5 สารอาหารในนมแม่ แหล่งรวมสารอาหารที่ทารกต้องการต่อพัฒนาการ

เคยสงสัยหรือไม่ว่าสารอาหารในนมแม่มีมากแค่ไหน ทำไมจึงควรให้ทารกกินนมแม่ ไม่ควรให้กินนมแบบอื่นถ้าไม่มีความจำเป็น เพราะร่างกายของทารกนั้นต 

 1516 views

เคยสงสัยหรือไม่ว่าสารอาหารในนมแม่มีมากแค่ไหน ทำไมจึงควรให้ทารกกินนมแม่ ไม่ควรให้กินนมแบบอื่นถ้าไม่มีความจำเป็น เพราะร่างกายของทารกนั้นต้องการสารอาหารหลายอย่าง ที่สามารถพบเจอได้ทั้งหมดจากนมแม่ และมีประสิทธิภาพที่สุดตามธรรมชาติ

ความสำคัญของนมแม่ต่อทารกน้อย

คุณแม่หลายท่านคงรู้ดีอยู่แล้วว่าความสำคัญของนมแม่ต่อลูกน้อยนั้นมีหลายประการ เป็นมื้ออาหารแหล่งเดียวสำหรับทารกแรกเกิด ช่วยให้ทารกมีพัฒนาการเติบโตไปตามวัยอย่างแข็งแรง และอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต่อทารก แต่คุณแม่บางรายอาจเลือกการให้นมเป็นการให้แบบผสม ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่ล้วน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำหากไม่จำเป็น โดยเฉพาะทารกแรกเกิด – อายุ 6 เดือน ที่ต้องรับนมแม่จากแม่แท้ ๆ เท่านั้น เพราะการให้นมลูกไม่ใช่แค่เรื่องสารอาหารเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการเชื่อมสานสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกด้วย

คุณแม่บางรายอาจมองหาธนาคารน้ำนมซึ่งเป็นทางเลือกของการรับนมแม่ ที่มีแม่คนอื่น ๆ มาบริจาคน้ำนมเอาไว้ ถึงแม้จะเป็นทางเลือกแต่ก็ไม่ควรทำ เนื่องจากการที่จะให้ทารกรับนมจากแม่คนอื่นอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ แม่ที่ต้องการพึ่งธนาคารน้ำนม จึงควรจะเป็นคุณแม่ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกน้อย “แพ้นมวัว” ทำไงดี ให้ลูกกินนมอะไรแทนได้บ้าง ?

วิดีโอจาก : Nurse Kids


5 สารอาหารในนมแม่ดีต่อพัฒนาการทารก

ในน้ำนมแม่ที่ว่ามีประโยชน์ นั่นเป็นเพราะอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญที่เหมาะสมกับร่างกายของทารก นอกจากทารกน้อยจะได้ความอิ่มแล้ว นมแม่ยังมีสารอาหารหลายชนิดที่มีส่วนช่วยในการทำลาย หรือป้องกันเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย เป็นต้น

1. กรดไขมันดีเอชเอ (DHA)

กรดไขมัน DHA เป็นไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า 3 เป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะทารกน้อย เนื่องจากสารอาหารชนิดนี้ร่างกายไม่สามารถสร้างได้เอง ส่งผลให้ต้องมาจากการทานอาหารเท่านั้น หากเป็นวัยอื่นยังสามารถทานอย่างอื่นได้ แต่สำหรับทารกนั้นจะรับได้จากนมแม่ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น DHA มีส่วนช่วยพัฒนาระบบประสาทสมอง และการมองเห็น ลดโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ในอนาคตกับเด็ก โดยเฉพาะโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับสมอง และอารมณ์ รวมไปถึงโรคสมาธิสั้น เป็นต้น

2. คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)

เป็นสารอาหารลักที่พบได้มากที่สุดอย่างหนึ่งในน้ำนมแม่ โดยจะมาในรูปแบบของ “น้ำตาลแล็กโทส (Lactose)” ประมาณ 40 % ของสารอาหารในนมแม่ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการให้พลังงานกับทารกน้อย ช่วยลดแบคทีเรียที่เป็นอันตรายในระบบทางเดินอาหาร และเพิ่มแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์แทน และช่วยให้ทารกสามารถดูดซึมสารอาหารอื่น ๆ ที่มีความสำคัญด้วย เช่น ซึมแคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม เป็นต้น

3. โปรตีน (Protein)

เป็นสารอาหารที่พบได้หลายชนิดในนมแม่ หลัก ๆ จะเป็น “เวย์ (Whey)” และ “เคซีน (Casein)” นอกจากนี้ยังมีสารอาหารโปรตีนชนิดอื่น ๆ ที่ไม่สามารถพบได้จากนมผงทั่วไป เช่น แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin) เสริมภูมิต้านทานแบคทีเรีย, สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี IgA (Secretory IgA) ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส, ไลโซไซม์ (Lysozyme) ลดโอกาสติดเชื้อที่ทำให้ทารกท้องเสีย และไบฟิดัส แฟคเตอร์ (Bifidus Factor) ที่คอยกระตุ้นแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

สารอาหารในนมแม่


4. วิตามินและแร่ธาตุ (Vitamin)

นมแม่อุดมไปด้วยวิตามินหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นวิตามินบี, วิตามินซี, วิตามินเอ และวิตามินอี เป็นต้น ทั้งหมดนี้พบได้ง่าย ๆ ในนมแม่ แต่ปริมาณของวิตามินที่ทารกจะได้รับนั้น ต้องขึ้นอยู่กับร่างกายของคุณแม่ด้วย หากแม่ให้นมทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ก็จะมีวิตามินให้ลูกน้อยตามไปด้วย ดังนั้นถ้าหากต้องการให้ลูกแข็งแรง และได้วิตามินเยอะ ๆ คุณแม่ก็ต้องทานอาหารที่เป็นประโยชน์ เน้นผักและผลไม้

5. น้ำนมเหลือง  (Colostrums)

เป็นลักษณะของน้ำนมในช่วงแรกที่มีปริมาณของภูมิคุ้มกันสูงมาก มีส่วนสำคัญในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย มีเม็ดเลือดขาวเป็นส่วนประกอบ 2,000-3,000 เซลล์/มิลลิลิตร และป้องกันการติดเชื้อ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมากกว่า 5,000 เท่า เมื่อเทียบกับนมผงทั่วไป ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้แพทย์มักบอกกับคุณแม่ให้นมเสมอว่า สำหรับทารกแล้ว การกินนมแม่เหมือนกับการรับวัคซีนไปด้วยในตัว

นอกจากสารอาหารสำคัญที่กล่าวมาแล้ว ในนมแม่ยังมีสารอาหารชนิดอื่น ๆ ที่มีความสำคัญกับลูกน้อยด้วย เช่น เอ็มเอฟจีเอ็ม (MFGM) ช่วยพัฒนาระบบประสาท และสมอง, ทอรีน (Taurine) ช่วยบำรุงสมอง และช่วยพัฒนาเรื่องการมองเห็น, แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin) ลดการเติบโตของแบคทีเรีย, และไลโซไซม์ (Lysozyme) สลายผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

ขนาดเต้านมเล็กจะทำให้นมแม่น้อยลงด้วยหรือไม่ ?

เมื่อเห็นสารอาหารต่าง ๆ ในนมแม่แบบนี้แล้ว คุณแม่บางท่านอาจมีความกังวลว่าขนาดเต้านมจะมีผลต่อปริมาณของน้ำนมหรือไม่ ความจริงขนาดของเต้านมไม่ได้ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมน้อย หรือมากขึ้นได้ เพราะสิ่งที่เกี่ยวข้องจริง ๆ คือ “ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ” และ “ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ” ซึ่งทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นการปล่อยน้ำนมของต่อมน้ำนมเมื่อทารกน้อยดูด ฮอร์โมนทั้ง 2 นี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จากอารมณ์ของคุณแม่ นี่จึงอธิบายได้ว่าในตอนที่คุณแม่มีความเครียด หรือเศร้า ทำไมน้ำนมถึงน้อยลง

บทความที่เกี่ยวข้อง : รีวิว 6 นม UHT สำหรับเด็ก ยี่ห้อไหนดี ช่วยให้สารอาหารสมองดีที่สุด

สารอาหารในนมแม่ 2


การจัดการกับปัญหาการให้นมลูก

คุณแม่หลายท่านอาจอยู่ในช่วงปรับตัว จากการให้นม โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ ที่อาจมีความกังวลในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้นมลูกในที่สาธารณะ หรือจะเป็นการกังวลว่าทารกจะไม่มีนมกิน หากตนเองอยู่ในช่วงทำงาน เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการเตรียมตัว และการวางแผนล่วงหน้า ทั้งการซื้อชุดคลุมท้องที่มีช่องให้นม หรือซื้อผ้าคลุมให้นมมาเตรียมไว้ รวมไปถึงการปั๊มนมเก็บไว้ใช้ในเวลาที่ไม่สะดวก เป็นต้น

สารอาหารในนมแม่ที่หลากหลายสำคัญมากต่อพัฒนาการของทารก เพื่อให้ทารกที่ยังมีระบบการทำงานภายในร่างกายที่ไม่แข็งแรงดี สามารถปลอดภัย และเติบโตเข้าสู่วัยเด็กเล็กได้อย่างมีคุณภาพ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

รอบรู้ทุกประโยชน์ของนมแม่ และการเก็บรักษานมเพื่อลูกรัก

เครื่องปั๊มนม จำเป็นอย่างไร เลือกอย่างไรให้ปลอดภัยต่อคุณแม่ ?

อาหารเสริมเพิ่มน้ำนม จำเป็นไหม แม่ท้องกินอะไรแล้วช่วยบำรุงน้ำนม ?

ที่มา : 1, 2, 3, 4