6 วิธีแก้ปัญหาลูกน้อยไม่ยอม “ขอโทษ” เมื่อตนเองทำความผิด แก้ได้แต่ต้องเข้าใจ

ปัญหาของเด็กเล็กตัวน้อยวัยกำลังเรียนรู้ อาจเจอปัญหาที่ไม่ค่อยแตกต่างกันในแต่ละบ้าน และหนึ่งในปัญหานั้น คือ การที่เด็กไม่เข้าใจกับการกล่า 

 1589 views

ปัญหาของเด็กเล็กตัวน้อยวัยกำลังเรียนรู้ อาจเจอปัญหาที่ไม่ค่อยแตกต่างกันในแต่ละบ้าน และหนึ่งในปัญหานั้น คือ การที่เด็กไม่เข้าใจกับการกล่าวคำว่า “ขอโทษ” เมื่อตนเองทำผิด ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ควรปรับตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาใหญ่ต่อไปในอนาคต ซึ่งอาจจะแก้ได้ยากกว่าเดิม



ทำไมลูกจึงไม่กล้าเอ่ยคำว่า “ขอโทษ” ?

เด็ก ๆ ที่ไม่ยอมขอโทษเมื่อตนเองทำความผิด เรื่องนี้มีสาเหตุที่ชัดเจน และสาเหตุนั้นไม่ได้ไกลตัว ปัจจัยส่วนมากมักมาจากการคนรอบตัว และความเข้าใจกันของบุคคลในครอบครัว ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการสอนเด็กให้เข้าใจ และระมัดระวังพฤติกรรม ได้แก่

  • ความไม่เข้าใจ : จากคำที่ว่า “เด็กก็เหมือนผ้าขาว” นั้นไม่ใช่คำที่พูดเกินจริง เพราะเด็กเล็กยังมีสิ่งมากมายที่ยังไม่ได้เรียนรู้ ซึ่งต้องพึ่งการสอนจากคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้มีพัฒนาการที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อตนเองทำผิดอาจไม่คุ้นชิน และไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องขอโทษ จึงต้องเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องพูดคุย และอธิบายด้วยภาษาง่าย ๆ ให้ลูกมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
  • การลอกเลียนแบบ : ปัญหาพื้นฐานโดยทั่วไปที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็ก ๆ นั้น ยังสามารถมาจากการเลียนแบบพฤติกรรมของคนรอบตัว โดยเฉพาะคนที่มีความใกล้ชิดกับเด็ก จนเด็กเกิดความเข้าใจไปเองว่า ถึงจะทำผิดก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวคำขอโทษก็ได้ แค่ปล่อยผ่านไป หรือตอบโต้ด้วยการถกเถียง ไม่ยอมรับความผิด ควรระมัดระวังสิ่งเหล่านี้ไม่ควรให้เกิดขึ้น หากมีเด็กอยู่รอบ ๆ
  • เกิดการต่อต้าน : ถึงแม้เด็กจะเข้าใจความสำคัญของการขอโทษอยู่บ้าง และเคยกล่าวคำขอโทษมาก่อนแล้ว แต่ก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่เด็กไม่ยอมทำ เนื่องจากมีการต่อต้านจากความไม่พอใจในด้านต่าง ๆ เช่น การถูกกดดันมากเกินไป หรือการถูกดุด่าตลอดถึงแม้จะขอโทษไปแล้ว ทำให้เด็กอาจมองว่าถ้าต้องถูกดุด่าหลังจากขอโทษทุกครั้ง เขาจะขอโทษไปทำไม

ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก และไม่ควรปล่อยไว้ให้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจาก อาจจะติดเป็นนิสัยจนส่งผลกระทบต่อตัวของเด็กเองในอนาคตได้



วิดีโอจาก : Kids Family เลี้ยงลูกให้ฉลาด



ไม่กล่าวขอโทษผลกระทบอาจมากกว่าที่คิด

การไม่ได้กล่าวคำขอโทษของเด็กนั้น ปัญหาเริ่มแรกอาจเกิดกับบุคคลรอบตัวก่อน ทั้งความเคยชินของเด็กจนทำให้คนรอบตัวเกิดความไม่พอใจได้ แต่เพราะความเป็นเด็ก จึงอาจทำให้หลายคนมองข้ามไป หนักมากที่สุดอาจถูกมองว่าแค่ซน แค่แก่นตามอายุ ทำให้ถูกละเลยการสอนในเรื่องนี้ไป ส่งผลให้เด็กเกิดความเข้าใจผิด ๆ และติดเป็นนิสัยในที่สุด

เมื่อติดเป็นนิสัยขึ้นมาจนถึงช่วยกำลังโต หรือช่วงวัยรุ่น จะยิ่งสร้างปัญหาใหญ่ได้ เพราะช่วงวัยนี้จะถูกมองถึงเรื่องมารยาท และอาจถูกตำหนิอย่างจริงจังได้ คงโชคดีหากเด็กมีความเข้าใจ และพยายามปรับปรุงตัว แต่ถ้าโชคร้ายที่สุด คือ อาจเกิดการต่อต้าน มองว่าตนเองนั้นไม่ผิดจะยิ่งเกิดผลกระทบต่อตัวของเด็กมากขึ้นไปอีก

6 วิธีทำให้ลูกพูดคำ “ขอโทษ” จากใจ

การทำให้เด็กเข้าใจนั้นต้องเริ่มขึ้นมาจากการพูดคุยด้วยกันก่อน เพราะอยู่ดี ๆ จะไปให้ทำเลย เด็กจะทำไปเฉย ๆ ตามคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นเอง และหลังจากนั้นก็คอยสังเกตพฤติกรรมของลูก และค่อย ๆ ปรับปรุงไปตามสถานการณ์ โดยเรามี 6 วิธีที่ควรทำ ดังนี้

1. สอนให้ลูกรู้ความสำคัญ และรู้ว่าควรพูดเวลาไหน

การที่ลูกพูดขึ้นมาเฉย ๆ อาจทำให้เด็กไม่มีความเข้าใจว่าทำไมถึงพูด อาจแค่พูดไปเฉย ๆ เท่านั้นเอง จึงควรเริ่มจากการอธิบายความสำคัญของการขอโทษ ว่าต้องขอโทษหากเราทำความผิด หรือในบางบริบทถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าผิดก็ต้องกล่าวคำขอโทษเพื่อเป็นมารยาททางสังคมด้วยเช่นกัน โดยการกล่าวคำนี้ควรกล่าวเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่อไปนี้

  • ทำสิ่งที่ผิดพลาด หรือสิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง รวมไปถึงการกล่าวเมื่อตนเองไม่ได้ทำผิด แต่การขอโทษก่อนก็สามารถแก้ปัญหาได้
  • ขอโทษเมื่อทำสิ่งที่ไม่ค่อยเหมาะสม ถึงแม้จะไม่รุนแรงก็ตาม จำเป็นต้องขอโทษทุกกรณี
  • พูดเมื่อมีความจำเป็นต้องรบกวน หรือแทรกผู้อื่น ซึ่งอาจไม่ใช่ความผิด แต่ถือเป็นมารยาท เช่น ขอทางเดินหรือขอเข้าห้องน้ำ เป็นต้น


วิธีทำให้ลูกพูดคำ ขอโทษ

2. สอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึก เมื่อไม่ได้รับคำขอโทษ

การไม่ได้รับคำขอโทษรู้สึกอย่างไรบ้าง ? คำถามนี้จำเป็นสำหรับเด็ก เผื่อให้เด็ก ๆ ได้คิดขึ้นมาเมื่อตนเองทำผิด โดยอาจหยิบยกเหตุการณ์สมมุติขึ้นมา เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ว่า หากตัวของเราไม่ได้รับการขอโทษจะให้อภัยอีกฝ่ายไหม ? หรือจะมองว่าอีกฝ่ายเป็นคนอย่างไร หากไม่ยอมขอโทษแม้จะรู้ตัวว่าทำความผิด เป็นต้น การสอนลูกในเรื่องนี้จะส่งผลดีอย่างแน่นอนในระยะยาว เพราะความเข้าใจผู้อื่น จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อบุคคลรอบตัวที่ดีขึ้น มากกว่าการกล่าวคำขอโทษอย่างแน่นอน

3. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้อย

การกระทำทุกอย่าง เมื่อเด็กได้เห็นแล้วจะจดจำไปเอง หากไม่ได้รับการชี้แนะ หรืออธิบายจะเกิดผลตามมาได้ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ขอโทษบุคคลอื่นเมื่อทำความผิด จะทำให้เด็กรู้สึกว่าคนที่เขาไว้ใจใกล้ชิดยังไม่ทำ ตัวของเด็กเองก็ไม่เห็นความสำคัญของการขอโทษตามไปด้วย ไม่ใช่แค่นั้น ถึงแม้จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กแล้วก็ตาม แต่หากมีบางเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องอธิบายว่าทำไมจึงต้องขอโทษผู้อื่น ก็ต้องพูดคุยกับลูกตั้งแต่เขายังเล็กด้วยเช่นกัน

4. ใช้สื่อช่วยอธิบายให้เข้าใจ

หากคุณพ่อคุณแม่พบอุปสรรคที่ทำให้การอธิบายพูดคุยในเรื่องการกล่าวคำขอโทษ เนื่องด้วยเด็กอาจไม่เข้าใจ เพราะไม่สามารถตีความได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนนั่นเอง ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้สื่อกลาง เพื่อให้เด็กเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการขอโทษผู้อื่น เช่น การ์ตูนเด็กที่มีเนื้อหาเข้าใจง่าย อธิบายตรงไปตรงมา ทำให้เด็กสามารถรับสารเรื่องดังกล่าวได้มากขึ้นนั่นเอง โดยเราจะหยิบยกวิดีโอขึ้นมาให้ 1 เรื่องด้านล่างนี้

วิดีโอจาก : กุ๋งกิ๋งแฮปปี้เวิลด์

5. ไม่กดดันลูกมากเกินไป และไม่ต่อว่าเกินความจำเป็น

แน่นอนว่าคำขอโทษโดยปกติแล้วจะใช้เมื่อมีการทำผิดพลาดเกิดขึ้น นั่นหมายถึงว่าเมื่อเด็กทำผิด เขาก็อาจจะขอโทษออกมาแล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่หลายคน หรือคนรอบตัวเด็กอาจอยู่ในอารมณ์โกรธอยู่ จึงพยายามกดดันด้วยคำถามที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่ดี เช่น “ถ้ารู้ว่าไม่ดี แล้วจะทำไปทำไม” หรือ “ทำไมถึงทำ เห็นไหมว่าเป็นอย่างไร” เป็นต้น คำพูดเหล่านี้อาจทำให้เด็ก ๆ กลัวได้ และรู้สึกกดดันจนอาจต่อต้านในที่สุด นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังต้องควบคุมอารมณ์ไม่แสดงความโกรธ หรืออารมณ์รุนแรงใด ๆ ออกมา แม้จะไม่พอใจก็ตาม ต้องพยายามเข้าใจว่าเด็กได้ขอโทษไปแล้ว แล้วหันมาชี้นำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในเรื่องนั้น ๆ กับเด็กแทน

6. ขอโทษแล้วต้องแก้ไข

จากที่เราได้กล่าวไปแล้วว่า การกล่าวขอโทษเพียงแค่นั้นอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ทุกครั้ง หากเด็กไม่ได้ถูกชี้นำ ให้แก้ตัวในสิ่งที่เขาได้ทำผิดไป เพราะอาจเกิดปัญหาเดิมซ้ำ ๆ ได้ การคอยบอกลูกว่าสิ่งนี้ไม่ควรทำ แล้วแบบไหนที่ควรทำ จะทำให้เด็กมีความเข้าใจ และจดจำนำไปใช้ต่อไปได้ในอนาคต เช่น ลูกหยิบของปาใส่คนอื่น เมื่อเขาขอโทษแล้วต้องบอกด้วยว่า การปาใส่คนอื่นจะทำให้คนอื่นได้รับบาดเจ็บได้ หากต้องการเล่นกับคนอื่นควรเล่นด้วยวิธีที่แตกต่างออกไป เป็นต้น

การให้เด็กได้รู้จักการกล่าวคำขอโทษ ถือเป็นมารยาทพื้นฐานทางสังคม ที่ทุกคนจะต้องมี เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง และควรใส่ใจปัญหานี้ก่อนที่ลูกจะโตขึ้น และอาจสอนได้ยากมากขึ้นตามช่วงของวัยนั่นเอง

บทความที่น่าสนใจ :

5 วิธีสอนลูกอย่างไร ให้ลูกกลายเป็นคน “คิดบวก” หายห่วงทุกสถานการณ์

ปัญหาเด็กยุคใหม่ ลูกติดมือถือ จับไม่ยอมวาง ทำอย่างไรดี ?

เมื่อลูกน้อยงอแง ไม่อยากไปโรงเรียน ทำอย่างไรดี ?

ที่มา : 1, 2, 3