8 วิธีฝึกลูกรับมือเมื่อต้องเผชิญภัยร้ายจาก “คนแปลกหน้า”

“คนแปลกหน้า” เมื่อคำนี้มาพร้อมกับคำว่า “เด็กเล็ก หรือวัยรุ่น” มักจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวเสมอ เพราะในปัจจุบัน คนที่ไม่ประสงค์ดี มักมาได้หลายรู 

 1552 views

คนแปลกหน้า” เมื่อคำนี้มาพร้อมกับคำว่า “เด็กเล็ก หรือวัยรุ่น” มักจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวเสมอ เพราะในปัจจุบัน คนที่ไม่ประสงค์ดี มักมาได้หลายรูปแบบ และมีวิธีล่อลวงลูกของเรามากกว่าที่เราคิด การเตรียมตัวให้ความรู้ในเรื่องนี้กับลูก ๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก

ลูกของเราเสี่ยงกับคนแปลกหน้ามากแค่ไหน ?

คนแปลกหน้าเป็นคำที่เราใช้เรียกบุคคลที่ไม่รู้จัก โดยไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนที่ว่านี้ จะหวังดีกับเรา หรือหวังร้ายต่อเรา สำหรับเด็ก ๆ ลูก ๆ ของเราอาจไม่ใช่เรื่องที่เหมาะ หากจะให้ลองเสี่ยงทำความรู้จัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะสำหรับเด็ก หรือผู้ใหญ่ เนื่องจากโดยปกติแล้วคนเรามักใช้ชีวิตในสังคม และจะรู้จักกับบุคคลอื่น ในรูปแบบที่เป็นทางการมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นจากเพื่อนของเพื่อน, เพื่อนร่วมงานใหม่ หรือคนอื่นที่รู้จักผ่านญาติพี่น้อง เป็นต้น ซึ่งต่างจากคำว่า “คนแปลกหน้า” โดยสิ้นเชิง

เด็กตัวเล็ก ๆ มีอันตรายอยู่รอบตัวไม่แพ้กับวัยผู้ใหญ่ ในหลาย ๆ เรื่องต้องพึ่งความระมัดระวังที่มากขึ้น เรื่องของการพบเจอกับคนแปลกหน้าอาจเป็นหนึ่งในนั้น ด้วยความไม่คุ้นเคย และไม่รู้จุดประสงค์ที่แท้จริงของบุคคลเหล่านี้ ประกอบกับในทุกยุคสมัยมักจะปรากฏข่าวเกี่ยวกับบุคคลอันตรายหลากหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนแล้วอาจเกิดขึ้นกับเด็กได้เช่นกัน ในเมื่อความเสี่ยงเหล่านี้อาจได้ไม่คุ้มเสีย ทางเดียวที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องสอนลูกเมื่อเจอคนแปลกหน้า คงหนีไม่พ้นการหลีกเลี่ยง และระมัดระวังตัวให้มากที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง :
ฝึกลูกให้ “แก้ปัญหา” ด้วยตนเองทำได้ไม่ยาก เดี๋ยวเรากระซิบบอกเอง


วิดีโอจาก : WhereIsSara สาระอยู่ไหน


8 วิธีช่วยให้ลูกปลอดภัยจากคนแปลกหน้า

เมื่ออันตรายจะเข้ามาถึงลูกของเรา คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมการป้องกัน หรือให้ความรู้กับเด็ก ๆ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน และสามารถช่วยเหลือตนเองในระดับเบื้องต้น เมื่อต้องตกอยู่ในอันตรายจากคนแปลกหน้า

1. สอนให้ลูกรู้ว่าคนแปลกหน้าคืออะไร

การป้องกันใด ๆ คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากลูกน้อยไม่เข้าใจว่าอะไรที่คนทั่วไปเรียกว่าคนแปลกหน้า โดยปกติแล้วคำนี้มักจะยกขึ้นมาใช้กับคนที่เด็กไม่คุ้นเคย ซึ่งมาได้หลายรูปแบบทั้งมาในแบบคุณอาใจดี, คุณยายที่ยิ้มแย้ม หรือคนที่ทำท่าทางน่าสงสัย เป็นต้น ด้วยความหลากหลายนี้เอง จึงต้องยกตัวอย่างให้เด็กมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ก็อาจไม่ได้ครอบคลุมมากพอ อาจสรุปให้ลูกเข้าใจว่า หากไม่รู้จักใคร และคนนั้นเข้ามาพูดคุยด้วย หรือมีพฤติกรรมที่น่าสงสัย ให้ระวังตัว และนับว่าเป็นคนแปลกหน้าโดยทันที

2. หลีกหนีปฏิเสธที่จะคุยด้วย

ด้วยลูกยังเด็กอาจหลีกเลี่ยงบทสนทนาได้ลำบาก และอาจถูกกดดันหรือถูกล่อลวงได้ง่าย หากเกิดการสนทนากันขึ้น ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ลูกของเราจึงไม่ควรที่จะพูดคุยใด ๆ กับคนแปลกหน้าเลย ให้เดินหนี ไม่พูดคุยด้วย ทำเป็นไม่สนใจ ถึงแม้ว่าอาจจะดูโหดร้ายสำหรับคนที่อาจไม่ได้เข้ามาเพื่อหวังทำร้าย แต่ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดอย่างแรกที่ควรจะให้ลูกทำ เพื่อให้เขาปลอดภัยมากที่สุด และไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนั้น

3. หาพื้นที่ปลอดภัย หรือพื้นที่คุ้นเคย

หากการไม่เริ่มสนทนา การเดินหนีไม่ทำให้คนแปลกหน้าหยุดที่จะพยายามพูดคุย หรือคุกคามเข้ามา ต้องสอนให้ลูกแก้ปัญหาด้วยการพาตนเองไปยังพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กรู้จัก และเข้าหาบุคคลที่น่าไว้วางใจ เพื่อขอให้ช่วย เช่น กลับเข้าโรงเรียน เพื่อบอกยาม หรือคุณครู, เดินเข้าพื้นที่ชุมชน เช่น ตลาดเพื่ออาศัยฝูงชน ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น หรือเดินเข้าหาเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ เพื่อขอความช่วยเหลือได้โดยตรง ซึ่งโดยปกติแล้ว เด็กอาจเลือกเข้าโรงเรียนก่อน แต่ในบางกรณีหากเด็กไม่สามารถกลับเข้าโรงเรียนได้ ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้เช่นกัน

ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ไปในตัว คุณพ่อคุณแม่จึงควรฝึกลูก ๆ ถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่ปลอดภัย หรือพื้นที่ต่าง ๆ ในบริเวณนั้น ๆ ที่สามารถมองหาบุคคลที่น่าไว้ใจได้ ด้วยการพาลูกไปดูสถานที่โดยตรง จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะจะช่วยให้ลูกจดจำเส้นทางได้มากขึ้น และเมื่อไปเห็นพื้นที่จริง แล้วเกิดความสงสัยใด ๆ ลูกจะได้สอบถามได้ และรับคำตอบที่ต้องการในทันที

4. ไม่เขินอายที่จะตะโกนขอความช่วยเหลือ

บางเหตุการณ์เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้า อาจไม่ได้จบแบบสวยหรูตลอดไป อาจไม่ง่ายที่จะทำเป็นไม่สนใจ แล้วเดินไปยังพื้นที่ปลอดภัยอย่างง่ายดาย หากบุคคลนั้นเป็นบุคคลอันตรายจริง อาจเลือกที่จะลงมือก่อนที่เด็กจะเข้าไปในพื้นที่ปลอดภัย ผู้ปกครองจึงควรสอนลูกเอาไว้ว่าให้ตะโกนขอความช่วยเหลือทันที หากอีกฝ่ายมีทีท่าว่าจะคุกคามรุนแรงขึ้น ไม่จำเป็นต้องให้ถูกจู่โจมเสมอไป

นอกจากนี้เพื่อเสริมโอกาสปลอดภัยจากการถูกจู่โจม อาจให้เด็กพกนกหวีดติดตัวเอาไว้ และให้เด็กพกไว้ตลอด นำออกมาเมื่อต้องกลับบ้าน เพื่อที่จะได้หยิบขึ้นมาเป่าให้คนสนใจ ซึ่งมีความดังมากกว่าการตะโกน และใช้แรงที่น้อยกว่าเพื่อจะทำให้เกิดเสียงที่ดังมากขึ้น หากมีคนสนใจจะเข้ามาช่วยได้ทัน หรืออาจสร้างความกังวลใจต่อคนแปลกหน้า จนบุคคลนั้นหนีไปเองก็ได้เช่นกัน


คนแปลกหน้า


5. ความรู้รอบตัวหลายเรื่องช่วยลูกได้

การเสริมความรู้เสริมต่าง ๆ สามารถช่วยให้ลูกนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น การให้ลูกจดจำเบอร์โทรฉุกเฉิน เช่น เบอร์ 191, เบอร์ผู้ปกครอง หรือเบอร์ของคุณครู และผู้ปกครองควรนำเบอร์เหล่านั้นมาตั้งค่าโทรฉุกเฉินในโทรศัพท์ เพื่อสะดวกต่อการใช้งานในเวลาฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว หรือจะเป็นการให้ลูกฝึกภาษามือที่สื่อถึงการขอความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นทางเลือกสำคัญอย่างมาก กรณีที่ลูกถูกคนแปลกหน้าควบคุมตัว แต่ต้องการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นอย่างเงียบ ๆ และปลอดภัย

6.เสริมภูมิคุ้มกันด้วยการดูข่าว

ข่าวเกี่ยวกับเด็ก และคนร้ายเกิดขึ้นบนสื่อข่าวไม่น้อยในแต่ละปี เมื่อมีข่าวดังกล่าวอาจให้ลูกมาดูเพื่อเป็นประสบการณ์ หรือจะเลือกข่าวเก่า ๆ มาให้ลูกดูได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ควรทำเมื่อมีโอกาส และควรเลือกข่าวที่มีเนื้อหาหลากหลาย ไม่ใช่แค่ให้ลูกดูแล้วผ่านไปเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ยังต้องให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย และเป็นโอกาสที่ดีที่จะชี้แนะ และบอกวิธีแก้ปัญหาที่ควรทำหากลูกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับในข่าว

7. จำลองเหตุการณ์เพื่อแนะนำลูก

การได้ดูข่าว หรือการพูดคุย ยังไม่สามารถเทียบได้กับการที่ต้องไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ๆ เนื่องจากเมื่อเจอเหตุการณ์จริงกับคนแปลกหน้าที่อันตราย จะทำให้เด็กเกิดความกดดันมากกว่าจนอาจทำอะไรไม่ถูก การได้เจอกับเหตุการณ์ที่สมจริงจึงถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าอย่างมาก ผู้ปกครองจึงควรยกเหตุการณ์สมมุติขึ้นมา เพื่อดูว่าลูกจะแก้ปัญหาอย่างไร หากมีจุดไหนที่ต้องการแนะนำลูก ก็สามารถบอกกับลูกได้เลยในเวลานั้น

8. อย่าปล่อยลูกไว้ลำพังโดยไม่มีความจำเป็น

หลายโอกาสลูกไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่คนเดียว ผู้ปกครองก็ควรจะให้ความสำคัญตรงจุดนี้ ยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็ก ไม่ควรให้ลูกอยู่นอกสายตาเด็ดขาด เพราะถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ก็มีความเสี่ยงได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อเดินทางไปไหนมาไหน ควรอยู่กับลูกตลอด อาจจะจูงมือลูก หรืออุ้มลูกเดินก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ต้องคอยสังเกตความผิดปกติรอบ ๆ ตัวของลูกด้วย เพราะบุคคลอันตรายอยู่ได้ทุกที่

อันตรายมีอยู่รอบตัวของคนทุกเพศทุกวัย สำหรับภัยที่อาจมากับคนแปลกหน้า เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อให้ลูกน้อยปลอดภัยอย่างแท้จริงในยามที่ผู้ปกครองไม่ได้อยู่ด้วย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ทำไมลูกตัวน้อยจึงชอบ “โกหก” พาคุณพ่อคุณแม่มาหาคำตอบกัน

5 วิธีสอนลูกอย่างไร ให้ลูกกลายเป็นคน “คิดบวก” หายห่วงทุกสถานการณ์

ปัญหา “โลกส่วนตัวสูง” ไม่ใช่โรค ช่วยลูกปรับตัวได้ด้วยการยอมรับ และความเข้าใจ

ที่มา: 1, 2