ลูกมีอาการคัน อาการไอ มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง อาการเหล่านี้เป็นอาการที่โดดเด่นของ โรคภูมิแพ้ในเด็ก ซึ่งมีปัจจัยหลักเกิดจากพันธุกรรม หากพบว่ามีอาการเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เด็กเกิดอาการแพ้ และควรให้ความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองของเด็กเล็กด้วย
โรคภูมิแพ้ คืออะไร ?
โรคภูมิแพ้ (Allergy) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้จากสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ สังเกตได้จากอาการไอ, คันรอบดวงตา หรือผื่นขึ้นตามผิวหนัง บางรายอาจแพ้รุนแรงถึงขั้นท้องร่วง, หายใจไม่ออก เป็นต้น โดยสิ่งกระตุ้นเกิดขึ้นได้หลายแบบ และมักจะไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อตัวของบุคคลทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้มีโอกาสพบเจอได้มากขึ้น จากสิ่งกระตุ้นผ่านมลภาวะทางอากาศ หรือสิ่งสกปรกจากการเติบโตของเมืองใหญ่ ทำให้เด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการชักในเด็ก จากอาการไข้ รับมืออย่างไรให้ลูกปลอดภัย
วิดีโอจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ Bangkok Hospital Siriroj
สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคภูมิแพ้
ปัจจัยแรกที่ทำให้เด็กมีความเสี่ยง คือ ปัจจัยทางพันธุกรรม จากที่คุณพ่อคุณแม่มีประวัติ หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ หากพ่อหรือแม่ เป็นแค่คนเดียว เด็กจะเสี่ยง 20 -40 % แต่หากทั้งพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้จะทำให้ลูกมีความเสี่ยงมากขึ้นเป็น 50 – 80 % ส่วนอีกปัจจัย คือ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเอง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง, ฝุ่นต่าง ๆ , มลพิษทางอากาศ, อาหาร รวมไปถึงการให้เด็กอายุไม่เกิน 6 เดือนกินนมแบบอื่น นอกจากนมแม่ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงได้ โดยโรคนี้จะพบได้ในเด็กเล็กจนถึงเด็กโต ดังนี้
- ภูมิแพ้ในเด็กแรกเกิด : ในช่วงวัยเตาะแตะ อาจพบกับปัญหาผื่นภูมิแพ้ขึ้นบริเวณผิวหนัง จากการแพ้นมวัว, ไข่ หรือ แป้งสาลี เป็นต้น ที่ผื่นเหล่านี้มักเกิดบริเวณใบหน้า, ข้อพับแขนขา และข้อศอก เป็นต้น นอกจากนี้ในช่วงวัยนี้ยังมีโอกาสพบภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ จะทำให้เด็กมีอาการหอบ และไอบ่อยนั่นเอง
- ภูมิแพ้ในเด็กก่อนวัยเรียนถึงเด็กโต : เด็กช่วงวัยนี้มักพบปัญหาจากการแพ้อากาศ ทำให้มีอาการจาม และคัดจมูก โดยเฉพาะเด็กช่วงวัยเข้าชั้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันอาจยังไม่แข็งแรง จนทำให้เป็นหวัดได้บ่อยด้วย ทำให้ผู้ปกครองอาจสับสนระหว่างอาการของภูมิแพ้ และอาการหวัดในเด็ก
โรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่สามารถพบได้บ่อย
เด็ก ๆ จำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคภูมิแพ้ เนื่องจากโรคนี้มีหลายรูปแบบ มีหลายประเภท มีสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายตามที่กล่าวไป ซึ่งเราจะจำแนกโรคภูมิแพ้ในเด็กที่พบได้บ่อยออกได้ ดังนี้
- โรคหืด : เป็นโรคที่พบได้มากที่สุด เกิดจากระบบทางเดินหายใจที่มีอาการบวม และตีบแคบลง โรคแพ้นี้ถูกกระตุ้นโดยปฏิกิริยาภูมิแพ้ หรือสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหวีด, แน่นหน้าอก และหอบ พบอาการได้บ่อยในช่วงกลางคืน หรือขณะเป็นหวัด
- แพ้อาหาร : เกิดจากปฏิกิริยาแพ้โปรตีน จากการทานอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการหลายอย่าง เช่น ปวดท้อง, ท้องเสีย, อาเจียน, มีเลือดปนเมื่อขับถ่าย, มีผื่นขึ้น, หอบ และคัดจมูก เป็นต้น อาการเหล่านี้จะปรากฏช่วงเด็กอายุ 1 ปี หลังจากนั้นอาการจะเรื้อรัง ถูกกระตุ้นเมื่อทานอาหารที่แพ้ ส่วนอาหารที่มีสถิติว่ามีเด็กแพ้มากที่สุด คือ นมชนิดต่าง ๆ และอาหารทะเล
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง : อาการที่สังเกตได้ชัดเจนคือ มีผื่นคัน ,ผิวหนังแดง เป็นต้น โดยมากจะพบได้ในเด็กเล็ก และจะมีอาการมากขึ้น เมื่อมีอาการอื่นมากระตุ้น เช่น เหงื่อออกจากความร้อน หรืออาการจากการแพ้อาหาร เป็นต้น
- ลมพิษ : สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้ยา และอาหารบางประเภท หรือจากการติดเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียบางชนิด อาการที่พบได้ทั่วไปสังเกตได้จากผิวหนัง คือ มีอาการคัน, บวม และมีผื่นขึ้นนูนหนา เป็นต้น
- เยื่อบุตาอักเสบ : เด็กเล็กจะมีอาการแสบคันตา, น้ำตาไหล ทำให้เด็กต้องการขยี้ หรือเกาดวงตา จนทำให้ตาบวมช้ำได้ มักพบร่วมกับอาการเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบในภูมิแพ้
ลูกเป็นภูมิแพ้ทำอย่างไรดี ?
- หากพบว่าลูกมีอาการแพ้จากอะไร ควรให้ลูกอยู่ห่างจากสิ่งนั้น และผู้ปกครองควรเก็บข้อมูล หรือจดบันทึกไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงอีกในอนาคต จากนั้นให้พาลูกไปพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการรักษา
- ทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากต้องการใช้เครื่องมือ หรือยาชนิดอื่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ลูกหายเร็วขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย
- ระหว่างที่รักษาตัว ปกติเด็กจะไม่ได้มีอาการหนัก จึงสามารถทำกิจกรรม และทานอาหารได้ค่อนข้างปกติ อาจให้เด็กออกกำลังกายเบา ๆ หรือทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายมีพลังงาน และแข็งแรงมากขึ้นโดยเร็ว
การป้องกันให้ลูกห่างไกลจากโรคภูมิแพ้
- เลี่ยงสิ่งกระตุ้นจากที่มีประวัติแพ้ให้มากที่สุดไม่ว่าจะเลี่ยงอาหารที่แพ้, ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขนหากแพ้ขน เป็นต้น
- จัดห้องนอนของลูกให้มีความปลอดภัย ดูแลเรื่องความสะอาด และควรมียาแก้ภูมิแพ้อยู่ในจุดที่สามารถหยิบใช้ได้ง่าย
- ใส่ใจเรื่องมลภาวะภายในบ้าน โดยเฉพาะควันบุหรี่ ที่อันตรายต่อทุกคนในบ้าน ไม่ใช่แค่เพียงตัวเด็กเท่านั้น
- หากเด็กมีอาการหอบหืด ควรฝึกออกกำลังสม่ำเสมอ แต่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดอาการกำเริบได้ โดยการออกกำลังกายจะช่วยบรรเทาอาการหอบหืดได้ดีในระยะยาว
- เด็กบางคนอาจมีอาการแพ้ต่อสิ่งกระตุ้นหลายชนิด หากพบว่ามีอาการแพ้ต้องจดบันทึก และพาไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำทุกครั้ง
- ให้ความรู้กับลูกน้อยตลอดเวลา ถึงความสำคัญของการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ตนเองแพ้ ว่าควรเลี่ยงอย่างไร หากมีอาการตอนอยู่นอกบ้านควรทำอย่างไร
อาการแพ้จากโรคนี้เป็นสิ่งที่พบเจอได้บ่อย จนหลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับเด็กเล็กที่ร่างกายอาจไม่แข็งแรงมาก จะทำให้เสี่ยงมีอาการหนักได้ จึงต้องช่วยกันระมัดระวังจนถึงที่สุด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไวรัส RSV การติดเชื้อรุนแรงในเด็กที่ห้ามมองข้าม
โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายของลูกตัวน้อยโอกาสเป็นซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง