ปัญหาเด็กยุคใหม่ ลูกติดมือถือ จับไม่ยอมวาง ทำอย่างไรดี ?

ลูกติดมือถือทำอย่างไรดี ? อาการแบบไหนที่เรียกว่าติดจอ อยากให้ลูกเรียนรู้ หรือเล่นโทรศัพท์ ไอแพด ควรเริ่มตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป เพราะสามารถเร 

 1599 views

ลูกติดมือถือทำอย่างไรดี ? อาการแบบไหนที่เรียกว่าติดจอ อยากให้ลูกเรียนรู้ หรือเล่นโทรศัพท์ ไอแพด ควรเริ่มตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป เพราะสามารถเรียนรู้การใช้งานได้อย่างเต็มที่ หากให้ลูกเล่นตั้งแต่เล็กจนติดโทรศัพท์ จำเป็นต้องแก้ไข เพราะส่งผลเสียต่อพัฒนาการหลายอย่างกับลูกน้อย

อาการแบบไหนที่บอกว่าลูกติดจอ ติดมือถือ

การให้ลูกเล่นมือถือ ควรเลือกความเหมาะสมทั้งช่วงอายุ เวลาในการเล่น หากไม่สามารถทำได้ จะทำให้ลูกน้อยอาจมีอาการติดจอ ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • เอาแต่เล่นมือถือ ไม่สนใจกิจกรรมอื่น ๆ หรือกิจกรรมที่เคยชอบทำ
  • ความรับผิดชอบน้อยลง ไม่ยอมทำสิ่งที่ตกลงกันไว้
  • ไม่สามารถควบคุมระยะเวลาในการเล่นได้
  • ต้องการเล่นมือถือมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าได้เล่นน้อยจะงอแง
  • หากไม่ได้เล่นมือถือจะงอแง และหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ


วิดีโอจาก : Kids Family เลี้ยงลูกให้ฉลาด

ปัจจัยที่ทำให้ลูกติดมือถือ

ปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กเล็กติดมือถือ เกิดได้หลายปัจจัย ส่วนมากแล้วจะมาจากการใช้เวลามากเกินไปกับหน้าจอ โดยไม่ได้ทำกิจกรรมอื่น ซึ่งขึ้นตรงกับการเลี้ยง การดูแลลูกของผู้ปกครองตั้งแต่ช่วงแรก ดังนี้

  • ใช้เวลากับมือถือมากเกินไป : การใช้เวลานานเกินไปกับหน้าจอ ปัญหานี้มักมาจากการไม่ได้ควบคุมดูแลการเล่นมือถือของลูกน้อย หรืออาจไม่มีเวลาให้ลูก และให้ลูกอยู่กับมือถือแทนตอนผู้ปกครองไม่ว่าง จนเด็กเริ่มชินและติดมือถือในที่สุด
  • ไม่เคยทำกิจกรรมอื่น : กิจกรรมที่สนุก และเพลิดเพลิน อีกทั้งยังได้ประโยชน์มากกว่าการเล่นมือถือ เช่น การออกไปเล่นกับเพื่อนข้างนอกที่สวน หรือสนามเด็กเล่น เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมพัฒนาการได้ดี เด็กอาจชอบมากกว่าการเล่นมือถือ เพียงแต่ไม่มีโอกาสได้ลองทำเท่านั้นเอง
  • เริ่มเล่นมือถือในวัยที่ไม่เหมาะสม : การเล่นมือถือจนติดเป็นนิสัย เพราะเล่นมานานแล้วจนเป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งในวัยที่เหมาะสม คือ อายุ 3 ปีขึ้นไปเท่านั้น ช่วงอายุ 1-2 ปี ควรพัฒนาการเรียนรู้ การพูด และการเคลื่อนไหวของเด็ก มากกว่าการให้นั่งเล่นมือถือ
  • ไม่ชอบเข้าสังคม มีโลกส่วนตัว : เด็กบางคนอาจชอบอยู่คนเดียว หรือมีโลกส่วนตัวสูง เลือกใช้เวลาส่วนมากไปกับสื่อออนไลน์ รู้สึกว่าเป็นที่ปลอดภัยสำหรับตนเอง อาจเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวตั้งแต่เด็ก ซึ่งต้องรีบแก้ไข ก่อนที่จะโต แก้ได้ยากกว่าเดิม


ลูกติดจอ ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง ?

ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโทรศัพท์ทั้งจากการให้ลูกเล่นเกม หรือหาความรู้ แต่หากมากเกินไปจนลูกติดจอเป็นนิสัย จะทำให้เกิดผลเสียตามมา ทั้งร่างกาย และการเข้าสังคม ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

สายตาสั้นเทียม

การจ้องมือถือใกล้ ๆ เป็นเวลานาน ทำให้รูม่านตามีขนาดเล็กลง การรับแสงจากจอไม่เหมือนแสงจากธรรมชาติทั่วไป ทำให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดการใช้สายตาเพ่งค้างกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีอาการตาพร่า และปวดตาตามมาด้วย อาการเหล่านี้เรียกว่า “สายตาสั้นเทียม” ซึ่งจะเกิดขึ้นชั่วคราว จนผู้ปกครองเข้าใจว่าลูกของตนเองเป็นสายตาสั้น

เพิ่มความก้าวร้าว

การเล่นมือถือนานเกินไปจะส่งผลให้เด็กเกิดความก้าวร้าวมากขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากช่วงวัยเด็กจะยังไม่สามารถคิดแยกแยะได้มากพอ ในสิ่งที่ตนเองกำลังดูอยู่ หากขาดการควบคุมอาจทำให้เด็กเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม จนเกิดการเลียนแบบได้ นอกจากนี้การที่เข้าไปควบคุม หรือห้ามให้ลูกเล่น อาจต้องปะทะกับอาการงอแงของลูก อาจรุนแรงถึงขั้นแสดงความก้าวร้าวออกมา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนว่าในเวลานั้นติดจอหนักแค่ไหน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกชอบ ทะเลาะวิวาท ทั้งกับเพื่อน และพี่น้อง ทำอย่างไรดี ?

ติดมือถือ


พัฒนาการช้ากว่าเด็กทั่วไป

การใช้เวลาเล่นโทรศัพท์ เล่นไอแพดนานเกินไป ไม่ใช่ผลดี ถึงแม้จะใช้สำหรับการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ก็ยังทำให้ลูกน้อยเสี่ยงมีพัฒนาการล่าช้าอยู่ดี เนื่องจากการเล่นไอแพด ไม่สามารถช่วยให้ลูกแข็งแรงขึ้น ไม่ได้มีการฝึกการใช้กล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของเด็กเล็ก นอกจากนี้การได้เคลื่อนไหวน้อย ยังทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคอ้วน หรือโรคเบาหวานในอนาคต

เข้าสังคมได้ยาก

การใช้เวลาไปกับการเล่นมือถือส่งผลให้ขาดโอกาสที่จะเจอกับบุคคลอื่น เมื่อไม่ได้มีโอกาสเจอกับเด็กคนอื่น แล้วต้องเจอเด็กช่วงวัยเดียวกันเป็นครั้งแรกในช่วงเรียน จะทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้ไม่มีเพื่อน หรือมีเพื่อนน้อย หากลดเวลาในการเล่นไอแพดให้น้อยลง และได้ออกไปข้างนอก ไปเล่นกับเด็กคนอื่นมากขึ้น จะช่วยฝึกการเข้าสังคมได้มากกว่า

ลูกติดจอ แก้อย่างไรดี ?

หากพบว่าลูกมีอาการติดจอ ต้องรีบแก้ไขอย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะผลเสียที่ส่งผลต่อร่างกาย อาจสะสมและมีความรุนแรงมากขึ้นได้ สามารถช่วยให้ลูกลดการเล่นโทรศัพท์ได้ ดังนี้

  • กำหนดเวลาในการเล่นมือถือในแต่ละวันอย่างชัดเจน และควบคุมการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เสมอ
  • ให้เวลากับลูกเมื่อลูกเล่นมือถือ เพื่อให้คำแนะนำสื่อต่าง ๆ ที่ลูกกำลังดู
  • พาลูกไปทำกิจกรรมอื่น นอกเหนือจากการเล่นมือถือ เพื่อให้ลูกรู้ว่าความสนุกไม่ได้อยู่แค่ในหน้าจอ
  • ถ้าลูกอยากเล่นนอกเหนือตามที่ตกลง ต้องไม่ใจอ่อน และชวนลูกทำกิจกรรมอื่นแทน
  • ให้เวลากับลูกมากขึ้น พาลูกออกไปข้างนอก ดูหนัง ร้องเพลงกับลูก สานสัมพันธ์กันมากขึ้น เพื่อให้เด็กสนใจมือถือน้อยลง
  • หากไม่สามารถแก้ไขได้ และส่งผลต่อชีวิตประจำวันของลูกมากเกินไป ควรพาลูกเข้าพบแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษา รับคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป


บทความที่เกี่บวข้อง : 6 เทคนิคสอนลูกขี่จักรยาน กิจกรรมแสนสนุกแถมสุขภาพดี

ปัญหาการติดจอไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กเล็กเท่านั้น ยังพบได้ในช่วงวัยรุ่นยุคใหม่ด้วย ดังนั้นผู้ปกครองต้องคอยสังเกตให้ดี เพื่อให้สามารถช่วยแก้ไขได้ทันท่วงที

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ทำอย่างไรให้ลูกหลุดพ้นจากการ “บูลลี่” ปัญหาที่พบเจอได้ไม่ยาก

5 วิธีช่วยแก้ปัญหา เมื่อลูกรักกลายเป็นเด็ก “ขี้อาย”

ทำไมลูกตัวน้อยจึงชอบ “โกหก” พาคุณพ่อคุณแม่มาหาคำตอบกัน

ที่มา : 1, 2, 3, 4, 5