบผิดปกติเนื่องจากมีพยาธิสภาพ : เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หมู่เลือดของแม่และทารกที่ไม่เข้ากัน หรือการที่เม็ดเลือดแดงของทารกขาดเอ็มไซม์จนแตกตัวได้ง่าย ทำให้มีสารบิลิรูบินมากจนเกินไป หากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นโรคเบาหวานจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว : มักพบภาวะนี้ในทารกที่ได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ หรือท่าอุ้มเด็กที่ไม่ถูกต้อง รวมไปถึงปัจจัยจากทารกเอง เช่น คลอดก่อนกำหนด, ทารกมีน้ำหนักน้อย หรือมีลิ้นติด ทำให้ดูดนมแม่ได้ยาก เป็นต้น
  • ต้นเหตุจากโรคอื่น ๆ : ภาวะที่ทำให้ตัวของเด็กมีสีออกเหลืองอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ เช่น โรคท่อน้ำดีตีบ, การติดเชื้อในกระแสเลือด, ภาวะตับอักเสบ หรือภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น


วิดีโอจาก : Nakornthon

อาการที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

ปกติแล้วภาวะนี้ทารกจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ และจะหายได้ใน 1 เดือน และมักไม่ได้มีอันตรายต่อตัวของทารก แต่หากปริมาณของสารบิลิรูบินมีมากจนเกินไปจะสามารถส่งผลต่อสมองของทารกได้อาจทำให้สมองมีความผิดปกติ หรือที่เรียกว่า “เคอร์นิกเทอรัส (Kernicterus)” สังเกตจากอาการที่ทารกจะตัวอ่อน ดูดนมแม่ได้ลำบาก และมีอาการซึม หากปล่อยไว้อาการจะรุนแรงมากขึ้น ร่วมกับมีไข้ หลังแอ่น สั่น และจะร้องเสียงแหลม

หากสามารถรักษาได้ทันตั้งแต่ช่วงมีอาการ จะสามารถหยุดยั้งการทำลายสมองได้ ทำให้ความพิการไม่รุนแรงมาก แต่หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีทารกจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

วิธีการสังเกตลูกว่ามีภาวะตัวเหลืองหรือไม่

สามารถทำได้โดยการนำทารกไปอยู่ในห้องที่มีแสงสว่างสีขาวเพียงพอ แล้วใช้นิ้วมือกดลงบนผิวหนังของทารก หรือจะใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้กดที่ผิวหนังของทารกพร้อมกับรีดแยกออกจากกัน เพื่อรีดเลือดในบริเวณที่จะตรวจ จากนั้นสังเกตสีที่บนผิวหนังทารก หากปกติจะเป็นสีขาว แต่ถ้าเป็นสีออกเหลืองไม่ว่าจะจุดไหน ควรรีบพาทารกไปพบแพทย์ทันที

ภาวะตัวเหลืองในทารก


ทารกตัวเหลืองรักษาอย่างไร ?

การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะดังกล่าว ทั้งนี้รูปแบบการรักษาต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมจากความคิดเห็นของแพทย์จึงจะดีที่สุด ได้แก่

  1. การให้ทารกทานนมแม่บ่อย ๆ : วันละ 8 – 12 มื้อนม เพื่อให้ร่างกายของทารกขับถ่ายนำสารบิลิรูบินออกจากร่างกายได้มากขึ้น
  2. รักษาแบบส่องไฟ : หากพบว่าลูกตัวออกสีเหลือง แพทย์จะรักษาด้วยการนำเด็กไปส่องไฟ เพื่อให้สารเหลืองในร่างกาย สามารถละลายน้ำได้ดียิ่งขึ้น และถูกขับออกมาได้โดยง่าย
  3. การเปลี่ยนถ่ายเลือด : เป็นการรักษาในกลุ่มอาการที่รุนแรงมากเท่านั้น ด้วยการเปลี่ยนถ่ายเลือดของทารกกับผู้ใหญ่ แต่วิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงตามมา จึงมักเป็นตัวเลือกสุดท้าย หากการรักษาแบบส่องไฟไม่ได้ผล


สิ่งที่ต้องระวังเมื่อทารกตัวเหลือง

การรักษาภาวะอันตรายที่เกิดขึ้นกับทารก ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ คือ มักมีความเชื่อผิด ๆ ที่ทำต่อ ๆ กันมา ซึ่งอาจส่งผลเสียมากกว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวของทารกเอง ดังนี้

  • ไม่ควรนำทารกไปตากแดด ถึงแม้จะมีส่วนช่วยได้ แต่เป็นการช่วยที่ได้ผลลัพธ์น้อยมาก อีกทั้งยังเสี่ยงทำให้ทารกมีอาการไข้ด้วย หากมีอาการที่เสี่ยงควรพามาพบแพทย์จะดีที่สุด
  • ไม่ควรทารกดื่มน้ำมาก ๆ เนื่องจากน้ำไม่สามารถช่วยสารเหลืองได้ จะทำให้ทารกรับสารอาหารได้น้อยลง มีผลต่อการเจริญเติบโตได้
  • หากทารกเป็นภาวะนี้ควรพามาโรงพยาบาลไม่ใช่คลินิก เพราะหากรุนแรงจะต้องพึ่งเครื่องมือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น และควรรอให้การรักษาเสร็จสิ้นก่อน ไม่ควรพาทารกกลับถึงแม้อาการจะเริ่มดีขึ้นแล้ว ควรให้อยู่ในการดูแลของหมอจนกว่าจะหายอย่างสมบูรณ์


สามารถป้องกันได้หรือไม่ ?

ภาวะที่เป็นอันตรายต่อทารกนี้ คงจะดีหากมีวิธีที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับทารกได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันได้โดยตรง ดังนั้นการลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะนี้จึงสำคัญมาก เบื้องต้นคุณแม่ควรเข้ารับการตรวจหมู่เลือด เพื่อค้นหาภาวะความไม่เข้ากันของหมู่เลือด ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะทารกตัวเหลืองได้เช่นกัน นอกจากนี้เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ในช่วง 5 วันแรก เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงมาก จึงต้องสังเกตทารกในช่วงนี้ให้ดี หากพบว่ามีความผิดปกติ หรือมีสัญญาณของภาวะตัวเหลืองให้รีบพามาพบแพทย์ทันที


ด้วยอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับทารกแรกเกิดจึงควรตรวจสอบผิวหนังของทารก ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรงซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยที่ผู้ปกครองไม่รู้ตัว

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายของลูกตัวน้อยโอกาสเป็นซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง

โรคอีสุกอีใส เกิดจากอะไร อาการแบบไหนที่แสดงว่าลูกเป็นอีสุกอีใส ?

โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ที่มา : 1, 2, 3, 4, 5