โคลิค (Baby Colic) เป็นอาการที่ทารกร้องไห้ไม่หยุด ร้องหนัก หาสาเหตุไม่ได้ แต่ความจริงแล้วยังมีปัจจัยที่ทำให้ทารกร้องไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพ, พัฒนาการของระบบประสาทไม่สมบูรณ์ หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ถึงแม้อาการนี้จะหายได้เอง แต่ผู้ปกครองอาจประสบกับภาวะความเครียดได้เช่นกัน
อาการโคลิค คืออะไร ?
เป็นอาการที่เด็กทารกอายุ 3 – 4 สัปดาห์ มีอาการร้องไห้หนักไม่หยุด ไม่สามารถกล่อมให้หยุดร้องได้ และร้องไห้โดยผู้ปกครองไม่ทราบสาเหตุ ร้องเวลาเดิม ๆ และมักจะเป็นช่วงเย็น หรือตอนค่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่พบได้เป็นปกติในทารกช่วงวัยนี้ สามารถเกิดได้กับทารกทุกคน ในอดีตหลายคนเรียกว่า “เด็กร้องร้อยวัน” อาการนี้สามารถหายไปได้เอง เมื่อทารกมีอายุได้ประมาณ 3–4 เดือน และด้วยสาเหตุที่ผู้ปกครองไม่เข้าใจ จนหลายคนเชื่อกันว่าเป็นเพราะเด็กเห็นสิ่งลี้ลับ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มอาการนี้อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ
บทความที่เกี่ยวข้อง : การขาดน้ำในทารก อาการ และความเสี่ยงที่ต้องระวัง
วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการโคลิค
อาการนี้ทางการแพทย์ยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัด แต่ได้มีการอธิบายถึงปัจจัยที่สามารถส่งผลให้ทารกร้องไม่หยุดในเวลาเดิม ๆ อยู่บ้าง ได้แก่
- มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อในบริเวณทางเดินอาหารของทารก
- ในท้องมีลม มีแก๊สมาก จากการร้องไห้ที่ทำให้ทารกกลืนลมเข้าไปเยอะ
- มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย จนทำให้ทารกร้องออกมา
- ระบบประสาทอาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ดี
- อาจถูกป้อนนมไม่ถูกต้อง เช่น ผิดท่า กินนมมากเกินไป หรือน้อยเกินไป เป็นต้น
- สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น มีเสียงดัง มีแสงไฟมากเกินไปต่อการพักผ่อน
- มีปัญหาทางด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถส่งต่อมาจากพ่อแม่
- ทารกอาจมีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น หูอักเสบ, ผื่นผ้าอ้อม หรือกรดไหลย้อน เป็นต้น
อาการแบบไหนที่บ่งบอกว่าทารกเป็นโคลิค
ร้องไห้อย่างหนักจนหน้าแดง ร้องไห้นานอาจถึง 3 ชั่วโมง / วัน และอาจร้องซ้ำได้ถึงสัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กำมือแน่น ชูขาขึ้นมาถึงบริเวณอก หากมีอาการเหล่านี้ สามารถสันนิษฐานได้ว่าทารกอาจเป็นกลุ่มอาการดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามด้วยอาการนี้สามารถหายไปได้เอง การเตรียมรับมือเพื่อลดความเครียดจึงสำคัญมากสำหรับผู้ปกครอง
รับมือกับการร้องไม่หยุดของทารกอย่างไรดี
การทำให้เด็กในกลุ่มอาการนี้หยุดร้องได้ทันทีคงไม่สามารถทำได้ แต่ยังมีวิธีที่อาจสามารถช่วยบรรเทา หรือทำให้ทารกรู้สึกดีขึ้นได้เช่นกัน โดยเริ่มจากการพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการก่อน ประกอบกับรับมือลูกที่บ้านตามวิธีต่อไปนี้
- ระวังไม่ให้ผ้าอ้อมมีความชื้นมาก และสิ่งแวดล้อมของทารก ไม่ควรมีเสียงดัง อุณหภูมิมีความเหมาะสม และไม่มีแสงจ้า
- ทารกบางรายอาจร้องเพราะติดจุก การให้นมเพิ่มจนทารกได้รับปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อทารกได้ ให้หันมาใช้จุกหลอกแทนได้
- อุ้มทารกในอ้อมแขน กอด หรือพูดคุยเพื่อให้ทารกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยมากขึ้น หรืออุ้มพาไปยังห้องอื่น ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศให้ดีขึ้นได้
- หากเด็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป สามารถนวดเพื่อไล่ลม และช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารของทารกได้ ซึ่งมีอยู่หลายท่า เช่น ให้ทารกอยู่ในท่าที่สบาย แล้วใช้นิ้วโป้งนวดวนเป็นวงกลมบริเวณฝ่าเท้า หรือฝ่ามือ, นวดอย่างนุ่มนวลเบา ๆ ที่ท้อง เป็นต้น
- เปิดเพลงเบา ๆ ที่เหมาะกับเด็ก เพื่อให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายได้ อย่าปล่อยให้ทารกร้องนานโดยไม่เข้าไปดูแล ถึงแม้อาการนี้จะหายได้เองก็ตาม
อาการเหล่านี้ต้องรีบพาทารกไปพบแพทย์
- ทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- ทารกอายุต่ำกว่า 3 – 6 เดือน มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส
- กินนมไม่ได้ หรือไม่ยอมกินนม
- ทารกร้องหนัก ร้องนาน เสียงแหลม
- มีอาการเสียงส่าย ตัวสั่น หายใจผิดปกติ
- ขับถ่ายเป็นเลือด หรืออาเจียนเป็นสีเขียว
- ศีรษะบุ๋ม หรือมีอาการชัก
- มีอาการตัวซีด หรือสีผิวออกเขียว
ความเครียดของผู้ปกครองนั้นสำคัญ
การดูแลทารกที่มีอาการร้องไห้มากเป็นเวลานาน ซึ่งไม่ได้มีวิธีรักษาอย่างชัดเจน ต้องรอจนกว่าจะถึงช่วงอายุที่อาการของทารกบรรเทาลงจนหายไปเอง ในระหว่างนั้นผู้ปกครองอาจต้องเผชิญหน้ากับความเครียดด้วยเช่นกัน หากปล่อยให้ตนเองเครียดเกินไป จะยิ่งส่งผลเสียได้ อาจแก้ปัญหาด้วยการหาเวลาพักผ่อนบ้าง, ให้ญาติ หรือจ้างพี่เลี้ยงเด็กช่วยดูแล หากรู้สึกว่าตนเองมีความเครียดมากเกินไป หรือปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีระบายความเครียดก็ได้เช่นกัน
การพาทารกไปพบแพทย์ควรพาไปตั้งแต่ช่วงที่ทารกมีอาการร้องมาก ร้องนาน โดยหาสาเหตุไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรอให้อาการหนัก เพราะในการร้องไห้บางครั้ง อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของทารกตัวน้อยได้เช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด อันตรายกว่าที่เราคิด
ทารก “ท้องอืด” เกิดจากสาเหตุใด คุณแม่รับมือกับอาการนี้ได้อย่างไรบ้าง?