เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ เด็กหลอดแก้ว ทางเลือกสำหรับคนอยากมีลูก

สำหรับครอบครัวไหนที่กำลังอยากมีลูก แต่ไม่ว่าจะทำโดยวิธีธรรมชาติยังไง นับวันไข่ตกก็แล้ว ดูแลสุขภาพก็แล้ว ลูกน้อยก็ไม่ยอมมาเกิดสักที  อย่าพ 

 1576 views

สำหรับครอบครัวไหนที่กำลังอยากมีลูก แต่ไม่ว่าจะทำโดยวิธีธรรมชาติยังไง นับวันไข่ตกก็แล้ว ดูแลสุขภาพก็แล้ว ลูกน้อยก็ไม่ยอมมาเกิดสักที  อย่าพึ่งถอดใจไปค่ะ วันนี้เรามีเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ เด็กหลอดแก้ว มาฝากกัน อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคุณพ่อหรือคุณแม่ที่มีภาวะมีลูกยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขั้นตอน หรือ วิธีการต่าง ๆ เราได้รวบรวมมาไว้ให้แล้วที่นี่ ไปดูกันเลย 

เด็กหลอดแก้วคืออะไร

เด็กหลอดแก้ว หรือ In-Vitro fertilization (IVF) หรือ การปฏิสนธินอกร่างกาย เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ที่ช่วยรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยจะนำไข่ที่สุกแล้วของผู้หญิงออกมา เพื่อที่จะทำการผสมกับเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย ในภาชนะที่มีสารเลี้ยงตัวอ่อน หลังจากนั้นคุณหมอก็จะใช้เวลารวมทั้งสิ้นประมาณ 48 ชั่วโมง ติดตามการปฏิสนธิภายนอกดังกล่าว ว่ามีการพัฒนาจนกลายเป็นตัวอ่อนหรือไม่ เมื่อมีการพัฒนาการจนเป็นตัวอ่อนแล้ว คุณหมอจะทำคัดเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรง ย้ายกลับเข้าไปสู่ร่างกายของฝ่ายหญิงเพื่อให้เกิดการฝังตัว และตั้งครรภ์ต่อไป

จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองเข้าข่ายมีบุตรยาก ? 

ภาวะมีบุตรยาก สามารถเกิดได้ทั้งกับฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติฮอร์โมน หรืออาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับตัวอสุจิเองก็ได้ โดยสามารถเริ่มสังเกตภาวะมีบุตรยากได้ โดยการที่คุณพ่อหรือคุณแม่พยายามที่จะมีลูก โดยวิธีการทางธรรมชาติ คือ การมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่มีการคุมกำเนิดเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี ขึ้นไป แต่ก็ยังไม่มีลูกนั่นเอง

การทำ IVF vs การทำกิฟต์

การทำเด็กหลอดแก้ว

หลาย ๆ คนคงเข้าใจผิดว่า การทำกิฟต์ (GIFT) และการทำเด็กหลอดแก้วคือสิ่งเดียวกัน ทั้งสองเทคโนโลยีนี้มีความคล้ายกันก็จริง แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่ การทำเด็กหลอดแก้ว ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นสั้นกว่า โดยการที่คุณหมอ เจาะเอาไข่ที่สุกแล้วของฝ่ายหญิงออกมาทางช่องคลอด นำมาผสมกับอสุจิด้านนอก เมื่อผสมแล้วเกิดพัฒนาเป็นตัวอ่อน แล้วจึงค่อยย้ายกลับเข้าไป โดยที่ใช้เวลาพักฟื้นแค่ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้นก็สามารถกลับบ้านได้ 

ส่วนการทำกิฟต์ (GIFT) เป็นเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์แบบดั้งเดิม เป็นการนำไข่ของฝ่ายหญิงที่ถูกกระตุ้นแล้ว และคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงออกมา แล้วจึงจะฉีดเข้าไปใน ท่อนำไข่ เพื่อทำให้เกิดการปฏิสนธิแบบธรรมชาติ อ่านเผิน ๆ อาจดูเป็นขั้นตอนที่คล้ายกันมากเลยใช่ไหมคะ แต่การทำกิฟต์นั้น คนไข้จะต้องมีการผ่าตัดเล็ก ๆ  มีการดมยา เพื่อที่จะฉีดไข่และอสุจิกลับเข้าไป ดังนั้น คนไข้จะต้องใช้เวลาในการพักฟื้น 1 คืนที่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการก่อน จึงจะสามารถกลับบ้านได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : อัลตราซาวนด์ สำคัญอย่างไร เหตุผลที่คุณแม่ท้องควรตรวจทุกไตรมาส

ข้อดีและข้อเสียของการทำ IVF 

ข้อดี

  • รักษาการมีบุตรยาก เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์อย่างตรงจุด
  • ไม่ต้องผ่าตัด ไม่เจ็บตัว 
  • คำนวณวันตั้งครรภ์ได้ง่าย 
  • คัดกรองโรคที่อาจเกิดกับทารกได้
  • สามารถเก็บตัวอ่อนไว้ได้นาน 

ข้อเสีย

  • ค่าใช้จ่ายสูง
  • มีโอกาสที่จะไม่สำเร็จ
  • ใช้เวลานานกว่าเทคโนโลยีแบบอื่น ๆ เพราะมีขั้นตอนที่เยอะ

การเตรียมตัวก่อนทำเด็กหลอดแก้ว

ทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงควรเตรียมพร้อมด้วยการ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ให้ร่างกายได้สารอาหารอย่างครบถ้วน ทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ลดสูบบุหรี่ และ ดื่มสุรา ไปก่อนนะคะ อีกทั้ง ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อน ตรวจหาสาเหตุของการมีบุตรยาก และคัดกรองโรคที่เกิดจากพันธุกรรมก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลังค่ะ 

มีขั้นตอนอย่างไรบ้างนะ ?

โดยทั่วไปแล้วระยะเวลาในการทำเด็กหลอดแก้วจะอยู่ที่ประมาณ 4-6 สัปดาห์   และขั้นตอนในการทำมีอยู่ 5 ขั้นตอนหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่ 

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว

ขั้นตอนที่ 1 กระตุ้นรังไข่

ในการกระตุ้นรังไข่ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อดูระดับฮอร์โมนที่มีอยู่ในร่างกายก่อน  ต่อมาแพทย์จะใช้ยาในการกระตุ้นฮอร์โมน โดยฉีดให้ในวันที่ 2 หรือวันที่ 3 ของการมีรอบเดือน เพื่อให้รังไข่นั้นผลิตไข่ที่มีคุณภาพ ออกมาจำนวนหลาย ๆ ใบ นอกจากนี้แพทย์ยังต้องให้ฮอร์โมนเพื่อป้องกันการตกไข่ก่อนกำหนดด้วย เมื่อได้รับฮอร์โมนในการกระตุ้นรังไข่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือการเข้ารับการตรวจ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่ด้วย

ขั้นตอนที่ 2 เก็บไข่ (สำหรับฝ่ายหญิง)

เมื่อทำการกระตุ้นรังไข่ จนได้ไข่ที่มีคุณภาพแล้ว สิ่งที่แพทย์จะทำต่อไป คือ ทำการเก็บไข่ โดยคุณหมอจะใช้หัว อัลตราซาวนด์ที่มีหัวเข็มเจาะเข้าไปในรังไข่ และทำการดูดไข่ออกมา

ขั้นตอนที่ 3 เก็บเชื้ออสุจิ (สำหรับฝ่ายชาย)

สำหรับฝ่ายชาย การเก็บเชื้ออสุจิสามารถทำได้โดยการ ให้ฝ่ายชายสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ในกรณีที่ฝ่ายชายไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของความสามารถในการหลั่งอสุจิ หรืออีกวิธีหนึ่งคือ การทำ ทีซ่า (Testicular Sperm Aspiration) ซึ่งเป็นการใช้เข็มเจาะผ่านเข้าไปในลูกอัณฑะ เพื่อดูดอสุจิออกมา หรือสำหรับฝ่ายชายที่ อสุจิมีคุณภาพต่ำหรือมีน้ำเชื้อน้อย อาจเลือกใช้วิธี  อิ๊กซี่ หรือ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) ซึ่งเป็นการที่แพทย์จะคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุด มา 1 ตัว นำไปฉีดเข้าที่ไข่โดยตรง วิธีนี้ทำให้มั่นใจว่า อสุจิและไข่จะได้รับการผสมกัน มีการปฏิสนธิกันอย่างแน่นอน 

ขั้นตอนที่ 4 การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน

เมื่อคุณหมอได้ไข่ และอสุจิมาแล้ว จึงจะนำไปเพาะเลี้ยงให้เป็นตัวอ่อนต่อ ในหลอดแก้ว หรือ จานแก้วที่มีสารเพาะเลี้ยงตัวอ่อนอยู่ โดยในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาอยู่ประมาณ 2-5 วันเพื่อให้มีพัฒนาการที่เป็นตัวอ่อนอย่างสมบูรณ์ และพร้อมที่จะย้ายกลับเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง

ขั้นตอนที่ 5 การย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก

ในขั้นตอนนี้แพทย์จะใช้เครื่องมือ สอดเข้าไปทางมดลูก เพื่อนำตัวอ่อนเข้าไปปล่อยไว้ ตรงบริเวณโพรงมดลูก ขั้นตอนนี้ไม่ต้องมีการผ่าตัดใด ๆ คล้ายกับการตรวจภายในปกติค่ะ อาจจะรู้สึกหน่วง เล็กน้อยแต่ไม่เจ็บอย่างแน่นอน ฉะนั้นฝ่ายหญิงจึงไม่จำเป็นต้องพักฟื้น สามารถกลับบ้านได้เลย เป็นอันเสร็จขั้นตอน

ในส่วนของผลว่าคุณผู้หญิงนั้นตั้งครรภ์หรือไม่ จะทราบได้ภายใน 14 วันหลังจากย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกค่ะ 

บทความที่เกี่ยวข้อง: ตั้งครรภ์ 1 – 42 สัปดาห์ ติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์

การดูแลตัวเองหลังจากนี้

เด็กหลอดแก้ว

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก ตัวอ่อน จะใช้เวลา 6-10 วันโดยประมาณ ในการฝังตัวในผนังมดลูก ดังนั้นช่วงนี้ คุณผู้หญิงจะต้องดูแลรักษาตนเองให้ดี เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวอย่างสมบูรณ์นะคะ วิธีการดูแลตัวเองมีดังนี้ค่ะ 

  • รับประทานฮอร์โมนที่คุณหมอสั่งให้อย่างเคร่งครัด 
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ก่อน 
  • หลีกเลี่ยงการขยับตัวให้มากที่สุด เช่น การออกกำลังกาย การเดินเยอะเกินไป หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ มากเกินไป
  • งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และ ดื่มน้ำให้มาก ๆ 
  • สิ่งสำคัญเลย คือ ห้ามเครียดเป็นอันขาด ถ้าหากเครียดมากเกินไป จะทำให้ร่างกายอ่อนแอได้ค่ะ 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ได้รับสาระความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ แบบการทำ IVF สำหรับผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ ให้เลือกอีก เช่น การทำ กิฟต์ (GIFT) และ การทำ อิ๊กซี่ (ICSI) ทั้งนี้ การเลือกว่าจะใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์แบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับปัญหาเฉพาะตัวบุคคลและความเหมาะสมด้วยนะคะ หากท่านไหน มีข้อสงสัยว่า ตนมีภาวะมีบุตรยากหรือไม่ ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออกที่ดี และเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด 


บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แม่ท้องกินไฟเบอร์ ช่วยบรรเทาอาการท้องผูกจริงหรือไม่ ?

ท้องแล้ว ไวต่อกลิ่น ปกติหรือไม่ ? แม่ท้องรับมือได้อย่างไร?

แม่ท้องควรรู้ ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? อัปเดตแพ็กเกจฝากครรภ์ ปี 2565

ที่มา : 1, 2, 3