ลูกชอบอยู่คนเดียว เก็บตัวเงียบ ไม่ชอบเข้าสังคม ทำอย่างไรดี?

เด็กหลายคนมักมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเมื่อเขาเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ บางคนอาจกลายเป็นเด็กเก็บตัว ไม่ค่อยพูดจาเหมือนตอนเล็ก ๆ บางคนชอบอยู่คนเดี 

 1483 views

เด็กหลายคนมักมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเมื่อเขาเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ บางคนอาจกลายเป็นเด็กเก็บตัว ไม่ค่อยพูดจาเหมือนตอนเล็ก ๆ บางคนชอบอยู่คนเดียวมากกว่าเข้าสังคม จนทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจกลัวว่าลูกจะเป็นเด็กขี้อาย และเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ยิ่งหากเด็กมีโลกส่วนตัวสูงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็อาจต้องให้ความดูแลอย่างใกล้ชิด วันนี้ Mama Story จะพามาดูกันว่า ลูกชอบอยู่คนเดียว เล่นคนเดียว มีสาเหตุมาจากอะไร และมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง ใครที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้ ไปดูกันค่ะ

เด็กชอบอยู่คนเดียวโลกส่วนตัวสูงไหม

คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านอาจกำลังเผชิญกับปัญหาเด็กชอบอยู่คนเดียว ชอบเล่นคนเดียว ทราบไหมคะ ว่าการที่ลูกชอบเล่นคนเดียวนั้น อาจเป็นเพราะว่าเขามีโลกส่วนตัวสูง ชอบคิด และทำอะไรด้วยตนเอง ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะการชอบอยู่คนเดียวนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และไม่ใช่เรื่องที่แปลก เด็กที่ชอบอยู่คนเดียวไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม เพียงแค่เขาอาจอยากหลีกเลี่ยงความวุ่นวาย และการอยู่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก ถือว่าเป็นนิสัยส่วนตัวมากกว่า เพราะฉะนั้นหากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกชอบอยู่คนเดียว ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าเขามีปัญหาอะไรหรือเปล่า หรือว่าเป็นนิสัยของเขา เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

บทความที่เกี่ยวข้อง : ปัญหา “โลกส่วนตัวสูง” ไม่ใช่โรค ช่วยลูกปรับตัวได้ด้วยการยอมรับ และความเข้าใจ

ลูกชอบอยู่คนเดียว

ลูกชอบอยู่คนเดียวเกิดจากอะไร

เด็กชอบอยู่คนเดียวอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ อาจมาจากการเลี้ยงดู และปัจจัยภายนอก เรามาดูสาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นเด็กที่ชอบอยู่คนเดียวกันค่ะ

  • พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก : บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานนอกบ้านจนถึงเวลามืดค่ำ ไม่มีเวลาให้ลูก พอตอนเช้าก็ต้องรีบไปทำงาน ทำให้ลูกต้องอยู่คนเดียว เล่นโทรศัพท์ จนเกิดความเกิดชินในการอยู่คนเดียว
  • ขาดความมั่นใจ : เด็กหลายคนอาจมีความรู้สึกไม่มั่นใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ชอบต่อว่าลูกเป็นประจำ หรือไม่ส่งเสริมสิ่งที่ลูกชอบ จนทำให้เขาขาดความมั่นใจ จนนำไปสู่การชอบอยู่คนเดียว
  • ไม่ชอบพบปะผู้คน : หากลูกเป็นคนที่ชอบอยู่บ้าน หรือไม่มีโอกาสไปพบปะผู้คนภายนอกบ่อย ๆ เด็กก็หากิจกรรมอย่างอื่นทำแทน จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเป็นเด็กที่ชอบเก็บตัว และชอบอยู่คนเดียวมากกว่าไปเที่ยวกับผู้อื่น
  • ถูกกดดันเรื่องการเรียน : คุณพ่อคุณแม่บางบ้านมักกดดันลูกเรื่องการเรียนบ่อย ๆ โดยคาดหวังว่าลูกต้องได้เกรดเฉลี่ยตามที่ตัวเองคิด หรือต้องทำข้อสอบ หรือการบ้านได้คะแนนสูง ซึ่งการที่ลูกถูกคาดหวังให้เก่งมากไปนั้น ก็อาจทำให้เด็กเครียดจนต้องอยู่คนเดียว
  • ถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อน : เมื่อลูกถูกเพื่อนหรือคนรอบข้างกลั่นแกล้ง ไม่ว่าจะเป็นจากโรงเรียน หรือบ้าน ก็ทำให้เด็กรู้สึกระแวง หวาดกลัว และไม่อยากอยู่ใกล้ใคร จนในที่สุดก็ทำให้เขาเป็นคนเก็บตัว และชอบอยู่คนเดียว
  • พูดไม่เก่ง : เด็กที่พูดไม่เก่ง มักไม่กล้าปฏิเสธ หรือยอมคนอื่น จนบางครั้งอาจทำให้เขาเป็นคนเงียบ เก็บตัว และไม่อยากสุงสิงกับใคร
  • ขี้อาย อ่อนไหว : หากลูกเป็นเด็กขี้อาย และมีอารมณ์อ่อนไหวกับคำวิจารณ์ อาจมาจากปมในการเข้าสังคม โดยอาจถูกต่อว่าหรือพูดจาไม่ดีใส่ จนทำให้เด็กไม่อยากยุ่งกับใคร

บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกคิดบวก หายห่วงทุกสถานการณ์ กับ 5 วิธีแสนง่าย

ลูกชอบอยู่คนเดียว

วิธีรับมือเมื่อเด็กชอบเล่นคนเดียว

หลังจากที่เราได้ทราบสาเหตุที่ทำให้ลูกชอบอยู่คนเดียว หรือมีโลกส่วนตัวสูงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรมีวิธีช่วยลูกให้กล้าเข้าสังคม เพราะหากปล่อยลูกอยู่กับตัวเองนาน ๆ นั้น ก็อาจส่งผลเสียในระยะยาวได้ โดยวิธีรับมือเมื่อเด็กชอบเล่นคนเดียว มีดังนี้

1. ทำความเข้าใจกับลูก

ก่อนอื่นเลยหากคุณพ่อคุณแม่พบว่ามีลูกมีนิสัยชอบอยู่คนเดียว สิ่งแรกที่ควรทำคือการเข้าใจลูก โดยอาจเริ่มจากการพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ลองปรับความคิดตัวเองให้เข้าใจลูกมากขึ้น ให้โอกาสลูกได้พูด และแก้ไขปัญหา และคอยให้คำปรึกษาใกล้ชิดเสมอ เพราะบางครั้งความคิดของเด็กกับผู้ใหญ่มีความแตกต่างกัน ผู้ใหญ่อาจยังไม่เข้าใจมุมมองของเด็ก ทำให้เราต้องปรับทัศนคติก่อนนั่นเอง

2. สร้างความมั่นใจให้แก่ลูก

หากลูกเป็นเด็กขี้อาย ไม่ค่อยมั่นใจ คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างความมั่นใจให้แก่ลูก โดยอาจสังเกตดูว่าลูกชอบทำอะไร และสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ หากพบว่าลูกมีความสนใจจริง ๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรส่งเสริม และเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำ เพราะหากลูกมีความมั่นใจมากขึ้น และกล้าที่จะแสดงออก ก็จะทำให้เขากล้าออกไปพบปะกับผู้อื่น และกล้าแสดงความสามารถที่เขามี

3. มีเวลาให้กับลูก

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่อาจต้องทำงาน และไม่ค่อยมีเวลาให้แก่ลูก ทำให้ลูกมักอยู่คนเดียว ไม่ค่อยได้พูดคุยกับพ่อแม่ และหลีกเลี่ยงการออกไปพบปะกับผู้อื่น ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาให้แก่ลูกบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการพาลูกไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา และใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น

4. รับฟังลูกให้มากขึ้น

หากที่ผ่านมา คุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยได้รับฟังลูก ก็ควรเปิดใจรับฟังเขาให้มากขึ้น เพราะการรับฟังนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำความเข้าใจกับลูก คุณพ่อคุณแม่จะได้รู้ว่าลูกคิดอะไรกับเรื่องนั้น ๆ และได้เปิดโอกาสให้เราได้สอนสิ่งที่ลูกต้องการเรียนรู้ นอกจากนี้ การที่คุณพ่อคุณแม่รับฟังลูกมากขึ้น ก็จะทำให้เด็กรู้สึกสบายใจ และใช้เวลาร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ในการแก้ไขปัญหา

บทความที่เกี่ยวข้อง : เมื่อลูกน้อยงอแง ไม่อยากไปโรงเรียน ทำอย่างไรดี ?

ลูกชอบอยู่คนเดียว

5. ชวนลูกทำกิจกรรมครอบครัว

คุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูกทำกิจกรรมครอบครัวบ้าง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว โดยกิจกรรมที่ทำนั้น จะต้องเหมาะสม และตอบโจทย์ความต้องการของลูกด้วย โดยเฉพาะกิจกรรมที่ช่วยเสริมทักษะความมั่นใจ และศักยภาพของลูก เพราะการทำกิจกรรมในครอบครัวเป็นประจำ จะช่วยเปิดโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ได้มีเวลาพูดคุยกับลูก

6. เชื่อมั่นในตัวลูก

นอกจากการสร้างความมั่นใจให้กับลูกแล้ว การเชื่อมั่นในตัวลูกก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจ และเชื่อมั่นในตัวลูก ไม่เชื่อว่าลูกทำได้ ก็จะทำให้เด็กเครียด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรแสดงออกให้ลูกเห็นว่าเราเชื่อมั่นในตัวเขาเสมอ โดยเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ได้กล้าแสดงออก ก็จะทำให้ลูกมีความมั่นใจ และภาคภูมิใจในตัวเอง กล้าออกไปพบปะผู้คนในสังคม และไม่อยู่คนเดียวในห้อง

7. ปรึกษาแพทย์ และนักจิตวิทยาเด็ก

หากคุณพ่อคุณแม่ช่วยลูกทุกวิธีแล้ว แต่ลูกยังคงเก็บตัว ขี้อาย ไม่กล้าออกไปไหน ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ๆ ให้ลองพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยาเด็ก เพราะลูกอาจมีปัญหาด้านพัฒนาการอื่น ๆ ได้ ซึ่งหากจะพาลูกไปพบแพทย์นั้น คุณพ่อคุณแม่ควรบอกลูกก่อนว่าจะพาไปพบใคร ไม่ควรโกหกลูก เพราะจะทำให้เด็กกลัว และไม่กล้าพูดกับคนแปลกหน้า

การที่ลูกมีโลกส่วนตัวสูง อาจไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจมากเกินไป สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกกล้าแสดงออก และกล้าออกไปข้างนอก คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสนใจลูก และคอยดูแลเขาอย่างใกล้ชิด คุณพ่อคุณแม่ควรรับฟัง และหมั่นทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกบ่อย ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และช่วยให้ลูกออกมาจากโลกส่วนตัวของเขา

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ปัญหาเด็กยุคใหม่ ลูกติดมือถือ จับไม่ยอมวาง ทำอย่างไรดี?

วิธีลงโทษลูก ลงโทษอย่างไร? เพื่อให้เขาเข้าใจ และไม่ทำผิดอีก

ฝึกลูกให้ “แก้ปัญหา” ด้วยตนเองทำได้ไม่ยาก เดี๋ยวเรากระซิบบอกเอง

ที่มา : 1, 2, 3, 4