7 วิธีแก้อาการ หลังลูก “เบื่ออาหาร” ให้กลับมามีความสุขกับมื้ออาหารอีกครั้ง

คำว่า “เบื่ออาหาร” หรือ “ไม่อยากกิน” คำเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และแน่นอนว่าเด็ก ๆ เองก็คงมีความคิดแบบนี้ได้ด้วยเช่นกัน และด้วยคว 

 1481 views


คำว่า “เบื่ออาหาร” หรือ “ไม่อยากกิน” คำเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และแน่นอนว่าเด็ก ๆ เองก็คงมีความคิดแบบนี้ได้ด้วยเช่นกัน และด้วยความที่เด็กอาจไม่สามารถทำอาหารทานได้เอง หรืออาจไม่ค่อยได้โอกาสเลือกเมนูอาหาร ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องหันมาแก้ปัญหานี้ให้กับลูกอย่างจริงจัง

ทำไมลูกเบื่ออาหาร สาเหตุที่ทำให้ลูกทานอาหารยาก

พฤติกรรมการเบื่ออาหาร สามารถเกิดขึ้นได้จากการหลายปัจจัย และเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย แต่ด้วยวัยเด็กอาจเป็นวัยที่ต้องอาศัยการแก้ปัญหาจากคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นการเรียนรู้ว่าลูกตัวน้อยของเรา เบื่ออาหาร จากสาเหตุใดได้บ้างจึงมีความสำคัญมาก

พฤติกรรมการทานอาหารว่าง

อย่างที่เราทราบกันดีว่าเด็ก ๆ กับขนมขบเคี้ยว หรือของหวานเป็นของคู่กันอย่างปฏิเสธไม่ได้ ก่อนที่ความชอบอาจลดน้อยลงไปบ้างเมื่อโตขึ้น ดังนั้นหากให้เด็กทานอาหารเหล่านี้มากเกินไปในแต่ละวัน อาจส่งผลให้เด็กมีนิสัยติดขนมมากกว่าการชอบทานอาหารหลักได้ อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคอ้วน หรือฟันผุ เป็นต้น

ติดเล่นมากเกินไป

สำหรับเด็กน้อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กิจกรรมต่าง ๆ มากมาย มีอะไรสนุกสนานให้ทำได้เรื่อย ๆ และมีความหลากหลาย ทำให้เด็กอาจเพลิดเพลินกับการเล่น มากกว่าการที่จะหันมาสนใจการทานอาหาร ซึ่งปัญหานี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่หากปล่อยให้เกิดขึ้นบ่อยเกินไป อาจทำให้เด็กติดเป็นนิสัย และทานอาหารผิดเวลา หรือทานอาหารได้ยากมากขึ้น

บรรยากาศด้านลบบนโต๊ะอาหาร

การทานอาหารให้อร่อยนั้น อาจไม่ใช่เพียงแค่รสชาติเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรยากาศบนโต๊ะอาหารที่มีผลทำให้ลูกเกิดอาการเบื่ออาหารได้ เช่น การที่ผู้ปกครองทะเลาะ เถียงกันบ่อยในขณะที่ทานอาหาร หรือการชอบบ่นดุลูกตอนทานข้าว เป็นต้น

ทานอาหารเมนูเดิมมากเกินไป

ความเบื่อไม่เข้าใครออกใคร ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กเล็กเช่นกัน เมื่อทานอาหารเมนูหนึ่ง ๆ มากเกินไป หรือบ่อยเกินไปในช่วงเวลาหนึ่ง และต้องมาทานอีก อาจสร้างอาการเบื่ออาหารให้กับเด็ก ๆ ได้ ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นได้กับอาหารจานหลัก มากกว่าของหวาน เนื่องจากโดยทั่วไปเด็ก ๆ มักชอบของหวานมากกว่าอาหารจานหลักอยู่แล้ว

มีอาการเจ็บป่วย

ความผิดปกติทางร่างกายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมา มีผลทำให้พฤติกรรมการทานอาหารของลูกน้อยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคทางพันธุกรรม หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

นอกจากปัจจัยที่เรากล่าวมานั้น ยังมีปัญหาด้านอื่น ๆ ที่เราไม่ได้กล่าวถึง เช่น การที่ผู้ปกครองเด็ก อาจไม่เข้าใจว่าลูกอ้วน หรือผอมมากเกินไป ตรงตามเกณฑ์หรือไม่ หรือควรทานอาหารเท่าไหร่ในแต่ละวัน ถึงจะเรียกได้ว่าปกติ

วิดีโอจาก : RAMA Channel

รวม 7 วิธีแก้ปัญหาลูกเบื่ออาหารได้ไม่ยาก

การเบื่ออาหารไม่ใช่โรคร้าย หรืออาการรุนแรงอะไร แต่เป็นภาวะหนึ่งที่เด็กอาจไม่ต้องการทานอาหารในรูปแบบเดิม หรือต้องการความเปลี่ยนแปลงในมื้ออาหารต่อ ๆ ไปเท่านั้นเอง คุณพ่อคุณแม่จึงควรลงมือแก้ไขให้กับลูกตามวิธต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับปัจจัยปัญหา ดังนี้

1. ลดการทานขนม และเพิ่มอาหารที่หลากหลายมากขึ้น

เพื่อแก้ปัญหาเด็กติดขนม ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในอนาคต จึงควรลดปริมาณขนมขบเคี้ยว หรือของหวานลง แต่ไม่ใช่ตัดออกไปเลย ควรหันมาเพิ่มอาหารมื้อหลักให้พอดี และต้องเป็นอาหารที่มีความหลากหลาย เป็นประโยชน์ต่อการเติบโต และช่วยพัฒนาการของเด็ก โดยให้ยึดหลักอาหารครบ 5 หมู่ ควรมีทั้งเนื้อ และผักผลไม้ สาเหตุที่เราไม่ให้ตัดขนมออกไปเลยนั้น เพราะว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เด็ก ๆ จะทานขนมบ้าง แต่ไม่ควรมากเกินไปนั่นเอง

2. อย่าปล่อยให้ลูกเล่นจนเลยเวลาทานอาหาร

เด็กเล่นเท่ากับเด็กได้เรียนรู้ และออกกำลังกาย ดีกว่าการที่เด็กมานั่งเก็บตัว การเล่นจึงเป็นกิจกรรมที่เราควรส่งเสริมให้กับเด็ก ๆ แต่ในหลายครั้งเด็กอาจเล่นในเวลาที่ต้องทานอาหาร หากปล่อยให้เด็กเล่นต่อไป อาจทำให้เด็กเข้าใจว่าการเล่นมีความสำคัญกว่ามื้ออาหาร หรือเข้าใจว่าตนเองสามารถเล่นต่อไปได้โดยไม่ต้องห่วงอะไร ผู้ปกครองจึงควรเข้าไปบอกลูกเพื่อให้เขามาทานข้าว และค่อยให้ไปเล่นต่อ แต่ต้องระวังลูกอาจรีบทานมากเกินไปจนเป็นอันตรายได้


เบื่ออาหาร

3. สร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการทานอาหาร

การทานอาหารร่วมกับบุคคลในครอบครัว พร้อม ๆ กับบรรยากาศ หรือสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสม ไม่ใช่เพียงแค่ความสะอาด หรือความพร้อมของพื้นที่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงมารยาทบนโต๊ะอาหาร ที่ไม่ควรหยิบนำเรื่องไม่ดีมาพูดคุย หรือเรื่องที่อาจทำให้เกิดโอกาสทะเลาะกัน เพื่อลดการมีปากเสียงต่อหน้าลูกในขณะที่กำลังทานอาหาร หากต้องการพูดคุยควรใช้โอกาสที่ครอบครัวรวมตัวกันนี้ พูดคุยเรื่องดี ๆ หรือถามเรื่องที่เกี่ยวกับลูกก็ได้

4. เพิ่มเทคนิคอาหารใหม่ ๆ

หากใน 1 เดือนมีเพียงไม่กี่เมนูให้หนูน้อยทาน คงจะเบื่อน่าดู การฝึกทำเมนูอาหารใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ จะยิ่งสร้างความแปลกใหม่ และความตื่นเต้นบนโต๊ะอาหารให้มากขึ้นได้ แต่ถ้าหากไม่มีเวลาจริง ๆ ก็ควรศึกษาอาหารแบบอื่นเพิ่ม และทำการสั่งซื้อเพื่อนำมาให้ลูกทานก็ได้เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันมีหลายเมนูที่มีประโยชน์ต่อเด็ก และยังสามารถคงรสชาติที่แสนอร่อยไว้ได้อีกด้วย

5. ให้ลูกเลือกเมนูเอง

บางครั้งการแก้ปัญหาอาจไม่ยากอย่างที่คิด เมื่อลูกมีอาการเบื่ออาหาร ทำอะไรมาให้ทานลูกก็ไม่ค่อยชอบ ไม่ค่อยทาน การให้ลูกได้มีโอกาสตัดสินใจเรื่องมื้ออาหารของตนเอง ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลย การทำแบบนี้จะทำให้เรารู้ว่าหนูน้อยกำลังต้องการทานอาหารแบบไหน ถือเป็นการเก็บข้อมูลของชอบ ของไม่ชอบของเด็กทางอ้อม เพื่อนำมาใช้ในมื้ออาหารต่อ ๆ ไปได้อีกด้วย


เบื่ออาหาร

6. เข้าใจพฤติกรรมการทานอาหารของลูก

เด็กหลายคนอาจมีลักษณะรูปแบบอาหารที่ชอบ และไม่ชอบแตกต่างกัน หรืออาหารที่ทานในแต่ละช่วงวัย จะมีความต้องการพลังที่แตกต่างกัน บางครั้งเด็กอาจทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว หรือทานน้อยเกินไปจากการเบื่ออาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิด และทำให้เข้าใจพฤติกรรมการทานอาหารของเด็กให้มากขึ้น หากพบว่าลูกมีพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ถูกต้องอันเป็นที่มาของการเบื่ออาหาร ก็ต้องแก้ไขตามความเหมาะสม

7. ถามไถ่อาการเจ็บป่วย

หลายครั้งการแก้ปัญหาต่าง ๆ อาจไม่ค่อยได้ผล สาเหตุมาจากอาการเบื่ออาหารที่มาจากความผิดปกติของร่างกาย ผู้ปกครองจึงควรถามไถ่เรื่องเหล่านี้ เช่น เจ็บตรงไหนไหม หรือ ปวดท้องบ้างหรือเปล่า เพื่อให้รู้อาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับลูก แต่ลูกไม่ได้บอก นอกจากนี้การตรวจสุขภาพลูกเป็นประจำตามความเหมาะสม ยังสามารถช่วยให้เราได้ทราบสถานะของร่างกาย หรือสัญญาณของโลกร้ายต่าง ๆ ได้ดี

หลังจากการแก้ปัญหาภาวะเบื่ออาหารของเด็ก ๆ ไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าอาการดังกล่าวนี้จะไม่เกิดขึ้นมาอีก อาการนี้จะสามารถเกิดขึ้นมาซ้ำได้อยู่หลายครั้ง อาจมาเป็นพัก ๆ ดังนั้นจึงต้องบริหารเรื่องของมื้ออาหารให้มีความน่าสนใจอย่างสม่ำเสมอ

บทความที่น่าสนใจ :

5 วิธีสอนลูกอย่างไร ให้ลูกกลายเป็นคน “คิดบวก” หายห่วงทุกสถานการณ์

เทคนิคการ “บวกลบ” ที่เด็กประถมควรรู้ไว้ พร้อมแบบทดสอบง่าย ๆ ไว้ฝึกมือ

ฝึกลูกให้ “แก้ปัญหา” ด้วยตนเองทำได้ไม่ยาก เดี๋ยวเรากระซิบบอกเอง

ที่มา : 1, 2, 3