เมื่อลูกน้อยงอแง ไม่อยากไปโรงเรียน ทำอย่างไรดี ?

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ปวดหัวไหมกับปัญหาเจ้าตัวน้อย ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ปกติลูกเคยไปเป็นปกติ จะรู้ได้อย่างไรว่าทำไม 

 1722 views

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ปวดหัวไหมกับปัญหาเจ้าตัวน้อย ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ปกติลูกเคยไปเป็นปกติ จะรู้ได้อย่างไรว่าทำไมไม่อยากไป และแก้ไขได้ด้วยวิธีไหน เรื่องนี้คงต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

ทำไมลูกถึงไม่อยากไปโรงเรียน

ปัจจัยที่ส่งผลให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียนเกิดได้จากหลายแหล่งที่มา ทั้งจากผู้ปกครอง หรือจากโรงเรียน ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงทั้งนั้น โดยแบ่งออกเป็น 4 ข้อ ดังนี้

  • ไม่สามารถปรับตัวได้ : เมื่อเด็กไปโรงเรียนเป็นครั้งแรก ๆ จะต้องพึ่งการปรับตัวในเรื่องต่าง ๆ เช่น การต้องแยกออกจากครอบครัวชั่วคราว, การพบเจอกับเด็กคนอื่นที่ไม่รู้จัก หรือการไม่สามารถปรับตัวได้กับการที่ต้องมานั่งเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเกิดได้จากการย้ายห้องเรียนใหม่ หรือย้ายโรงเรียนด้วย หากไม่สามารถปรับตัวได้โดยเร็ว จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่อยากไปโรงเรียน เพราะมีความกดดัน
  • มีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ : การมีพัฒนาการที่ล่าช้ามากกว่าเด็กคนอื่นรอบตัว จะทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเรียนรู้ จนเรียนรู้ช้ากว่าเพื่อน ลูกตัวน้อยอาจคิดว่าตนเองไม่เก่ง เรียนไม่ทันเพื่อน หรือไม่มีความเข้าใจในบทเรียนที่กำลังเรียนอยู่ ส่งผลให้แรงจูงใจที่จะไปโรงเรียนลดลง
  • ถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียน : ปัญหาการถูกเพื่อนแกล้งทั้งทางร่างกาย หรือจิตใจ ที่เราเรียกกันว่าการ “Bully” มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับเด็กหลายต่อหลายคน โดยปัญหาเหล่านี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัวของเด็กที่ถูกแกล้ง แต่ปัญหามาจากนิสัย และความประพฤติของเด็กที่ลงมือแกล้ง ด้วยการบูลลี่ สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้ นอกจากลูกจะ ไม่อยากไปโรงเรียน ยังสามารถส่งผลเสียอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย
  • ถูกตามใจ หรือเอาแต่ใจ : เด็กหลายคนก่อนไปโรงเรียนอาจถูกคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูมาแบบตามใจ จนทำให้เด็กเข้าใจว่าตนเองไม่อยากทำอะไร หรือไม่อยากไปไหนก็ต้องเป็นไปตามที่ตนเองต้องการ รวมไปถึงความไม่ต้องการไปโรงเรียนด้วยเช่นกัน


วิดีโอจาก : Kids Family เลี้ยงลูกให้ฉลาด

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกไม่อยากไปโรงเรียน

นอกจากพฤติกรรมการร้องไห้ งอแง ที่แสดงออกมาได้อย่างชัดเจนแล้ว การที่ลูกไม่ต้องการไปโรงเรียน ยังสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมแอบแฝงที่เราอาจไม่รู้ หากไม่สังเกตให้ดี

  • ความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ : นอกจากจะงอแงแล้ว หากลูกมีประสบการณ์ที่ไม่ดี หรือถูกกลั่นแกล้งมาจากโรงเรียน ลูกน้อยจะมีความกลัว ตกใจง่าย ขี้กังวล หรือระแวงกับสิ่งรอบตัวมากยิ่งขึ้น
  • ภาษากายที่แอบแฝง : ถึงแม้เด็กอาจไม่ได้บอกว่าตนเองเจอปัญหาที่โรงเรียนจนไม่อยากไป แต่หากสังเกตแล้วพบร่องรอยช้ำต่าง ๆ ตามร่างกาย เสื้อผ้ายับขาดรุ่ย หรือร่องรอยใดก็ตามที่บ่งบอกว่าอาจถูกกลั่นแกล้ง ไม่นานลูกน้อยจะเกิดความต้องการไม่อยากไปโรงเรียนในที่สุด
  • พฤติกรรมที่ผิดปกติ : ลูกน้อยอาจมีพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างรุนแรง และใช้กำลังกับบุคคลรอบข้าง พยายามซ่อนของที่นำไปโรงเรียน ชอบบอกปวดหัว หรือปวดท้องบ่อย ๆ แต่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ แม้จะพาไปให้หมอเฉพาะทางตรวจแล้วก็ตาม เป็นต้น


ความเสี่ยงต่อภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน

ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (School Refusal) เป็นภาวะที่เกิดจากการหยุดเรียนเป็นเวลานาน ยิ่งถ้าหากหยุดเรียนไปมากเท่าไหร่ เด็กที่เป็นภาวะนี้ จะยิ่งกลับไปโรงเรียนได้ยากมากขึ้นเท่านั้น หากยิ่งให้เด็กอยู่บ้านนานเท่าไหร่จะยิ่งส่งผลเสี่ยงมากยิ่งขึ้น จนกระทบต่อพัฒนาการเรียนรู้ในห้องเรียน และการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในโรงเรียนอีกด้วย ดังนั้นเมื่อพบว่าลูกแสดงความต้องการไม่อยากไปโรงเรียน จะต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

การแก้ปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน

ปัญหาใหญ่นี้ส่งผลกระทบอย่างมากกับตัวของเด็กเอง การลงมือแก้ปัญหาจะต้องทำอย่างเร็วที่สุด และด้วยอายุของลูกที่ไม่มาก จึงจะต้องใช้วิธีที่มีความเหมาะสมกับช่วงวัยด้วย

ไม่อยากไปโรงเรียน

1. พูดคุยกับลูกหลังเลิกเรียน

หลังจากลูกกลับมาจากโรงเรียน เด็กบางคนอาจมีเรื่องไม่สบายใจ เช่น เรียนไม่เข้าใจ, เข้ากับเพื่อนไม่ได้ หรือโดนกลั่นแกล้ง แต่ไม่กล้าบอกผู้ปกครอง ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการให้คุณพ่อคุณแม่เป็นฝ่ายเข้าไปถามไถ่ตัวของเด็กเอง ชวนพูดคุยถึงสิ่งที่ลูกเจอในโรงเรียนวันนี้ หรือให้พูดถึงความรู้สึกที่ได้ไปโรงเรียนในแต่ละวัน เพื่อสร้างความคุ้นชิน และความไว้วางใจกับลูกน้อยในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยเรียน

2. สังเกตพฤติกรรม หรือร่องรอยการถูกรังแก

ถึงแม้จะได้พูดคุย หรือถามไถ่ไปตรง ๆ แล้ว เด็กบางคนอาจไม่ยอมบอกอยู่ดี ซึ่งมีอยู่หลายสาเหตุ เช่น ไม่มีความกล้า หรือกลัวคำขู่ของเด็กคนอื่นที่ไม่ให้ไปบอกพ่อแม่ เป็นต้น ผู้ปกครองยังคงต้องคอยพูดคุย แสดงความเป็นห่วง ให้ลูกเข้าใจว่าเมื่อมีปัญหาจะสามารถปรึกษาเราได้ ร่วมกับการสังเกตร่องรอยบนร่างกาย ลักษณะเสื้อผ้า รวมไปถึงอุปกรณ์การเรียน หากพบความผิดปกติ อาจสอบถามเด็กได้นั่นเอง แต่ถ้าลูกไม่ยอมบอก อาจสอบถามคุณครูประจำชั้น หรือฝากให้ช่วยดู เป็นต้น

3. เมื่อรู้สาเหตุให้ประสานโรงเรียนเพื่อแก้ไข

หากสาเหตุมาจากที่โรงเรียน ไม่สามารถแก้ไขได้ที่ตัวของเด็ก เช่น ถูกแกล้ง จำเป็นต้องติดต่อกับทางโรงเรียน หรือคุณครู เพื่อให้เกิดการดูแล และหาทางแก้ไขร่วมกันเป็นดีที่สุด เพราะปัญหานี้จะลดลงได้หากมีคุณครูเข้ามาช่วยดูแลมากขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าหากเกิดจากความไม่อยากไป หรือปัญหาปรับตัวไม่ได้ของลูกน้อยเอง อาจต้องพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ หรือทำกิจกรรมที่เสริมความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย

4. ทำกิจกรรมเสริมสร้างการปรับตัว

หากปัญหาเกิดจากตัวของเด็กเองที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ผู้ปกครองควรพาลูกเข้าทำกิจกรรม ที่มีส่วนช่วยในการเข้าสังคมมากขึ้นกว่าการเจอกับคนภายในบ้าน เช่น พาลูกไปเล่นสนามเด็กเล็กที่มีเด็กเยอะ เพื่อให้มีโอกาสได้เล่น และทำความคุ้นเคยกับเด็กคนอื่นที่ไม่เคยรู้จัก หรือพาไปเข้าชมรมต่าง ๆ ที่มีโอกาสได้พบปะกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อเป็นการละลายพฤติกรรม หรือการพาไปเล่นกับลูกของเพื่อนที่มีวัยใกล้เคียงกัน เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ควรทำบ่อย ๆ และควรทำตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อรองรับการปรับตัวเมื่อต้องไปโรงเรียน

หากลูกไม่ยอมบอกสาเหตุ หรือทำอย่างไรก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าทำไมลูกไม่อยากไปโรงเรียน หรือมีอาการเครียด กดดัน อยู่ในภาวะซึม ไม่ยอมพูดคุย ในกรณีนี้หากปล่อยไว้จะไม่ใช่ผลดี ควรแก้ไขด้วยการไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับคำแนะนำต่อไป

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ทำไมลูกตัวน้อยจึงชอบ “โกหก” พาคุณพ่อคุณแม่มาหาคำตอบกัน

5 วิธีสอนลูกอย่างไร ให้ลูกกลายเป็นคน “คิดบวก” หายห่วงทุกสถานการณ์

ฝึกลูกให้ “แก้ปัญหา” ด้วยตนเองทำได้ไม่ยาก เดี๋ยวเรากระซิบบอกเอง

ที่มา : 1, 2, 3