ลูกชอบ ทะเลาะวิวาท ทั้งกับเพื่อน และพี่น้อง ทำอย่างไรดี ?

ทะเลาะวิวาท ไม่ใช่ปัญหาแค่กับคนโต เด็กตัวเล็ก ๆ เองก็ไม่สามารถหนีพ้นปัญหาเหล่านี้ แม้จะยังเด็ก และการทะเลาะถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติของเด็ก  

 1512 views

ทะเลาะวิวาท ไม่ใช่ปัญหาแค่กับคนโต เด็กตัวเล็ก ๆ เองก็ไม่สามารถหนีพ้นปัญหาเหล่านี้ แม้จะยังเด็ก และการทะเลาะถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติของเด็ก แต่การแก้ปัญหานี้สำคัญกว่าที่คิดมาก เพื่อให้ลูกมีอนาคตที่สดใส มีความเข้าใจผู้อื่น และอยู่ร่วมกันได้กับทุกคน มาดูกันว่าเมื่อลูกทะเลาะกับเพื่อน หรือพี่น้องตนเอง ควรทำอย่างไร

ลูกชอบ ทะเลาะวิวาท ปัญหาไม่เล็ก ที่ต้องระวัง

ไม่ว่าลูกจะทะเลาะกับใครทั้งเพื่อน หรือทะเลาะกับพี่น้องกันเอง ต่างก็เป็นปัญหาที่อาจพบเจอได้ทั่วไป แต่ไม่สามารถมองให้เป็นปัญหาแบบปกติได้ หากไม่แก้ไขอย่างจริงจัง จะยิ่งส่งผลเสียต่อลูกน้อยเองทั้งในปัจจุบัน และอนาคต เนื่องจากพื้นฐานของการทะเลาะนั้น มักมาจากความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน และความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกันของทุกสังคม

บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 วิธีสอนลูกอย่างไร ให้ลูกกลายเป็นคน “คิดบวก” หายห่วงทุกสถานการณ์

https://www.youtube.com/watch?v=_-gd6qW_ZHE

วิดีโอจาก : Kids Family เลี้ยงลูกให้ฉลาด

ลูกชอบทะเลาะกัน ปัญหาพี่น้องเกิดจากอะไร ?

พี่น้องไม่ว่าจะวัยไหนก็อาจทะเลาะกันเองได้ ยิ่งในวัยเด็กที่อาจจะยังไม่ชิน ไม่เข้าใจถึงสายสัมพันธ์ของครอบครัว จะยิ่งมีโอกาสทะเลาะกันมากขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  • ต้องการความสนใจที่เท่าเทียม : หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อาจเข้าใจว่าตนเองให้ความสำคัญ ให้ความเท่าเทียมกับลูก ๆ แต่ในความคิดของเด็กอาจมองในมุมที่แตกต่างออกไป เด็กแต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างกัน เขาอาจมองว่าตนเองได้รับความสนใจน้อยกว่า เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยสำหรับปัญหาพี่น้อง และอาจเรื้อรังไปจนโต หากไม่รีบแก้ไข
  • ขาดความเข้าใจ : ลูกตัวน้อยอาจไม่เข้าใจ เมื่อทุกอย่างอาจถูกแบ่งออกไปจากตนเอง เด็กบางคนเคยเป็นลูกคนเดียวจนชิน แต่เมื่อต้องมีน้อง อาจเกิดความไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่จะต้องหันไปให้ความสำคัญน้องที่เล็กกว่า ความไม่เข้าใจนี้ จะเป็นรากฐานของการเรียกร้องความสนใจต่อไป
  • เวลาน้อยเกินไป : เมื่อมีลูกหลายคน การที่จะจัดการเวลาให้กับลูกทุกคน เป็นสิ่งที่สำคัญและต้องปรับตัว หากไม่สามารถทำได้ จะทำให้ลูก ๆ ขาดการดูแลที่เหมาะสม ไม่เพียงพอ ขาดความเข้าใจในสิ่งที่ควรเข้าใจ เพราะไม่มีใครอธิบายให้ฟัง รวมถึงขาดโอกาสในการทำกิจกรรมร่วมกันของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้


ลูกชอบทะเลาะกันเองควรทำอย่างไร ?

  • ให้เวลาและความสนใจ : ไม่ว่าจะมีลูกคนเดียว หรือมีลูกมากกว่า 1 คน การให้เวลา และความเอาใจใส่เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ เพื่อเพิ่มการสังเกตเมื่อลูกมีความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ของพี่น้องไปในทิศทางลบ จะได้ช่วยพูดคุยหรืออธิบายให้เข้าใจตั้งแต่ยังเด็ก นอกจากนี้การใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ซับซ้อน เช่น เล่นเกมด้วยกัน หรือดูภาพยนตร์ด้วยกัน โดยเฉพาะกิจกรรมที่ให้ลูกได้ทำร่วมกัน จะทำให้พี่น้องรักกัน และมีความเข้าใจกันมากขึ้น
  • สอนให้แสดงออกอย่างเหมาะสม : บางครั้งลูกอาจแสดงออกแบบผิด ๆ เมื่อไม่พอใจกัน จนสุดท้ายเกิดการ ทะเลาะวิวาท ในที่สุด ปัญหาพี่กับน้องถึงจะเข้าใจกัน และรักกันก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกรู้ว่า เมื่อไม่พอใจให้พูดคุยด้วยเหตุผลมากกว่าการทะเลาะ หรือปรึกษาพ่อแม่เมื่อเกิดความไม่พอใจก่อนก็ได้ นอกจากนี้ทุกครั้งไม่ควรเข้าไปห้ามตลอดในทันที เพราะจะส่งเสริมให้เด็กคิดว่า “ทะเลาะได้เดี๋ยวก็มีคนมาห้าม และปัญหาจะจบลง”
  • พี่น้องไม่ได้แข่งขันกัน : พี่น้องหลายคู่ ที่มีอายุใกล้เคียงกัน อยู่ในวัยที่ใกล้กัน อาจรู้สึกว่าตนเองถูกเปรียบเทียบ หรืออาจมองว่าตนเองกำลังแข่งขันกับอีกคน จนมองว่าตนเองต้องดีกว่า เก่งกว่า จนเกิดการขัดแย้งนำพาไปสู่การทะเลาะกัน พ่อแม่ต้องให้ลูกเข้าใจว่าการเป็นพี่น้อง ไม่ใช่การแข่งกัน แต่เป็นการผลักดันซึ่งกันและกัน และช่วยเหลือ คอยเคียงข้างกันต่างหาก


ทะเลาะวิวาท


ลูกชอบทะเลาะกับเพื่อนที่โรงเรียน เกิดจากอะไร ?

ปัญหาการทะเลาะวิวาทที่โรงเรียน เป็นปัญหาที่อาจอยู่นอกสายตาของผู้ปกครอง จึงต้องคอยสังเกตท่าทีของลูกน้อย และคอยสอบถามถึงปัญหาที่ลูกอาจพบเจอในโรงเรียนด้วย

  • ปัญหาจากตัวของลูกเราเอง : มีหลายปัจจัย โดยส่วนมากจะเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรม และความคิด เช่น ไม่มีความเข้าใจผู้อื่น, ไม่เห็นใจผู้อื่น, โมโหง่าย, ไม่ชอบแบ่งปัน, ชอบแกล้งเพื่อน หรือชอบเอาชนะเพื่อน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สร้างความขัดแย้งกับบุคคลรอบตัวลูก โดยเฉพาะเพื่อน ๆ และยิ่งวัยที่ยังน้อย ที่ยังต้องเรียนรู้อีกมาก อาจตัดสินใจผิดพลาดจนกลายเป็นการทะเลาะกันในที่สุด
  • ปัญหาจากตัวของเด็กคนอื่น : ถึงแม้ลูกของเราอาจเรียกได้ว่าเป็นเด็กดี แต่สิ่งนี้ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาไม่เกิด เพราะการทะเลาะเป็นเรื่องของ 2 ฝ่าย หากเพื่อนของลูกน้อย มีนิสัยชอบแกล้งคนอื่น หรือมีนิสัยตามที่เรากล่าวไปข้างต้น ก็ยังสามารถทำให้เกิดการทะเลาะได้เช่นกัน


บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำอย่างไรให้ลูกหลุดพ้นจากการ “บูลลี่” ปัญหาที่พบเจอได้ไม่ยาก

ลูกทะเลาะกับเพื่อนทำอย่างไรดี ?

  • แก้ที่ลูกของเราก่อน : หากลูกของเราเป็นคนเริ่มทะเลาะก่อน เราต้องยอมรับ และพูดคุยกับลูกใหม่ เพื่อให้อยู่ในสังคมได้ดี และมีความเคารพผู้อื่นมากขึ้น หากเป็นการทะเลาะที่รุนแรงก็ควรมีการทำโทษตามความเหมาะสม ไม่ใช่การดุด่าให้กลัวจนฟัง แต่ต้องสอนให้เด็กเกิดความเข้าใจขึ้นจริง ๆ
  • เด็กคนอื่นเป็นเรื่องของทางโรงเรียน : หากปัญหาเกิดจากเด็กคนอื่น ไม่ควรเข้าไปดุด่า หรือลงโทษเด็กคนนั้น แต่ควรแจ้งกับทางคุณครู หรือทางโรงเรียน เพื่อให้ช่วยดูสถานการณ์ หากยังไม่ดีขึ้น ทางโรงเรียนจะมีวิธีการจัดการตามขั้นตอนต่อไป


หากแก้ปัญหาที่ลูกเราไม่ได้ หรือมีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกับบุคคลรอบตัวบ่อยครั้ง แม้จะพยายามสอน ลงโทษ หรือพูดคุยตามเหตุผลแล้ว อาจปรึกษากับแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไขที่ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ไม่ควรปล่อยไว้จนลูกโต เพราะจะทำให้สอนได้ยากมากขึ้น และอาจต่อต้านมากกว่าเดิม

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อลูกน้อยงอแง ไม่อยากไปโรงเรียน ทำอย่างไรดี ?

ทำไมลูกตัวน้อยจึงชอบ “โกหก” พาคุณพ่อคุณแม่มาหาคำตอบกัน

8 วิธีฝึกลูกรับมือเมื่อต้องเผชิญภัยร้ายจาก “คนแปลกหน้า”

ที่มา : 1, 2, 3, 4, 5