ต้อกระจก อาการเป็นอย่างไร อันตรายไหม รักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง?

ต้อกระจก ถือเป็นโรคผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาที่หลายคนอาจเคยได้ยิน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะโรคต้อกระจกนั้น มักพบในผู้สูงอายุมากกว่าคนทั่วไป โ 

 1259 views

ต้อกระจก ถือเป็นโรคผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาที่หลายคนอาจเคยได้ยิน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะโรคต้อกระจกนั้น มักพบในผู้สูงอายุมากกว่าคนทั่วไป โดยโรคนี้เกิดจากการเสื่อมสภาพของดวงตา ส่งผลให้เกิดอันตราย และความยากลำบากในการมองเห็น วันนี้ Mama Story จะพาทุกท่านไปรู้จักโรคต้อกระจกกันมากขึ้น เพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือกับโรคร้ายนี้ที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองได้ค่ะ

ต้อกระจก คืออะไร?

ต้อกระจก (Cataracts) คือโรคที่เลนส์แก้วตามีความขุ่นมัว ส่งผลให้จอประสาทตารับภาพได้ไม่ชัด ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพต่าง ๆ ได้ไม่ชัดเจน พร่ามัว โรคต้อกระจกอาจไม่มีอาการเจ็บ และระคายเคืองใด ๆ กับตา แต่ก็มักจะเกิดขึ้นกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง อีกทั้งยังไม่สามารถแพร่กระจายจากดวงตาหนึ่ง ไปสู่อีกดวงตาได้

โรคต้อกระจก เกิดจากอะไร?

โรคต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมสภาพของแก้วตาตามช่วงวัย โดยมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามอาการต้อกระจกนั้น ยังมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้

  • แสง UV

แสงยูวี หรือรังสีอัลตราไวโอเลต อาจเป็นเหตุให้เกิดโรคต้อกระจกได้ โดยแสงยูวีนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ UVA และ UVB ซึ่งหากแก้วตาได้รับแสง UVA มากเกินไปนั้น ก็อาจทำให้เกิดโรคต้อกระจกได้ นอกจากนี้การได้รับแสง UVB มากเกินไป ก็อาจส่งผลให้เกิดต้อกระจก ต้อลม หรือต้อเนื้อได้เช่นกัน

  • การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ และยาสูบ ส่งผลให้เกิดโรคต้อกระจกได้ เนื่องจากสารพิษในควันบุหรี่ อาจซึมเข้าสู่ร่างกายทางเส้นเลือดที่เลี้ยงลูกตา หากได้รับสารพิษเหล่านั้นเป็นประจำ ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อม และอาการตาแห้งได้อีกเช่นกัน

  • ได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา

สำหรับผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางดวงตา อาจมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นต้อกระจกมากกว่าเดิม เพราะเมื่อดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนนั้น ก็อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อภายในลูกตาได้ จนทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคต้อกระจกเพิ่มมากขึ้นด้วย

  • การรักษาด้วยยาบางชนิด

 การรักษาด้วยยาบางชนิด เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดต้อกระจกได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยที่รับประทานยาเป็นประจำ หรือได้รับยาในกลุ่มสเตอรอยด์เป็นเวลานานนั้น ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคต้อกระจกได้ นอกจากนี้ผู้ที่เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณร่างกาย หรือบนศีรษะก็อาจเพิ่มความเสี่ยงได้อีกเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตาบอดสี เกิดจากอะไร รักษาหายได้ไหม จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกตาบอดสี?

ต้อกระจก

ชนิดของต้อกระจก

ต้อกระจกสามารถแบ่งออกได้หลายชนิด โดยสามารถแบ่งได้ตามช่วงอายุ ดังนี้

  • ต้อกระจกโดยกำเนิด : ต้อกระจกชนิดนี้เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม และความผิดปกติในขณะตั้งครรภ์ โดยสามารถพบได้กับทารกแรกเกิด ผู้ป่วยมีอาการแก้วตาขุ่นเล็กน้อย แต่ไม่กระทบต่อการมองเห็น ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีแก้วตาขุ่นมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น และภาวะขี้เกียจได้
  • ต้อกระจกในเด็ก และวัยรุ่น : ต้อกระจกในเด็ก และวัยรุ่น เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม โรคพันธุกรรมเมตาบอลิค ภาวะม่านตาอักเสบ และอุบัติเหตุทางตา
  • ต้อกระจกในวัยชรา : อาการต้อกระจกในวัยชรา สามารถพบได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยสาเหตุหลัก ๆ มาจากการเสื่อมสภาพของแก้วตาตามช่วงวัย ผู้ป่วยหลายคนมักมีแก้วตาขุ่นทั้ง 2 ข้าง

อาการต้อกระจกเป็นอย่างไร?

อาการต้อกระจก อาจไม่แสดงอย่างชัดเจนในระยะแรก จึงต้องใช้เวลานานกว่าหลายปี จนกว่าอาการต้อกระจกจะเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการ ดังต่อไปนี้

  • มองเห็นภาพซ้อน
  • มองเห็นเป็นวงแหวนรอบแสงไฟ
  • มองเห็นภาพเป็นสีเหลือง และสีซีดจาง
  • มีปัญหาทางสายตาอื่น ๆ เช่น สายตาสั้น
  • มองเห็นในพื้นที่ที่แสงสลัวดีกว่าที่ที่แสงจ้า
  • มองเห็นภาพไม่ชัด พร่ามัว และเห็นภาพเบลอ
  • ต้องใช้แสงสว่างเป็นอย่างมาก ในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา

การตรวจวินิจฉัยต้อกระจก

สำหรับการตรวจวินิจฉัยต้อกระจก สามารถแบ่งตรวจวินิจฉัยด้วยตนเอง หรือแพทย์ได้ โดยการตรวจวินิจฉัยด้วยตนเอง อาจสังเกตได้ยาก เพราะต้อกระจกในระยะแรก อาจไม่เกิดอาการเจ็บหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ของดวงตา นอกจากแก้วตาจะกลายเป็นสีขาวแล้ว อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีอาการพร่ามัว มองเห็นได้ไม่ชัด สามารถไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยตามวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การตรวจวัดสายตา : แพทย์จะให้ผู้ป่วยอ่านแบบทดสอบชุดตัวอักษร โดยจะทดสอบตาข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติทางสายตาหรือไม่
  • การตรวจวัดความดันลูกตา : วิธีการตรวจวัดความดันลูกตา เป็นการใช้เครื่องวัดความดันในลูก เพื่อแยกต้อกระจก กับต้อหิน แพทย์อาจใช้ยาชาในการช่วยตรวจวัดความดันลูกตากับผู้ป่วย
  • การทดสอบโดยขยายรูม่านตา : สำหรับวิธีนี้จะใช้การหยดยาลง เพื่อให้รูม่านตาเปิดกว้างขึ้น จากนั้นแพทย์จะใช้เลนส์ขยายแบบพิเศษตรวจดูจอประสาทตา และเส้นประสาทตา เพื่อหาความผิดปกติ
  • การตรวจด้วยกล้องจักษุจุลทรรศน์ : เป็นการใช้กล้องที่มีความเข้มของลำแสงส่องกระจกตา ม่านตา และเลนส์แก้วตา เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างภายในลูกตาได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตากุ้งยิง เกิดจากอะไร ลูกเป็นตากุ้งยิงบรรเทาอาการอย่างไรได้บ้าง?

ต้อกระจก

การรักษาโรคต้อกระจก

ในการรักษาโรคต้อกระจก สามารถทำได้ 2 วิธี คือ รักษาแบบไม่ผ่าตัด และรักษาแบบผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเข้าตรวจวินิจฉัยก่อนทำการรักษา เพื่อให้แพทย์ได้เลือกวิธีในการรักษา ซึ่งการรักษาโรคต้อกระจกทั้งสองวิธีนั้น มีความแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

การรักษาโรคต้อกระจกแบบไม่ผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคต้อกระจกในระยะแรก ๆ เท่านั้น โดยเป็นการรักษาแบบการตัดแว่นสายตา หรือสวมแว่นกันแดด เพื่อป้องกันแสงสะท้อน ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการรักษาแบบชั่วคราวเท่านั้น ผู้ป่วยอาจต้องปรึกษากับแพทย์ก่อนในการใช้ยาหยอดตา เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

การรักษาแบบผ่าตัด

การรักษาต้อกระจกแบบผ่าตัด สามารถผ่าด้วยการตัดนำเลนส์แก้วตาที่มีความขุ่นออก แล้วใส่แก้วตาเทียมเข้าไปแทน ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมีโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ทั้งนี้การรักษาต้อกระจกแบบผ่าตัด สามารถแบ่งได้ดังนี้

  • การผ่าตัดลอกต้อกระจก : การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ เป็นการผ่านำเลนส์ตา และถุงหุ้มเลนส์ออก พร้อมทั้งลอกแก้วตาออก ซึ่งวิธีนี้อาจส่งผลในการมองเห็นได้ อีกทั้งยังต้องใช้เวลานานในการพักฟื้นตัว
  • การผ่าตัดต้อกระจกแผลใหญ่ : การผ่าตัดต้อกระจกแผลใหญ่ เป็นการนำเอาแก้วตาออก เหลือแต่เปลือกหุ้มแก้วตา วิธีการผ่าตัดแบบนี้ จะต้องเย็บแผลปิดหลายชั้น อาจทำให้เกิดสายตาเอียง และพังผืดบริเวณส่วนบนตาขาวได้
  • การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียง : การผ่าตัดวิธีนี้ เป็นการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นการใช้คลื่นเสียงสลายเนื้อแก้วตา แล้วดูดแก้วตาที่สลายออกมาก จากนั้นจึงใส่แก้วตาเทียมลงไปแทนที่ ซึ่งวิธีนี้ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก และทำให้เกิดสายตาเอียงได้น้อย อีกทั้งยังสามารถพักฟื้นได้เร็ว แต่อาจมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าวิธีแบบอื่น

การป้องกันโรคต้อกระจก

ในการป้องกันโรคต้อกระจก ผู้ป่วยควรไปตรวจสายตาเป็นประจำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเผชิญอาการที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีโรคเบาหวาน ควรไปตรวจสายตาทุก ๆ ปี เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้เราสามารถป้องกันโรคต้อกระจกได้ ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ไม่สูบบุหรี่
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่ใช้สายตาติดต่อกันนาน ๆ
  • จัดแสง และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดี
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และช่วยบำรุงสายตา
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาเสมอ เมื่อต้องทำงานที่ใช้ตา
  • ไม่ควรใช้ยาหยอดตาเอง ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • สวมแว่นตา หรือหมวก เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยตรง

ต้อกระจก ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณแม่ควรใส่ใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ทันตั้งตัว เพราะต้อกระจกนั้น จะไม่ปรากฏอาการอย่างชัดเจนในระยะแรก ดังนั้นการตรวจสายตาเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเผชิญอาการต้อกระจกที่รุนแรง และยังสามารถเตรียมพร้อมในการรักษาโรคนี้ได้อีกด้วย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตาแดง เกิดจากอะไร คุณแม่รับมืออย่างไรเมื่อลูกมีอาการตาแดง?

โรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางทางพันธุกรรม สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม สาเหตุ อาการ และการป้องกัน

ที่มา : 1, 2, 3