สิ่งหนึ่งที่ลูกน้อยไม่อาจหลีกพ้นนั่นคือ “บันได” เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น อยู่ในวัยเรียนอาจต้องพบเจอกับการใช้งานบันไดได้ ซึ่งต้องพึ่งการปรับตัว และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หากไม่มีความเคยชิน หรือไม่เคยฝึกมาก่อน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ดังนั้นการสอนลูกเดินขึ้นลงบันไดจึงมีความสำคัญอย่างมาก
ทำไมการขึ้นลงบันไดง่าย ๆ จึงมีความสำคัญกับเด็กเล็ก ?
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจอย่างมากสิ่งหนึ่งสำหรับลูกน้อยที่อยู่ในวัยเรียนรู้ นั่นคือการคอยเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างปกติ ไม่ว่าจะด้านร่างกาย หรือด้านสติปัญญา และความคิดความเข้าใจด้วย การเสริมพัฒนาการมักมาจากกิจกรรมเสริมต่าง ๆ หรือการปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งรอบตัว สำหรับการขึ้นลงบันไดของเด็กก็เช่นกัน เพราะสามารถช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายได้เป็นอย่างดี
เด็กเล็กนั้นต้องได้รับการฝึกใช้งานกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ให้บ่อยขึ้น เพื่อสร้างความเคยชินในการเคลื่อนไหวอย่างมั่นคง นอกจากนี้การขึ้นลงบันได ยังเป็นการฝึกการทำงานของระบบประสาท ผ่านการรับรู้ การตัดสินใจ ให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ด้วยเหตุนี้เองเราจึงมักเห็นว่าเด็กเล็กมักเริ่มจากการลงบันไดทีละขั้น จนกว่าจะเกิดความเคยชิน และแข็งมากขึ้น จึงจะสามารถใช้งานบันไดได้แบบปกตินั่นเอง อีกทั้งสำหรับเด็กยังมองว่าการใช้บันไดเป็นเรื่องที่ยาก และน่ากลัว หากผู้ปกครองไม่สอนเลย อาจจะทำให้ลูกน้อยปรับตัวได้ช้าขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : 6 วิธี ฝึกลูกตั้งไข่ อย่างไรให้ปลอดภัย สมพัฒนาการที่ดี
วิดีโอจาก : pueng OlOpueng
วิธีป้องกันลูกตกบันได อันตรายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว
เริ่มแรกก่อนการสอนลูกเดินขึ้นลงบันไดนั้น ควรเริ่มจากความปลอดภัยก่อน เนื่องจากหากไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เด็กเกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีความซุกซน มีความอยากรู้อยากเห็น ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น หากไม่อยู่ในระยะสายตาการดูแลจากผู้ปกครอง โดยการป้องกันควรทำ ดังนี้
- ต่อเติมที่กั้นบันได : หากเป็นพื้นที่ในตัวบ้านที่มี 2 ชั้น ควรต่อเติมที่กั้นบันไดเอาไว้ เนื่องจากเด็กเล็กอาจปีนป่ายเพราะความซุกซน หรือลูกน้อยอาจตื่นในช่วงกลางดึก และออกมาปีนโดยที่ไม่มีผู้ปกครองคอยดูแล ที่กั้นบันไดจะเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้อยู่บ้าง
- บันไดควรมีราวให้จับ : ไม่ว่าจะเป็นการฝึกหรือไม่ บันไดยังเป็นสิ่งที่ลูกน้อยต้องเจอ ไม่สามารถเลี่ยงได้ การมีราวเอาไว้ให้จับเพื่อช่วยทรงตัว หรือยึดเหนี่ยวเวลาเสียหลักถือว่าสำคัญมาก ไม่ต้องพูดถึงเด็กเล็กเลย ขนาดผู้ใหญ่ยังพลาดได้ ราวบันไดจึงสำคัญกว่าที่เราคิดมาก
- เบนความสนใจลดความเสี่ยง : เด็กวัยปีนป่าย หรือวัยกำลังอยากวิ่งอยากเล่น อาจมีความกล้าที่ขาดการไตร่ตรอง หากลูกอยู่ในวัยนี้จะยิ่งมีความเสี่ยงที่เขาจะปีนป่ายข้าวของในบ้านได้ ซึ่งหากเป็นบันไดจะเกิดอันตรายได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถนำหมอน หรือโซฟาเตี้ย ๆ มาเอาไว้ใกล้ ๆ ลูก เพื่อให้ลูกสนใจมากกว่าของชิ้นอื่น หรือบันไดที่เป็นอันตราย
- บอกในสิ่งที่ลูกต้องรู้ : ผู้ปกครองควรบอกกับลูกว่าห้ามปีนบันไดเล่น หรือห้ามนั่งราวบันได ทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน เพราะจะทำให้ตกจนได้รับบาดเจ็บได้ หรือการบอกลูกให้เข้าใจเสมอว่า ทุกครั้งที่ใช้บันไดควรจับราวให้แน่น ๆ และก้าวอย่างระมัดระวัง เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : 6 เทคนิคสอนลูกขี่จักรยาน กิจกรรมแสนสนุกแถมสุขภาพดี
4 เทคนิคสอนลูกเดินขึ้นลงบันได
เมื่อเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัยไปแล้ว ต่อมาก็คือการฝึกลูกน้อยให้ขึ้นลงบันไดด้วยตนเองกัน โดยการสอนก็ยังต้องระมัดระวังอยู่ เน้นความปลอดภัยในการสอนเหมือนเดิม ไม่ควรอยู่ห่างจากลูกตลอดการสอน และไม่ควรสร้างความกดดัน หรือบีบบังคับลูกด้วย โดยเรามีเทคนิคมาช่วยแชร์ให้ ดังนี้
1. ช่วงแรกให้พยายามจับลูกไว้
ผู้ปกครองต้องเริ่มจากช่วงแรกด้วยการคอยจับมือลูกทั้งสองข้าง ช่วยพยุงเขาเดินอย่างช้า ๆ เพื่อให้เกิดความเคยชินเสียก่อน จากนั้นเมื่อลูกน้อยมีความเคยชินมากขึ้นแล้วค่อยเริ่มพยุงเพียงมือเดียว และให้อีกมือหนึ่งของลูกคอยจับราวบันไดเอาไว้ และสุดท้ายหากลูกมีพัฒนาการที่มากขึ้น อาจให้ลองขึ้นลงบันไดเอง แต่ต้องคอยอยู่กับลูกเสมอ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เมื่อลูกทำได้ดีควรชื่นชมลูกด้วย
2. อยู่ให้ถูกตำแหน่งเสมอ
เมื่อลูกลองขึ้นลงได้เองแล้ว การสอนลูกขึ้นลงบันไดนั้นไม่ควรมองข้ามตำแหน่งการยืนของผู้ปกครองโดยเด็ดขาด หากเด็กกำลังเดินลงบันได ผู้ปกครองต้องคอยยืนด้านหน้าของลูก เพื่อคอยช่วยจับ หรือประคองหากเขาล้มลงมาได้ทันเวลา แน่นอนว่าหากลูกฝึกขึ้นบันได ผู้ปกครองต้องคอยอยู่ด้านหลัง เพื่อป้องกันลูกเมื่อลูกหงายหลังจากการเสียการทรงตัว เป็นต้น ผู้ปกครองไม่ควรรอห่างจากลูกมาก เพราะอาจช่วยจับลูกไม่ทัน
3. เน้นย้ำเรื่องราวบันได
การจับราวบันไดขณะเดินนั้นไม่ใช่แค่เด็กเล็กเท่านั้นที่ควรทำ ราวบันไดสำคัญกับทุกคนทุกวัย ดังนั้นผู้ปกครองต้องเน้นย้ำให้ลูกรู้เสมอว่า ควรจับราวบันไดเอาไว้ เมื่อเสียหลักจะได้ไม่ตกลงมาในทันที ทำให้ลดอาการบาดเจ็บได้ และยังช่วยเรื่องการทรงตัวได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ยังควรสินลูกด้วยว่าไม่ควรวิ่งขึ้น หรือลงบันได เพราะสำหรับเด็กที่ยังไม่เคยชิน อาจก้าวผิดจังหวะจนทำให้ตกจากบันไดได้นั่นเอง
4. การใช้งานในที่สาธารณะ
การฝึกในบ้านแตกต่างกับการใช้งานจริงอย่างหนึ่ง คือ บันไดในที่สาธารณะอาจใช้งานได้ยากกว่าสำหรับเด็ก เนื่องจากมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก อาจเกิดการเบียดหรือชนกันได้ ผู้ปกครองต้องลองพาลูกไปใช้งานจริง แล้วบอกให้ลูกรู้ด้วยว่าเมื่อลงมาถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ไม่ควรยืนนิ่งควรเดินออกมาให้เร็ว เพราะอาจถูกคนอื่นชนได้ หรือการให้ลูกยืนชิดขวา เพื่อหลีกทางให้คนอื่นเดินไปทางฝั่งซ้ายโดยไม่ชนลูกนั่นเอง
ถึงแม้การสอนลูกเดินขึ้นลงบันไดจะเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่การใช้งานบันไดทั้งที่บ้าน หรือที่สาธารณะ สำหรับเด็กเขาอาจร้องขอให้อุ้มเขาแทน ซึ่งผู้ปกครองก็ไม่ควรฝืนบังคับ หรือปฏิเสธ เพราะลูกอาจยังไม่พร้อม ยิ่งถ้าให้เขาฝึกด้วยความไม่ต้องการ หรือเกิดอุบัติเหตุจะทำให้ลูกน้อยมีความกลัวได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
4 เทคนิค สอนลูกทำงานบ้าน มีประโยชน์ต่อพัฒนาการลูกน้อย
การกระโดด มีประโยชน์อย่างไรต่อลูกน้อย ลูกน้อยควรเริ่มกระโดดเมื่อไหร่?