เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายอย่างไร เสี่ยงต่อลูกในท้องหรือไม่?

ถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่ทำให้คุณแม่ท้องต้องระวังคือภาวะ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะอันตรายที่สามารถส่งผลร้ายต่อลูกน้อย เบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจ 

 1142 views

ถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่ทำให้คุณแม่ท้องต้องระวังคือภาวะ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะอันตรายที่สามารถส่งผลร้ายต่อลูกน้อย เบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ลูกในครรภ์โดยตรง โดยอาจทำให้เด็กพิการหรือถึงชั้นเสียชีวิตด้วยเลยก็ได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรไปฝากครรภ์ เพื่อเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงนี้อย่างใกล้ชิด วันนี้เรามีบทความดี ๆ เกี่ยวกับโรคนี้มาฝาก เพื่อให้คุณแม่ได้พร้อมรับมือค่ะ

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร?

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เป็นภาวะที่แม่ท้องมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพราะร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอ ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ แต่โดยทั่วไปแล้ว มักเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของการตั้งท้อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่ และเด็กในครรภ์ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมาได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์สามารถควบคุมได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และรับประทานยาตามที่แพทย์ ก็จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

เบาหวานขณะตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร?

เบาหวานขณะตั้งครรภ์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้แม่ท้องเกิดการต่อต้านอินซูลิน ที่เป็นฮอร์โมนสำคัญในการผลิตเซลล์ในตับอ่อน และช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานกลูโคสได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากร่างกายมีระดับอินซูลินที่ต่ำหรือต่อต้าน ก็อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ดังนี้

  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน : แม่ท้องที่มีน้ำหนักเกิน โดยมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ที่ 30 ขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • เคยคลอดทารกน้ำหนักตัวเยอะมาก่อน : หากคุณแม่เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4 กิโลกรัม ก็อาจเสี่ยงกับการเผชิญภาวะนี้ได้
  • มีโรคประจำตัว : หากคุณแม่มีญาติที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 หรือเคยมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
  • ชาติพันธุ์ : ผู้หญิงเอเชีย แอฟริกัน อเมริกันอินเดียน และละตินอเมริกัน มักพบภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มากกว่าผู้หญิงเชื้อชาติอื่น

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีอาการอย่างไร?

อาการของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของการตั้งท้อง แต่คุณแม่บางคนอาจต้องเผชิญกับภาวะนี้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยอาการที่เกิดส่วนใหญ่นั้น จะไม่แสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่แพทย์จะตรวจพบภาวะนี้ได้จากการตรวจระดับในเลือด คุณแม่บางคนอาจมีอาการกระหาย ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ รู้สึกเหนื่อย และปากแห้ง เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง บางอาการจึงอาจคล้ายกับอาการของคนท้อง คุณแม่ส่วนใหญ่จึงไม่ทันสังเกต ดังนั้นคุณแม่จึงควรไปตรวจสุขภาพ และปรึกษากับแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

ผลกระทบต่อคุณแม่

  • ครรภ์เป็นพิษ : เบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอันตรายแก่แม่ และเด็กเป็นอย่างมาก
  • ภาวะน้ำคร่ำมาก : อาจส่งผลให้เกิดภาวะการคลอดกำหนด เพราะปริมาณน้ำคร่ำในมดลูกมีมากเกินไป และอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ในระหว่างคลอดตามมาได้
  • เบาหวานหลังคลอด : คุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจมีโอกาสเป็นเบาหวานอีกครั้งเมื่อตั้งครรภ์ลูกคนต่อไป รวมถึงยังมีโอกาสป่วยเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 หลังจากคลอดอีกด้วย

ผลกระทบต่อลูกในครรภ์

  • คลอดก่อนกำหนด : คุณแม่ที่คลอดลูกในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 อาจทำให้ลูกต้องเผชิญกับภาวะหายใจลำบาก และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าปอดของทารกจะพัฒนาอย่างเต็มที่ นอกจากนี้เด็กที่คลอดจากแม่ที่เป็นภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจต้องเผชิญกับปัญหาหายใจลำบากด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะคลอดตามปกติก็ตาม
  • มีน้ำหนักตัวมาก : ด้วยระดับน้ำตาลที่สูงของคุณแม่ตั้งครรภ์ ทำให้ตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้น ส่งผลเด็กมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ จนอาจส่งผลให้ยากลำบากในการคลอด ซึ่งหากลูกมีภาวะนี้ แพทย์จะต้องประเมินให้ผ่าคลอด เพราะอาจเสี่ยงต่อช่องคลอดฉีกขาดได้
  • ตัวเหลือง : ด้วยระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำ ทำให้เด็กเกิดภาวะตัวเหลืองหลังคลอด จึงต้องเข้ารับการรักษาต่อไปในโรงพยาบาล
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ : ทารกบางคนต้องมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะร่างกายผลิตอินซูลินมากจนเกินไป และอาจมีอาการชักตามมาได้ ทั้งนี้การให้นมลูก และการฉีดกลูโคสทางหลอดเลือด ก็สามารถปรับระดับน้ำตาลในปกติได้

เบาหวานขณะตั้งครรภ์

การรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์

สำหรับแนวทางการรักษาภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ผู้ป่วยจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อสุขภาพของตัวเอง และลูกน้อย และเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อีกด้วย โดยวิธีการรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีดังนี้

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด : สำหรับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยจะต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลประมาณ 4-5 ครั้งต่อวัน โดยต้องตรวจในช่วงก่อนรับประทานอาหารเช้า และหลังมื้ออาหารทุกครั้ง เพื่อดูว่าระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติหรือไม่
  • ออกกำลังกาย : การออกกำลังกายเป็นประจำ สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพราะเป็นการกระตุ้นน้ำตาลกลูโคสให้ผลิตเป็นพลังงาน และยังช่วยลดภาวะการดื้อต่ออินซูลินอีกด้วย ทั้งนี้การออกกำลังกายสามารถช่วยลดอาการเจ็บปวดจากการตั้งครรภ์ได้ แต่ก็ต้องปรึกษากับแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของคุณแม่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ : การบริโภคผัก ผลไม้ และธัญพืชเป็นประจำ สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพราะอาหารเหล่านี้มีสารอาหาร และเส้นในที่สูง และยังมีน้ำตาลที่น้อย มีแคลอรีที่ต่ำจึงช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ ทั้งนี้คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาล และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
  • รักษาด้วยยา : การรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาฉีดอินซูลิน เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ : คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจดูว่าพัฒนาการทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตเป็นปกติหรือไม่ หากคุณแม่เกิดภาวะการคลอดช้ากว่ากำหนด แพทย์อาจประเมินให้ผู้ป่วยคลอดบุตรให้เร็วขึ้นเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาได้

การป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์

สำหรับการป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจไม่สามารถป้องกันได้อย่าง 100% แต่คุณแม่สามารถทำตามแนวทางการป้องกันดังต่อไปนี้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ลดน้ำหนัก และควบคุมไม่ให้น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่อาจเพิ่มให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินได้

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวคุณแม่ และลูกในครรภ์ได้ อีกทั้งยังเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอื่น ๆ ตามมาได้เช่นกัน ดังนั้นคุณแม่ควรดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างดีตั้งแต่เริ่มต้นตั้งครรภ์ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง และอันตรายที่อาจตามมาในช่วงตั้งครรภ์ได้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ท้องนอกมดลูก เกิดจากอะไร อาการแบบไหนเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก?

โฟลิก สำคัญต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างไร? คนท้องเริ่มกินโฟลิกได้ตอนไหน

โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม สาเหตุ อาการ และการป้องกัน

ที่มา : 1, 2, 3