ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ต้องขอแสดงความยินดีกับว่าที่คุณแม่กันก่อนเลยนะคะ เชื่อว่า ว่าที่คุณแม่หลายท่านต้องกำลังตื่นเต้นกับการมีลูกน้อยที่จะได้เจอกันในอีก 9 เดือ 

 1977 views

ต้องขอแสดงความยินดีกับว่าที่คุณแม่กันก่อนเลยนะคะ เชื่อว่า ว่าที่คุณแม่หลายท่านต้องกำลังตื่นเต้นกับการมีลูกน้อยที่จะได้เจอกันในอีก 9 เดือนข้างหน้า อย่างแน่นอน! เราจะมาเรียนรู้และทำความเข้าใจพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ ในระยะสัปดาห์แรก ข้อมูลความรู้ ข้อควรปฏิบัติของคุณแม่ตั้งครรภ์ระยะ 1 สัปดาห์จะเป็นอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 – 42 สัปดาห์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 1-42 สัปดาห์


ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์

ท้อง 1 สัปดาห์นับอย่างไร

ต้องบอกก่อนเลยว่าการตั้งครรภ์เพียง 1 สัปดาห์นั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์อย่างเป็นทางการเสียทีเดียว เพราะการตั้งครรภ์ใน 1 สัปดาห์แรกจะอยู่ในช่วงระหว่างที่คุณแม่ยังคงมีรอบเดือน และเริ่มที่จะตั้งครรภ์ลูกน้อยโดยสมบูรณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ถัดมา แต่โดยทั่วไปแล้ว ทางสูตินรีแพทย์จะเริ่มนับวันแรกที่รอบเดือนมาครั้งล่าสุด เพื่อระบุระยะเวลาของการตั้งครรภ์ได้อย่างชัดเจน และถูกต้องแม่นยำ

ทารกในครรภ์อายุ 1 สัปดาห์ เป็นอย่างไรบ้าง

ช่วง 1 สัปดาห์แรกนั้น อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ายังไม่ถือเป็นการตั้งครรภ์อย่างเป็นทางการ เพราะยังคงอยู่ในช่วงที่คุณแม่มีประจำเดือนอยู่ ซึ่งยังไม่เกิดการปฏิสนธิ สำหรับการตกไข่และการปฏิสนธินั้นจะเกิดขึ้นในอีกประมาณ 2 สัปดาห์ถัดไป จึงเรียกได้ว่าระยะการตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์แรกนั้น เป็นการตั้งครรภ์ที่ยังไม่มีทารกในครรภ์ ฉะนั้นหากใช้เครื่องตรวจครรภ์ทั่วไปในช่วงนี้อาจจะยังไม่ขึ้น 2 ขีดชัดเจน ต้องลองตรวจดูหลาย ๆ ครั้ง หรือตรวจกับคุณหมอที่มีเครื่องมือและวิธีการที่แม่นยำกว่านั่นเอง

นับวันตกไข่ ทำอย่างไร

การนับวันตกไข่โดยพื้นฐานจะมีหลักการนับดังนี้คือ ให้นับ 2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนรอบใหม่จะมา โดยวันที่ตกไข่นั้น จะอยู่ประมาณช่วงวันที่ 14 โดยนับตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมา โดยมีระยะเวลาที่เหมาะสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ประมาณวันที่ 12 ซึ่งอสุจิจะมีชีวิตรอผสมกับไข่ได้ 2 วัน อย่างไรก็ตาม หลักการนับวันตกไข่นี้จะได้ผลที่ดีต่อเมื่อว่าที่คุณแม่มีรอบเดือนที่มาสม่ำเสมอใน 28 วันนั่นเอง


นับวันตกไข่ ทำอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงของ ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ มีอะไรบ้าง

เบื้องต้นการตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์เป็นระยะครรภ์ที่อ่อนมาก จนแทบไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เด่นชัด แต่จะมีอาการที่สังเกตได้คือ อยากอาเจียน หรือรับรู้ถึงรสชาติอาหารที่เปลี่ยนไป และอาการอื่น ๆ อีกมากมาย เรามาดูกันว่า มีอาการที่น่าสังเกตสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ อย่างไรบ้าง

มีเลือดซึมจางๆจากช่องคลอด

ในช่วงแรกอาจจะสังเกตเห็นว่ามีเลือดซึมจาง ๆจากช่องคลอด จะเป็นลักษณะสีแดงอ่อนๆ หรือสีชมพูไปจนถึงสีน้ำตาล ซึ่งเลือดตรงนี้เกิดจากการฝังตัวของไข่ที่ผนังมดลูก ไม่ใช่เลือดประจำเดือนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากมีเลือดออกมาปริมาณมากคล้ายประจำเดือน ควรพบแพทย์ทันทีเพื่อวินิจฉัยและหาสาเหตุ หากปล่อยไว้อาจร้ายแรงถึงขั้นแท้งลูกก็เป็นได้

ตะคริว

อาการเป็นตะคริวจะเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากการยึดผนังมดลูกของตัวอ่อน ทำให้เกิดอาการเป็นตะคริวที่บริเวณหน้าท้อง อุ้งเชิงกราน หรือช่วงเอว ซึ่งคุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะอาการนี้จะหายไปเองภายใน 2 – 3 วันค่ะ

ตกขาว

ในช่วงนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์จะมีอาการตกขาวมากกว่าปกติ ซึ่งคุณแม่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ เพราะไม่ใช่สัญญาณอันตรายใด ๆ แต่เป็นอาการปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่พบเจอได้เลย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายที่สูงขึ้น แต่อยากให้คุณแม่สังเกตอาการตกขาวว่ามีสีหรือกลิ่นเป็นปกติหรือไม่ หากตกขาวมีสีอันไม่พึงประสงค์ อย่างเช่น สีเขียว หรือ สีเหลือง หรือมีกลิ่นเหม็น ให้คุณแม่รีบปรึกษาแพทย์เพื่อเช็กความผิดปกติในทันทีค่ะ


ตกขาว

อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น

ในช่วงนี้คุณแม่อาจมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น หรือเป็นอาการไข้อ่อน ๆ รู้สึกรุ่มร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว ซึ่งอาการนี้พบได้ทั่วไปและสามารถดูแลตนเองได้เบื้องต้นง่าย ๆ เช่นการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำวันละ 2 ลิตร เพื่อให้ร่างกายสดชื่นมากขึ้น อาการไข้หรือความร้อนในร่างกายจะบรรเทาลงไปเองในไม่ช้าค่ะ

ท้องอืด

อาการท้องอืดก็เป็นอีกอาการที่พบได้ เนื่องจากความร้อนในร่างกายที่สูงขึ้น เกิดลมในท้อง ทำให้คุณแม่มีอาการท้องอืดได้นั่นเอง ตรงนี้สามารถดูแลและบรรเทาอาการง่าย ๆ ได้ โดยการดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อปรับสมดุลและทำให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้น แนะนำว่าให้คุณแม่เน้นดื่มน้ำอุณหภูมิห้องจะดีที่สุด

ปัสสาวะบ่อย

อาการปัสสาวะบ่อยเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ เนื่องจากฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงบวกกับการขยายตัวของมดลูกไปเบียดกับกระเพาะปัสสาวะ รวมทั้งมีปริมาณเลือดในร่างกายมากขึ้นทำให้ไตทำงานหนักขึ้นด้วย ส่งผลให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อยและถี่กว่าปกติ อย่างไรก็ตามถึงจะมีการปัสสาวะบ่อยขึ้น คุณแม่ก็ไม่ควรมองข้ามการดื่มน้ำในแต่ละวันให้เยอะ ๆ นะคะ

รับรสชาติอาหารผิดเพี้ยน

ในช่วงนี้คุณแม่จะค่อนข้างไวต่อกลิ่นและรสชาติอาหารมาก ๆ โดยเฉพาะรสโลหะในปาก ซึ่งทำให้คุณแม่พะอืดพะอม ทานอะไรไม่ได้ หรือทานได้น้อย ในส่วนนี้ต้องระวังในเรื่องของน้ำหนักที่จะลดลงตามมา อย่างไรก็ตามคุณแม่ก็จำเป็นต้องทานอาหารให้เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งอาจจะต้องจัดโปรแกรมการทานอาหารให้เข้ากับคุณแม่ เช่น ทานทีละน้อย แต่ทานบ่อย ๆ เน้นอาหารที่ให้พลังงาน โปรตีน แคลเซียม เกลือแร่ หรือหาข้อมูลในเรื่องของการกินวิตามินเสริม เพื่อบำรุงให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน และสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้แพทย์จัดวิตามินที่เหมาะสมให้กับคุณแม่ได้ค่ะ


อาการพะอืดพะอม

ในช่วงสัปดาห์แรกนี้คุณแม่จะเริ่มมีอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้ อยากอาเจียน เกิดความไวต่อสัมผัสมากขึ้น ทั้งในเรื่องของกลิ่น รสชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการแพ้ท้อง และอาจจะรุนแรงมากขึ้นในสัปดาห์ถัด ๆ ไป ตรงนี้คุณแม่ต้องเตรียมตัวรับมือกับอาการที่จะเกิดขึ้นในช่วงถัดไปไว้ เช่นการดูแลจัดสรรในเรื่องอาหารการกิน และพักผ่อนให้เพียงพอ


ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์

ตัวเริ่มบวมขึ้น

เพราะฮอร์โมนของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้คุณแม่จะเริ่มตัวบวมขึ้น แต่ในช่วงนี้จะบวมขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าไม่ได้สังเกตอาจไม่รู้เลย และการตัวบวมช่วงนี้ก็ยังไม่ได้ส่งผลต่อน้ำหนักตัวเท่าไรนัก เพียงแค่ภายนอกดูมีน้ำมีนวลมากขึ้น และยังส่งผลต่อผิวพรรณของคุณแม่ที่จะเปล่งปลั่งมากขึ้นอีกด้วย


อารมณ์หงุดหงิดง่าย

จากการที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์ได้เช่นกัน เหมือนผู้หญิงในช่วงวันนั้นของเดือนมีอาการหงุดหงิดง่ายฉันใด คุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ก็หงุดหงิดง่ายฉันนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่จะพบอาการหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ตรงนี้อาจต้องให้คนรอบข้างเข้าใจในสถานการณ์และดูแลจิตใจของคุณแม่ให้ดี

อาการต่าง ๆ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในคุณแม่ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์นี้ อาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน และระดับความรุนแรงของคุณแม่แต่ละคนก็มีความแตกต่างกันด้วย อย่างไรก็ตามคุณแม่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ และเตรียมตัวตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นี้ไว้ให้ดีที่สุดนะคะ

คัดตึงเต้านม

การตั้งครรภ์ทำให้หน้าอกของคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งช่วงแรกนี้ก็จะค่อย ๆ ขยาย ทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บหน้าอก คัดตึงเต้านม รู้สึกไม่สบายตัวเวลาสวมใส่ชุดชั้นใน และเส้นเลือดบริเวณเต้านมจะเข้มขึ้นเป็นเหมือนตาข่าย เป็นการขยายใหญ่เพื่อรองการให้นมลูกน้อยนั่นเอง



คัดตึงเต้านม


เคล็ดลับสำหรับการดูแลของคุณแม่ ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์

ในช่วงเวลาตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์นี้เป็นช่วงที่ต้องดูกันเป็นพิเศษหน่อยเพื่อการเจริญเติบโตของลูกน้องอย่างสมบูรณ์ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและอาการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ โดยการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ ในช่วงนี้นั้น ควรทำอย่างไร และควรระวังอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

ฝากครรภ์ทันที

หากคุณแม่รู้ตัวแล้วว่าตั้งครรภ์ โดยการตรวจด้วยเครื่องตรวจ หรือหากมีอาการที่คุณแม่สงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์​แล้วนั้น ให้เข้ารับการตรวจจากคุณหมอ และฝากครรภ์ทันที โดยคุณหมอจะตรวจร่างกายอย่างละเอียด และให้คุณแม่บอกอาการของตนเอง หากมีข้อสงสัยหรืออยากปรึกษาคุณหมอเรื่องไหน ก็สามารถปรึกษาได้เลย เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องและเหมาะสมในระหว่างการตั้งครรภ์

รวบรวมข้อมูลประวัติ ครอบครัวของคุณแม่และคุณพ่อ

การรวบรวมประวัติข้อมูลสุขภาพของทั้งครอบครัวคุณพ่อและคุณแม่เป็นสิ่งที่ควรทำไว้ เพราะข้อมูลนี้จะมีประโยชน์กับคุณหมอมาก ๆ ซึ่งจะทำให้สามารถเช็กได้ว่าครอบครัวของคุณพ่อและคุณแม่นั้นมีประวัติเป็นโรคประจำตัว ที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หรือไม่ เพื่อให้สามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าลูกน้อยนั้น จะได้รับการถ่ายทอดโรคประจำตัวไปหรือเปล่า และหาแนวทางการป้องกันการโรคนั้นกับลูกน้อยได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ


การออกกำลังกาย

เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่าคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ไม่มีข้อห้ามไม่ให้ออกกำลังกายค่ะ แต่การออกกำลังกายนั้น ควรทำอย่างเหมาะสม ซึ่งการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมนั้น ยังมีประโยชน์ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ป้องกันภาวะเบาหวาน ลดความดัน ช่วยลดอาการปวดหลัง และช่วยป้องกันการพักฟื้นหลังคลอดที่นานเกินไปอีกด้วย ซึ่งการออกกำลังกายนั้น ควรออกกำลังกายรูปแบบแอโรบิกเบา ๆ เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ โยคะท่าง่าย ๆ สำหรับการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ จะเป็นการออกกำลังกายที่มีแรงปะทะ หรือ ใช้แรงมาก คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเทรนเนอร์ให้ละเอียดก่อนเริ่มออกกำลังกาย


ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์

การทานวิตามินเสริม

การทานวิตามินเสริมนั้น จะช่วยบำรุงร่างกายคุณแม่ ในส่วนที่ขาดสารอาหารต่าง ๆ ไป หรือมีไม่มากเพียงพอ จากการที่คุณแม่มีสภาวะเบื่ออาหาร ทานอะไรไม่ค่อยได้ ทำให้การทานอาหารปกติในชีวิตประจำวันนั้น ค่อนข้างยากลำบาก ฉะนั้นการทานวิตามินเสริม จะเป็นตัวช่วยที่ดี ที่จะทำให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ เพียงพอต่อร่างกาย และส่งต่อให้ลูกน้อยได้อย่างเหมาะสม สารอาหารที่จำเป็น อย่างเช่น กรดโฟลิก ที่จะช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิด ส่งผลต่อสมอง หัวใจ และไขสันหลังของลูกน้อย และวิตามินที่มีสารอาหารที่จำเป็นอย่าง แคลเซียม ธาตุเหล็ก และวิตามินบี 12 อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่คุณหมอจะได้จัดสรรวิตามินหรืออาหารเสริมที่เหมาะสมกับคุณแม่แต่ละท่านไปนั่นเอง

ทานอาหารเพื่อสุขภาพ

ถึงจะทานวิตามินเสริมเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน แต่คุณแม่ก็ไม่ควรมองข้ามอาหารในชีวิตประจำวันที่รับประทาน ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการ ทานให้ครบ 5 หมู่สามมื้อ เน้นการทาน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม ผักใบเขียว ผลไม้ต่าง ๆ

พักผ่อนให้เพียงพอ

การพักผ่อนให้เพียงพอนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่ต้องปฏิบัติ หากคุณแม่นอนดึก พักผ่อนน้อย อาจส่งผลให้ร่างกายมีความทรุดโทรม เหนื่อยล้าง่าย และสามารถส่งผลต่ออารมณ์ของคุณแม่ได้อีกด้วย ฉะนั้นการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะทำให้คุณแม่มีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสดชื่นสดใส มีแรง และยังสามารถช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์นี้ได้ด้วย


ท้อง 1 สัปดาห์

หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นอันตราย

  • อาหารดิบ ช่วงนี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรืออาหารที่ปรุงไม่สุก เพราะอาจทำให้ลูกน้อยในครรภ์เสี่ยงเกิดโรค Listeriosis และ Toxoplasmosis ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต ส่งผลให้พิการแต่กำเนิด หรือแท้งบุตรได้เลยนั่นเอง
  • อาหารทะเลบางชนิด คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเลบางชนิด ที่มีสารปรอทสูง เช่น ปลา Mackerel และปลา Tilefish
  • นมและน้ำผลไม้ที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งการที่ยังไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์นั้น อาจมีแบตทีเรียในนมหรือน้ำผลไม้นั้นได้ คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยง และเลือกบริโภคนมหรือน้ำผลไม้ ที่มีการผ่านการพาสเจอร์ไรซ์อย่างชัดเจน และเชื่อถือได้
  • คาเฟอีน คุณแม่สามารถทานกาแฟ หรือโกโก้ได้นะคะ แต่ควรจำกัดอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมไม่เกิน 200 มล./วัน ซึ่งคาเฟอีน จะมีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจลูกน้อย และทำให้เกิดความเสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และอาจสูญเสียแคลเซียมและธาตุเหล็กได้
  • ควบคุมน้ำหนัก สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 1 ควรทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมปกติทั่วไป ไม่เป็นต้องทานอาหารมากขึ้นเพื่อให้พลังงานหรือแคลอรี แต่ถ้าหากมีอาการอยากอาหารเป็นพิเศษ ก็ควรควบคุมอาหารการกินไว้เพียงแค่พอสมควร เพราะการทานอาหารมากเกินไป อาจทำให้น้ำหนักขึ้น และหากคุณแม่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ขณะตั้งครรภ์ จะส่งผลเสียให้ลูกน้อยในครรภ์เกิดโรคอ้วนได้นั่นเอง
  • งดทำความสะอาดกระบะทรายแมว สำหรับคุณแม่สายทาสแมว ต้องระวังในการทำความสะอาดกระบะทรายแมวตั้งแต่ช่วงนี้เลยนะคะ อาจจะวานให้คุณสามี หรือคนรอบข้างช่วยทำแทนไปก่อน เพราะในของเสียแมวนั้นมีปรสิต Toxoplasma gondii ซึ่งจะเป็นอันตรายถึงขั้นแท้งบุตรได้ หรืออาจทำให้ทารกที่เกิดมามีปรสิตอยู่ในร่างกายได้เลย
  • งดการนวด การฝังเข็ม ซาวน่าหรืออบไอน้ำ เพื่อความปลอดภัยในระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่ควรงดการนวด การฝังเข็มและซาวน่าอบไอน้ำกันก่อนนะคะ เพื่อหลีกเลี่ยงการแท้งบุตร หรือหากคุณแม่ต้องการฝังเข็ม ก็ควรจะเช็กให้ดีว่าพนักงานได้ผ่านการอบรมสำหรับการฝังเข็มคนท้องหรือเปล่า เพราะมีบางจุดที่ไม่สามารถฝังเข็มได้นั่นเอง และสำหรับการซาวน่าหรืออบไอน้ำนั้น ก็ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน เพราะในร่างกายของคุณแม่ก็ค่อนข้างมีอุณหภูมิที่สูงอยู่แล้ว หากไปรับการซาวน่าหรืออบไอน้ำอาจทำให้อุณหภูมิสูงยิ่งขึ้น ส่งผลร้ายถึงขั้นแท้งบุตรได้ อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสแรกนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงกันไปก่อนนะคะ
  • งดใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิด ในผลิตภัณฑ์บางชนิดอย่างเช่นสบู่ ครีม ยาใช้ภายนอก น้ำยาต่าง ๆ อาจมีสารเคมีบางชนิดที่ทำลายเซลล์เม็ดเลือดได้ ดังนั้นคุณแม่ควรอ่านฉลากสินค้าให้ละเอียดก่อนใช้ หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่นผู้จำหน่าย แพทย์ และเภสัชกร เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อลูกน้อยในครรภ์นั่นเอง
  • แอลกอฮอล์ เป็นสิ่งที่ควรงด และหลีกเลี่ยงมาก ๆ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์นั้นให้โทษที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งสามารถทำให้แท้งได้ หรือทำให้ลูกน้อยในครรภ์ มีภาวะพิการ เกิดความบกพร่อง ทางสติปัญญา และพฤติกรรม เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ควรงดแอลกอฮอล์ไปก่อนนะคะ

คนท้องไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์

หวังว่าข้อมูลในบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่มือใหม่หรือคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ เพื่อเป็นข้อมูลความรู้ในเรื่องการเจริญเติบโตของลูกน้อย อาการความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และข้อควรปฏิบัติเคล็ดลับต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจในสถานการณ์และเตรียมตัวรับมือ ไว้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ทุกท่านด้วยนะคะ หากต้องการข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่และลูกน้อยสามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของเราได้ในเว็บไซต์นี้ค่ะ

อ่านเรื่องราวที่น่ารู้ในสัปดาห์ถัดไปของการตั้งครรภ์ได้ที่: ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์



บทความที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ที่มา : 1, 2, 3, 4