ตั้งครรภ์ 1 – 42 สัปดาห์ ติดตามอาการคนท้อง และพัฒนาการทารกในครรภ์

สำหรับว่าที่คุณแม่ที่กำลังวางแผนการมีบุตร หรือกำลังมีเจ้าตัวน้อยอยู่ในท้องแล้ว คงมีความสงสัย และมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์อยู่ใ 

 1662 views

สำหรับว่าที่คุณแม่ที่กำลังวางแผนการมีบุตร หรือกำลังมีเจ้าตัวน้อยอยู่ในท้องแล้ว คงมีความสงสัย และมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์อยู่ในใจอย่างแน่นอน ในวันนี้เราจะมาตอบคำถามต่าง ๆ ที่คุณแม่สงสัย ไม่ว่าจะเป็นอาการคนท้องต่าง ๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือพัฒนาการต่าง ๆ ของเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในครรภ์ ด้วยความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ตลอด 3 ไตรมาส 42 สัปดาห์ มาดูกันเลยดีกว่า

การตั้งครรภ์ อาการคนท้องไตรมาสที่ 1

อาการคนท้องไตรมาสที่ 1



โค้งแรกของการตั้งครรภ์นั้น เริ่มต้นตั้งแต่การตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 14 ในช่วงนี้เราจะเรียกว่า การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 ในช่วงนี้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงกับร่างกาย เกิดอาการคนท้องที่สร้างความแปลกใจให้กับคุณแม่หลากหลายอย่าง เช่นรู้สึกคลื่นไส้ หน้าอกขยาย หรืออาการปวดหลัง เป็นต้น และในช่วงนี้ เจ้าตัวน้อยในครรภ์ก็เริ่มมีพัฒนาการที่น่าสนใจเกิดขึ้นเช่นกัน


ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์

การตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์นั้น อาจจะยังไม่ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์อย่างเป็นทางการเสียเต็มตัว เพราะจริง ๆ แล้วต้องรออีก 1-2 สัปดาห์กว่าที่ร่างกายคุณแม่จะเริ่มตั้งครรภ์ลูกน้อยอย่างสมบูรณ์ ในช่วงนี้คุณแม่อาจจะยังมีรอบเดือนอยู่ และการตรวจครรภ์ในช่วงนี้ คุณแม่อาจพบว่าผลตรวจยังไม่ขึ้น 2 ขีดที่ชัดเจน แต่ในช่วงนี้ร่างกายของคุณแม่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง มีอาการคนท้องปรากฏให้เห็นเช่น ตัวเริ่มบวมเล็กน้อย อารมณ์แปรปรวนง่ายขึ้น หรือปัสสาวะบ่อยขึ้น เพราะฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์



ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์

ในช่วงตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ ยังไม่ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์เต็มตัวเช่นกัน แต่เป็นช่วงเวลาทองที่คุณแม่เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ เป็นช่วงเวลาของการตกไข่ สิ่งที่คุณแม่ควรทำในช่วงนี้ คือมองหาสัญญาณของร่างกายที่บ่งบอกว่าไข่ตกแล้ว รับประทานวิตามินที่มีส่วนช่วยในเรื่องตั้งครรภ์ ร่วมกับกรดโฟลิก

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์

ในตอนนี้แม้คุณแม่อาจยังไม่รู้สึกอะไร แต่การตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ ก็นับได้ว่าเข้าสู่ระยะแรกของการตั้งครรภ์เป็นที่เรียบร้อย ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายช่วงนี้ มีหลากหลายอย่างเช่น ประจำเดือนไม่มา, รู้สึกคลื่นไส้ และอาจมีเลือดล้างหน้าเด็ก หรือเลือดออกจากช่องคลอดเล็กน้อย จากการที่ตัวอ่อนเคลื่อนที่ไปฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์

เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่น่าจะทราบ และมั่นใจแน่ ๆ ว่าตัวเองตั้งครรภ์แล้ว การตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิก ในช่วงเวลานี้ทารกในครรภ์จะมีขนาดเล็กมาก มีขนาดไม่เกิน 1 มิลลิเมตร หรือประมาณเมล็ดงาดำเท่านั้น

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์

สำหรับการตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน 1 สัปดาห์ ลูกน้อยในครรภ์จะเริ่มมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น มีขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร และเริ่มตรวจพบการเต้นของหัวใจแล้ว ส่วนอาการคนท้องของคุณแม่ในช่วงเวลานี้ อาจมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนไป เช่น ความอยากอาหารที่มากขึ้น หรือน้อยลง เหนื่อยง่าย หรือปัสสาวะบ่อย เป็นต้น

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์

หากคุณแม่รู้สึกว่าช่วงนี้ตัวเองมีอารมณ์อ่อนไหวง่ายขึ้นก็อย่าตกใจไป เพราะนี่คือหนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นได้เมื่อตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ ในช่วงเวลานี้ตัวอ่อนในครรภ์จะมีขนาดตัวประมาณ 0.25 นิ้ว ส่วนร่างกายของคุณแม่นอกจากอารมณ์ที่แปรปรวน ก็อาจมีอาการเหนื่อยล้า มีอาการคลื่นไส้ แพ้ท้อง หรืออาจมีอาการท้องอืด เป็นต้น

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์

แม้จะเข้าสู่เดือนที่ 2 แล้ว แต่การตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ก็ยังถือเป็นช่วงแรกเริ่มของการตั้งครรภ์อยู่ โดยทารกในครรภ์จะมีขนาดตัวประมาณผลบลูเบอร์รี่ หรือประมาณ 13 มิลลิเมตร ในช่วงนี้ตัวอ่อนจะมีการสร้างเซลล์สมองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มมีตุ่มเนื้อที่จะกลายเป็นแขน และขาในอนาคต

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์

แม้จะตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์แล้ว แต่ขนาดท้องของคุณแม่ที่สังเกตจากภายนอกอาจยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะลูกน้อยในครรภ์ยังคงมีขนาดตัวเล็กมาก ประมาณ 1.6 เซนติเมตร หรือเท่าเมล็ดถั่วแดงเท่านั้นเอง โดยจะเริ่มมีใบหน้าที่ชัดเจน มีลิ้นหัวใจ และเริ่มขยับตัวได้แล้ว

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์

ในช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์ ในช่วงนี้หัวใจของลูกในครรภ์จะเริ่มแข็งแรงขึ้น และมีการเต้นของหัวใจที่ถี่ขึ้น มีอัตราการเต้นของหัวใจที่อาจสูงถึง 120-160 ครั้งต่อนาที และในช่วงนี้คุณแม่จะมีอาการเหนื่อยง่ายเป็นเรื่องปกติ รวมถึงอาจยังมีอารมณ์ที่แปรปรวน เพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายยังไม่คงที่

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์

ขนาดตัวของทารกเมื่อตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์นั้น จะมีขนาดตัวเท่ากับผลสตรอว์เบอร์รี่แล้ว มีความยาวประมาณ 1.2 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 0.14 ออนซ์ ส่วนความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่นั้น อาจรู้สึกว่าปวดท้องน้อย หน้าอกขยาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 11 สัปดาห์

พัฒนาการของลูกน้อยในท้อง เมื่อตั้งครรภ์ 11 สัปดาห์ อวัยวะภายในส่วนต่าง ๆ ของลูกเริ่มทำงานแล้ว เช่น ตับของทารกจะเริ่มผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง ไตก็เริ่มขับของเสียออกมา ส่วนร่างกายของคุณแม่นั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยอารมณ์แปรปรวนจะเริ่มน้อยลง และอาจมีอาการท้องผูกมากขึ้นแทน

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 11 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์

ใกล้ผ่านพ้นไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์แล้ว สำหรับการตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ทารกในท้องคุณแม่จะมีขนาดตัวเท่ากับลูกพลัม มีความยาวลำตัวโดยเฉลี่ย 2.1 นิ้ว มีนิ้วมือ และนิ้วเท้า รวมถึงเริ่มมีเล็บงอกแล้ว และด้วยระดับฮอร์โมนของร่างกายที่เริ่มคงที่ ก็ทำให้อาการอ่อนเพลีย และอาการแพ้ท้องดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่อาจมีอาการปวดหัวเพิ่มเติมแทน

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์

หากคุณแม่ได้ทำการตรวจอัลตราซาวนด์ในช่วงที่ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์นี้ จะพบได้ว่าทารกในครรภ์สามารถขยับตัวได้แล้ว ลูกในท้องของคุณแม่จะมีความยาวเกือบ 4 นิ้ว สำหรับร่างกายคุณแม่ในช่วงเวลานี้ จะมีอัตราเสี่ยงต่อการแท้งลดลง หน้าอกของคุณแม่จะเริ่มผลิตน้ำนมเพื่อเตรียมพร้อมให้ลูกน้อยแล้ว

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์

ไตรมาสแรกของการตั้งท้องกำลังจะผ่านพ้นไป การตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์นั้นเทียบเท่ากับการตั้งครรภ์ 4 เดือน ตอนนี้ลูกในท้องของคุณแม่จะมีขนาดเท่ากับผลเลมอน มีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร และผมของลูกก็เริ่มงอกแล้ว ส่วนตัวคุณแม่เองนั้นจะเริ่มมีขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์

การตั้งครรภ์ อาการคนท้องไตรมาสที่ 2

อาการคนท้องไตรมาสที่ 2



โค้งที่ 2 ของการตั้งท้อง เมื่อเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 คุณแม่จะรู้สึกว่าร่างกายตัวเองมีอาการคลื่นไส้ แพ้ท้อง น้อยลงจากไตรมาสแรกมากแล้ว เพราะฮอร์โมนในร่างกายคงที่กว่าเดิม สามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจนเห็นได้ชัดก็คือเรื่องของขนาดท้อง และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะในช่วงนี้ร่างกายของลูกในครรภ์ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว



ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์

โครงกระดูกของลูกในท้องเมื่อตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ จะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว แม้จะยังเป็นกระดูกอ่อนอยู่ ขนาดตัวของลูกในท้องจะมีความยาวประมาณ 4.5 นิ้ว มีขนาดเท่าผลแอปเปิ้ล ในช่วงนี้คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มประมาณ 3-4 กิโลกรัม และอาจมีอาการเลือดออกจากการแปรงฟัน เนื่องจากเหงือกบวมมากขึ้นในช่วงนี้

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์

ปัญหาที่คุณแม่ต้องพบเจอแม่ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ก็คือ เริ่มรู้สึกว่าขยับตัวได้ลำบาก เนื่องจากขนาดของหน้าท้องที่ใหญ่โตมากขึ้น ในช่วงนี้คุณแม่ควรเริ่มใส่ใจกับการรับประทานอาหารมากกว่าเดิมแล้ว ส่วนพัฒนาการของทารกในครรภ์ตอนนี้ ลูกในท้องของคุณแม่จะมีขนาดตัวประมาณครึ่งฝ่ามือ และเริ่มได้ยินเสียงต่าง ๆ แล้ว

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์

คุณแม่ควรเปลี่ยนรองเท้าที่สวมใส่ประจำเป็นรองเท้าส้นเตี้ย มีความกระชับสูง เพราะขนาดหน้าท้องของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์นั้น เริ่มทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลง ต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินมากขึ้น ส่วนพัฒนาการของลูกในครรภ์นั้น กระดูกของลูกจะเริ่มแข็งขึ้น และสามารถได้ยินเสียงหัวใจของทารกเมื่อทำการอัลตราซาวนด์

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์

หากคุณแม่รู้สึกว่าตัวเองหิวบ่อย หิวง่าย รับประทานอาหารเยอะเป็นพิเศษก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะร่างกายของลูกในท้องเมื่อตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ คุณแม่อาจพบเจอกับอาการบวมในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นมือ เท้า ขา เป็นต้น

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์

ขนาดตัวของลูกในท้องเมื่อตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์นั้น มีขนาดใกล้เคียงกับมะม่วง 1 ผล ผิวหนังของลูกเริ่มพัฒนาเม็ดสี ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดสีผิวของลูกแล้ว ในช่วงนี้คุณแม่อาจรู้สึกตึง หรือเจ็บหน้าท้องจากการที่หน้าท้องของคุณแม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เกิดอาการจุกเสียดท้องได้ง่าย

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์

พัฒนาการของทารกเมื่อตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ จะมีความยาวของลำตัวประมาณ 6 นิ้ว เปลือกตาของลูกเริ่มเปิดขึ้น ไม่เป็นพังผืด และเซลล์ประสาทในสมองของลูกกำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากขนาดหน้าท้องของคุณแม่ที่ขยายใหญ่ขึ้น อาจทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน และอาจมีอาการปวดหลัง รวมถึงมีตกขาวระหว่างตั้งครรภ์

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์ อาการที่อาจพบเจอได้บ่อยในช่วงนี้ได้แก่ รู้สึกเสียดท้อง หน้าท้องเกิดรอยแตกลาย ซึ่งคุณแม่สามารถรักษา หรือป้องกันได้ด้วยการทาครีมลดรอยแตกลาย เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง ส่วนทารกในครรภ์นั้นได้มีพัฒนาการระบบประสาทอย่างเช่น ต่อมรับรส และสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างแข็งแรงมากขึ้นจนคุณแม่เริ่มรู้สึกถึงลูกในท้องแล้ว

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ขนาดลูกในท้องเมื่อตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ มีขนาดตัวประมาณผลมะละกอแล้ว ใบหน้าของลูกในท้องตอนนี้มีการพัฒนาดวงตา และปากเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่ออัลตราซาวนด์ ส่วนอาการของแม่ท้องที่พบได้ในช่วงนี้ แน่นอนว่าอาการปวดหลังมาเยือนแน่นอน และสะดือของคุณแม่อาจจะปูดออกมา แต่ไม่ต้องกังวล เพราะหลังคลอดก็จะยุบเข้าไปดังเดิม

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์แล้ว จะรู้สึกได้ว่าลูกเคลื่อนไหวตัวอยู่ภายในท้อง ในสัปดาห์นี้ปอดของทารกในครรภ์กำลังพัฒนาเพื่อเตรียมหายใจแล้ว ดวงตาของลูกก็พัฒนาสมบูรณ์ สามารถลืมตาได้ในเวลาอีกไม่นาน ในช่วงนี้คุณแม่ต้องระมัดระวัง ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป หมั่นตรวจเช็กร่างกาย เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์

ในช่วงนี้หน้าท้องของคุณแม่จะขยายใหญ่จนเด่นชัด เตะตา เมื่อตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ น้ำหนักตัวของคุณแม่อาจเพิ่มขึ้นถึง 7-8 กิโลกรัม ทารกในครรภ์ตอนนี้มีพัฒนาการใบหน้าที่สมบูรณ์แล้ว ลูกเริ่มมีการนอนหลับโดยที่ลูกตามีการเคลื่อนไหวแบบรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า REM

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ ในช่วงนี้ขอแนะนำให้ลองพูดคุยกับลูกในท้องบ่อย ๆ เพราะลูกสามารถตอบสนองกับเสียงเรียกของคุณแม่ได้ และมีการเคลื่อนไหวที่ถี่ขึ้น ลูกเริ่มเรียนรู้การหายใจแล้ว ส่วนคุณแม่นั้นอาจพบกับอาการต่าง ๆ เช่น ริดสีดวง ปัสสาวะบ่อย และท้องอืดบ่อยขึ้น

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์

ระบบภูมิคุ้มกันของลูกในท้องเมื่อตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์ จะเริ่มพัฒนามากขึ้น โดยลูกจะรับแอนติบอดี้เข้าสู่ร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อวันที่ออกมาลืมตาดูโลก คุณแม่อาจพบกับอาการปวดขา ปวดหลัง นอนไม่หลับ และเสี่ยงต่อการเป็นความดันโลหิตสูง รวมถึงครรภ์เป็นพิษ แนะนำว่าให้ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์

ใกล้เข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว คุณแม่เก่งมากเลย ในช่วงการตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์นี้ เนื่องจากท้องของคุณแม่ที่มีขนาดใหญ่มากอาจทำให้คุณแม่เจอกับอาการเหล่านี้ได้แก่ เป็นตะคริว, ท้องผูก, ปัสสาวะเล็ด และยังต้องคอยดูอาการอย่างใกล้ชิด พบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อป้องกัน และเตรียมตัวหากเกิดการคลอดก่อนกำหนด

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์

หากคุณแม่ได้ไปตรวจอัลตราซาวนด์ในช่วงที่ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ คุณแม่บางคนอาจพบว่า ทารกเริ่มกลับหัวลงแล้ว พัฒนาการของลูกในครรภ์ช่วงนี้ ลูกน้อยเริ่มกะพริบตาได้แล้ว และเริ่มมีชั้นไขมันใต้ผิวหนังเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย อาหารที่คุณแม่ควรรับประทานในช่วงนี้ได้แก่อาหารที่มีกากใยสูงเช่น ผลไม้ ถั่วต่าง ๆ และดื่มน้ำให้มาก

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์

การตั้งครรภ์ อาการคนท้องไตรมาสที่ 3

อาการคนท้องไตรมาสที่ 3



โค้งสุดท้ายของการเป็นคนท้อง ความเปลี่ยนแปลงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 จะได้พบนั้นมีหลากหลายอย่าง และมีเรื่องที่ต้องดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำหนักตัวที่ต้องพยายามคุมไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 กิโลกรัมต่อเดือน และต้องคอยสังเกตอาการของตัวเองให้ดี เพราะต้องเตรียมตัวไปโรงพยาบาลเพื่อทำการคลอดบุตร


ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์

สัปดาห์แรกของไตรมาสที่ 3 สำหรับการตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์นั้น ลูกในท้องจะมีความยาวลำตัวประมาณ 15 นิ้ว และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงนี้ลูกจะมีพัฒนาการสร้างเยื่อหุ้มระบบประสาท หรือที่เรียกว่า เยื่อไมอีลิน ส่วนร่างกายของคุณแม่นั้น อาจพบว่าระบบย่อยอาหารไม่เหมือนปกติ เพราะลูกที่มีขนาดตัวใหญ่ขึ้น ดิ้น หรือขยับตัวบ่อยกว่าเดิม

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์

ถือเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่รอคอย เพราะช่วงเวลาตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์นั้น ลูกน้อยในครรภ์จะมีพัฒนาการของอวัยวะเพศที่สามารถเห็นได้ชัดเจนแล้ว อีกทั้งลูกในท้องยังสามารถขยับนิ้ว กำมือ และมีพัฒนาการลายนิ้วมืออันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาด้วยเช่นกัน

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์

ทารกในท้องของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์ ยังคงมีพัฒนาการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของลูกมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ ส่วนคุณแม่นั้นก็ยังพบเจอกับอาการเดิม ๆ เช่น หายใจไม่อิ่ม มีน้ำนมไหลซึม รวมถึงปัสสาวะบ่อย เป็นต้น

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์

คุณแม่ได้ตั้งท้องเข้าสู่เดือนที่ 8 แล้ว น้ำหนักของลูกในครรภ์เมื่อเข้าสู่สัปดาห์นี้ มีน้ำหนักประมาณ 1.7 กิโลกรัมเลยทีเดียว เมื่อเราทำการอัลตราซาวนด์จะเห็นได้ชัดว่า เนื้อตัวของลูกดูอวบอิ่ม และยังขยับตัวอย่างต่อเนื่อง และระบบย่อยอาหารของลูกนั้น พร้อมที่จะทำงานแล้วในสัปดาห์นี้

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์

ในช่วงนี้หากคุณแม่พบว่า มีเส้นสีดำบนหน้าท้องปรากฏขึ้นก็อย่าตกใจไป เพราะเป็นเรื่องปกติเมื่อตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ เป็นอีกสัญญาณใกล้คลอดที่เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่ไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสีมากขึ้น ซึ่งจะค่อย ๆ จางหายไปหลังคลอด

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์

น้ำหนักตัวของลูกในท้องเมื่อตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์จะอยู่ที่ประมาณ 2.25 กิโลกรัม ในช่วงนี้ เซลล์สมองของลูกจะมีพัฒนาการขยายตัวมากขึ้น สมองของลูกมีการสร้างรอยหยัก เพื่อเป็นแหล่งเก็บข้อมูล และพร้อมเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในอนาคต ในช่วงเวลานี้ทารกส่วนใหญ่จะกลับตัวเอาศีรษะลงมาอยู่ที่บริเวณเหนือช่องเชิงกราน เพื่อเตรียมพร้อมออกมาดูโลกแล้ว

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์

หน้าท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์นั้นจะมีขนาดที่ขยายใหญ่มาก เพราะทารกในครรภ์นั้นมีขนาดตัวที่ยาวประมาณ 20 นิ้วซึ่งเป็นขนาดที่ใกล้เคียงกับตอนคลอดแล้วนั่นเอง ในช่วงเวลานี้คุณแม่ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพครรภ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมตัวสำหรับการคลอดบุตร

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์

เข้าสู่เดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ เข้าสู่โค้งสุดท้ายที่แท้จริงแล้ว เมื่อตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ ในช่วงนี้ลูกจะมีพัฒนาการที่เติบโตอย่างเต็มที่ นอกจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นแล้ว ลูกจะยังมีการผลิตขี้เทา ซึ่งเกิดจากสิ่งต่าง ๆ ที่ลูกกลืนเข้าไปขณะอยู่ในท้องแม่ ส่วนคุณแม่นั้นจะมีอาการคนใกล้คลอดต่าง ๆ เช่น หน่วงอุ้งเชิงกราน เท้าบวม และหายใจสบายขึ้น เพราะทารกได้เคลื่อนที่มาอยู่บริเวณอุ้งเชิงกรานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์

เมื่อตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ ก็เข้าถึงจุดกำหนดคลอดตามมาตรฐานของคนท้อง ซึ่งจะอยู่ในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 37- 40 หากคุณแม่ทำการอัลตราซาวนด์ในช่วงเวลานี้ จะเห็นท่าทางอันหลากหลายของลูกในท้อง เช่น ดูดนิ้วมือ, หายใจ และการกะพริบตา เป็นต้น ในช่วงนี้แพทย์อาจคุยกับคุณแม่เพื่อปรึกษาเรื่องวิธีการคลอด โดยกำหนดการคลอดนั้นอาจเลื่อนออกไป ตามคำแนะนำของแพทย์

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์

เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องพร้อมที่จะเตรียมตัวคลอดได้ตลอดเวลา เมื่อตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ คุณหมอจะอัลตราซานวด์เพื่อพิจารณาปัจจัยความพร้อมของการคลอดบุตรต่าง ๆ เช่น ดูว่าลูกกลับหัวหรือยัง ส่องดูว่าปากมดลูกเปิดหรือไม่ อีกทั้งคุณแม่ยังสามารถให้คุณหมอช่วยตรวจการหายใจ การเคลื่อนไหว และอัตราการเต้นหัวใจของลูกได้

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 39 สัปดาห์

ในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่ลูกในท้องของคุณแม่พร้อมที่จะลืมตาดูโลกแล้ว สำหรับการตั้งครรภ์ 39 สัปดาห์ ลูกในท้องยังคงสร้างไขมันปกคลุมผิวหนังอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกายหลังคลอด คุณแม่อาจพบกับอาการเจ็บท้องหลอกได้เสมอในช่วงเวลานี้ และคุณแม่ควรนับเวลาเมื่อรู้สึกว่ามดลูกหดรัดตัว และแจ้งให้หมอทราบหากรู้สึกว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อย และถี่

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 39 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์

เป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณแม่รอคอย เพราะเมื่อตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ ก็เป็นช่วงที่ลูกน้อยพร้อมจะออกมาลืมตาดูโลกได้เสมอ ในช่วงนี้คุณแม่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม สังเกตอาการตัวเองอย่างละเอียด และสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการคลอดบุตร

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 41 สัปดาห์

แม้จะเลยช่วงกำหนดคลอดมาแล้ว แต่การตั้งครรภ์ 41 สัปดาห์นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ หรือน่ากังวลมากมายแต่อย่างใด เราเรียกช่วงเวลานี้ว่า ช่วงเวลาเลยกำหนดคลอด สิ่งที่คุณแม่ต้องทำคือพบแพทย์เพื่อทำการตรวจครรภ์ หากแพทย์บอกว่าไม่มีเรื่องน่าเป็นห่วงอะไร ก็ขอให้วางใจได้ และทำตามคำแนะนำของแพทย์ต่อไปอย่างเคร่งครัด

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 41 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์

หากว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์แล้วยังไม่คลอดเสียที ก็ยังไม่ต้องกังวลจนเกินไป เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ถ้าหากคุณแม่บางรายไม่พบสัญญาณการคลอดบุตรเลย แพทย์ที่ดูแลครรภ์ อาจพิจารณาเพื่อทำการเร่งคลอดให้คุณแม่ด้วยวิธีการหลากหลายเช่น ทำให้ปากมดลูกเปิดมากขึ้น หรือกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก เป็นต้น

อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์เพิ่มเติมได้ที่: ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าคุณแม่ทุกท่านย่อมเข้าใจดี ว่าการตั้งครรภ์นั้น เปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอนที่ยาวนาน คุณแม่ต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพ กายใจ เพื่อตัวเอง และลูกน้อยในครรภ์ที่จะลืมตาออกมาดูโลกในวันข้างหน้า ขอให้คุณแม่ทุกคนมีสุขภาพร่างกาย และสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง สามารถคลอดบุตรออกมาได้อย่างปลอดภัย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

เจ็บท้องคลอด สัญญาณเตือนที่คุณแม่หลายคนควรรู้

ตกขาวระหว่างตั้งครรภ์ เป็นอย่างไร? สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายไหม

5 สารอาหารในนมแม่ แหล่งรวมสารอาหารที่ทารกต้องการต่อพัฒนาการ

ที่มา : 1, 2, 3