ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ซิฟิลิส เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มรักร่วมเพศ รวมไปถึงผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคซิฟิลิสเพิ่มขึ้น เน 

 1114 views

ซิฟิลิส เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มรักร่วมเพศ รวมไปถึงผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคซิฟิลิสเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ไม่นิยมสวมถุงยางเพื่อป้องกัน อย่างไรก็ตาม โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากคุณแม่พบว่าตัวเองมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด วันนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับโรคนี้มาฝากไว้เป็นความรู้ค่ะ

ซิฟิลิส คืออะไร?

โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมาแพลลิดัม โดยปกติแล้วจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายตามมาได้ ปกติแล้วโรคซิฟิลิสมักจะพบเป็นบาดแผลบริเวณปาก อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก โดยที่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่หากผู้อื่นมาสัมผัสกับแผล ก็อาจส่งผลให้เกิดการติดต่อผ่านผิวหนังหรือเยื่อบุต่าง ๆ ได้ โรคซิฟิลิสเรียกได้ว่าเป็นโรคที่ตรวจพบได้ยาก มักจะแสดงอาการขึ้นมาภายหลัง ทั้งนี้โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ และหลังจากรักษาเราจะไม่เป็นโรคนี้ เว้นแต่ว่าจะได้รับเชื้อจากผู้อื่น

สาเหตุของโรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ ทรีโพนีมา แพลลิดัม สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางรอยขีดข่วนหรือบาดแผลเล็ก ๆ โดยการแพร่กระจายของเชื้อนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งระยะแรกที่มีแผลริมแข็ง หรือในระยะที่สองซึ่งจะมีผื่นขึ้น หรือแม้แต่ในช่วงแรก ๆ อาจไม่มีการแสดงอาการใด ๆ เลยก็ตาม ทั้งนี้สาเหตุของโรคซิฟิลิส อาจเกิดขึ้นได้ดังนี้

  • การจูบ
  • การมีเพศสัมพันธ์
  • จากแม่สู่ลูกน้อยในครรภ์
  • ได้รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ
  • การสัมผัสแผลของผู้ป่วยโดยตรง
  • การสัมผัสเข็มที่ติดเชื้อ
ซิฟิลิส

ซิฟิลิส มีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยที่เป็นโรคซิฟิลิส มักมีอาการตามระยะของโรค โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจไม่ได้มีอาการตามช่วงเวลาก็ได้ อาจมีการสลับหรือซ้อนทับของระยะต่าง ๆ ด้วยกันเอง โดยระยะของโรคซิฟิลิส มีดังนี้

  • โรคซิฟิลิสระยะแฝง (Latent Stage)

ในช่วงระยะนี้ การดำเนินโรคอาจใช้เวลานานหลายปีหลังได้รับเชื้อ ซึ่งมักจะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา การเจาะเลือดเป็นทางเดียวที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคซิฟิลิสหรือไม่ ยิ่งถ้าหากแม่ ๆ ที่มีเชื้อนี้ในระยะแฝงการตั้งครรภ์ ก็อาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้

  • โรคซิฟิลิสระยะที่หนึ่ง (Primary Syphilis)

หากผู้ป่วยได้รับเชื้อซิฟิลิสเข้าสู่ร่างกาย ก็อาจมีการแสดงอาการเริ่มต้นได้ โดยอาจมีแผลเล็ก ๆ ที่เรียกว่าแผลริมแข็ง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เชื้อแบคทีเรียได้เข้าสู่ร่างกายประมาณ 3 สัปดาห์แล้ว สำหรับผู้ชายที่ได้รับเชื้อจะมีแผลริมแข็งเกิดขึ้นในบริเวณลำหรือปลายอวัยวะเพศ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจเกิดแผลในบริเวณช่องคลอด หรือทวารหนัก ผู้ป่วยบางคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองมีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากแผลเหล่านี้ มักไม่แสดงอาการเจ็บปวด และมักจะหายไปเองในระยะไม่กี่สัปดาห์ แม้ว่าจะไม่ได้ไปพบแพทย์ก็ตาม

  • โรคซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary Syphilis)

ในระยะนี้ ผู้ป่วยจะมีผื่นสีแดงขึ้นตามบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจกระจายไปทั่วร่างกายโดยที่ไม่เกิดอาการคัน นอกจากนี้ยังสามารถพบผื่นได้ที่ปาก คอ และปากมดลูก รวมไปถึงในบริเวณรักแร้ ทวารหนัก และขาหนีบ เป็นต้น ผู้ป่วยในระยะนี้ อาจมีการแฝงร่วมด้วยเช่น ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ เจ็บคอ และผมร่วง ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็สามารถกลับมาอีกได้

  • โรคซิฟิลิสระยะสาม (Tertiary Syphilis)

ผู้ป่วยที่ไม่ได้ทำการรักษาในระยะนี้ เชื้อโรคจะเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบประสาท สมอง หัวใจ ตา ตับ และกระดูกของผู้ป่วยได้ ซึ่งหากรักษาไม่ทัน ก็อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายจนไม่สามารถเป็นปกติได้ ขณะที่ทารกในครรภ์ที่ได้รับเชื้อจากแม่ที่ป่วยเป็นโรคนี้ อาจพิการ หรือมีความผิดปกติต่อร่างกาย จนถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็ว่าได้

โรคซิฟิลิสโดยกำเนิด

แม่ท้องสามารถแพร่เชื้อซิฟิลิสจากตนเองไปสู่ทารกในครรภ์ได้ โดยสามารถติดต่อกันผ่านทางรกหรือในระหว่างคลอด เด็กทารกที่ติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด อาจส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็ว่าได้ ซึ่งทารกที่ติดเชื้อมักจะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา หรืออาจมีผื่นขึ้นเล็กน้อย หากทารกที่ติดเชื้อซิฟิลิสคลอดออกมาอย่างปลอดภัย ก็อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน ตาบอด หรือมีโครงสร้างทางร่างกายผิดปกติ ทั้งนี้คุณแม่ที่ติดเชื้อซิฟิลิสสามารถตรวจพบ และรักษาอาการเหล่านี้ได้ในระยะแรก ๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้ลูกได้รับผลกระทบเหล่านี้

ผลกระทบจากโรคซิฟิลิส

ผู้ป่วยที่ไม่ได้ทำการรักษา อาจทำให้เชื้อซิฟิลิสเข้าสู่หัวใจ และสมองได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ทั้งนี้การติดเชื้อของโรคนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคเส้นเลือดแดงโป่งพอง จนอาจมีผลทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บการลิ้นหัวใจได้เช่นกัน นอกจากนี้เชื้อซิฟิลิสยังสามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาท และระบบไหลเวียนโลหิตได้ ดังนี้

  • เป็นโรคความจำเสื่อม
  • ส่งผลกระทบต่อการได้ยิน
  • ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น
  • เกิดโรคเยื่อหุ้มไขสันหลังอักเสบ
  • เกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก ตัน ตีบ และฉีกขาด

ซิฟิลิส รักษาได้อย่างไร?

ก่อนเข้ารับการรักษา แพทย์จะสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย เพื่อเป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมความเสี่ยงเบื้องต้น หลังจากนั้นจะมีการตรวจร่างกายบริเวณอวัยวะเพศ และบริเวณแผล รวมทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ได้แก่

  • การตรวจเลือด : แพทย์เจาะตรวจหาเชื้อซิฟิลิสในกระแสเลือดของผู้ป่วย เพื่อช่วยยืนยันผลการตรวจให้แม่นยำขึ้น
  • การเก็บเชื้อตัวอย่าง : ผู้ป่วยที่มีแผลหรือผื่นตามร่างกาย แพทย์จะใช้วิธีการเก็บตัวอย่างเชื้อบนผิวหนังไปตรวจว่ามีเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสหรือไม่
ซิฟิลิส

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคซิฟิลิส แพทย์จะต้องดูระยะของโรคผู้ป่วยด้วย เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีการแสดงอาการใด ๆ เพราะอยู่ในช่วงระยะแฝง แพทย์จึงต้องทำการเก็บตัวอย่างตามระยะโรคของผู้ป่วย เช่น การเจาะน้ำไขสันหลัง เป็นต้น ซึ่งหากตรวจพบว่าผู้ป่วย ป่วยเป็นโรคซิฟิลิสจริง จะต้องทำการรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) แม้ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในระยะที่ไม่แสดงอาการเลยก็ตาม แต่เชื้อก็ยังคงอยู่ในร่างกาย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อเหล่านี้

ปัจจุบันประเทศไทยมีการรักษาโรคซิฟิลิสด้วยการใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ที่สามารถแบ่งย่อยได้อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับระยะในการป่วยว่าเป็นมานานแค่ไหน อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาอาจส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย ทำให้มีอาการไข้ขึ้น ปวดกล้ามเนื้อ และเวียนศีรษะ แต่ก็จะหายไปโดยใช้เวลาไม่นาน ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อช่วยบรรเทาอาการจากผลข้างเคียงของยาได้

การป้องกันโรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการหลับนอน โดยอาจหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์เฉพาะคู่นอนของตนเอง และควรสวมถุงยางป้องกันระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาเสพติดต่าง ๆ เพราะอาจส่งผลให้เกิดการขาดสติ จนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันได้ ทั้งนี้เชื้อซิฟิลิสสามารถติดต่อกันผ่านทางเข็มฉีดยา ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์เหล่านี้รวมกับผู้อื่น

ซิฟิลิส คือโรคเอดส์ใช่หรือไม่?

ซิฟิลิสกับเอดส์ เป็นคนละโรคกัน โดยซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่โรคเอดส์เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยจะอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะของการติดเชื้อ โรคซิฟิลิส และโรคเอดส์สามารถติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ และแม่ที่ตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคซิฟิลิสนั้น จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ขณะที่ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์จะไม่สามารถรักษาให้หายได้

ปัจจุบันผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคซิฟิลิสมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าหากเรารู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ ก็ควรรีบมาพบแพทย์ และตรวจวินิจฉัย เพื่อให้สามารถรักษาอาการได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้การป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โรคอีสุกอีใสในคนท้อง มีอะไรที่ต้องรู้บ้างเพื่อรับมือ ?

ไส้เลื่อน โรคร้ายที่คุณผู้ชายไม่ควรมองข้าม อาการ และการรักษา

รู้ทัน “วัณโรค” โรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ที่มา : 1, 2, 3, 4, 5