หนองในเทียม (Chlamydia) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย !

ปัญหาใหญ่ในประเทศไทยที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ มักเกิดจากการขาดความตระหนักรู้ โดยเฉพาะการละเลยการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เ 

 708 views

ปัญหาใหญ่ในประเทศไทยที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ มักเกิดจากการขาดความตระหนักรู้ โดยเฉพาะการละเลยการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด หนองในเทียม (Chlamydia) อีกหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่มักเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ป่วยวัยรุ่น

วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความรู้จักกับหนองในเทียมให้มากขึ้น พร้อมทั้งอธิบายถึงความแตกต่างของ หนองในแท้ และหนองในเทียม อีกหนึ่งสาเหตุหลักในการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คืออะไร ?

เดิมทีแล้วโรคนี้เรียกว่า “กามโรค” มีการติดเชื้อที่หลายโรคเพิ่มขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” (sexually transmitted infections) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อ ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ป่วยโดยตรง หรือผู้ที่ได้รับเชื้อทางอ้อม โดยการติดเชื้อทางการมีเพศสัมพันธ์ นับรวมไปถึงการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก และทางทวารหนัก โดยมีโรคที่มักพบได้บ่อยได้แก่ ซิฟิลิส, หนองในแท้, หนองในเทียม, เริม และเอชพีวี

หนองในเทียม



โรคหนองในเทียมคืออะไร ?

หนองในเทียม (Chlamydia) หรือ Non-gonococcal urethritis – NGU คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากการรับเชื้อแบคทีเรีย จากคู่นอนที่ติดเชื้อ โดยการร่วมเพศนั้นไม่มีการป้องกันด้วยถุงยางอนามัย ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ ซึ่งโรคนี้ต่างจากการติดเชื้อหนองในแท้ เพราะมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียคนละชนิดกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : หนองในแท้ (Gonorrhea) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดได้ทั้งชายและหญิง !

หนองในเทียมเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน โดยเชื้อสามารถแพร่ติดต่อได้หลายทาง เช่น ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางปาก หรือแม้กระทั่งทางตา หากมีสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อกระเด็นใส่ รวมไปถึงการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์

โดยหนองในทั้ง 2 ชนิดนี้ จะแสดงอาการคล้าย ๆ กัน แต่หนองในเทียมมักไม่ค่อยมีอาการ หรือมีอาการรุนแรงน้อยกว่า และมีระยะการฟักตัวของเชื้อนานกว่า หนองในเทียมอาจไม่ปรากฏอาการที่ชัดเจนนักในผู้ป่วยบางราย และถือเป็นโรคที่พบมากในวัยรุ่น สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งเพศชายและเพศหญิงค่ะ

สาเหตุของการติดเชื้อหนองในเทียม

ซึ่งการติดต่อนี้มีเชื้อที่เป็นสาเหตุหลายชนิด โดยอาจจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส โปรโตซัวหรือเชื้อราก็ได้ ซึ่งประมาณ 20% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะไม่ทราบเชื้อที่เป็นต้นเหตุอย่างแน่ชัด, ประมาณ 40% จะเกิดจากเชื้อคลามัยเดียทราโคมาติส, ประมาณ 30% เกิดจากเชื้อยูเรียพลาสมายูเรียไลทิคัม นอกจากนั้นยังอาจเกิดได้จากเชื้ออื่น ๆ เช่น เชื้อโปรโตซัว ทริโคโมแนสวาจินาลิส, เชื้อไวรัสเริม เป็นต้น

หนองในเทียม



อาการของหนองในเทียม

อาการของหนองในเทียมในช่วงแรก อาจจะยังไม่แสดงอาการให้พบเห็น หลังได้รับเชื้อแล้วในระยะเวลา 1-3 สัปดาห์ จะแสดงอาการแตกต่างกันออกไปตามเพศ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการลักษณะดังนี้

อาการหนองในเทียมในเพศชาย

  • มีมูกใสหรือขุ่นที่ไม่ใช่ปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ ไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ
  • มีอาการอักเสบบริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
  • รู้สึกเจ็บหรือแสบ ขณะปัสสาวะ
  • รู้สึกปวดหรือมีการบวมที่ลูกอัณฑะ



อาการหนองในเทียมในเพศหญิง

  • มีตกขาวลักษณะผิดปกติ และมีกลิ่นเหม็น
  • รู้สึกเจ็บหรือแสบอวัยวะเพศ ขณะปัสสาวะ
  • คันหรือแสบร้อน บริเวณรอบอวัยวะเพศ
  • รู้สึกเจ็บท้องน้อยเวลามีประจำเดือน หรือขณะมีเพศสัมพันธ์



หนองในเทียม



ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อจากการร่วมเพศทางอื่น ๆ เช่น ทางทวารหนัก หรือทางปาก ก็สามารถแสดงอาการที่ต่างออกไปได้ เช่น อาจมีเลือดหรือหนองไหลจากทวารหนัก เจ็บ ปวดบรเวณที่มีเพศสัมพันธ์ และรู้สึกเจ็บคอ ไอ หรือมีไข้ รวมถึงผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางปาก ก็อาจมีอาการเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน

ลักษณะการติดต่อของโรคหนองในเทียม

เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ โดยไม่สวมถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก ซึ่งรวมถึงการที่ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย หรือผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง ก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน เพราะหนองในเทียมสามารถติดต่อได้ทางทวารหนัก หรือจากการที่อวัยวะเพศสัมผัสกัน นอกจากนี้ยังอาจติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกในขณะที่มีการคลอดทางช่องคลอดได้อีกด้วย

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ

  1. ผู้ที่มีคู่นอนจำนวนมาก ยิ่งมีคู่นอนมากเท่าไร โอกาสการติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
  2. เด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะผู้หญิงที่เยื่อบุปากมดลูกยังไม่มีการพัฒนาอย่างเต็มที่
  3. ใช้คู่นอนร่วมกับผู้อื่น หรือเปลี่ยนคู่นอนใหม่ โดยที่ไม่ตรวจโรค
  4. ผู้ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
  5. ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น เช่น โรคซิฟิลิส



การวินิจฉัยหนองในเทียม

แพทย์จะซักประวัติและพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ และจะทำการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง จากบริเวณที่มีการร่วมเพศเพื่อส่งตรวจ โดยวิธีการเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swap Test) และการทดสอบปัสสาวะ (Urine Test) โดยปกติ การวินิจฉัยโรคจะเสร็จสิ้นภายใน 1 วัน และจะทราบผลหลังการเก็บตัวอย่าง 7-10 วัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหรือพบความเสี่ยงสูง แพทย์จะให้ทำการรักษาทันที

การรักษาหนองในเทียม

การรักษาหนองในเทียมสามารถรักษาได้ ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อ และแพร่กระจายของแบคทีเรีย แพทย์จะทำการเลือกใช้และปริมาณยาจะตามอวัยวะที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นหลังได้รับการรักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในระหว่างนี้ ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา แม้จะมีการใส่ถุงยางอนามัยป้องกัน

หนองในเทียม



การป้องกันและลดความเสี่ยงติดเชื้อ

วิธีป้องกันการติดเชื้อหนองในเทียมที่ได้ผลดีที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ ได้แก่



  1. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เมื่อมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางอวัยวะเพศ หรือ ทางทวารหนัก
  2. ใช้ถุงยางอนามัยที่ได้มาตรฐาน และสวมใส่อย่างถูกวิธี
  3. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  4. ไม่ใช้อุปกรณ์เสริมทางเพศ หรือ Sex toy ร่วมกับผู้อื่น
  5. หลีกเลี่ยงการสวนล้างภายในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิง
  6. ตรวจสุขภาพและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ อย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี



สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การตรวจวินิจฉัยโรคคือ การทานยาที่กำหนดอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ รวมถึงต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ หลังจากเริ่มกินยา และต้องทำการตรวจหาเชื้อหนองในเทียมซ้ำอีกครั้ง หลังจากรักษาหายแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำ และไม่มีการแพร่เชื้อสู่คู่นอนตนเอง

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ต่อมบาร์โธลินอักเสบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ผู้หญิงควรรู้จัก

ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ติดเชื้อหลังคลอด ภาวะแทรกซ้อนต่อแม่เด็ก สาเหตุสำคัญที่แม่ท้องเสียชีวิต!

ที่มา : 1