ทำไมลูกตัวน้อยจึงชอบ “โกหก” พาคุณพ่อคุณแม่มาหาคำตอบกัน

“โกหก” คำสั้น ๆ แต่ความผิดล้านความหมาย ยิ่งถ้าลูกสุดที่รักของเราเป็นเด็กชอบโกหกจนติดเป็นนิสัย อาจสร้างผลกระทบร้ายแรงกว่าที่คิดได้ แน่นอนว 

 1654 views

โกหก” คำสั้น ๆ แต่ความผิดล้านความหมาย ยิ่งถ้าลูกสุดที่รักของเราเป็นเด็กชอบโกหกจนติดเป็นนิสัย อาจสร้างผลกระทบร้ายแรงกว่าที่คิดได้ แน่นอนว่าคงต้องเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ ที่ต้องหาสาเหตุที่ลูกชอบโกหก และพูดคุยกับลูกเพื่อแก้ปัญหานี้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

เหตุผลที่ทำให้ลูกชอบโกหกมาจากอะไร ?

ลูกน้อยที่น่ารักของเรา อาจมีบางมุมที่เราต้องคอยสังเกต หากลูกมีพฤติกรรมด้านลบ อย่างเช่น การโกหก ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่ละปัจจัยมักเกิดจากความไม่ระมัดระวังในการเลี้ยงดูลูกทั้งสื่อ หรือบุคคลรอบตัว เป็นต้น โดยเราสรุปปัจจัยที่ว่านั้นไว้ให้ ดังนี้

1.ไม่มีความเข้าใจเรื่องการโกหก

เด็ก ๆ วัยกำลังเรียนรู้อาจไม่มีความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากการโกหกของตนเอง ถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะเด็กทุกคนจะต้องเรียนรู้ในเรื่องนี้ผ่านผู้ปกครอง ด้วยความที่ยังเด็ก เมื่อโกหกออกไป อาจทำให้หลายคนมองว่าเพราะเป็นเด็ก บางคนถึงกับบอกว่าน่าเอ็นดู ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้ จะยิ่งเพิ่มความเข้าใจผิดให้กับตัวของเด็กได้ อาจทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ไปเองว่า การที่ตนเองโกหกนั้นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

2.ปฏิกิริยาของพ่อแม่เมื่อลูกพูดความจริง

การพูดตรง ๆ พูดความจริงกับผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเด็ก แต่เรื่องง่าย ๆ เหล่านี้ อาจกลายเป็นเรื่องที่สร้างความกดดันให้กับลูกได้ เมื่อลูกพูดออกมาแต่คุณพ่อคุณแม่แสดงปฏิกิริยาด้านลบออกมา เช่น ดุด่าอย่างรุนแรง, ตี หรือทำโทษอย่างหนักเกินความจำเป็น ทำให้เด็กเกิดอาการกลัวที่จะพูดอะไรออกไปนั่นเอง

3.ความคาดหวังที่มากเกินไป

บางครอบครัวอาจมีการตั้งเป้าหมาย มีความหวังในตัวของลูกอย่างมาก เช่น ต้องสอบได้คะแนนเท่าไหร่ ได้ที่เท่าไหร่ของห้อง หรือโตไปอยากให้เป็นอะไร เป็นต้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากความรัก ที่อยากให้ลูกไม่ต้องลำบากในภายหลัง จนอาจลืมไปว่าลูกตัวน้อย ๆ ก็สามารถเลือกในสิ่งที่ตนเองอยากจะเป็นได้ ทำให้เมื่อลูกรู้ตัวว่าทำอะไรบางอย่าง ที่อาจทำให้พ่อแม่ผิดหวังในตัวเอง ก็จะไม่กล้าบอกความจริง เช่น ทำคะแนนข้อสอบได้น้อย เป็นต้น

4.โกหกจากการเลียนแบบจากผู้คนหรือสื่อต่าง ๆ

ลูกๆ ที่เหมือนผ้าขาว และกำลังเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวของเขา รวมไปถึงการจดจำพฤติกรรมของบุคคลใกล้ชิด หรือจดจำการแสดงผ่านสื่อต่าง ๆ โดยไม่มีใครคอยดู ให้คำแนะนำ จนเกิดการเลียนแบบในที่สุด ยิ่งในปัจจุบันบางครอบครัวให้ลูกอยู่กับโทรศัพท์ ดูรายการออนไลน์ ในขณะที่พ่อแม่ทำงาน การที่เด็กใช้จ่ายเวลาในส่วนนั้นไปกับสื่อ หากไม่คัดกรองให้ดี ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้มากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

5.ลูกโกหกเพราะต้องการความสนใจ

เด็กบางคนต้องการความสนใจจากบุคคลรอบข้าง อาจด้วยเหตุผลที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร หรือมีความต้องการความสนใจอยู่แล้ว แต่แทนที่จะเลือกการทำสิ่งอื่น เพื่อให้คนสนใจ อาจใช้วิธีการ โกหก เพื่อให้ตนเองมีความโดดเด่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ไปโกหกเพื่อนว่าตนเองมีของเล่นชิ้นนั้นชิ้นนี้เหมือนกับเพื่อนอีกคน หรือการโกหกญาติว่าตนเองวาดรูปสวย เป็นต้น ถึงแม้ว่าบางอย่างอาจไม่ส่งผลกระทบมาก แต่แน่นอนว่าต่อไปอาจจะไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แน่นอน

ไม่แก้ปัญหาเมื่อลูกโกหก จะส่งผลกับลูกแค่ไหน ?

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกตั้งแต่เด็กจนถึงตอนที่โตขึ้น จะหนักหรือเบาขึ้นอยู่กับประเด็นที่โกหกเอาไว้ บางเรื่องอาจแทบไม่มีผลอะไรในชีวิตเลย ในขณะที่บางเรื่องอาจส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตได้ ในจุดนี้เองที่เป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้สังเกตเห็นว่าลูกมีนิสัยโกหก เลยไม่ได้สอนลูกอย่างถูกต้อง แต่เราต้องไม่ลืมด้วยว่าลูกของเราอาจมีโอกาสที่จะโกหกคนอื่นด้วยเมื่ออยู่ในโรงเรียน กว่าจะรู้ตัวอีกทีลูกก็อาจโตขึ้นจนเป็นวัยรุ่นไปแล้ว

หากปล่อยเอาไว้จนถึงช่วงวัยรุ่นพฤติกรรมที่ลูกชอบโกหกนี้ จะกลายเป็นนิสัยที่แก้ได้ยากกว่ามาก และจะส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบตัว หากลูกไปโกหกเพื่อหลีกหนีความผิด แต่โดนเพื่อน หรือครูจับได้ทีหลัง ยิ่งถ้าปล่อยไว้จนถึงช่วงวัยทำงานผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก เนื่องจากมีเรื่องขององค์กรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง : 6 วิธีแก้ปัญหาลูกน้อยไม่ยอม “ขอโทษ” เมื่อตนเองทำความผิด แก้ได้แต่ต้องเข้าใจ

โกหก


จะแก้ปัญหาลูกชอบโกหกได้อย่างไร ?

เมื่อพบว่าลูกมีพฤติกรรมโกหก ไม่จำเป็นรอเวลาที่จะเข้าไปพูดคุยกับลูก แต่ควรทำทุกครั้งที่ลูกแสดงพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และมีความเข้าใจมากขึ้น และยังมีวิธีอื่น ๆ อีกที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ดังนี้

1.ต้องสอนลูกให้มีความเข้าใจ

อย่างแรกที่ต้องทำไม่ใช่เรื่องความจริง หรือเรื่องโกหก แต่ยังรวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่มีผลต่อพฤติกรรม และความคิดของลูกด้วย ด้วยการพูดคุยในตอนที่ลูกยังเล็ก เพื่อให้เกิดการรับฟัง และซึมซับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการบอกได้ดีกว่าวัยอื่น ๆ ซึ่งถือว่าในตอนเป็นเด็กนั้นการต่อต้านจะเบาที่สุดแล้ว ทั้งนี้การพูดคุยกับลูกเป็นวิธีพื้นฐานที่ควรทำเพื่อให้ลูกเข้าใจสิ่งผิดถูก หากต้องพูดเรื่องนี้อีก เมื่อพบว่าลูกโกหก จะสามารถพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น

2.เปิดใจรับฟังความคิดของลูก

เด็ก ๆ มักมีเรื่องที่อยากจะถ่ายทอดให้กับคุณพ่อคุณแม่ฟัง ทั้งเรื่องที่ดี และไม่ดี แต่เมื่อได้รับปฏิกิริยาด้านลบจากการพูดความจริงจนเด็กกลัว ในจุดนี้แก้ได้ด้วยการเปิดใจให้กว้าง รับฟังความคิดของลูก รับฟังความผิดพลาดที่เด็กก่อขึ้น มีความเข้าใจในตัวของลูกมากยิ่งขึ้น หากมีมุมไหนที่สร้างความสงสัย ก็สามารถถามลูกได้เลยโดยไม่ใช้อารมณ์ อีกทั้งยังเป็นโอกาสดี ที่จะได้สอนลูกในสิ่งที่ลูกได้กระทำผิดไปอีกด้วย

3.ระวังเรื่องสื่อ และพฤติกรรมของตนเอง

หลายครั้งที่การ “พูดเล่น” ก็ถูกเด็กเข้าใจว่าคือการ “โกหก” ในบทสนทนาของผู้ใหญ่ จึงต้องระมัดระวังเรื่องการพูดหากมีเด็กอยู่ในบริเวณนั้น เพราะเขาอาจกำลังดู และจดจำนำไปใช้ จึงควรระวังในสถานการณ์นี้ นอกจากนี้การให้ลูกอยู่กับสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ควรจำกัดเวลาในการเล่น หรือดู เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจมีประโยชน์มากกว่า และยังต้องคอยระวังบุคคลในสื่อที่อาจแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม จนในปัจจุบันหลายคนก็มีชื่อเสียงจากการทำสิ่งนี้ด้วยนั่นเอง

4.ใช้เวลากับลูกมากขึ้นช่วยลดการโกหก

ความสุขของลูก คุณพ่อคุณแม่อาจมองเป็นเรื่องที่ใหญ่มากและไกลตัว ทั้งการที่ลูกต้องมีอนาคตที่ดีไม่ลำบาก หรือลูกต้องมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ และประสบผลสำเร็จในชีวิตในอนาคต แต่อาจลืมไปว่าในปัจจุบันนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถมอบความสุขให้กับลูกได้ ด้วยการใช้จ่าย “เวลา” เพื่อแลก “ความสุข” ของลูก การให้ความอบอุ่น ทำให้ลูกไม่รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว จะช่วยลดโอกาสที่ลูกจะโกหกคนอื่น เพื่อเรียกร้องความสนใจที่ตนเองไม่ค่อยได้รับ



วิดีโอจาก : Kids Family เลี้ยงลูกให้ฉลาด

ลูกโกหกบ่อยระดับไหนจึงควรพบแพทย์ ?

การพบแพทย์ไม่ได้หมายความว่าลูกเป็นเด็กผิดปกติ แต่ในบางพฤติกรรมอาจต้องแก้ไขด้วยวิธีของแพทย์ด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าในกรณีที่วิธีด้านบนไม่ได้ผล โดยเฉพาะบางพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อบุคคลอื่น เช่น การโกหกว่าไม่ได้ขโมยของ, โกหกจนทะเลาะกับเพื่อนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย เป็นต้น หรือหากไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น แต่อยากปรึกษาแนวทางจากแพทย์ก็สามารถทำได้เช่นกัน

พฤติกรรมหลายอย่างอาจเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อนเสมอ จนเราอาจมองว่าไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องระวังในวัยเด็กอาจจดจำจนติดเป็นนิสัยที่แก้ได้ยากเมื่อโตขึ้น รวมถึงเรื่องของการโกหกก็ด้วยเช่นกัน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ฝึกลูกให้ “แก้ปัญหา” ด้วยตนเองทำได้ไม่ยาก เดี๋ยวเรากระซิบบอกเอง

ปัญหา “โลกส่วนตัวสูง” ไม่ใช่โรค ช่วยลูกปรับตัวได้ด้วยการยอมรับ และความเข้าใจ

5 วิธีสอนลูกอย่างไร ให้ลูกกลายเป็นคน “คิดบวก” หายห่วงทุกสถานการณ์

ที่มา : 1, 2, 3, 4