ตาบอดสี เป็นโรคที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า ตาบอดสีจะต้องมองเห็นเพียงแค่สีขาว และสีดำเท่านั้น ไม่สามารถมองเห็นสีอื่นได้ ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่เป็นตาบอดสียังสามารถมองเห็นสีได้ เพียงแต่จะมีการมองเห็นสีที่ผิดเพี้ยนไป และมีความลำบากในการแยกแยะสีด้วย วันนี้ Mama Story จึงขอพาคุณแม่ทุกท่านไปเข้าใจกับโรคตาบอดสีขึ้นมากขึ้น ว่าตาบอดสีเกิดจากอะไร รักษาได้หรือไม่ และสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้หรือเปล่า พร้อมแล้ว เราไปดูกันเลยค่ะ
ตาบอดสี คืออะไร?
โรคตาบอดสี (Color Blindness) คือ ภาวะบกพร่องทางการมองเห็นสี โดยผู้ที่เป็นตาบอดสีนั้น จะมองเห็นสีบางสีได้ไม่ชัดเจน และผิดเพี้ยนไปจากสีจริง โดยส่วนใหญ่แล้วตาบอดสีมักจะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งผู้ที่เป็นตาบอดสีนั้น จะยังคงมองเห็นภาพ และสีได้อย่างชัดเจน แต่ไม่สามารถมองเห็นสีแดง สีน้ำเงิน หรือสีเขียวได้อย่างชัดเจนค่ะ
ตาบอดสี เกิดจากอะไร?
โรคตาบอดสีนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งผู้ป่วยสามารถเป็นได้ตั้งแต่กำเนิด หรือภายหลังได้ โดยมีสาเหตุหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- กรรมพันธุ์ : เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดตาบอดสีมาตั้งแต่กำเนิด โดยผู้ป่วยจะไม่สามารถมองเห็นสีแดง และสีเขียวได้ ซึ่งกรรมพันธุ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- อายุ : อายุที่เพิ่มขึ้นสามารถส่งผลให้เกิดการเสื่อมของเซลล์เพิ่มมากขึ้น
- โรคเกี่ยวกับตา : การเป็นโรคที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น จอประสาทตาเสื่อม ต้อกระจก ต้อหิน และได้รับบาดเจ็บที่บริเวณดวงตา สามารถส่งผลให้เกิดโรคตาบอดสีได้
- โรคทางกาย : ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์ ก็มีโอกาสเป็นตาบอดสีได้เช่นกัน
- ผลข้างเคียงจากยา : ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านอาการทางจิต อาจเป็นตาบอดสีได้
- สารเคมี : สารเคมีบางชนิดสามารถส่งผลให้เกิดตาบอดสีได้เช่นกัน เช่น สาร Styrene ในพลาสติกหรือโฟมต่าง ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตาแดง เกิดจากอะไร คุณแม่รับมืออย่างไรเมื่อลูกมีอาการตาแดง?
อาการของตาบอดสี
อาการตาบอดสี สามารถพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเซลล์ สมอง และเส้นประสาทในดวงตาจะถูกพัฒนาตั้งแต่เกิด คุณแม่ลองสังเกตลูกที่มีอายุเกิน 4 ขวบ ว่าสามารถจดจำ และบอกสีต่าง ๆ ได้ถูกต้องไหม หากลูกบอกสีไม่ถูกต้อง หรือเลือกสิ่งของที่มีสีต่างกันไม่ได้ ก็มีโอกาสในการเป็นตาบอดสีสูง นอกจากนี้อาการตาบอดสีของแต่ละบุคคล อาจแตกต่างกันไปตามชนิดของตาบอดสี โดยสามารถพิจารณาอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้
- มองเห็นสีได้หลากหลายสี และมองเห็นสีแตกต่างจากผู้อื่น
- มองเห็นสีได้เฉพาะบางสี ต่างจากคนปกติที่สามารถเห็นสีได้มากกว่าร้อยสี
- ผู้ป่วยบางคนอาจมองเห็นได้เฉพาะสีขาว สีดำ และสีเทา แต่พบได้น้อยมาก
- ไม่สามารถจดจำ หรือแยกสีได้ บางครั้งอาจเกิดความสับสนในการแยกแยะสี โดยเฉพาะสีเขียว และสีแดง แต่จะสามารถแยกสีน้ำเงิน และสีเหลืองได้ง่าย
ภาวะแทรกซ้อนของตาบอดสี
ตาบอดสีอาจไม่พบภาวะแทรกซ้อน แต่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมองเห็นสีผิดเพี้ยน และเกิดความสับสนในการแยกแยะสีต่าง ๆ โดยเฉพาะเด็ก และผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นตาบอดสี ต้องหลีกเลี่ยงการทำอาชีพบางอาชีพ
- เด็กที่ตาบอดสี อาจมีผลกระทบในการเรียนวิชาศิลปะ การประเมินพัฒนาการทางภาษา และพัฒนาการในการเรียนรู้
- ผู้ใหญ่ที่เป็นตาบอดสี ไม่ควรประกอบอาชีพนักบิน จิตรกร ช่างอิเล็กทรอนิกส์ งานเคมี และงานที่ต้องใช้สีเป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ
- ผู้ที่เป็นตาบอดสีต้องใช้การจดจำ และการแยกแยะเป็นพิเศษในการสอบใบขับขี่ เพื่อให้สามารถบอกความแตกต่างของสัญญาณไฟ และเกณฑ์การประเมินอื่น ๆ
ตาบอดสี ทดสอบอย่างไร?
แพทย์จะทดสอบผู้ป่วย ด้วยการใช้แผ่นภาพทดสอบตาบอดสี เพื่อดูความสามารถในการจำแนกสี โดยแผ่นทดสอบนั้นจะมีอยู่หลากหลายประเภท โดยแผ่นทดสอบตาบอดสีที่นิยมใช้นั้น ได้แก่
- แผ่นภาพอิชิฮะระ (Ishihara) : แผ่นภาพชนิดนี้จะมีจุดสีแตกต่างกัน แพทย์จะให้ผู้ป่วยมองหาตัวเลขบนแผ่นภาพนั้น หากผู้ป่วยเป็นตาบอดสีจะไม่สามารถบอกตัวเลขที่ถูกต้องได้ ถือเป็นวิธีการทดสอบที่สามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว และบอกระดับความรุนแรงของโรคได้
- การเรียงเฉดสี (Color Arrangement) : ผู้ป่วยจะต้องไล่เฉดสีที่กำเนิดให้ โดยจะต้องไล่สีที่ใกล้เคียงกันให้อยู่ด้วยกันอย่างถูกต้อง หากผู้ป่วยเป็นตาบอดสีจะสับสน และไม่สามารถเรียงสีได้อย่างถูกต้อง
วิธีรักษาตาบอดสี
โรคตาบอดสีไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ ที่มีเลนส์กรองแสงสีบางสีออก เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยได้มองเห็นสีชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามแว่น หรือคอนแทคเลนส์เหล่านั้น ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยมองเห็นสีได้เหมือนคนทั่วไป แต่หากผู้ป่วยที่เป็นตาบอดสีมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานขึ้นตา แพทย์อาจทำการรักษาโรค เพื่อช่วยให้บรรเทาอาการให้ดีขึ้น และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนทางสายตาอีกเช่นกัน
นอกจากนี้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้การจดจำตำแหน่ง หรือป้ายสัญลักษณ์แทนการใช้สีเพื่อจะช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น เช่น การจดจำตำแหน่งของไฟจราจร และการใช้ป้ายบอกสีไว้ที่เสื้อผ้า เป็นต้น ส่วนเด็กที่เป็นตาบอดสี ควรแจ้งครูผู้สอนว่ามีปัญหาเกี่ยวกับตา เพื่อช่วยให้โรงเรียนปรับสื่อการสอนได้เหมาะสม และใกล้เคียงกับเด็กทั่วไปได้มากขึ้น รวมทั้งผู้ปกครองยังต้องสอนให้เด็ก ๆ รู้จักปรับตัว และบอกคนรอบข้างว่าตนเองเป็นตาบอดสีค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ดาวน์ซินโดรม คืออะไร รู้ได้อย่างไรเมื่อลูกน้อยเป็นดาวน์ซินโดรม?
วิธีป้องกันตาบอดสี
โรคตาบอดสีอาจไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามเราสามารถลดโอกาสในการเกิดตาบอดสีได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยการไปคัดกรอง และทดสอบสายตาตั้งแต่อายุ 3-5 ขวบ ซึ่งเด็กควรได้รับการตรวจสายตาอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนเข้าเรียน หากผู้ปกครองหรือคนในครอบครัว เป็นตาบอดสีมาก่อน ก็ควรไปตรวจเช็กสายตาเสมอ เพื่อสังเกตว่าความผิดปกติของสาย อย่างไรก็ตามตาบอดสียังสามารถเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ ดังนั้นหากผู้ปกครอง และเด็ก ๆ สงสัยว่าตนเองเป็นตาบอดสี ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยต่อไป
แม้ว่าอาการ ตาบอดสี จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ผู้ป่วยสามารถใช้แว่นหรือคอนแทคเลนส์เพื่อช่วยให้การมองเห็นสีง่ายขึ้น นอกจากนี้หากผู้ป่วยเป็นตาบอดสี พยายามใช้จดจำสัญลักษณ์ต่าง ๆ หรือใช้การเขียนสีบอกแทน เพื่อช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้นค่ะ ทั้งนี้หากคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นตาบอดสีหรือไม่ ควรรีบพาลูกไปเข้ารับการทดสอบเพื่อวินิจฉัยโรคต่อไปค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคหัด คืออะไร อันตรายหรือไม่ หากลูกเป็นโรคหัดควรทำอย่างไร?
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายอย่างไร เสี่ยงต่อลูกในท้องหรือไม่?
โรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางทางพันธุกรรม สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา