“ขี้อาย” ใคร ๆ ก็เป็นได้ และมักเป็นมาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ปัญหานี้อาจไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน นอกจากตัวของเด็กที่ไม่กล้าแสดงออกเองนั่นแหละ เพราะอาจถูกมองว่าเข้าสังคมไม่เก่ง หรือมีความต้องการ มีความคิดเห็น มีไอเดีย แต่ไม่กล้าที่จะพูดออกไป
ลูกไม่กล้าแสดงออก เป็นเด็กขี้อายไม่ใช่เรื่องดี
ลูกไม่กล้าแสดงออก ไม่ได้แสดงความโดดเด่น หรือสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองออกมา ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่อาจส่งผลกระทบต่อตัวของเด็ก เมื่อต้องอยู่ในสังคมอื่น ที่ต้องใช้ความกล้าที่จะคิด และลงมือทำ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น จนกลายเป็นคนแบบไหนก็ได้ เป็นคนสบาย ๆ แต่แอบคิดเยอะ ไม่กล้าบอกใคร ยิ่งปล่อยไว้จะยิ่งกลายเป็นนิสัยที่ยากจะแก้ ยิ่งถ้าปล่อยจนโตเป็นวัยรุ่น หรือวัยทำงาน จะยิ่งส่งผลกระทบมากกว่าตอนเป็นเด็ก
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 วิธีสอนลูกอย่างไร ให้ลูกกลายเป็นคน “คิดบวก” หายห่วงทุกสถานการณ์
วิดีโอจาก : Kids Family เลี้ยงลูกให้ฉลาด
4 เหตุผลที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กไม่กล้าแสดงออก
การที่เด็กคนหนึ่งกลายเป็นเด็กไม่กล้าแสดงออก ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นนิสัยของเด็กเอง แต่ยังหมายถึงการเลี้ยงดู ตั้งแต่ยังเล็ก ว่ามีรูปแบบการเลี้ยงดูแบบไหน เด็กได้ทำกิจกรรมไหนบ้างที่ทำให้กล้าแสดงออก ซึ่งมีอยู่หลายปัจจัย ได้แก่
1.ห้ามมากเกินไปจนขาดความมั่นใจ
การรักลูก เป็นห่วงลูกในทุกย่างก้าวไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ถ้ามากเกินไปจนคำว่าพอดี อาจทำให้ลูกไม่มีโอกาสได้ลองทำในสิ่งที่ตนเองสงสัย ทำในสิ่งที่แปลกใหม่ ที่ช่วยให้ลูกมีความกล้า และความมั่นใจที่มากขึ้น เมื่อขาดโอกาส จะส่งผลต่อความคิด และการตัดสินใจของเด็ก แทนที่จะกล้าแสดงออก กลับคิดมากเกินไป กลัวผลกระทบหลายอย่างจะเกิดขึ้น จนสุดท้ายก็เลือกที่จะอยู่เฉย ๆ และมีบุคลิกขี้อายในที่สุด
2.ไม่คุ้นชินกับการเจอผู้คน
ผู้ปกครองบางท่านอาจมีเวลาน้อย จนไม่ค่อยได้พาลูกออกไปทำกิจกรรมข้างนอก เช่น สนามเด็กเล่น หรือสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นสถานที่ของเด็กเล็ก การขาดโอกาสที่จะไปเจอกับสังคมที่ตัวเองไม่รู้จัก การไม่ค่อยได้เล่น หรือสร้างความคุ้นเคยกับเด็กในวัยเดียวกัน จะยิ่งทำให้ลูกตัวน้อยไม่มีความมั่นใจ เกิดความเขินอาย เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางคนที่ตนเองไม่รู้จัก และสร้างกำแพงของตนเองขึ้นมา
3.กลัวการถูกตำหนิเมื่อพลาด
การแสดงออกควบคู่มากับความอาย สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการที่เด็กเคยกล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำมาก่อน แต่อาจทำอะไรผิดพลาดมาก่อน จนถูกตำหนิอย่างหนัก อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หรือหลายครั้ง จนสุดท้ายเด็กก็จำฝังใจ ไม่กล้าที่คิดทำ หรือแสดงออกอะไรอีก เพราะกลัวว่าหากพลาดเหมือนที่เคย จะทำให้ตนเองถูกดุด่า หรือลงโทษนั่นเอง
4.ไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง
ลูกชอบอะไร อยากลองทำอะไร ถึงแม้จะไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เพราะไม่ถูกใจผู้ปกครอง ทำให้เกิดการขวางกั้น ไม่ยอมสนับสนุน จนเมื่อเด็กไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัว สุดท้ายเขาก็ต้องกลับมายืนอยู่ที่จุดเดิม กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็กลายเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ และไม่ชินกับการแสดงออกไปเสียแล้ว
5 วิธีแก้เมื่อลูกขี้อายไม่กล้าแสดงออก
หากพบว่าลูกของตนเป็นเด็กไม่กล้าแสดงออก มีความกดดันในตัวเอง ผู้ปกครองสามารถช่วยลูกได้ ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูก คอยสนับสนุน และเรียนรู้ลูกให้มากขึ้น ดังนี้
1.ให้ลูกได้มีโอกาสทำอะไรตามความต้องการ
อาจไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับผู้ปกครองที่เป็นห่วงลูก และต้องการให้ลูกเติบโต และทำในสิ่งที่ตนเองมองว่าสมควร แต่บางครั้งอาจขัดแย้งกับสิ่งที่ลูกต้องการ ผู้ปกครองต้องเปิดใจให้ลูกได้ลองในสิ่งที่อยากทำ อยากเป็น เปลี่ยนจากการจำกัด และสั่งห้าม ให้มาเป็นการให้คำปรึกษา และคอยสนับสนุนแทน จะช่วยให้ลูกน้อยได้มีโอกาสที่จะคิด และมีความกล้าที่จะทำ โดยไม่รู้สึกว่ากำลังถูกห้ามอยู่
2.ไม่ควรตำหนิมากเกินไปเมื่อลูกพลาด
เมื่อลูกของเราพลาด ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มีความเข้าใจผิดกับเรื่องใด เรื่องหนึ่ง คงเป็นปกติที่จะถูกลงโทษ หรือถูกตำหนิ แต่ก็ควรทำแต่พอดี เมื่อลูกพลาดแล้ว นอกจากการตำหนิ ยังมีการพูดคุย อธิบายด้วยเหตุ และผล เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจที่มากขึ้น ถือเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกกดดัน เมื่อต้องแสดงออก
3.พาลูกทำกิจกรรมนอกบ้าน
กิจกรรมที่ช่วยให้ลูกเป็นกล้าแสดงออก อาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ ถึงขั้นไปประกวดความสามารถเสมอไป แต่แค่พาลูกไปเล่นข้างนอก ได้วิ่งเล่น ได้เจอเด็กคนอื่น ได้เล่นกับเด็กในช่วงวัยเดียวกัน กล้าที่จะพูดคุยกับเด็กที่ไม่รู้จัก เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยให้ลูกปรับตัวได้ดีขึ้น เมื่อต้องไปอยู่ในสถานการณ์อื่น ๆ
4.สอนแนะนำตัว และให้รู้จักตนเอง
กำแพงด่านแรกเมื่อต้องเจอสังคมภายนอก และต้องเข้าหาผู้อื่น หรือเมื่อต้องการที่แสดงออก จะต้องมีการแนะนำตัวก่อนเสมอ โดยผู้ปกครองควรสอนว่าควรพูดอย่างไร แนะนำอะไรบ้าง ต้องมีคำลงท้าย และสุภาพ เพื่อให้ลูกได้ยึดนำไปทำตาม เพื่อลดความตื่นเต้น หรือคิดคำไม่ออก นอกจากนี้การพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ถามความคิด หรือความชอบของลูกต่อสิ่งต่าง ๆ จะสามารถช่วยให้ลูกค้นพบตนเอง และยังทำให้ผู้ปกครองรู้จักลูกมากขึ้นอีกด้วย
5.สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อเด็ก
การแสดงออก การหลุดออกจากความเขินอาย สามารถทำได้ แต่ต้องพึ่งอะไรมากกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่เพียงผู้ปกครอง หรือกิจกรรมต่าง ๆ แต่ยังรวมไปถึงบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมภายในตัวบ้าน ที่ต้องเอื้อต่อเด็กด้วย เช่น ควรมีพื้นที่ให้ลูกได้เล่น หรือทำอะไรด้วยตนเอง ไปจนถึงการแสดงความรักของคนในครอบครัว มากกว่าการถกเถียง หรือใช้คำหยาบ จนทำให้เด็กรู้สึกกดดัน หรือกลัวจนไม่กล้าทำอะไร เป็นต้น
แต่หากพบว่าการที่ลูกเป็นเด็กขี้อาย ขาดความมั่นใจในตนเอง และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตมากเกินไป ผู้ปกครองควรพาลูกเข้าพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำ หรือแนวทางอื่น ๆ ต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เทคนิคการ “บวกลบ” ที่เด็กประถมควรรู้ไว้ พร้อมแบบทดสอบง่าย ๆ ไว้ฝึกมือ
ฝึกลูกให้ “แก้ปัญหา” ด้วยตนเองทำได้ไม่ยาก เดี๋ยวเรากระซิบบอกเอง