โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบบ่อยในทารก และเด็กเล็ก ซึ่งมักแพร่ระบาดในช่วงหน้าฝน โรคชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโร ส่งผลให้เ 

 1218 views

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบบ่อยในทารก และเด็กเล็ก ซึ่งมักแพร่ระบาดในช่วงหน้าฝน โรคชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโร ส่งผลให้เกิดอาการเป็นไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามลำตัว ฝ่ามือ และลำตัว แต่หากเป็นแล้วอาการจะไม่รุนแรง และไม่ทำให้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวยังสร้างความกังวลใจให้กับคุณแม่อยู่ไม่น้อย วันนี้เราจึงมีบทความดี ๆ เกี่ยวกับโรคมือ เท้า ปากมาฝากค่ะ เพื่อช่วยให้คุณแม่เตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดนี้ได้

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากอะไร?

โรค มือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ส่งผลให้เกิดตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบที่เป็นหนองในบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และภายในปาก ซึ่งอาจสร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยได้ โดยบางครั้งอาจพบอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมกับโรคมือ เท้า ปาก อีกด้วย เช่น ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง อ่อนเพลีย และไม่อยากอาหาร มักพบมากในทารก และเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ใหญ่เช่นกัน โดยทั่วไปโรคนี้จะดีขึ้น และหายป่วยประมาณ 7-10 วัน เป็นต้นไป

โรคมือ เท้า ปาก มีอาการอย่างไร?

โรคมือ เท้า ปากจะมีระยะฟักตัว 3-6 วัน โดยอาการเริ่มต้นผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงเริ่มมีอาการอื่น ๆ ตามมาใน 1-2 วัน ดังต่อไปนี้

  • เจ็บคอ
  • ปวดท้อง
  • อ่อนเพลีย
  • ไม่อยากอาหาร
  • รู้สึกไม่สบายตัว
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
  • มีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า บริเวณปาก และช่องปาก

โดยอาการเหล่านี้ จะเริ่มดีขึ้น และหายไป 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม โรคมือ เท้า ปากอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนแรง ดังนั้นคุณแม่จึงควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด หากพบว่าลูกมีอาการซึม ไม่อยากอาหาร สับสน และพูดจาไม่รู้เรื่อง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

โรคมือ เท้า ปาก

ระยะแพร่เชื้อ และการติดต่อ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 7 วันแรก และหลังจากหายแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถพบเชื้อได้ในอุจจาระเช่นกัน โดยโรคระบาดนี้จะติดต่อกันผ่านทางการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ผื่นตุ่ม และอุจจาระของผู้ป่วย ส่วนมากจะแพร่กระจายผ่านทางการสัมผัส เช่น การสัมผัสสารคัดหลั่งจากจมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มใส การเปลี่ยนผ้าให้ลูก ของเล่น และอาหาร หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อนั่นเอง ซึ่งสถานที่ที่มักพบการระบาด เช่น โรงเรียน และสถานที่รับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น โรคนี้ผู้ป่วยสามารถเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างมาก

ทำไมโรคมือ เท้า ปาก ถึงระบาดหนักในฤดูฝน?

โรคมือ เท้า ปากมักแพร่ระบาดหนักในช่วงฤดูฝน และบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยที่มีฝนตกหนักหลายเดือน แต่ก็ยังปรากฏข้อมูลที่แน่ชัดว่า ทำไมโรคนี้จึงมักระบาดในช่วงฤดูฝน มีเพียงแต่สมมติฐานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในระยะสั้น ๆ หรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้การแพร่กระจายของโรคมือ เท้า ปากอาศัยละอองฝนในการแพร่เชื้อกระจายเชื้อไวรัสไปในอากาศได้นั่นเอง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการกระจายตัวอย่างรวดเร็ว และป้องกันได้ยาก

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่ไม่รุนแรงมากนัก และสามารถรักษาให้หายได้ในเวลาไม่กี่วัน แต่ส่วนมากแล้วมักจะมีอาการอื่นที่เข้ามาแทรกซ้อน หรือเกิดขึ้นหลังจากอาการป่วยตามมาได้ดัง โดยอาจเกิดอาการ ดังต่อไปนี้

  • ภาวะขาดน้ำ : อาการป่วยอาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดแผลอักเสบภายในปาก และลำคอ ทำให้กลืนลำบาก และสร้างความเจ็บปวดขณะกลืนน้ำ และอาหาร ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำตามมา
  • เล็บมือเล็บเท้าหลุด : อาการเล็บมือเล็บเท้า อาจเกิดขึ้นได้น้อย แต่สามารถพบได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่
  • ภาวะสมองอักเสบ : แม้ว่าจะเป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็ก โดยอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตเลยก็ได้
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส : เป็นการติดเชื้อ และการอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อหุ้มสมอง และบริเวณไขสันหลัง แต่ก็อาจมีโอกาสพบได้น้อยมากเช่นกัน

โรคมือ เท้า ปาก รักษาได้อย่างไร?

โรคมือเท้าปาก ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดทันที แต่หากลูก ๆ ป่วยด้วยโรคนี้ คุณแม่ควรให้เขารักษาตัวอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และต้องคอยดูแล และสังเกตอาการลูกน้อยอยู่เสมอ หากลูกมีอาการป่วยที่ทรุดหนัก ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการต่อไป โดยคุณแม่สามารถดูแลรักษาโรคมือ เท้า ปาก ได้ดังนี้

  • ให้ลูก ๆ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เช่น ยาลดไข้ และยาชา
  • หมั่นเช็ดตัวให้เด็กเพื่อลดไข้ และให้พวกเขารับประทานอาหารอ่อน ๆ ดื่มน้ำ นม หรืออาหารที่เย็น เพื่อช่วยลดการเจ็บปวดแผลในช่องปาก รวมถึงให้เขานอนพักผ่อนมาก ๆ
  • หากลูกเกิดอาการรุนแรง โดยพบว่ามีไข้สูง ซึม แขนขาอ่อนแรง ไม่ทานอาหารหรือน้ำ และอาเจียนบ่อย ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบที่รุนแรงตามมาได้
โรคมือ เท้า ปาก

ป้องกันลูกน้อยอย่างไรให้ห่างไกลโรคนี้?

  • ล้างมือบ่อย ๆ เป็นประจำ : คุณแม่ควรฝึกให้เด็ก ๆ หมั่นรักษาความสะอาด และล้างมือบ่อย ๆ ทั้งก่อน และหลังรับประทานอาหาร รวมทั้งหลังจากการขับถ่าย จาม หรือไอ นอกจากนี้ยังควรให้พวกเขาล้างมือเป็นประจำหลังสัมผัสกับผู้ป่วย หรือการใช้ห้องน้ำสาธารณะเช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน : พยายามให้ลูกหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า หลอด และของเล่น เป็นต้น รวมทั้งต้องให้คำแนะนำแก่เด็ก ให้รักษาความสะอาดของอุปกรณ์ และเครื่องใช้อยู่เสมอ
  • รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ : การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เป็นสิ่งสำคัญ พยายามให้ลูกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และหมั่นให้เขาดื่มน้ำที่สะอาด รวมทั้งต้องพักผ่อนให้เพียงพอ และควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวกอีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย : หากเด็ก ๆ ไปสัมผัสกับผู้ป่วย คุณแม่จำเป็นต้องรีบป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายทันที โดยควรรีบปิดสถานที่นั้น ๆ ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรค แล้วรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
  • ฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดสิ่งของ : การติดเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก คุณแม่จึงควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ โดยต้องหมั่นฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดสิ่งของเป็นประจำ เพราะไวรัสนั้นสามารถอยู่บนวัตถุได้หลายวัน ซึ่งอาจทำให้เชื้อกระจายสู่เด็ก ๆ ได้
  • สอนลูกให้รู้จักสุขอนามัยที่ดี : เพื่อให้ลูกห่างไกลจากโรคนี้ คุณแม่ควรสอนพวกเขาให้รู้จักสุขอนามัยที่ดีในการรักษาความสะอาดเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น และอยู่ข้างนอก

โรคมือ เท้า ปากยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นคุณแม่จึงควรให้ลูกรู้จักการรักษาสุขอนามัย และควรแนะนำให้พวกเขาล้างมือเป็นประจำ ตัดเล็บให้สั้น และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หากพบว่าลูกมีการติดเชื้อ คุณแม่ต้องรีบแยกพวกเขาออกทันที และพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยให้พวกเขาหายดีเป็นปกติ และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

มะเร็งเต้านม โรคร้ายใกล้ตัวผู้หญิง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ทารก “ท้องอืด” เกิดจากสาเหตุใด คุณแม่รับมือกับอาการนี้ได้อย่างไรบ้าง?

ที่มา : 1, 2, 3, 4