7 วิธีช่วย ฝึกทารกทรงตัว ทั้งนั่ง และเดิน ให้ลูกน้อยมีพัฒนาการสมวัย

นับตั้งแต่ทารกเริ่มคลานจากนั้นจะต้องเริ่มฝึกทารกทรงตัวจากการนั่ง ก่อนที่จะเริ่มหัดเดินต่อไป การฝึกทารกอย่างถูกวิธี จะทำให้ทารกสามารถเรี 

 1345 views

นับตั้งแต่ทารกเริ่มคลานจากนั้นจะต้องเริ่มฝึกทารกทรงตัวจากการนั่ง ก่อนที่จะเริ่มหัดเดินต่อไป การฝึกทารกอย่างถูกวิธี จะทำให้ทารกสามารถเรียนรู้ได้ไวมากขึ้น โดยเรามีวิธีช่วยฝึกลูกนั่ง 3 วิธี และช่วยฝึกลูกเดิน 4 วิธี ที่ทำได้ไม่ยาก

ฝึกทารกทรงตัว สำคัญอย่างไร ?

หากวัดจากพัฒนาการของลูกน้อยที่ปกติ ไม่ได้มีพัฒนาการที่ช้า หรือมีความผิดพลาดใด ๆ ลูกน้อยจะเริ่มหัดนั่งในช่วงแรกตอนอายุได้ 4 – 7 เดือน โดยจะเป็นช่วงที่ลูกน้อยจะไม่ถนัด ทำให้มีความทรงตัวที่ลำบาก ต้องให้ผู้ปกครองคอยช่วยเหลือ ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กล้มไปล้มมา เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการของกล้ามเนื้อได้ หลังจากนั้นช่วงที่ทารกอายุได้ 8 เดือน จะสามารถนั่งได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ปกครองคอยช่วยเหลือแล้ว หรืออาจช่วยพยุงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะหลังจากนั้นลูกจะเริ่มฝึกหัดเดินได้ในช่วงอายุ 9 เดือนขึ้นไป

บทความที่เกี่ยวข้อง : 4 วิธีเคล็ดไม่ลับ เพิ่มส่วนสูง ให้ลูกน้อยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ

วิดีโอจาก : โตไปด้วยกัน Family Journey

3 วิธีช่วยให้ลูกฝึกนั่งได้สะดวกมากขึ้น

ช่วงแรกก่อนทารกจะเดิน ต้องผ่านการฝึกสมดุลร่างกายเบื้องต้นด้วยการฝึกนั่งด้วยตนเองก่อน ซึ่งทารกจะฝึกเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ผู้ปกครองสามารถช่วยให้ทารกฝึกได้อย่างสะดวก หรือช่วยให้ฝึกได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้เช่นกัน ดังนี้

1. ให้ลูกฝึกด้วยขั้นตอนอย่างเป็นธรรมชาติ

โดยปกติแล้วการฝึกลูกให้นั่งนั้นมักจะใช้เครื่องมืออื่น ๆ ช่วยให้เด็กสามารถทรงตัวได้ดียิ่งขึ้น เช่น อายุ 4 เดือน ฝึกนั่งบนเก้าอี้สำหรับเด็ก ซึ่งจะถูกออกแบบมาให้ช่วยพยุงเด็กนั่งโดยเฉพาะ แต่การเลือกซื้อนั้นจะต้องคำนึงถึงรูปร่างของเด็กด้วย เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อได้, อายุ 6 เดือน เริ่มนั่งตักแม่ ในช่วงนี้ลูกจะเริ่มทรงตัวได้บ้าง จึงควรให้ลูกมานั่งตักเล่นเพื่อความสนุกสนานจากการโยกเล่นไปมากับคุณแม่ได้, อายุ 7 เดือน เริ่มปล่อยให้ลูกนั่งเองได้แล้ว แต่บางครั้งทารกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการล้ม สามารถป้องกันได้ด้วยการหาแผ่นรองมาช่วยให้ลูกไม่เจ็บได้ ในช่วงนี้ควรปล่อยให้ลูกเรียนรู้อย่างเต็มที่

2. ช่วยพัฒนาการกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรง

การช่วยให้กล้ามเนื้อของทารกมีความแข็งแรงสมวัย ช่วยให้ลดปัญหาการล้ม หรือเอนตัวลงได้ ซึ่งสามารถฝึกได้หลายวิธี เช่น เล่นกับลูกขณะที่ลูกกำลังนอนคว่ำ ทำให้คอ ท้อง และหลังมีความแข็งแรงจากการที่ลูกยกหัว หรือไหล่ขึ้นมา, เด็กทารกบางคนอาจไม่ชอบคว่ำกับพื้น หรือที่นอน อาจเปลี่ยนมาให้นอนคว่ำบนหน้าอกแม่ ทำให้ได้ปฏิสัมพันธ์ของแม่และลูกได้ หรือใช้หมอนรองท้องลูก ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อช่วงคอ และหลัง หรือการอุ้มลูกในลักษณะคว่ำ และเล่นกับลูกเหมือนร่อนเครื่องบินไปมา ก็ช่วยได้เช่นกัน แต่ต้องระมัดระวังให้ดีด้วย

3. ฝึกการทรงตัวให้สมดุล

การช่วยให้ลูกมีสมดุลด้านการเคลื่อนไหวที่ดีสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ให้ผู้ปกครองนั่งเหยียดขาออก แล้วไขว้ขาซ้อนทับกัน จากนั้นอุ้มทารกให้มานั่งที่บริเวณระหว่างขาที่ไขว้อยู่ จากนั้นค่อย ๆ ประคองให้ลูกรู้สึกปลอดภัย จนกว่าลูกสามารถนั่งได้เอง สลับกับคอยปล่อยมือเพื่อให้ลูกได้ลองนั่งได้เอง หรือจะใช้วิธีคอยเฝ้าดูทารกฝึกด้วยตนเอง ตามพัฒนาการทารกจะใช้มือยันกับพื้นไว้เพื่อประคองตัวให้มีความสมดุล ทารกจะปล่อยมือได้ประมาณ 1 – 2 วินาที ก่อนจะล้มลง แต่หลังจากฝึกไปเรื่อย ๆ ทารกจะทำได้ดีขึ้นได้เอง ผู้ปกครองคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยของพื้นที่ และคอยระวังให้กำลังใจทารกก็ได้เช่นกัน

ฝึกทารกทรงตัว


4 วิธีฝึกทารกให้เดินตามพัฒนาการที่ถูกต้อง

หลังจากทารกหัดนั่งได้แล้ว ในช่วงตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป จะเป็นการเริ่มฝึกการเดินแล้ว แต่เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการช้ากว่า ที่พบได้บ่อย คือ อาจไม่ฝึกเดินเลยจนช่วง 16 – 17 เดือน แต่หากนานกว่านี้ หรือมีความกังวล ก็สามารถพาทารกน้อยไปพบแพทย์ได้ ซึ่งการช่วยลูกฝึกมีอยู่หลายวิธี ดังนี้

1. ให้ลูกฝึกเกาะสิ่งของที่มั่นคง

การเดินช่วงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยพยุงตัว อาจให้ลูกเกาะไปตามเบาะ หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีความปลอดภัย ไม่มีจุดแหลมคม หรือส่วนที่จะทำอันตรายกับเด็กได้ เพื่อให้ทารกได้ลองหัดเดินแบบหายห่วงมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ทารกสามารถเรียนรู้การเคลื่อนไหวไปยังทิศทางที่ต้องการจะไปได้ด้วย

2. ช่วยฝึกเดินไปด้วยกัน

ท่าที่ผู้ปกครองส่วนมากใช้ช่วยลูกในการหัดเดิน คือ การจับแขนลูกยกขึ้น ให้ลูกอยู่ข้างหน้า หันหน้าออก ทารกจะค่อย ๆ เดินไปเอง โดยมีผู้ปกครองคอยช่วยไม่ให้ล้ม แต่เด็กบางคนอาจมีปัญหาสมดุลร่างกาย ที่ยังไม่คุ้นชินพอ ผู้ปกครองสามารถช่วยได้ด้วยการพยุงบริเวณรักแร้ของทารก เพื่อลดโอกาสล้มบาดเจ็บได้

3. วางจุดหมายในการเดิน

การวางเป้าหมายในการเดินให้กับทารกน้อย สามารถช่วยให้ทารกมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาที่ลูกชอบ หรือของอื่น ๆ แต่วิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ การให้ผู้ปกครองนั่งอยู่ห่าง ๆ ไม่กี่ก้าว แล้วคอยปรบมือเรียกลูก จะทำให้ลูกน้อยมีความมั่นใจได้มากขึ้นด้วย

4. ฝึกด้วยเท้าเปล่าช่วยได้

การให้ลูกน้อยได้ลองฝึกเดินด้วยเท้าเปล่าดีกว่าการใส่ถุงเท้า หรือรองเท้า เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสเรียนรู้ และสัมผัสกับพื้นผิวต่าง ๆ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร แต่การให้ฝึกวิธีนี้ต้องคอยสังเกตระวังพื้นที่นั้น ๆ ด้วย ว่าต้องเหมาะสม ไม่มีวัตถุมีคมที่จะทำอันตรายเท้าของลูกได้

การเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย การฝึกทารกทรงตัว เป็นจุดเริ่มต้นของด้าวสำคัญของทารก หากทารกยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามพัฒนาการ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำตามความเหมาะสมได้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

5 วิธีช่วยแก้ปัญหา เมื่อลูกรักกลายเป็นเด็ก “ขี้อาย”

6 เทคนิคสอนลูกขี่จักรยาน กิจกรรมแสนสนุกแถมสุขภาพดี

7 วิธีแก้อาการหลังลูก “เบื่ออาหาร” ให้กลับมามีความสุขกับมื้ออาหารอีกครั้ง

ที่มา : 1, 2, 3