โฟลิก สำคัญต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างไร? คนท้องเริ่มกินโฟลิกได้ตอนไหน

สำหรับคุณแม่ที่กำลังเตรียมตัวตั้งครรภ์ หรือคุณแม่ที่อยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์คงได้ยินเกี่ยวกับ “โฟลิก” มากันอย่างหนาหูว่ามีประโยชน์ต่อก 

 1575 views

สำหรับคุณแม่ที่กำลังเตรียมตัวตั้งครรภ์ หรือคุณแม่ที่อยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์คงได้ยินเกี่ยวกับ “โฟลิก” มากันอย่างหนาหูว่ามีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก ดังนั้นวันนี้เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโฟลิคที่มีความสำคัญต่อแม่ท้องมาให้ทุกคนได้อ่านไปพร้อมกันค่ะ

โฟลิก คืออะไร ?

กรดโฟลิก โฟลิก หรือเรียกอีกอย่างว่า โฟเลต เป็นวิตามินบี 9 ในรูปแบบหนึ่ง ที่บทบาทในการช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงและช่วยให้ท่อประสาทของทารกในครรภ์พัฒนาไปสู่การสมองและไขสันหลังได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้กรดโฟลิค เป็นกรดที่มีประโยชน์ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ทานโฟลิค 400 ไมโครกรัมต่อวัน


โฟลิก

 

โฟลิก กินตอนไหน

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือกำลังเตรียมตัวที่จะตั้งครรภ์หลายท่านมักมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเริ่มทานโฟลิค ซึ่งในความจริงแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถเริ่มทานโฟเลตได้ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ตลอดจนสิ้นสุดการตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ในช่วงที่สำคัญที่สุดสำหรับการเสริมสร้างพัฒนาการของทารกคือการตั้งครรภ์ในช่วง 3-4 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้หญิงที่เริ่มทานโฟลิคก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 ปี จะสามารถช่วยลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดถึง 50% อีกด้วย

เราต้องการกรดโฟลิกต่อวัน มากแค่ไหน?

ปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนอยู่ที่ประมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งในแต่ละวันเราจะสามารถได้รับโฟเลตจากการรับประทานอาหารต่าง ๆ ทั้งนี้สำหรับคุณแม่ที่กำลังอยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์อาจมีความจำเป็นที่จะต้องทานโฟลิคให้มากกว่าปกติ เพราะให้โฟเลตนั้นเพียงพอสำหรับร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยความต้องการของคุณแม่แต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์  มีดังต่อไปนี้

  • การตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ต้องการโฟลิก ประมาณ 400 ไมโครกรัม
  • การตั้งครรภ์ไตรมาสที่สองและไตรมาสที่ 3 คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการโฟเลต 600 ไมโครกรัม
  • คุณแม่หลังคลอด และให้นมบุตร ต้องการโฟลิก 500 ไมโครกรัม

กรดโฟลิก มีประโยชน์ต่อแม่ท้อง อย่างไร?

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่มีกรดโฟลิคในร่างกายที่มากเพียงพอจะส่งผลทำให้ท่อประสาทของทารกในครรภ์นั้นอาจมีการบกพร่องส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่เรียกว่า ท่อประสาทบกพร่อง หรือ Neural tube defect (NTD) และอาการอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เช่น ความบกพร่องของไขสันหลัง หรือกระดูกสันหลัง (Spina Bifida) หรือ ภาวะที่ไม่มีสมองและกะโหลกศีรษะ  (Anencephaly) ปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft lip and palate) คลอดก่อนกำหนด (Premature birth) น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ (Low birth weight) และแท้งบุตร (Miscarriage) เป็นต้น นอกจากนี้ โฟลิคยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะอื่น ๆ ได้ ดังนี้

  • โรคหัวใจ (Heart disease)
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • มะเร็งบางชนิด (Some types of cancers)
  • โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
  • ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ อาทิ ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) เป็นต้น


คนท้องเริ่มกินโฟลิกได้ตอนไหน

กรดโฟลิกมากเกินไป เป็นอันตรายหรือไม่ ?

ถึงแม้ว่ากรดโฟเลตนั้นจะสำคัญต่อร่างกายของเรามากเพียงใด แต่การที่เรามีโฟเลตในร่างกายมากเกินไปนั้นส่งทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพได้ การวิจัยหนึ่งพบว่า การได้รับโฟเลตมากเกินไปส่งผลกระทบต่อร่างกายดังต่อไปนี้

  • การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์บกพร่อง
  • ความเสี่ยงเกิดโรคในวัยเด็ก อาทิ โรคหอบหืด และออทิสติก เป็นต้น
  • ส่งเสริมการเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิด

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือไม่ก็ควรรับประทานอาหารที่มีโฟลิคแต่พอดี เพราะว่าสุดท้ายแล้ว จากการที่ต้องการบำรุงให้ลูกน้อยในครรภ์มีการเจริญเติบโตที่ดี และสุขภาพแข็งแรง อาจกลายเป็นอันตรายที่ทำให้ลูกน้อยของดรามีปัญหาด้านสุขภาพได้

บทความที่น่าสนใจ : ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1


วิดีโอจาก : theAsianparent


5 อาหารที่มีโฟลิกสูง เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง

วิตามินบี 9 หรือโฟเลต เป็นวิตามินที่สามารถละลายได้ในน้ำ ซึ่งสำคัญต่อร่างกายของมนุษย์ไม่ว่าคุณจะเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันคือ 400 ไมโครกรัมต่อวัน โดยอาหารที่มีโฟเลตอยู่จำนวนมาก และเหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มีดังต่อไปนี้


1. พืชตระกูลถั่ว

หมายรวมถึง ถั่วฝัก (Beans) เมล็ดถั่ว (Peas) และ ถั่วเลนทิล (Lentil) ซึ่งถั่วที่กล่าวมากนั้นถือว่าเป็นแหล่งของโฟเลตอย่างยอดเยี่ยม โดยแต่ละประเภทนั้นมีปริมาณที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถั่วแดง 1 ถ้วย จะมีโฟลิค 131 ไมโครกรัม หรือประมาณ 33% ของปริมาณที่ต้องได้รับต่อวัน แต่ในขณะเดียวกัน ถั่วเลนทิล 1 ถ้วย มีโฟเลต 358 ไมโครกรัม ซึ่งคิดเป็น 90% เลยทีเดียว

2. หน่อไม้ฝรั่ง

เป็นผักที่มีวิตามินและแร่ธาตุสูง รวมทั้งโฟเลตจำนวนมาก โดยหน่อไม้ฝรั่งปรุงสุก 1 ถ้วย มีโฟเลตประมาณ 134 ไมโครกรัม ทั้งนี้ยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย รวมถึง ยังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ที่ดีต่อสุขภาพของหัวใจอีกด้วย

3. ผักใบเขียว

อาทิ ผักโขม คะน้า ผักกาด กะหล่ำดาว และบร็อคโคลี เป็นต้น นอกจากนี้ในผักใบเขียวยังมีไฟเบอร์ วิตามินเค และวิตามินเอสูงที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนักได้เป็นอย่างดี

โฟลิก (Folic)

4. ไข่

เป็นแหล่งสารอาหารที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย ซึ่งไข่ 1 ฟองมีโฟเลตมากถึง 22 ไมโครกรัม หรือประมาณ 6% ของปริมาณที่ต้องได้รับต่อวัน ทั้งนี้ไข่ยังอุดมไปด้วยโปรตีน ซีลีเนียม ไรโบฟลาวิน และวิตามินบี 12 นอกจากนี้ยังมีลูทีมและซีแซนทีนสูง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติของดวงตา

5. ผลไม้รสเปรี้ยว

อาทิ ส้ม มะนาว ราสเบอร์รี่ เกรฟฟรุ๊ต และสตรอเบอร์รี่ เป็นต้น นอกจากนี้ผลไม้รสเปรี้ยวยังอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันโรค ลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับอ่อน

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับสาระความรู้เรื่อง กรดโฟลิก ประโยชน์ และอาหารที่มีประโยชน์ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ เกร็ดความรู้เล็ก ๆ ของคุณแม่ที่รู้ไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย นอกจากจะได้รู้ว่าสารอาหารใดบ้างที่สำคัญต่อลูกน้อยในครรภ์แล้ว ยังได้ทราบถึงประโยชน์ของอาหารอีกด้วย ซึ่งเว็บไซต์ของเรามีบทความเกี่ยวกับแม่และเด็กอีกมากมายที่จะคอยเป็นเพื่อนช่วยแก้ปัญหาให้กับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกท่าน โดยสามารถดูหัวข้ออื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ด้านล่าง

บทความที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ท้องนอกมดลูก เกิดจากอะไร อาการแบบไหนเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก?

คนท้องกินโยเกิร์ตได้ไหม ช่วยบำรุงครรภ์ได้จริงหรือไม่?

ที่มา : 1, 2, 3, 4