6 วิธีฝึกลูกไหว้สวัสดี ยิ่งฝึกเร็ว ยิ่งได้ผลดี !

การทักทายในสังคมไทยหนีไม่พ้นการยกมือ “ไหว้” เมื่อลูกเริ่มเรียนรู้ได้แล้ว มีโอกาสเจอคนอื่น ๆ มากขึ้น จึงสำคัญหากผู้ปกครองจะรู้วิธีฝึกลูกไห 

 1364 views

การทักทายในสังคมไทยหนีไม่พ้นการยกมือ “ไหว้” เมื่อลูกเริ่มเรียนรู้ได้แล้ว มีโอกาสเจอคนอื่น ๆ มากขึ้น จึงสำคัญหากผู้ปกครองจะรู้วิธีฝึกลูกไหว้สวัสดี เพื่อให้ลูกสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถฝึกได้ไม่ยาก เราจะช่วยบอกวิธีเอง

6 วิธีฝึกลูกไหว้สวัสดีทำได้ไม่ยาก

เมื่อลูกไม่เข้าใจเรื่องการไหว้ เรื่องของการสวัสดีว่าจะทำไปทำไม ทำไปแล้วได้อะไร เป็นสิ่งใหม่สำหรับเด็กเล็ก เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจ หน้าที่ของผู้ปกครอง คือ การทำทุกอย่างให้เป็นขั้นตอน เพื่ออธิบายให้ลูกเข้าใจ และทำตามด้วยความเต็มใจ ซึ่งมีวิธีดังนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกล้างจาน ครั้งแรกทำอย่างไร? เริ่มจากขั้นตอนง่าย ๆ ที่เราต้องรู้ !

วิดีโอจาก : Kids Family เลี้ยงลูกให้ฉลาด

1. ลูกเห็นต้องรู้ความหมาย

เมื่อลูกน้อยเห็นแล้วว่าผู้ปกครองไหว้คนอื่น หรือรับไหว้คนอื่น จนเกิดความเคยชิน แน่นอนว่าเด็กเล็กวัยนี้คงไม่รู้ความหมาย หรือเหตุผลว่าทำไมจึงควรทำแบบนั้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้ปกครองจะต้องเป็นคนบอกให้ลูกเข้าใจ ว่าทำไมไปทำไม โดยให้เน้นย้ำความเข้าใจที่ว่า เป็นมารยาททางสังคม ไม่ใช่เราต้องเคารพคนที่มีอายุมากกว่าเพียงอย่างเดียว การสวัสดีและการตอบรับการไหว้จากผู้อื่นที่มีอายุน้อยกว่า ก็สำคัญมากเช่นกัน เมื่อลูกรู้ความหมาย และเหตุผลที่ควรทำแล้ว จะทำให้เขามีความเข้าใจ และสามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น

2. เริ่มต้นจากพ่อแม่

การไหว้สวัสดีเป็นการทักทายของคนไทยที่สามารถทำกันได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่การจะฝึกให้เด็กเล็กที่อาจยังไม่เข้าใจ หรือยังไม่รู้เรื่อง ควรเริ่มจากตัวของผู้ปกครองเองก่อนเลย ที่ต้องทำให้ลูกเห็นเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นไหว้สวัสดีคนที่อายุมากกว่า, รับไหว้คนอื่นอย่างมีมารยาท และเต็มใจ และการสวัสดีคนที่อายุน้อยกว่าอย่างไม่ถือตัว เป็นต้น เมื่อลูกเห็นบ่อย ๆ เขาจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ควรทำ หรือสามารถทำตามได้ เนื่องจากในช่วงวัยเด็กเล็กนั้น มักจะมีพฤติกรรมเลียนแบบคนรอบตัว โดยเฉพาะคนที่อยู่กับเด็กตลอด และได้รับความไว้วางใจอย่างผู้ปกครองนั่นเอง

3. การเตรียมตัวไว้ก่อนช่วยได้มาก

หลายครั้งเด็ก ๆ อาจซน และสับสน ไม่ได้รู้หรือเข้าใจสถานการณ์ หรือการทักทายมากเท่ากับผู้ใหญ่ เราต้องเข้าใจในจุดนี้ เมื่อลูกไม่ได้ไหว้สวัสดี เราจึงไม่ควรไปโกรธ หรือนำมาต่อว่าจนเป็นปมในใจเด็ก ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการบอกกับลูกดี ๆ ว่า “น้อง,,,(ชื่อลูก)..สวัสดี..(ญาติ)..หรือยังลูก” เป็นต้น แต่ถ้าจะให้ดี นั่นคือการนัดแนะลูกเอาไว้ก่อนที่จะเจอคนอื่น ๆ ว่าถ้าเข้าไปเจอใครแล้ว ให้ยกมือไหว้สวัสดีได้เลย จะช่วยให้เด็กมีความพร้อมมากขึ้น และสามารถคลายความกดดันได้ เพราะจะได้สวัสดีคนอื่น ๆ ร่วมกับผู้ปกครองด้วยนั่นเอง

ฝึกลูกไหว้สวัสดี


4. ชื่นชมเป็นสิ่งสำคัญ

การทำดีของเด็ก เขาต้องรู้ว่าเขาทำดีไปทำไม ทำแล้วได้อะไร อย่างน้อยการชื่นชมลูกต่อหน้าคนอื่น หรือชื่นชมหลังจากนั้น ถือเป็นกำลังใจที่ดี และมีความหมายต่อลูกมาก ยิ่งถ้าได้รับคำชื่นชมจากญาติ จะยิ่งช่วยได้มาก ไม่ใช่แค่การไหว้สวัสดีเท่านั้น การกล่าวคำชื่นชมลูกนั้น ควรทำกับทุก ๆ เหตุการณ์ เมื่อลูกตัดสินใจได้ถูกต้อง หรือบางครั้งอาจเปลี่ยนจากการชื่นชม เป็นการให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ แต่ก็ไม่ใช่จะต้องให้ทุกครั้ง เพราะอาจทำให้หวังทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อของรางวัลได้ หากอยู่นอกสายตาของผู้ปกครอง เด็กก็อาจจะเลือกไม่ทำ

5. ระวังเรื่องความกดดัน

เด็กต้องใช้เวลาในการปรับตัว เรียนรู้ เราต้องมองในมุมของเด็กด้วย บางครั้งลูกอาจลืมไปบ้าง หรืออาจไม่ได้ทำ ผู้ปกครองไม่ควรนำมาดุด่าทีหลัง หรือนำมาพูดบ่นจนลูกรู้สึกผิด รู้สึกว่าตนเองทำเรื่องที่ไม่ดี ทำแบบนั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น อีกทั้งยังทำให้เด็กมีความรู้สึกกดดัน กลายเป็นว่าไม่ชอบ หรือบางคนอาจต่อต้านด้วยการไหว้สวัสดีคนอื่นแบบไม่ตั้งใจ แค่ทำให้พอผ่านไป ซึ่งอาจจะติดเป็นนิสัยที่แก้ยากกว่าเดิมได้

6. ให้เวลาลูกได้เรียนรู้

จากทุกสิ่งทุกอย่าง สำคัญคือ ต้องให้เวลาลูกในการฝึกฝน หรือเรียนรู้ ด้วยความที่ยังเด็ก และอยู่ในวัยที่ต้องพัฒนาความเข้าใจหลายอย่างที่กำลังเจอ หรือที่เราเรียกว่า “วัยเรียนรู้” จึงไม่ควรรีบเร่งว่าต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ควรให้เวลาลูกในการปรับตัว ถึงแม้จะใช้เวลาจนเกิดความเข้าใจ ความเคยชินมากเร็วไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน แต่ถ้าเรียนรู้ได้สำเร็จแล้ว ผู้ปกครองก็สบายใจหายห่วงได้แน่นอน

ฝึกลูกไหว้สวัสดี 2


ฝึกลูกไหว้สวัสดีด้วยท่าทางที่ถูกต้อง

  • เริ่มจากการจับมือของลูกขึ้นมาพนมเข้าด้วยกันก่อน จากนั้นบอกให้ก้มศีรษะลง พอทำแล้วให้บอกลูกด้วยว่านี่คือการ “ไหว้” และลองทำซ้ำ จากนั้นให้ลูกลองทำเอง อาจฝึก 2 – 3 ครั้ง / วันก็ได้ ไม่ต้องเน้นมาก และไม่ต้องจริงจังซีเรียสจนลูกรู้สึกกดดัน
  • หลังจากที่ฝึกไป เมื่อลูกเริ่มยกมือไหว้ได้แล้ว ผู้ปกครองอาจจะลองให้ลูกหัดไหว้ตนเอง หรือคนภายในบ้านก่อน จากนั้นให้ลองไหว้ผู้ใหญ่คนอื่น ๆ  อย่างสม่ำเสมอ
  • เน้นย้ำให้ลูกเข้าใจว่าการยกมือไหว้ ทำได้ทั้งตอนสวัสดี, ขอบคุณ และขอโทษตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ผู้ปกครองอาจลองยกตัวอย่างให้ลูกเข้าใจด้วยก็ได้
  • สอนลูกให้รู้จักระดับในการยกมือไหว้ ได้แก่ ไหว้พระ ประนมมือขึ้น ก้มศีรษะ หัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว นิ้วชี้แตะเหนือหน้าผาก แล้วก้มหัวลง, ไหว้บุคคลทั่วไป ประนมมือขึ้น ก้มศีรษะเล็กน้อย หัวแม่มือจรดปลายคาง นิ้วชี้แตะจมูก และไหว้ผู้อาวุโส เหมือนการไหว้พระ แต่นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้จดหว่างคิ้ว เป็นต้น


วิธีฝึกลูกไหว้สวัสดีที่เราช่วยบอกให้ต้องให้ลูกลองใช้จริงบ่อย ๆ ด้วย เพื่อให้เกิดความเคยชิน และติดเป็นนิสัย สามารถทำได้เองโดยที่ไม่ต้องบอก ไม่ต้องเตือน ยิ่งรีบฝึกแต่เด็ก ยิ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

8 วิธีฝึกลูกรับมือเมื่อต้องเผชิญภัยร้ายจาก “คนแปลกหน้า”

ปัญหาเด็กยุคใหม่ ลูกติดมือถือ จับไม่ยอมวาง ทำอย่างไรดี ?

5 วิธีช่วยแก้ปัญหา เมื่อลูกรักกลายเป็นเด็ก “ขี้อาย”

ที่มา : 1, 2, 3