แนะนำ 4 การเล่นบทบาทสมมติ เสริมการเรียนรู้ได้ไร้ขอบเขต

การเล่นบทบาทสมมติเป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่สามารถทำได้โดยแทบไม่ลงทุนอะไรเลย ด้วยขอบเขตการเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้นอยู่กับกิจกรรม หากออกแบบกิจกร 

 1382 views

การเล่นบทบาทสมมติเป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่สามารถทำได้โดยแทบไม่ลงทุนอะไรเลย ด้วยขอบเขตการเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้นอยู่กับกิจกรรม หากออกแบบกิจกรรมได้ดีจะมีทั้งความสนุก ได้ความรู้ ทำให้ลูกน้อยไม่เบื่อ โดยสามารถนำสิ่งของต่าง ๆ ในบ้านมาใช้เล่นได้ด้วยในมุมมองที่แตกต่างกันในแต่ละกิจกรรม

การเล่นบทบาทสมมติคืออะไร ?

เป็นการจำลองเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ออกมาเป็นกิจกรรม โดยการจำลองดังกล่าวสามารถทำได้ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ หรืออาจเป็นการแต่งเติมจินตนาการที่ไม่ได้มีอยู่จริงขึ้นมา ซึ่งจะทำให้ลูกมีความสนใจมากกว่า โดนบทบาทสมมติ ถือเป็นกิจกรรมที่เปิดกว้างต่อการเรียนรู้หลายรูปแบบ ไม่มีกติกาที่ตายตัว ปรับเปลี่ยน และคิดสร้างขึ้นมาใหม่ได้แบบไม่ซ้ำใครด้วย แต่ทุกครั้งที่จะทำกิจกรรมแบบนี้ ผู้ปกครองต้องคำนึงถึงสิ่งที่ต้องการให้ลูกน้อยเรียนรู้ขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยความสนุก และของรางวัลที่ช่วยจูงใจเด็กวัยซน

บทความที่เกี่ยวข้อง : 6 เทคนิคสอนลูกขี่จักรยาน กิจกรรมแสนสนุกแถมสุขภาพดี

วิดีโอจาก : workpointTODAY

5 ประโยชน์ของการเล่นบทบาทสมมติ

  • สร้างความคิดสร้างสรรค์ : การสวมบทบาทสมมติไม่จำเป็นต้องเลียนแบบตามสิ่งที่มีอยู่จริงเท่านั้น แต่ยังสามารถทำได้ภายใต้จินตนาการ เพื่อให้ลูกมีความสนใจ มีความต้องการที่จะทำกิจกรรมมากขึ้นได้ โดยอาจมีจุดมุ่งหมายในเรื่องของความคิด หรือการฝึกศิลปะก็ได้เช่นกัน
  • ฝึกการเข้าสังคม : เด็กบางคนอาจพูดน้อย หรือเข้าสังคมไม่ค่อยเป็น การทำกิจกรรมจะทำให้เด็กมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ปกครอง หรือเด็กคนอื่นได้มากขึ้น ถือเป็นการเล่นชนิดหนึ่งที่ได้ทั้งความรู้ ความสนุก และเป็นการสร้างเพื่อนไปในตัวด้วย
  • พัฒนาความจำ : การทำกิจกรรมต่าง ๆ แน่นอนว่าส่งผลให้ลูกเกิดการเรียนรู้ และการจดจำไปตามเป้าหมายของกิจกรรมนั้น ๆ ตามไปด้วย โดยเฉพาะกิจกรรมที่ส่งเสริมการจดจำ จะทำให้ลูกมีความจำที่ดี มากกว่าเด็กที่ไม่เคยได้รับการฝึกฝนการจดจำเลย
  • เข้าใจความเป็นจริงมากขึ้น : เหตุการณ์ต่าง ๆ มีโอกาสเกิดขึ้นจริงในชีวิต ซึ่งต่อไปลูกน้อยอาจจะได้พบเจอ แต่บางเหตุการณ์ที่เลวร้ายอาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ การจำลองสถานการณ์มาเป็นกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ จะทำให้ลูกน้อยสามารถฝึกรับมือ หรือแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องนั่นเอง
  • ทำให้ลูกกล้าแสดงออกมากขึ้น : การพูดคุย และการแสดงความคิดเห็นออกมา เป็นรากฐานของสำคัญที่ช่วยให้เด็กขี้อายกล้าแสดงออกมากขึ้นได้ ยิ่งได้พูดคุยมากเท่าไหร่ ยิ่งส่งเสริมความกล้าที่จะคิด จะทำได้มากขึ้นตามไปด้วย


บทบาทสมมติจากจินตนาการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์

เป็นบทบาทที่อาจไม่ได้มีอยู่จริง อาจอิงจากเทพนิยาย หรือนิทานต่าง ๆ มีลักษณะการเล่นไปในเชิงความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่บทบาท เช่น เจ้าชาย, อัศวิน หรือสิ่งมีชีวิตแปลก ๆ เป็นต้น แต่เป้าหมายก็ยังคงเป็นการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านต่าง ๆ อยู่ ตัวอย่างเช่น

1. เจ้าชายสมองใส

เป็นการฝึกการจดจำ พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ในเวลาที่จำกัด ด้วยการกำหนดบทบาทให้ลูกเป็นเจ้าชาย และให้คุณพ่อหรือคุณแม่เป็นปีศาจที่มีทรัพย์สมบัติ คือ ขนมหรือของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยการเล่นคือ ให้ลูกที่สวมบทเจ้าชายจดจำรูปร่างสีต่าง ๆ ที่ผู้ปกครองทำมา เช่น สี่เหลี่ยมสีฟ้า สี่เหลี่ยมสีเหลือง วงกลมสีเหลือง วงกลมสีแดง หรือดาวสีแดง เป็นต้น (เน้นให้มีความหลากหลายของสี และแต่ละสีควรมีมากกว่า 1 รูปร่าง)

โดยให้กำหนดการเล่นเป็น 5 รอบ แต่ละรอบจะมีเวลากำหนดไว้แล้วแต่ผู้ปกครอง เพื่อให้เจ้าชายได้มีเวลาในการจดจำ และตอบให้ถูกต้อง เช่น ให้ผู้ปกครองสุ่มรูปร่างสีต่าง ๆ ขึ้นมา 5 ชิ้น ให้เวลาเจ้าชายจำ 10 วินาที และทำการเรียงของ 5 ชิ้นใหม่ จากนั้นให้เจ้าชายเรียงกลับให้เหมือนเดิม โดยผู้ปกครองสามารถปรับจำนวนชิ้น และเวลาได้ตามความเหมาะสม หากเจ้าชายสามารถทำถูกต้อง 3 จาก 5 รอบ จึงจะได้เลือกของรางวัล 1 ชิ้น

สิ่งที่ได้ : เสริมสร้างพัฒนาการด้านการจดจำ ความเข้าใจในรูปร่าง และการแยกแยะสี ในเวลาที่กำหนด ช่วยให้ลูกน้อยสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ และบรรยายออกมาในระดับเบื้องต้นได้แม้จะในเวลาที่จำกัด

การเล่นบทบาทสมมติ


2. มังกรหวงสมบัติ

เป็นเกมหาสิ่งของจากการวิเคราะห์จากการคำบอกเล่า หรือตัวอักษร โดยผู้ปกครองจะนำสมบัติของมังกร หรือก็คือขนม หรือของเล่นต่าง ๆ ที่จะเป็นรางวัลให้กับลูกไปซ่อนตามที่ต่าง ๆ ในตัวบ้าน (ที่ปลอดภัย) ทั้ง 3 จุด และให้ลูกสวมบทเป็นมังกรออกตามหาเอาสมบัติของตนเองกลับมาให้ครบ โดยจะได้รับคำใบ้ (อาจบอกตรง ๆ , เป็นกลอน, ปริศนา) ที่ซ่อนจากแผ่นกระดาษ โดยให้ลูกอ่านเอง แต่มีผู้ปกครองคอยช่วยอ่าน ช่วยสะกดให้ลูกฟัง

เมื่อได้รับคำใบ้ครบแล้ว จากนั้นมังกรน้อยจะมีเวลาจำกัดในการหา หากหมดเวลามังกรน้อยจะได้ของรางวัลจากที่หาเจอเท่านั้น โดยจำนวนของรางวัล และเวลาสามารถปรับแต่งได้ขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง

สิ่งที่ได้ : ฝึกทักษะการคิด / วิเคราะห์ และตีความจากตัวอักษร หรือชุดข้อมูลง่าย ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และความหมายของแต่ละคำ ทำให้เข้าใจ และรู้จักสิ่งของต่าง ๆ ในตัวบ้านมากขึ้น


บทบาทสมมติเลียนแบบสถานการณ์จริงสร้างความรู้ความเข้าใจ

เป็นการสวมบทบาทสมมติจากสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นการจำลองเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ จับต้องได้ ข้อเสีย คือ อาจทำให้เด็กเบื่อได้ง่าย เพราะอาจมีความจริงจังมากกว่าแบบสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น

1. ร้านชำขายทุกอย่าง

การสวมบทเป็นพ่อค้าแม่ค้าดูจะเป็นเรื่องง่ายที่สุดสำหรับการเล่นบทบาทสมมติทั้งหมด โดยให้ผู้ปกครองหาซื้ออุปกรณ์ หรือของเล่นสิ่งของ ผักผลไม้ ขนมเล็ก ๆ เพื่อเอามาประกอบการเล่น จากนั้นก็ตั้งราคาสินค้าแต่ละชิ้นเอาไว้ในร้าน และให้ผู้ปกครองเป็นลูกค้ามาคอยซื้อ แต่ด้วยกิจกรรมนี้เป็นการเสริมพัฒนาการ จึงต้องเพิ่มความท้าทายให้มากกว่า คือ ให้กำหนดเวลาในการคิดราคาแต่ละครั้ง ถ้าคิดไม่ทันลูกค้าจะออกจากร้าน หากคิดทันจะนับว่าพ่อค้าแม่ค้าได้ 1 คะแนน หากทำคะแนนถึงในเวลาที่กำหนด จะได้ของรางวัลที่ดีขึ้นไปด้วยตามระดับคะแนนนั่นเอง

สิ่งที่ได้ : ฝึกการบวกลบคณิตศาสตร์เบื้องต้นในเวลาที่จำกัด ส่งผลดีต่อการคิดเลขเร็วโดยไม่ใช้เครื่องคิดเลข เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน และในห้องเรียน

การเล่นบทบาทสมมติ 2


2. นักเกลี่ยปัญหา

เป็นการจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เช่น ข่าว หรือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วัน โดยจะให้ผู้ปกครองเป็นผู้จำลองเหตุการณ์ และให้ลูกน้อยรับหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหา เช่น หากมีคนแปลกหน้าคอยเดินตาม ในฐานะนักไกล่เกลี่ยปัญหาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร หรือเมื่อเจอคนทะเลาะควรจัดการกับปัญหานี้อย่างไร หากลูกบอกแนวทางการแก้ปัญหาแต่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ให้ผู้ปกครองช่วยอธิบายคำตอบการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง หรือช่วยเสริมความรู้ให้กับลูกเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์มากขึ้นก็ได้ เมื่อเล่นจบแล้วจึงค่อยให้ขนม หรือของเล่นเป็นรางวัล

สิ่งที่ได้ : ลูกจะได้เรียนรู้การแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างถูกต้อง กับเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน

กิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงการเล่นบทบาทสมมติที่เราอยากยกตัวอย่างขึ้นมาเท่านั้น ผู้ปกครองสามารถปรับเปลี่ยนกติกาการเล่น หรือสร้างกิจกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ตั้งเป้าหมายขึ้นมาก่อนว่าต้องการให้ลูกฝึกอะไร หากลูกมีพี่น้องด้วยแล้ว ยิ่งต้องทำให้กิจกรรมสามารถเล่นได้ 2 คน เช่น แข่งขันกัน หรือร่วมมือกัน เป็นต้น

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

5 วิธีช่วยแก้ปัญหา เมื่อลูกรักกลายเป็นเด็ก “ขี้อาย”

การฝึกลูก ๆ วาดรูป ตั้งแต่ยังเด็ก ส่งผลต่อพัฒนาการอย่างไรบ้าง ?

เมื่อลูกน้อยงอแง ไม่อยากไปโรงเรียน ทำอย่างไรดี ?

ที่มา : 1, 2, 3