โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบ่อยกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี และมักจะระบาดมากสุดในช่วงฤดูหนาว อีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้ง่าย โดยเป็นการติดต่อผ่านการสัมผัสเอาเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย แม้ว่าเด็กจะเคยป่วยเป็นโรคนี้มาก่อนแล้ว แต่ก็มีโอกาสในการป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสได้ซ้ำเช่นกัน วันนี้เรามีบทความดี ๆ เกี่ยวกับอีสุกอีใสมาฝาก เพื่อให้คุณแม่ได้เข้าใจ และพร้อมรับมือกับโรคติดต่อนี้มากขึ้นค่ะ
โรคอีสุกอีใส คืออะไร?
อีสุกอีใส (Chickenpox) เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่ทำให้ร่างกายเกิดตุ่มนูน หรือตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ ทั่วร่างกาย อีกทั้งยังทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการผื่นคันด้วย อีสุกอีใสเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ง่ายกับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน หรือไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันมาก่อน ดังนั้นคุณแม่จึงควรพาลูกไปฉีดวัคซีน หากพบว่าเขามีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นอีสุกอีใส เพราะโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย และยังแพร่กระจายได้ไวอีกด้วย
โรคอีสุกอีใส เกิดจากอะไร?
โรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อวาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งแพร่กระจายผ่านทางการสัมผัสแผลของผู้ป่วยโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำลาย จาม ไอ หรือการหายใจเอาเชื้อที่ปะปนในอากาศเข้าไป ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการอีสุกอีใสจากการสัมผัสแผลของผู้ป่วยโรคงูสวัดอีกเช่นกัน เพราะโรคนี้เป็นไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส โดยระยะเวลาในการฟักตัวของอีสุกอีใส จะอยู่ในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ ในขณะนี้ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายโรคไปยังผู้อื่นได้ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเป็นอีสุกอีใส จนกว่าจะมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามร่างกายนั่นเอง
กลุ่มเสี่ยงของโรคอีสุกอีใส
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- วัยรุ่น และผู้ใหญ่
- แม่ท้องที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส
- ผู้ที่ใช้ตัวยาสเตอรอยด์ในการรักษา
- เด็กแรกเกิดที่มารดาไม่เคยเป็นอีสุกอีใส หรือได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีโรคอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งหรือมีเชื้อเอชไอวี
อีสุกอีใส อาการเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยอีสุกอีใส จะมีผื่นคันอยู่ประมาณ 10-21 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส หลังจากนั้นจะเกิดแผลพุพองซึ่งมีอาการประมาณ 5-10 วันตามมา นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นการเกิดผื่น เช่น
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- เบื่ออาหาร
- รู้สึกอ่อนเพลีย และไม่สบายตัว
โดยอีสุกอีใสสามารถแบ่งออกได้ 3 ระยะ ดังต่อไปนี้
- ระยะที่ 1 : มีตุ่มชมพู หรือตุ่มแดง ก่อตัวบริเวณผิวหนังในระยะเวลาหลายวัน
- ระยะที่ 2 : มีตุ่มน้ำใส ๆ เกิดขึ้นภายในหนึ่งวัน และเริ่มแตก
- ระยะที่ 3 : เกิดสะเก็ดแผลที่ตุ่มน้ำจากการแตก โดยสะเก็ดเหล่านี้จะใช้เวลาหลายวันกว่าจะจางลง
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใสก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง แต่ส่วนใหญ่แล้วภาวะเหล่านี้มักจะไม่รุนแรง แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาหรือถึงขั้นเสียชีวิตตามมาได้ โดยเฉพาะเด็ก และผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนการป้องกัน อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากมาย ดังต่อไปนี้
- โรคปอดอักเสบ
- โรยเรย์ซินโดรม
- โรคไข้สมองอักเสบ
- ภาวะร่างกายขาดน้ำ
- กลุ่มอาการท็อกสิกซ็อก
- ติดเชื้อจากแบคทีเรียบนผิวหนัง กระดูก เนื้อเยื่อ ข้อต่อ และกระแสเลือด
โรคอีสุกอีใสส่งผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์หรือไม่?
โรคอีสุกอีใส สามารถส่งผลกระทบต่อตัวแม่ และเด็ก โดยคุณแม่ที่ติดเชื้ออีสุกอีใสในช่วงสัปดาห์ก่อนการคลอด หรือหลังจากการคลอด อาจเกิดภาวะที่รุนแรงกับเด็ก โดยเด็กที่เกิดจากแม่ติดเชื้อ จะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ และอาจพิการที่แขนขา นอกจากนี้ยังเกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคอีสุกอีใสที่มีความรุนแรง และเป็นอันตรายถึงขั้นชีวิตต่อแม่ และเด็กได้
การวินิจฉัยอีสุกอีใส
สำหรับการวินิจฉัยโรคอีสุกอีใส แพทย์จะดูจากลักษณะของตุ่มน้ำ และผื่นที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง ร่วมกับการตรวจร่างกาย และอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร และปวดศีรษะ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการออกอย่างชัดเจน ดังนั้นแพทย์จะต้องนำตัวอย่างเชื้อจากตุ่มน้ำบนร่างกายผู้ป่วยไปตรวจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติกว่าเกิดโรคอีสุกอีใสหรือการติดเชื้อชนิดอื่น เพื่อให้ยืนยันว่าผู้ป่วย ป่วยเป็นอีสุกอีใสจริง ๆ
วิธีรักษาอีสุกอีใส
ผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีอาการที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาตัวได้ที่บ้าน แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก แม่ท้อง และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยแพทย์จะรักษาโรคอีสุกอีใสตามอาการที่เกิดกับผู้ป่วย โดยจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาในกลุ่มต้านอักเสบที่ไม่แอสไพริน เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้แพ้ หรือยาทาคาลาไมน์ โลชั่น เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสเพื่อช่วยฆ่าเชื้อ เช่น ยาวาลาไซโคลเวียร์ และยาอะไซโคลเวียร์ เป็นต้น
การป้องกันอีสุกอีใส
วิธีป้องกันโรคอีสุกอีใสที่ดีที่สุด คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส โดยแพทย์จะฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็มให้แก่เด็ก เมื่อเด็กอายุ 1 ขวบ และจะฉีดอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ขวบ แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน จะต้องมีการฉีดวัคซีน 2 เข็มเช่นเดียวกัน โดยจะฉีดวัคซีนเข็มแรกห่างจากเข็มสองประมาณ 28 วัน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรค และความรุนแรงได้มากถึง 90% แต่สำหรับแม่ท้อง หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเข้าฉีด เพราะอาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ง่าย ดังนั้นหากคุณแม่ทราบว่าลูกมีความเสี่ยงในการเป็นโรคอีสุกอีใส ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือชุมชนที่อยู่อาศัยก็ตาม คุณแม่ควรระวังไม่ให้ลูกใช้ของร่วมกับผู้อื่น และพยายามพาลูกหลีกเลี่ยงจากพื้นที่เสี่ยงหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนป้องกัน ถือเป็นวิธีการป้องกันโรคอีสุกอีใสได้ดีที่สุด คุณแม่จึงควรพาลูกไปฉีดหากพบว่าเขามีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา
ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา
รู้ทัน “วัณโรค” โรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา