โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายของลูกตัวน้อยโอกาสเป็นซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง

โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคยอดฮิตของเด็กไทยมาอย่างยาวนาน แต่มีความรุนแรงที่มากกว่าที่เราคิด ยิ่งถ้าหากเกิดขึ้นกับเด็ก และไม่ได้รับการรัก 

 1257 views

โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคยอดฮิตของเด็กไทยมาอย่างยาวนาน แต่มีความรุนแรงที่มากกว่าที่เราคิด ยิ่งถ้าหากเกิดขึ้นกับเด็ก และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลถึงชีวิตได้ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูก และเรียนรู้เกี่ยวกับอาการของโรคนี้เพื่อสังเกตอาการป่วยของลูกน้อย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

ลูกน้อยเสี่ยงโรคไข้เลือดออกมากแค่ไหน ?

จากสถิติของกรมควบคุมโรคโรคไข้เลือดออก เผยว่าอายุ 15-44 ปี เป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากที่สุด รองลงมา คืออายุ 10-14 ปี แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในเด็กอายุเพียง 9 ปีขึ้นไป มีสถิติว่าเคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกไปแล้ว 80 % ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขความเสี่ยงที่สูงมาก หรือให้มองว่าเด็กอายุ 9 ปีขึ้น 8 ใน 10 คน ป่วยเป็นโรคร้ายนี้ ซึ่งเราคงไม่ค่อยแปลกใจ เพราะผู้ปกครองหลายคนอาจมีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคนี้มาตั้งแต่เด็กเช่นกัน

พื้นที่เสี่ยงของโรคไข้เลือดออกไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ธรรมชาติเท่านั้น เพราะความเสี่ยงอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด ถึงแม้ว่าเราจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีแต่ตึกสูงก็ตาม เพราะการขยายตัวของตัวเมือง สอดคล้องกับปริมาณของขยะที่มากขึ้น และขยะเป็นจำนวนมากไม่สามารถถูกกำจัดได้ทัน จนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายในที่สุด

โรคไข้เลือดออกเกิดจากอะไร

เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้มีชื่อว่า “เดงกี” ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 โดยจะได้รับผ่านการถูกกัดจากยุงลายตัวเมีย ซึ่งเป็นพาหะของโรคนี้ โดยเริ่มแรกยุงประเภทนี้จะไปกัดผู้ที่เป็นโรคนี้ก่อน และจะส่งต่อสู่ผู้อื่นจากการถูกยุงลายกัดต่อไป



วิดีโอจาก : Thonburi Hospital channel

ด้วยในแต่ละปีจะมีสายพันธุ์ของไวรัสระบาดแตกต่างกันออกไป จะไม่มีสายพันธุ์ไหนที่โดดเด่น หรืออ่อนแอกว่า ทำให้ในแต่ละปีมีเด็กป่วยเป็นโรคนี้อย่างไม่ขาดสาย เพราะต่อให้มีภูมิต่อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ DENV-1 แต่ในปีต่อไปอาจเป็นสายพันธุ์ DENV-4 ที่ขึ้นมาระบาดแทนนั่นเอง

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นไข้เลือดออก ?

  • มีไข้ขึ้นสูงในระยะเวลาสั้น ๆ และไข้จะลดลงช้ามาก หรืออาจไม่ลดลงเลย
  • มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน
  • ทานอาหารได้น้อย ความอยากอาหารน้อยลง หรือรู้สึกเบื่ออาหาร
  • สีหน้ามีสีแดง ผิวอาจมีจุดเลือดปรากฏขึ้นมา
  • มีอาการเจ็บ หรือปวดบริเวณชายโครงฝั่งขวา


อาการเหล่านี้อาจมีความคล้ายกับอาการไข้หวัด แต่ให้สังเกตว่า โรคไข้เลือดออกจะไม่มีอาการไอ และไม่มีน้ำมูก หากพบว่ามีความเสี่ยงไม่ต้องรีรอแต่อย่างใด ให้พาลูกมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

การดูแลเด็กที่เป็นไข้เลือดออกระหว่างเดินทางมาพบแพทย์

  • หากระหว่างการเดินทางมีไข้ขึ้นสูงมาก และจำเป็นต้องใช้ยา สามารถใช้เพียงพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามใช้ยาชนิดอื่น เช่น แอสไพริน หรือกลุ่มยาเอ็นเสด เพราะยาเหล่านี้จะทำให้เลือดออกในอวัยวะได้ง่ายขึ้น
  • สามารถให้เด็กทานอาหารอ่อนได้ แต่ต้องงดอาหารที่มีสีแดง หรือมีสีคล้ายเลือด เช่น แตงโม เพราะเมื่อเด็กอาเจียนจะทำให้เกิดความสับสนว่าเป็นเลือดหรือไม่
  • กรณีที่เด็กอาจเกิดภาวะขาดน้ำสามารถให้ดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ได้ครั้งละน้อย ๆ แต่ให้ดื่มบ่อยครั้ง
  • เช็ดตัวให้เด็กเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ร่างกายร้อนจนเกินไป


หากเด็กได้พบแพทย์แล้ว ให้รักษาตามที่แพทย์แนะนำ และควรเฝ้าดูอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กอาจมีอาการช็อกได้ หากพบว่ามีอาการปวดท้อง, กระสับกระส่าย, ปัสสาวะน้อยลง, มีอาการซึมลง ,มือและเท้าเย็นพร้อมกับไข้ลดลง และมีอาการหน้ามืด ให้รีบเรียกแพทย์เพื่อดูอาการทันที

โรคไข้เลือดออกเป็นซ้ำได้ไหม ?

หลายคนอาจมีความเข้าใจมาตลอดชีวิต ว่าไข้เลือดออกหากเป็นไปแล้ว จะไม่สามารถเป็นซ้ำได้อีก เพราะร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาแล้ว จึงทำให้เกิดความประมาทในการดำเนินชีวิต และไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคนี้อย่างจริงจัง ซึ่งความเชื่อนี้บอกเลยว่าผิด เนื่องจากโรคร้ายนี้สามารถเป็นซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง

เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิด โรคไข้เลือดออก มีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด หากเคยเป็นโรคนี้จากชนิดไหน ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้แค่ชนิดที่เป็นเท่านั้น ซึ่งยังเหลืออีก 3 ชนิดที่เราสามารถติดเชื้อมาได้ นอกจากนี้หากเป็นโรคร้ายนี้เป็นครั้งที่ 2 จะมีโอกาสสูงที่อาการจะรุนแรงกว่าครั้งแรกอีกด้วย



โรคไข้เลือดออก


ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากไข้เลือดออก

การป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายให้หมด ร่วมกับการดูแลลูกน้อยให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอ และเตรียมพร้อมสำหรับความเสี่ยงตามสถานที่ต่าง ๆ

1. กำจัดแหล่งน้ำขังภายในบ้าน

แหล่งน้ำเพียงเล็กน้อยที่ไม่ได้แห้งไปตามกาลเวลา เป็นที่เพราะพันธุ์อย่างดีของยุง ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เช่น น้ำขังตามกระถางต้นไม้ที่เกิดจากการรดน้ำ หรือฝนตก รวมไปถึงที่รองขาโต๊ะ เป็นต้น บางจุดตามตัวบ้านเราอาจคิดว่าไม่มีน้ำขัง แต่น้ำอาจมาได้จากหลายแหล่ง ดังนั้นจึงควรตรวจดูให้ดี เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย และลดโอกาสที่จะเจอยุงลาย สาเหตุของไข้เลือดออก

2. ทายากันยุงหากพบว่ามียุง

หากอยู่ในระหว่างการกำจัดยุงลาย หรือต้องไปในพื้นที่ความเสี่ยงสูงต่อการเป็นไข้เลือดออก เพราะมียุงเป็นจำนวนมาก ก็ควรทายากันยุงให้กับลูกน้อยด้วย เนื่องจากการป้องกันหลากหลายรูปแบบ อาจไม่สามารถป้องกันยุงได้ 100 % การให้ลูกได้รับการป้องกันโดยตรง ก็สามารถช่วยได้มากเช่นกัน

3. เลี้ยงปลาช่วยป้องกันยุงทางอ้อม

บางบ้านอาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งน้ำในพื้นที่อาศัย ทั้งเพื่อความสวยงาม หรืออาจเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง และไม่สามารถทำลายแหล่งน้ำนี้ได้อีกด้วย ปัญหานี้สามารถแก้ได้ด้วยการเพิ่มการเลี้ยงปลาในแหล่งน้ำ หากสามารถทำได้ปลาที่เลี้ยงไว้จะช่วยกินลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นไปตามห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งยังอาจได้ประโยชน์อื่น ๆ จากปลาที่เลี้ยงไว้อีกด้วย

4. ฉีดวัคซีนหากมีความเสี่ยง

สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีอายุไม่เกิน 45 ปี หากมีประวัติว่าเคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ ถึงแม้เราอาจจะไม่คุ้นชิน และเข้าใจว่ามีโอกาสไม่มากที่จะเป็นซ้ำ แต่ด้วยโรคนี้มีหลายสายพันธุ์ อาจทำให้เกิดอาการป่วยได้อีกเช่นกัน และด้วยความรุนแรงของโรค อาจเป็นตัวเลือกที่ดี ที่จะให้เด็กมีภูมิคุ้มกันมากที่สุดเท่าที่จะมีได้

5. ดูแลร่างกาย และตรวจสุขภาพ

ร่างกายที่แข็งแรง สามารถสู้กับโรคร้ายได้ดีกว่าร่างกายที่อ่อนแอเสมอ การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือให้ลูกออกกำลังกาย สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และลดความรุนแรงจากอาการเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้การตรวจสุขภาพก็มีความสำคัญสำหรับทุกคน รวมถึงลูกน้อย เนื่องจากการตรวจสุขภาพจะทำให้ได้รู้ความเสี่ยงของร่างกาย หรือเชื้อไวรัสที่อาจเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ แต่ยังไม่แสดงอาการนั่นเอง

ถึงแม้โรคนี้จะสามารถรักษาให้หายได้หากรู้ตัวเร็ว แต่ด้วยความอันตรายกับตัวของเด็ก และสามารถเป็นซ้ำได้ นอกจากการกำจัดยุงลายแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนให้กับลูก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ทารก “ท้องอืด” เกิดจากสาเหตุใด คุณแม่รับมือกับอาการนี้ได้อย่างไรบ้าง?

โรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางทางพันธุกรรม สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ที่มา : 1, 2, 3, 4, 5