“แก้ปัญหา” คำนี้มีทั้งยาก และง่ายปะปนกันไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่คงจะแย่หากลูกของเราไม่สามารถลงมือแก้ปัญหาใด ๆ ได้เลยไม่ว่าจะง่าย หรือยากก็ตาม ปัญหานี้มีสาเหตุอยู่ และอาจส่งผลกระทบในระยะยาว ดังนั้นเราจะมาแชร์วิธีฝึกให้ลูกสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองกัน
จะเป็นอย่างไรหากลูกแก้ปัญหาด้วยตนเองไม่เป็น
มาถึงย่อหน้านี้ หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร เราจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าให้ลองนึกกลับไป กับปัญหาเล็ก หรือใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตเรา แต่ให้เปลี่ยนเป็นปัญหาเหล่านั้นไม่ได้รับการแก้ไขแทน หรือที่เคยได้ยินกันมาว่า “ปล่อยเบลอ” จากนั้นให้ลองนึกตามต่อมาอีกว่า ถ้าเป็นแบบนั้นตอนนี้ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ดีหรือแย่กว่าเดิม นั่นแหละคือคำตอบในหัวข้อนี้
“แก้ปัญหา” คำง่าย ๆ ที่อาจทำได้ไม่ง่าย แต่เมื่อลูกของเราเกิดมีปัญหาเรื่องนี้ ผลลัพธ์ที่ตามมาจะเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่เขายังเด็ก และจะยิ่งมีผลเสียตามมามากขึ้นเมื่อลูกเติบใหญ่ขึ้น และต้องเข้าสังคม หรืออยู่ในช่วงอายุที่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่ทำงานเก่ง แต่ในด้านนิสัยใจคอ เป็นคนที่ขอโทษไม่เป็น ไม่ยอมรับผิด และไม่รู้จักแก้ปัญหา ก็สามารถสร้างความหนักใจให้กับผู้อื่นได้เช่นกัน
สาเหตุที่ทำให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตนเองไม่เป็น
การที่เด็กไม่มีทักษะในการแก้ปัญหาในตนเอง สามารถเกิดขึ้นมาได้จากปัจจัยหลากหลายรูปแบบ แต่เราสามารถปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ได้ ตั้งแต่การดูแลลูก ตั้งแต่ตอนที่เขาอายุยังน้อย โดยปัจจัยที่พูดถึงนั้นมีดังนี้
ได้รับการช่วยเหลือในทุกเรื่อง
ไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนเป็นพ่อเป็นแม่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือลูก ๆ เวลาที่เขาเดือดร้อน แต่การที่เราให้ความช่วยเหลือมากเกินไป แม้เรื่องที่ลูกสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง เพียงแต่ต้องใช้ความพยายามเข้าทำเท่านั้นเอง การที่เขาไม่มีโอกาสได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง จะทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ และจดจำ เพราะการเรียนรู้ในบางเรื่อง ต้องเกิดจากการได้มีโอกาสลงมือทำด้วยตนเอง
การหลีกหนีปัญหาที่เกิดขึ้น
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น บางเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เป็นเรื่องเล็กที่เลือกจะไม่ใส่ใจ ก็อาจไม่ได้มีผลกระทบที่รุนแรงมากเช่น การเดินชนคนอื่น จนทำให้แก้วน้ำหล่น แล้วอีกฝ่ายบอกว่าไม่เป็นไร หากคิดจะทิ้งปัญหาไปเลยก็อาจรับฟัง แล้วเดินผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ควรแก้ปัญหาด้วยการออกค่าน้ำเพื่อชดเชยความเสียหาย แม้อีกฝ่ายจะไม่ได้ร้องขอก็ตามการที่หลีกหนีปัญหาตลอด จะทำให้เมื่อเจอปัญหาที่มีความร้ายแรงกว่านี้ จะยิ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ไม่กล้าที่จะเป็นฝ่ายพูดคุยก่อน
บางทีลูกของเราอาจรู้ตัวว่าทำความผิดลงไป และพอจะรู้วิธีการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง แต่อาจเป็นเพราะไม่กล้าจะเข้าหาอีกฝ่าย อาจด้วยความกังวลว่าอีกฝ่ายจะไม่พอใจ หรืออาจเป็นนิสัยส่วนตัวของเด็ก เช่น เป็นคนขี้อาย หรืออาจจะเป็นเด็กที่เข้าสังคมไม่เก่ง เป็นต้น ปัญหานี้นำพามาซึ่งการไม่ได้เข้าไปพูดคุย ก็เท่ากับการไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาเช่นกัน อาจจบลงด้วยการปล่อยให้เวลาผ่านพ้นไป จนปัญหามีผลกระทบต่อทั้งสองฝ่ายน้อยลง ถือเป็นวิธีที่ผิด
มีนิสัยไม่ยอมรับผิด
บางครั้งก็รู้อยู่แก่ใจ แต่เพราะเราไม่ผิดใครจะทำไม ความคิดในลักษณะนี้ ถือเป็นความคิดที่ผิด เนื่องจากหากเรารู้ว่าเราผิด ก็ต้องขอโทษ และลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง การที่เด็กมีนิสัยไม่ยอมรับความผิดนั้น จะส่งผลกระทบกับตัวของเด็กทั้งในปัจจุบัน และอนาคตอย่างแน่นอน หากสามารถแก้ไขได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ก็ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
เกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบ
ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่เกิดจากขึ้นแล้วมีความเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมของเด็ก สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การต้องคิดทบทวนว่าเด็กเลียนแบบมาจากใครหรือไม่ รวมถึงการแก้ปัญหาด้วยตนเองเช่นกัน หากบุคคลรอบตัวของเด็กมีพฤติกรรมไม่ยอมแก้ไขปัญหาที่ตนเองเป็นคนก่อ จะทำให้เด็กที่เห็นเกิดการซึมซับ และเข้าใจไปได้เองว่า ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหาก็ได้นั่นเอง
ฝึกลูกอย่างไรให้แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง
เด็ก ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ล้วนมาจากการเรียนรู้ไม่ทางเก็ทางหนึ่ง ในฐานะที่เราเป็นคุณพ่อคุณแม่ ก็จำเป็นต้องให้ความรู้กับลูกในเรื่องนี้ก่อน เพื่อให้เขาสามารถปรับตัว และทำจนติดเป็นนิสัย ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
เริ่มจากวิเคราะห์ให้เป็นก่อน
การที่จะแก้ปัญหาใด ๆ ได้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน หากขาดสิ่งนี้ นั่นคือ “การวิเคราะห์” นั่นเอง แล้วทำไมเราจึงต้องวิเคราะห์ปัญหาก่อน นั่นเพราะว่า เราจะได้หาสาเหตุของปัญหาได้ว่าเกิดจากอะไร และเกิดจากใคร เมื่อเรารู้สาเหตุของปัญหานี้ จะทำให้เราสามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง วิธีนี้สามารถใช้ได้ทั้งปัญหาเล็ก ๆ และปัญหาที่ร้ายแรง เมื่อฝึกลูกทำจนชินแล้ว ลูกจะมีกระบวนการทางด้านความคิดได้เอง ว่าเมื่อเจอปัญหาเขาควรเริ่มจากอะไรก่อน
สถานการณ์สมมติ
ไม่ใช่แค่การวิเคราะห์เท่านั้น การที่จะฝึกลูกให้ได้ผลต้องให้เขาได้ลองเจอเหตุการณ์ด้วยตนเอง เพื่อที่จะดูกระบวนการคิด และการแก้ปัญหา แต่การพาลูกไปเจอปัญหาเพื่อเรียนรู้ ก็คงฟังดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ สิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงจึงควรออกมาเป็น กิจกรรมเสริมความคิด หรือกิจกรรมที่ช่วยฝึกการแก้ปัญหานั่นเอง ซึ่งเราจะยกตัวอย่างกิจกรรมที่ควรทำ ดังนี้
- เกมเรียงสิเหตุการณ์ไหนเกิดก่อน : อาจใช้ภาพการ์ตูน หรือภาพจริงก็ได้ตามสะดวก แล้วจัดลำดับเหตุการณ์ ได้แก่ เหตุการณ์เกิด, การแก้ปัญหา และหลังแก้ปัญหา โดยสามารถเลือกภาพเหตุการณ์ที่อยากให้ลูกเกิดการเรียนรู้ จากนั้นให้ลูกเรียงลำดับเหตุการณ์ว่าอันไหนเกิดขึ้นก่อน พร้อมคำอธิบาย เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจมากขึ้น
- เกมจับคู่ภาพแก้ปัญหา : เป็นการจับคู่ภาพแบบทั่วไป แต่ปรับเปลี่ยนให้ฝั่งหนึ่งเป็นภาพของปัญหาต่าง ๆ ส่วนอีกฝั่งให้เป็นภาพของการแก้ปัญหา จากนั้นให้ลูกจับคู่ว่า ปัญหาไหนควรคู่กับการแก้ปัญหาด้วยวิธีไหน พร้อมกับให้ความรู้กับลูกไปด้วยระหว่างเล่น
- การให้ลูกดูการ์ตูนความรู้ : กรณีที่อาจไม่ค่อยมีเวลา ก็อาจใช้สื่อช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้ในเรื่องนี้ได้เช่นกัน ด้วยการให้ลูกดูการ์ตูนสอนเด็กในสื่อต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันสามารถหาดูได้ง่าย หรือจะให้ใช้เวลาว่างด้วยการดูภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาก็ได้เช่นกัน
ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ
การแก้ปัญหาที่ดี ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อารมณ์แก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ เพราะจะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นแย่มากกว่าเดิม ปัญหานั้นบางครั้งอาจเริ่มมาจากความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน หรือจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หากใจเย็น ๆ แล้วมานั่งคิด เราอาจพบว่าแท้จริงแล้ว ปัญหาเหล่านี้มันอาจมาจากเราจริง ๆ ด้วยเหตุนี้เองเมื่อเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ควรให้อารมณ์นำการตัดสินใจ และควบคุมพฤติกรรมของเราได้ เด็กเองก็ควรได้รับการสอนในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ไม่ไหวให้บอก
ตามที่เราได้กล่าวไปแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องยื่นมือเข้าช่วยทุกเรื่อง เราอาจสังเกตได้ด้วยตนเองว่า หากปัญหานั้นใหญ่มากเกินกว่าลูกจะแก้ไขด้วยตนเองได้ ถึงจะให้คำปรึกษา หรือเข้าไปช่วยแก้ปัญหา หากไม่ใช่ปัญหาที่ร้ายแรงก็ควรให้ลูกได้มีเวลาที่จะจัดการปัญหาเหล่านั้นด้วยตนเองเสียก่อน และควรบอกให้ลูกรู้ด้วยว่า เมื่อรู้ตัวว่าต้องการความช่วยเหลือ ก็อย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ในทางตรงกันข้ามเมื่อคนอื่นต้องการความช่วยเหลือ หากเราช่วยได้ ก็ควรช่วยด้วยเช่นกัน
นอกจากวิธีเหล่านี้แล้ว อาจใช้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัวมาเป็นประสบการณ์สอนลูกได้ด้วยเช่นกัน เรารับรองว่าหากเด็กมีความเข้าใจ และมีพื้นฐานในการแก้ปัญหาด้วยตนเองแล้ว จะต้องดีต่อลูกน้อยอย่างแน่นอน
บทความที่น่าสนใจ :
5 วิธีสอนลูกอย่างไร ให้ลูกกลายเป็นคน “คิดบวก” หายห่วงทุกสถานการณ์
ปัญหาเด็กยุคใหม่ ลูกติดมือถือ จับไม่ยอมวาง ทำอย่างไรดี ?
ปัญหา “โลกส่วนตัวสูง” ไม่ใช่โรค ช่วยลูกปรับตัวได้ด้วยการยอมรับ และความเข้าใจ