ชีวิตเครียดมากไปหรือเปล่า ปัญหาเกิดขึ้นได้ทุกวัน จะทำอย่างไรดี ให้ลูกจัดการกับปัญหาชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เครียดจนเกินไป จนรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข หนึ่งในทางออกที่ได้ผล คือ การให้ลูกได้เป็นคนที่ คิดบวก นั่นเอง ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยาก และไม่ใช่แค่ส่งผลกับลูกแค่ตอนนี้เท่านั้น สอนลูกคิดบวก จะส่งผลดีต่อตัวของเด็กจนเขาเติบใหญ่เลยด้วยนะ
“คิดบวก” ทั้งทีต้องทำแต่พอดี เดี๋ยวจะกลายเป็น “โลกสวย”
เป็นคนคิดบวกไม่ใช่ไม่ดี แต่อาจทำให้ความคิดผิดเพี้ยนได้หากคิดบวกมากเกินไป จนมองข้ามเหตุ และผลที่แท้จริง การมองโลกในแง่ดีนั้น อาจเป็นดาบสองคม หากสุดโต่งมากเกินไป เพราะอาจเป็นเป้าหมายของผู้ที่ต้องการเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย ๆ หรือการที่คิดว่าไม่เป็นไรจนติดเป็นนิสัย กว่าจะรู้ตัวขึ้นมาอีกที ก็ตกอยู่ที่นั่งลำบากไปเสียแล้ว ดังนั้นหากจะให้ลูกเป็นคนคิดบวกจึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย
แล้วแบบไหนถึงเลือกว่า “พอดี” นั่นคือการที่เด็กมีความเข้าใจถึงการมองปัญหา หรือแง่มุมชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่จะคิดบวกทุกเรื่อง แต่การคิดบวกที่แท้จริง คือการเข้าใจทั้งข้อดี, ข้อเสีย และผลกระทบที่จะได้รับจากสิ่งนั้น ๆ อย่างถี่ถ้วน ทำให้สามารถรับมือ หรือมีการตัดสินใจด้วยความรอบคอบ ใจเย็น ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ เพราะเข้าใจในผลดีที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อเจออะไรก็ตามไม่ใช่แค่จะเอาแต่คิดบวก แต่ต้องไตร่ตรองให้ดีในทุก ๆ ด้าน ด้วยความรอบคอบก่อนนั่นเอง
สอนลูกคิดบวก ดีอย่างไร
การให้ลูกเป็นคนที่มีความคิดบวกแต่พอดี ไม่มากจนเกินไป ย่อมสร้างประโยชน์ในการดำเนินชีวิตให้กับลูก ซึ่งมีผลตั้งแต่ตอนที่ลูกยังตัวน้อย ไปจนถึงเมื่อมีอายุที่มากขึ้น นอกจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับเด็กแล้ว ยังส่งผลต่อบุคคลรอบตัวให้มีความสบายใจ เมื่อได้อยู่ใกล้ลูกของเราอีกด้วย และยังมีข้อดีอื่น ๆ อีกมากมาย ได้แก่
คลายความกังวลใจ
ในยามที่เกิดปัญหา หรือมีเรื่องที่ไม่สบายใจ หากเราไม่ได้มีความคิดในแง่บวก อาจจะทำให้เกิดความกังวลที่ควบคุมไม่ได้ เนื่องจากปัญหาบางอย่างสามารถแก้ไขได้ แต่ไม่สามารถทำได้ในเวลานั้นทันที จึงทำให้เกิดความไม่สบายใจได้จนกว่าปัญหาจะคลี่คลาย ในทางตรงกันข้ามหากเด็กเป็นคนที่คิดบวกจะรับมือได้ดีกว่า และจะสามารถผ่านเรื่องร้าย ๆ ได้ โดยไม่ต้องคิดมากจนเกินไปนั่นเอง
ได้แนวคิดที่แตกต่างมากขึ้น
บางครั้งความคิดมาก หรือการพยายามหาคำตอบในชีวิต ทั้งเป้าหมาย แนวทาง หรือวิธีเพื่อทำให้สิ่งหนึ่งเกิดผล อาจใช้การความคิดนานแสนนานกว่าจะได้คำตอบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการมองเพียงด้านเดียว สำหรับเด็กที่คิดบวกนั้น อาจมองหาแนวทางใหม่ ๆ ได้มากกว่า เนื่องจากมองได้หลายมุม ไม่ได้มองสิ่งรอบตัวเพียงด้านเดียวเท่านั้น
สามารถส่งต่อพลังบวกได้
การมีความคิดด้านบวก ย่อมมีผลดีมากกว่าคนที่มองโลกในแง่ลบอยู่แล้ว และเป็นเรื่องปกติ ที่เวลาเราอยู่กับใครมากเกินไปเป็นเวลานาน ๆ เราอาจจะซึมซับนิสัยบางอย่างของคนคนนั้นโดยไม่รู้ตัว นิสัยคิดบวกก็เช่นกัน ที่สามารถส่งผ่านไปยังผู้อื่นได้ หากเรามีเรื่องที่ไม่สบายใจ แล้วรอบตัวเองก็เป็นคนคิดมากมีความกังวล จะยิ่งทำให้เครียดมากขึ้น แต่ถ้าหากคนเหล่านั้น มีความคิดด้านบวก คอยให้กำลังใจ และให้เรามองในมุมอื่น ๆ ก็คงจะดีกว่ามาก
บุคลิกภาพที่ดูดีตั้งแต่แรกเห็น
การเป็นคนที่มีทัศนคติในเชิงบวกจะทำให้มีความคิดในแง่ดีเสมอ สิ่งนี้เองที่สามารถทำให้คนอื่นที่อยู่ด้วยมีความสบายใจ กล้าที่จะพูดคุยกับลูกของเรา พฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ลูกดูเป็นคนที่มีบุคลิกภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเดินไปไหน ก็คล้ายกับคนที่ “มีแสงสว่างออกมาจากร่างกาย” ซึ่งดีกว่าการเป็นคนจอมหัวร้อนอย่างแน่นอน
สุขภาพดีทั้งกาย และจิตใจ
การที่เป็นคนไม่คิดมากจนกังวลเกินไปนั้น นอกจากจะทำให้จิตใจ ความรู้สึกได้รับการพักผ่อนแล้ว อย่างที่เรารู้กันดีว่า เมื่อจิตใจดี จะส่งผลต่อความคิด และการตัดสินใจ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สุขภาพกายดีขึ้น เช่น เมื่อไม่ได้คิดมาก ก็สามารถนอนหลับ ทานอาหาร และมีแรงที่จะทำสิ่งอื่น ๆ ได้ต่อไป สิ่งที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่มีความสำคัญกับตัวของลูกทั้งสิ้น
5 วิธีทำให้ลูกเป็นคนคิดบวก
อยากสอนให้ลูกคิดบวกแล้ว จะต้องทำแบบไหน บอกเลยว่าไม่ยาก เบื่องต้นสามารถลองทำตามวิธีที่เรานำเสนอ ได้แก่ วิเคราะห์ให้เป็นด้วยเหตุและผล, เรียนรู้ที่จะมีความสุขกับสิ่งเล็กน้อยในชีวิต, การปล่อยวาง ไม่ให้อดีตมาทำร้าย, หยุดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น และอยู่กับคนที่คิดดี คิดบวก
1. วิเคราะห์ให้เป็นด้วยเหตุและผล
เมื่อเจอเหตุการณ์ใด ๆ ที่จะส่งผลต่อความคิด และจิตใจ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การบอกกับตัวเองว่าปัญหาสามารถแก้ไขได้ ให้มองว่าการเจอปัญหาแบบนี้จะทำให้เรามีประสบการณ์ในครั้งต่อ ๆ ไป และเริ่มคิดหาทางออกอย่างถี่ถ้วน และอย่าเขินอาย หากต้องขอความช่วยเหลือ หรือขอความคิดเห็นจากผู้อื่น เนื่องจากคนอื่นอาจมีแนวคิดที่แตกต่าง และสามารถนำเอามาปรับใช้ได้จริง ๆ
2. เรียนรู้ที่จะมีความสุขกับสิ่งเล็กน้อยในชีวิต
บางครั้งความสุขก็หาได้ง่าย ในขณะที่บางเวลาอาจหาได้ยาก การที่จะเป็นคนมีความสุขจากการคิดบวกได้นั้น ไม่ใช่ต้องมองหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือเป้าหมายอันแสนยากที่ตั้งไว้เสมอ แต่ในบางครั้งเราอาจมองข้ามสิ่งที่เรามีสมบูรณ์อยู่แล้ว เพียงแต่มันอาจใกล้ตัวของเรามากเกินไป จนทำให้เราไม่สนใจ และมองว่าไร้ค่าไปเอง เช่น การที่มีความฝันว่าต้องการมีรถยนต์ส่วนตัว แต่ยังไม่สามารถเก็บเงินเพียงพอที่จะซื้อได้ ซึ่งต้องใช้เวลา เลยทำให้เกิดความเครียดไปเอง แต่ถ้าหากลองปรับความคิดนิดหน่อยว่าระหว่างที่รอเก็บเงิน การใช้รถสาธารณะก็ทำให้เราสามารถมองวิว และผู้คนได้อย่างสบายใจ เพราะไม่ต้องขับรถเอง เป็นต้น
3. การปล่อยวาง ไม่ให้อดีตมาทำร้าย
การปล่อยวางไม่ใช่การที่ไม่สนใจอดีต แต่การปล่อยวาง คือการบอกตนเองให้เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และต้องเกิดขึ้นมาอย่างมีเหตุผล การคิดแบบนี้เรียกว่าการปล่อยวาง ไม่จำเป็นต้องมองว่าตัวเองโชคร้าย หรือคอยเฝ้าถามตนเองอยู่เสมอว่าทำไมถึงต้องเป็นเราด้วย นอกจากนี้เราควรเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากอดีตให้ได้มากที่สุด และนำกลับมาปรับใช้กับปัญหาใหม่ ๆ แทนการคิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว จนเกิดความเศร้า และไม่สามารถปล่อยวาง หรือผ่านพ้นไปได้
4. หยุดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
ในอีกแง่การเปรียบเทียบสามารถเป็นแรงผลักดันให้เด็กได้ เพื่อให้เกิดความต้องการที่พัฒนาตนเอง แต่หลายคนอาจไม่สามารถคิดได้แบบนั้น หรืออาจคิดได้ แต่ก็กลายเป็นว่าต้องมากดดันตนเองในทางอ้อมไปเอง โดยที่แท้จริงแล้ว เราสามารถมีความสุขกับสิ่งที่มีได้ และเราเองก็อาจจะยังไม่รู้จักคนที่เราเอามาเปรียบเทียบ ว่าก่อนที่เขาจะมาอยู่ในจุดนี้นั้น เขาผ่านอะไรมาบ้าง แล้วชีวิตของคนนั้นก่อนหน้านี้ยากลำบากแค่ไหน ทางที่ดีคือ เราไม่ควรเปรียบเทียบใคร แค่ทำสิ่งนั้นให้เต็มความสามารถ พัฒนาตนเองต่อไป และมีความสุขกับสิ่งที่มีก็เพียงพอแล้ว
5. อยู่กับคนที่คิดดี คิดบวก
ตามที่เราได้บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า การที่ได้อยู่ใกล้กับคนที่มองโลกในแง่ดีนั้น ดีกว่าการอยู่กับคนที่แต่ด้านลบมาก เพราะจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายไปด้วยเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา การเลือกคบคนจึงสำคัญมาก หากกำลังฝึกเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี แล้วยังไม่รู้จะเริ่มแบบไหน ก็ลองอยู่ใกล้ ๆ กับคนที่เป็นแบบนั้น เพื่อที่จะได้เรียนรู้ว่าเขาคิดแบบไหน ทำแบบไหน แล้วค่อยนำมาปรับใช้ต่อในรูปแบบของเราเองก็ได้เช่นกัน
ถึงแม้การคิดบวกจะช่วยให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ แต่ในฐานะของคนเป็นคุณพ่อคุณแม่ ก็จำเป็นที่จะต้องคอยดูแล ให้คำปรึกษากับลูกไม่ว่าลูกจะร้องขอหรือไม่ก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
6 วิธีแก้ปัญหาลูกน้อยไม่ยอม “ขอโทษ” เมื่อตนเองทำความผิด แก้ได้แต่ต้องเข้าใจ
ฝึกลูกให้ “แก้ปัญหา” ด้วยตนเองทำได้ไม่ยาก เดี๋ยวเรากระซิบบอกเอง
ปัญหา “โลกส่วนตัวสูง” ไม่ใช่โรค ช่วยลูกปรับตัวได้ด้วยการยอมรับ และความเข้าใจ