ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ ครรภ์เกินกำหนด ทำอย่างไรดี ?

ถึงตอนนี้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ยังไม่คลอดเสียที กลัวว่าจะเกิดความผิดปกติหรือเปล่า การตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะมีโ 

 1636 views

ถึงตอนนี้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ยังไม่คลอดเสียที กลัวว่าจะเกิดความผิดปกติหรือเปล่า การตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะมีโอกาสเจอมากกว่าคุณแม่ที่คลอดตามกำหนดเสียอีก แต่การปล่อยไว้อาจเป็นอันตราย คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลี่ยงภาวะอันตรายต่าง ๆ

เมื่อการ ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ คือ ครรภ์เกินกำหนดคลอด

การตั้งครรภ์โดยปกติแล้วจะมีรูปแบบการนับตามกำหนดวันคลอด ได้แก่ 37 – 40 สัปดาห์ คือ ครรภ์ที่คลอดครบกำหนด (Term), 40 – 41 สัปดาห์ คือ คลอดเลยกำหนดคลอด (Post Date) และคลอดหลัง 42 สัปดาห์ คือ ครรภ์เกินกำหนด (Post Term) ด้วยเหตุนี้อาจเกิดปัญหากวนใจให้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มาถึงสัปดาห์ที่ 42 ว่าครรภ์ของตนเองจะสมบูรณ์ปลอดภัยไหม หากทารกคลอดออกมาจะมีอะไรผิดปกติหรือเปล่า ถึงแม้จะมีความเสี่ยงภาวะอันตรายบางอย่างแต่แพทย์ก็มีวิธีเตรียมรับมือ และนับจากสถิติแล้ว รู้หรือไม่ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนมาก มักคลอดเลยกำหนด

บทความที่เกี่ยวข้อง : ผ่าคลอดแล้ว ท้องต่อไปจะต้องผ่าอีกไหม ครรภ์แบบไหนต้องผ่าคลอด ?

ตั้งครรภ์ถึง 42 สัปดาห์จะเป็นอะไรไหม ?

จากสถิติที่บ่งชี้ถึงข้อเท็จจริงว่าแม้จะมีกำหนดคลอดที่วางเอาไว้จากช่วงฝากครรภ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณแม่ที่สามารถคลอดได้ตามกำหนดจริง ๆ มีประมาณ 5 – 6 % เท่านั้นเอง นั่นหมายความว่าคุณแม่กว่า 90 % มักจะอยู่ในช่วงเลยกำหนดคลอด หรือครรภ์เกินกำหนดแทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามการที่ครรภ์มีอายุ 42 สัปดาห์ แพทย์อาจลงความเห็นว่ามีความเสี่ยงภาวะต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์, รกเสื่อมทำให้ทารกขาดสารอาหาร หรือขนาดตัวที่ใหญ่ของทารกทำให้เป็นอุปสรรคในการคลอด เป็นต้น

วิดีโอจาก : โค้ชเลิศพร สอนแม่และเด็ก

เมื่อมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ แพทย์จะพิจารณาแก้ไขด้วยการเร่งคลอดหากมีความจำเป็น เพื่อป้องกันภาวะต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อคุณแม่ และทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตามการที่ครรภ์เกินกำหนดนั้น อาจไม่ได้เกินกำหนดจริง เนื่องจากคุณแม่อาจนับวันที่ประจำเดือนขาดคลาดเคลื่อน มักพบได้ในคุณแม่ที่มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมออยู่แล้ว ทำให้อายุครรภ์จริง ๆ อาจไม่ได้ถึง 42 สัปดาห์อย่างที่คิดนั่นเอง

ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์พัฒนาการของทารกเป็นอย่างไร ?

ทารกในครรภ์ช่วงนี้จะมีพัฒนาการที่สังเกตได้ชัดเจนคล้ายกับทารกทั่วไป แต่มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่า และอาจมีความผิดปกติชั่วคราวบางอย่างที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • ทารกที่อยู่ในครรภ์ช่วงนี้ จะสามารถสังเกตลักษณะได้ชัดเจน คือ เล็บยาว, ผมและขนตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะเริ่มยาวมากขึ้นแล้ว
  • ทารกในครรภ์จะมีขนาดตัว และมีความสูงที่มากกว่าปกติ คือ ความสูงถึง 53.3 เซนติเมตร บางรายอาจมีน้ำหนักสูงถึง 4 กิโลกรัม ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการคลอด แพทย์อาจพิจารณาคลอดแบบผ่าตัด
  • เมื่อคลอดทารกออกมาอาจพบความผิดปกติบริเวณผิวหนังชั่วคราวบางอย่าง เช่น ผิวหนังที่แห้งย่น, ผิวหนังมีรอยแตก หรือผิวหนังลอก เป็นต้น ซึ่งเกิดจากไขทารกแรกเกิด (Vernix Caseosa) ที่หลุดออกไปบ้างแล้ว โดยอาการเหล่านี้จะสามารถหายไปได้เองในเวลาต่อมา


อาการและสัญญาณคลอดของคุณแม่ครรภ์ 42 สัปดาห์

คุณแม่จะมีอาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เป็นตะคริวบ่อยขึ้น, มีอาการปวดหลัง, นอนไม่ค่อยหลับ, รู้สึกแน่นบริเวณเชิงกราน, ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น โดยอาการเหล่านี้อาจพบได้ในหญิงตั้งครรภ์อยู่แล้ว แต่ในช่วงนี้อาการจะมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนสัญญาณคลอดที่บ่งบอกว่าทารกกำลังจะออกมาลืมตาดูโลกแล้ว มีดังนี้

  • มีมูกเลือด : จะมีมูกไหลออกมา อาจผสมกับเลือด มูกเลือดนี้เป็นสัญญาณแรก ๆ ที่ปรากฏออกมา และมักจะตามมาอาการบีบตัวของมดลูก บ่งบอกว่าปากมดลูกกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดทารกแล้ว
  • การบีบตัวของมดลูก : มดลูกจะมีการบีบตัวอย่างสม่ำเสมอ อาการจะไม่หายไป และจะเป็นหนักขึ้น คุณแม่ต้องแยกให้ออกว่าเป็นเจ็บท้องจริง หรือเจ็บหลอก ถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าทารกน้อยมีโอกาสจะคลอดแล้ว
  • มีน้ำคร่ำ : หรือที่เรียกกันว่าคนท้องน้ำเดิน หากมีอาการนี้ เป็นสัญญาณที่ต้องเร่งรีบ เนื่องจากทารกอาจจะคลอดในอีกไม่กี่ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อการเตรียมพร้อม และความปลอดภัย


ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์


การเร่งคลอด คืออะไร จำเป็นแค่ไหน ?

คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายอาจไม่มีสัญญาณการคลอดทารกเลย ซึ่งยิ่งทำให้เสี่ยงภาวะอันตรายต่าง ๆ คุณหมอจะพิจารณาทำการเร่งคลอดให้คุณแม่ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • ทำให้ปากมดลูกเปิดมากขึ้น : เป็นการใช้ยาเหน็บไว้บริเวณช่องคลอดข้ามคืน บางกรณีอาจเป็นการทานยาเข้าไปเลย เพื่อกระตุ้นให้ปากมดลูกเปิดเร็วขึ้น
  • การกวาดปากมดลูก : หรือ “การเซาะถุงน้ำคร่ำ” เทคนิคนี้จะทำให้ร่างกายคุณแม่เข้าสู่ภาวะการเจ็บท้องคลอดในที่สุด โดยคุณหมอจะใช้นิ้วกวาดบริเวณของถุงน้ำคร่ำ จนส่งผลให้ฮอร์โมนหลั่งออกมา จะช่วยให้เกิดอาการการเจ็บท้องคลอดภายใน 48 ชั่วโมง
  • กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก : ด้วยการเจาะสายน้ำเกลือ และให้ฮอร์โมนออกซีโตซิน โดยยาชนิดนี้จะช่วยให้มดลูกเกิดการบีบตัวขึ้นนั่นเอง


คุณแม่ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ ต้องระวังอะไรบ้าง ?

การคลอดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สัญญาณของการคลอดตามที่กล่าวไป เป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องคอยสังเกตให้ดี ว่าตนเองมีอาการเสี่ยงต่อการคลอดหรือไม่ โดยเฉพาะการต้องแยกให้ออกระหว่างเจ็บท้องจริง และเจ็บท้องหลอก คือ กล้ามเนื้อเกร็งทุก ๆ เวลา 5 – 10 นาที มีอาการปวดหลัง และปวดท้องมากขึ้นเรื่อย ๆ อาการจะมีอย่างสม่ำเสมอ ในระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมง มีอาการเจ็บครรภ์ 5 ครั้งขึ้นไป คือ เจ็บท้องทุก ๆ 10 – 15 นาที แม่ท้องจะปวดท้องถี่ ๆ อาการจะไม่หายไป มีความรุนแรงขึ้น ความปวดแต่ละครั้งนาน 30 – 70 วินาที

เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ถึง 42 สัปดาห์ ควรให้มองเรื่องการคลอดมาก่อน เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ควรรอไปเรื่อย ๆ จนไม่มีกำหนด หรือวางใจว่าเดี๋ยวสัญญาณคลอดก็มาเอง การทำเช่นนี้จะยิ่งทำให้อันตรายต่อคุณแม่ และทารกในครรภ์

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

คลอดธรรมชาติดีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะคลอดแบบธรรมชาติได้ ?

แม่ท้องปวดท้องน้อยเกิดจากอะไร อันตรายหรือเปล่า ?

ตกเลือดหลังคลอด อันตรายไหม ป้องกันได้อย่างไรบ้าง ?

ที่มา : 1, 2