ทารกท้องอืด เกิดจากสาเหตุใด คุณแม่รับมือกับอาการนี้ได้อย่างไรบ้าง?

ทารกท้องอืด คนเป็นแม่อย่างเราก็คงกังวลใจ กลัวว่าลูกจะไม่สบายตัวใช่ไหมคะ แน่นอนว่าอาการท้องอืด เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็ก และผ 

 1253 views

ทารกท้องอืด คนเป็นแม่อย่างเราก็คงกังวลใจ กลัวว่าลูกจะไม่สบายตัวใช่ไหมคะ แน่นอนว่าอาการท้องอืด เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ และเป็นอาการที่ปกติ ไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิด วันนี้เราจึงนำเอาสาระดี ๆ มาส่งต่อให้คุณแม่ได้รับมือปัญหาท้องอืดนี้ เพื่อช่วยให้ลูกน้อยได้คลายความอึดอัด และป้องกันปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารที่อาจตามมาได้

ท้องอืด คืออะไร?

ท้องอืด เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อทารกกลืนลมเข้าท้องมากเกินไปในขณะกินนม รวมถึงทารกที่ดื่มนมผสมก็อาจทำให้ย่อยยาก จนเกิดเป็นอาการท้องอืด ท้องผูกตามมาได้ นอกจากนี้อาการท้องอืดยังสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ร้องไห้มากเกินไป หรือรับประทานอาหารบางประเภทที่ทำให้กระเพาะอาหารสะสมแก๊สจำนวนมาก เป็นต้น ดังนั้นหากคุณแม่ไม่อยากให้ลูกเกิดอาการนี้ จึงควรให้พวกเขาได้รับอาหารที่เหมาะสม เพื่อช่วยสร้างสมดุลในระบบย่อยอาหารนั่นเอง

ท้องอืด

ลูกท้องอืดเกิดจากสาเหตุใด?

อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือแน่นท้องของทารก เกิดจากการมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารมากเกินไป โดยอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • ดื่มนมที่มีฟองอากาศหรือนมผง : ในขั้นตอนการผสมนมผงกับน้ำ อาจมีฟองอากาศเกิดขึ้นได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรทิ้งควรนมไว้สัก 2-3 นาที หลังจากชงเสร็จ เพื่อช่วยให้ฟองอากาศแตกตัวก่อนนำไปให้ลูกดื่ม
  • ดื่มนมช้าเกินไป : การดื่มนมช้าของลูก อาจเกิดจากลักษณะของจุกขวดนมหรือหัวนมแม่ ที่ทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อย หรือไหลช้า ซึ่งจะส่งผลให้ทารกกลืนอากาศเข้าไปมากขึ้นขณะดูดนม
  • ดื่มนมเร็วเกินไป : บางครั้งน้ำนมจากเต้าของแม่ หรือจุกขวดนม อาจไหลออกมามากเกินไป ทำให้เด็กต้องกลืมนมอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารเช่นกัน
  • ร้องไห้เป็นเวลานาน : เมื่อลูกร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้พวกเขากลืนอากาศจำนวนมากเข้าไป คุณแม่จึงควรรีบปลอบพวกเขาให้หยุดร้องอย่างรวดเร็ว
  • ระบบย่อยอาหารที่ยังไม่สมบูรณ์ : ระบบย่อยอาหารของทารกในช่วง 3 เดือนแรก ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารหลังดื่มนมแม่จึงเป็นเรื่องปกติ อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป และรับประทานอาหารชนิดอื่น ๆ นอกจากนมแม่
  • อาหารบางชนิด : ระบบย่อยอาหารของทารกอาจยังไม่คุ้นเคยกับอาหารชนิดใหม่ ๆ นอกจากนมแม่ โดยเฉพาะผักบางประเภท เช่น บร็อคโคลี่ พืชตระกูลถั่ว กะหล่ำปลี รำข้าว ข้าวโอ๊ตบด และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เป็นต้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์นมบางชนิด เช่น ชีส และโยเกิร์ต ก็อาจทำให้ทารกเกิดอาการท้องอืดได้เช่นกัน

สัญญาณบ่งบอกเมื่อลูกเกิดอาการท้องอืด

อาการท้องอืดเกิดขึ้นได้กับทารกที่มีอายุตั้งแต่ 2 -3 สัปดาห์ คุณแม่สามารถสังเกตความผิดปกติจากลูกน้อย ได้ดังนี้

  • ร้องไห้ อารมณ์ไม่ดี
  • กำมือแน่น
  • ผายลมบ่อย
  • ท้องป่องแข็ง
  • ใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีแดง
  • ยกขาสูงไปทางหน้าท้อง
  • ดิ้นไปมาหลังจากดื่มนมเสร็จ
  • หายใจไม่สะดวก หรือหายใจออกทางปาก

ท้องอืด แบบไหนเป็นอันตรายต่อทารก?

ปกติแล้วอาการท้องอืดจะไม่เป็นอันตรายต่อทารก และสามารถรักษาให้หายได้ อย่างไรก็ตาม การเกิดแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบย่อยอาหารตามมาได้ ดังนั้นหากทารกเกิดอาการเช่นนี้ คุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

  • อาเจียน
  • ถ่ายไม่ออก
  • มีเลือดปนกับอุจจาระ
  • ร้องไห้ไม่หยุดนานกว่า 2 ชั่วโมง
  • มีไข้ ไข้สูงกว่า 38 องศาขึ้นไป
ท้องอืด

วิธีบรรเทาอาการทารกท้องอืด

คุณแม่สามารถช่วยลูกบรรเทาอาการท้องอืดได้ โดยการกระตุ้นให้พวกเขาเรอออกมาระหว่างป้อนนม และหลังป้อนนม โดยสามารถทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • ห่อตัวทารก
  • ใช้จุกนมหลอก
  • อุ้มทารกขึ้น แล้วแกว่งไปมาเบา ๆ หรือใช้เปลไกวช่วย
  • วางทารกในท่านอนหงาย แล้วค่อย ๆ นวดบริเวณหน้าท้อง เริ่มจากด้านขวาไปด้านซ้าย
  • วางทารกในท่านอนหงาย แล้วจับขาทั้ง 2 ข้างขึ้นลงคล้ายกับท่าปั่นจักรยาน
  • อุ้มทารกขึ้นให้คางอยู่บนไหล่คุณแม่ จากนั้นค่อย ๆ ใช้มือตบหลังเบา ๆ
  • วางทารกบนตัก แล้วโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย จากนั้นใช้มือโอบบริเวณคางเพื่อประคองตัวเด็ก แล้วค่อย ๆ ใช้มือตบหลังเบา ๆ
  • วางทารกในท่านอนคว่ำบนตัก แล้วค่อย ๆ ใช้มือตบหลังเบา ๆ
  • ใช้เบบี้ออยล์ หรือน้ำมันสมุนไพรหยดลงฝ่ามือ แล้วค่อย ๆ นวดวนท้องลูกเพื่อไล่ลม

ท้องอืด สามารถป้องกันได้อย่างไร?

เมื่อลูกเกิดอาการท้องอืด คุณแม่สามารถป้องกันได้โดยการพยายามไม่ให้ลูกกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมาก และหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่จะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถปฏิบัติตามง่าย ๆ ได้ดังนี้

  • ป้อนนมให้ลูกในปริมาณที่เหมาะสม
  • จัดท่าให้นมที่ถูกต้อง โดยการยกศีรษะเด็กให้สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย
  • ขณะที่คุณแม่ป้อนนม ควรยกขวดนมขึ้นเพื่อป้องกันอากาศไหลผ่านบริเวณจุกนม และควรปรับขนาดรูจุกนมไม่ให้ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น ข้าวโอ๊ต รำข้าว กะหล่ำปลี ถั่วต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
  • ทำความสะอาดขวดนม คุณแม่ควรล้างควรนมและสะอาดทุกครั้ง และจัดเก็บเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจส่งผลให้ลูกเกิดอาการท้องอืด
  • เปลี่ยนชนิดของนม หากคุณแม่มีความจำเป็นต้องให้ผงแก่เด็ก ควรไปปรึกษากับแพทย์เพื่อเปลี่ยนเป็นนมผงสูตรย่อยง่าย และหาวิธีป้องกันอื่น ๆ ต่อไป

สมุนไพรช่วยป้องกันอาการท้องอืดของทารกได้หรือไม่?

นอกจากวิธีการป้องกันอื่น ๆ แล้ว สมุนไพรบางอย่าง ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และไม่สามารถของเด็กทารกได้ คุณแม่สามารถใช้สมุนไพรเหล่านี้ เพื่อป้องกันอาการท้องอืดของลูกน้อยได้

  • มหาหิงคุ์ : มหาหิงคุ์เป็นสมุนไพรที่สามารถช่วยรักษาอาการท้องอืดได้ คุณแม่สามารถหาซื้อมหาหิงคุ์แบบทิงเจอร์ แล้วนำมาทาที่ท้องลูกเพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องอืดของเขา
  • ใบพลู : นำใบพลูมาลนกับเทียน หรืออังไฟ เพื่อให้ใบพลูอ่อน จากนั้นนำไปวางบนท้องเด็กซ้อนกันหลาย ๆ ใบ ก็จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืดได้เช่นกัน
  • หัวไพล หรือใบกะเพรา : นำหัวไพลมาตำ แล้วนำไปทาบริเวณท้องของลูก หรือนำใบกะเพราไปต้มให้ลูกน้อยดื่ม ก็จะช่วยให้ขับลม และแก้อาหารท้องอืดของทารกได้

ทารกท้องอืด เป็นอาการที่สามารถรักษาให้หายได้ ทั้งนี้คุณแม่ควรเรียนรู้วิธีการป้องกัน และบรรเทาอาการเบื้องต้น เพื่อช่วยให้ลูกน้อยได้สบายตัว และหายเป็นปกติได้ รวมทั้งควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดร่วมกับอาการท้องอืด เพราะอาจทำให้ลูกเกิดปัญหากับระบบย่อยอาหารที่รุนแรงตามมาได้



บทความที่น่าสนใจ :

7 วิธีช่วยฝึกทารกทรงตัวทั้งนั่ง และเดิน ให้ลูกน้อยมีพัฒนาการสมวัย

ภาวะขาดน้ำในทารก อาการ และความเสี่ยงที่ต้องระวัง

ภาวะตัวเหลืองในทารก คืออะไร สังเกตอย่างไรจึงรักษาได้ทัน

ที่มา : 1, 2, 3, 4