ไส้เลื่อน โรคร้ายที่คุณผู้ชายไม่ควรมองข้าม อาการ และการรักษา

ไส้เลื่อน เป็นโรคที่ผู้ชายหลายคนกังวลใจ เพราะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้หญิง โดยโรคไส้เลื่อนมักจะเกิดจากการยกของหนัก การไอหรือจาม และการเบ่ 

 1043 views

ไส้เลื่อน เป็นโรคที่ผู้ชายหลายคนกังวลใจ เพราะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้หญิง โดยโรคไส้เลื่อนมักจะเกิดจากการยกของหนัก การไอหรือจาม และการเบ่งอุจจาระจากภาวะท้องผูก จนทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งเดิม อย่างไรก็ตาม ไส้เลื่อนเป็นโรคที่ไม่รุนแรงมากนัก และสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นคุณผู้ชายไม่ต้องเป็นห่วงนะคะ วันนี้ Mama Story จะพาทุกท่าน ไปทำความเข้าใจกับโรคไส้เลื่อนมากขึ้น เพื่อให้เตรียมพร้อม และรับมือกับอาการของโรคชนิดนี้ค่ะ

ไส้เลื่อนคืออะไร?

ไส้เลื่อน (Hernia) คือ ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้มีลักษณะคล้ายกับก้อนตุง ซึ่งเกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องมาตั้งแต่เกิด หรือภายหลัง เช่น จากการผ่าตัด การไอหรือตาม การยกของหนัก และการเบ่งอุจจาระ เป็นต้น ซึ่งก้อนตุงเหล่านั้นจะเห็นได้ชัดเมื่อยืน และเดิน แต่เมื่อนอนหงาย ก้อนจะเล็กลง หรือยุบหายไปนั่นเอง

วิดีโอจาก : Thonburi Hospital channel

ประเภทของไส้เลื่อน

ไส้เลื่อนสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ไม่เฉพาะเพศชายเท่านั้น และยังสามารถแบ่งประเภทออกตามตำแหน่ง และสาเหตุของการเกิดได้ ดังนี้

  • ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (umbilical hernia) : ไส้เลื่อนชนิดนี้ มักพบบ่อยในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เพราะหน้าท้องที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนัง ยังปิดไม่สนิท ทำให้บางส่วนของลำไส้เคลื่อนตัวมาอยู่ตรงบริเวณสะดือ แล้วดันจนสะดือโป่ง อย่างไรก็ตามไส้เลื่อนชนิดนี้ ก็สามารถเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ได้ค่ะ
  • ไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia) : เป็นไส้เลื่อนที่เกิดจากผนังกะบังลมหย่อนยาน ทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนตัวขึ้นไปบริเวณช่วงอก มักพบได้บ่อยในวัยสูงอายุ
  • ไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง (spigelian hernia) : ไส้เลื่อนชนิดนี้มักพบได้น้อย แต่ก็มีความรุนแรงมาก หากปล่อยไว้นานก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะอยู่ใกล้บริเวณหน้าท้อง
  • ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (inguinal hernia) : ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ มักพบบ่อยที่สุด โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งไส้เลื่อนชนิดนี้แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือเป็นไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบที่ทำให้มีลำไส้ยื่นออกมาบริเวณหัวหน่าว และเป็นลำไส้ที่เคลื่อนออกมาตามรูเปิดบริเวณขาหนีบ
  • ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (femoral hernia) : มักพบในช่วงต้นขาด้านใน แต่ก็พบได้น้อย และมักพบเฉพาะผู้หญิง ไส้เลื่อนชนิดนี้เกิดจากผนังต้นขาด้านในอ่อนแอแต่กำเนิด และอาจเกิดความผิดปกติ
  • ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด (incisional hernia) : ไส้เลื่อนบริเวณนี้มักเกิดกับผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดบริเวณช่องท้องมาก่อน และอาจเกิดในระหว่างแผลยังไม่หายสนิทได้ ซึ่งไส้เลื่อนชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย เพราะการผ่าตัดทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอจนลำไส้ดันตัวขึ้นมานั่นเอง
  • ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (obturator hernia) : ไส้เลื่อนชนิดนี้พบได้น้อยมาก แต่ก็มีความรุนแรงมากเช่นกัน โดยมักพบได้บ่อยในผู้หญิงที่มีรูปร่างผอมบาง

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม สาเหตุ อาการ และการป้องกัน

ไส้เลื่อน

ไส้เลื่อนเกิดจากอะไร?

ไส้เลื่อนเกิดได้หลายปัจจัย แต่ส่วนใหญ่นั้นมักเกิดจากความอ่อนแอของเยื่อบุช่องท้อง และกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด นอกจากนี้การผ่าตัดบริเวณช่องท้อง และแรงดันภายในช่องท้อง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไส้เลื่อนได้เช่นกัน ซึ่งโรคไส้เลื่อนนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • ไอเรื้อรัง
  • การตั้งครรภ์
  • ต่อมลูกหมากโต
  • การยกของหนักเป็นประจำ
  • โรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน
  • การเบ่งอุจจาระจากการท้องผูก
  • มีของเหลวในช่องท้อง เช่น การเกิดจากตับที่มีปัญหา เป็นต้น

ไส้เลื่อนอาการเป็นอย่างไร?

อาการหลัก ๆ ของโรคไส้เลื่อน คือ ผู้ป่วยมักมีก้อนตุงอยู่บริเวณที่มีลำไส้เคลื่อนตัวออก และมักมีอาการเจ็บเวลาไอ ก้มตัว และยกของหนัก โดยผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการแน่นท้อง ปวดแสบปวดร้อน และมีอาการลำไส้เคลื่อนที่บริเวณกะบังลม จนทำให้เกิดการเจ็บหน้าอก มีปัญหาในกลืนอาหาร และกรดไหลย้อน ทั้งนี้ผู้ป่วยบางคนอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาเลยก็ตาม มีเพียงแค่ก้อนตุงภายนอกเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยอาการเจ็บบริเวณไส้เลื่อนอย่างเฉียบพลัน และเป็นหนักขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที โดยให้สังเกตอาการเหล่านี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน
  • ปวดท้อง ท้องอืด ไม่อุจจาระ และผายลม
  • ไม่สามารถดันก้อนตุงกลับเข้าไปในช่องท้องได้

การรักษาไส้เลื่อน

โรคไส้เลื่อนสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด โดยเฉพาะไส้เลื่อนบางประเภทที่ต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ อย่างไรก็ตามไส้เลื่อนบางประเภทอาจต้องใช้ยาประคองอาการไม่ให้รุนแรงก่อน เพื่อช่วยลดความผิดปกติ และรอเข้ารับการผ่าตัดในช่วงเวลาต่อมา โดยวิธีการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้

  • การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง : การผ่าตัดชนิดนี้เป็นวิธีการผ่าตัดที่เป็นมาตรฐาน แพทย์จะผ่าที่หน้าท้อง แล้วดันส่วนที่เคลื่อนออกมากลับสู่ที่เดิม จากนั้นจะใส่วัสดุคล้ายตาข่าย เพื่อเสริมแข็งแรง โดยวิธีนี้ถือเป็นวิธีการผ่าตัดที่นิยมใช้ และเป็นการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเร่งด่วน
  • การผ่าตัดผ่านกล้อง : การผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นการใช้เครื่องมือเฉพาะ ทำให้แผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องมาก ทำให้ฟื้นตัวได้ไวกว่า อย่างไรก็ตามการผ่าตัดวิธีนี้ อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูง และผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำที่ตำแหน่งเดิมได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคหัด คืออะไร อันตรายหรือไม่ หากลูกเป็นโรคหัดควรทำอย่างไร?

ไส้เลื่อน

การป้องกันไส้เลื่อน

ไส้เลื่อนสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาระดับแรงดันภายในช่องท้องให้เป็นปกติ และพยายามลดการเกร็งหน้าท้องเพื่อไม่ให้เกิดภาวะผิดปกติ นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

  • งดการสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์
  • รีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการไอเรื้อรัง
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ เพื่อช่วยป้องกันอาการท้องผูก
  • พยายามหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือใช้วิธีย่อตัวลงแล้วหยิบของเพื่อให้หลังตรง

แม้ว่าไส้เลื่อนจะเป็นโรคมักเกิดขึ้นกับผู้ชายบ่อย ๆ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยเช่นกัน ทั้งนี้หากผู้ป่วยพบว่ามีอาการไส้เลื่อน โดยมีก้อนตุง ๆ บริเวณร่างกาย หรือมีอาการผิดปกติกับช่องท้อง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที แม้ว่าจะไม่มีอาการรุนแรงก็ตาม เพราะหากปล่อยไว้นาน ก็อาจทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โรคคอตีบ คืออะไร ป้องกันลูกน้อยอย่างไรให้ห่างไกลจากโรค

มะเร็งเต้านม โรคร้ายใกล้ตัวผู้หญิง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

รู้ทัน “วัณโรค” โรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ที่มา : 1, 2, 3