ในช่วงของการตั้งครรภ์ 11 สัปดาห์ทารกในครรภ์ที่เริ่มมีพัฒนาการของอวัยวะต่าง ๆ มากขึ้น ส่งผลให้ครรภ์ของคุณแม่เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นตาม และจะใหญ่ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ และทารกในครรภ์หลายอย่างในช่วงปลายไตรมาสแรกนี้ ถ้าคุณแม่อยากรู้คงต้องอ่านจากบทความนี้กันแล้ว
คุณแม่กับการตั้งครรภ์ 11 สัปดาห์
การตั้งครรภ์ในสัปดาห์นี้เป็นปลายไตรมาสแรก กำลังเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 คุณแม่บางคนจะเริ่มพบกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และทางอารมณ์มากกว่าเดิม รวมถึงขนาดของครรภ์ที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้คุณแม่ต้องปรับการแต่งตัวใหม่ ส่วนพัฒนาการของทารกในเวลานี้ ระบบพื้นฐาน และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจะเริ่มทำงานได้แล้ว แต่ยังเป็นเพียงช่วงต้นเท่านั้น สำหรับคุณแม่ที่อยากรู้เพศของทารกอาจจะต้องผิดหวังหน่อย เนื่องจากจะยังไม่สามารถบอกเพศได้ในสัปดาห์ที่ 11 อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ไม่กี่สัปดาห์ คุณแม่ก็สามารถรู้เพศของลูกได้จากการอัลตราซาวนด์ (Ultrasound)
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1
วิดีโอจาก : Whale Family
พัฒนาการทารกในครรภ์ 11 สัปดาห์
ในช่วงนี้เป็นช่วงปลายของไตรมาสแรกแล้ว พัฒนาการของทารกในช่วงนี้จะอยู่ในขั้นเพิ่งเริ่มพัฒนาในระบบต่าง ๆ เท่านั้น เช่น การทำงานของสมอง, ตับ, ไต หรือการได้ยิน ดังนี้
- ในช่วงของอายุครรภ์ 11 สัปดาห์ ทารกในครรภ์จะมีความยาวมากกว่า 1.5 นิ้ว หรือยาวประมาณ 1 นิ้วโป้งของคุณแม่นั่นเอง
- จะเริ่มมองเห็นเค้าโครงใบหน้าของทารกในครรภ์สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และขนาดของศีรษะจะยังใหญ่กว่าอวัยวะส่วนอื่น ๆ อยู่ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของสมองในอนาคต
- สามารถสังเกตได้ว่าส่วนของนิ้วมือ และนิ้วเท้า แยกออกจากกันอย่างสมบูรณ์ ทารกสามารถที่จะเริ่มขยับแขนขาได้มากขึ้น แต่ไม่แรงเพียงพอที่จะทำให้คุณแม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวได้
- อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของทารกเริ่มมีการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะตับเริ่มผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง ส่วนในไตก็เริ่มทำหน้าที่ในการขับน้ำขับของเสียออกมาทางน้ำคร่ำได้แล้ว
- หลังจากสัปดาห์ที่ 11 นี้ ต่อไปอีกไม่กี่สัปดาห์อวัยวะเพศของทารก จะเริ่มปรากฏให้เห็นชัดมากขึ้น ทำให้สามารถบอกเพศของทารกได้ในเวลาต่อมา
- ฟันของทารกจะเริ่มขึ้นเป็นหน่อ ๆ มาจากเหงือก และในส่วนของใบหูทารกจะเริ่มมีพัฒนาการที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน ๆ
อาการของคุณแม่ครรภ์ 11 สัปดาห์เป็นอย่างไร ?
ช่วงนี้คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงความแปรปรวนของร่างกาย และอารมณ์ รวมถึงขนาดของมดลูกที่เริ่มใหญ่ขึ้น ทำให้คุณแม่ต้องเตรียมตัวรับมือกับการปรับเปลี่ยนวิธีการแต่งตัวหลังจากนี้ อาการอื่น ๆ ของแม่ครรภ์ 11 สัปดาห์ สรุปได้ดังนี้
- หากคุณแม่ท้องคนไหนที่กำลังรำคาญกับอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการแพ้ท้อง หลังจากนี้ถือเป็นข่าวดี เพราะอาการคลื่นไส้จะเริ่มลดหายไปเรื่อย ๆ หลังจากนี้
- ถึงแม้อาการคลื่นไส้จะค่อย ๆ หายไป แต่จะมีอาการอื่นเข้ามาแทน คุณแม่จะเริ่มมีอาการท้องผูก ขับถ่ายลำบาก เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย
- คุณแม่บางท่าน อาจจะมีอาการแน่นบริเวณหน้าอก เกิดจากการที่กรดในกระเพาะมีมากขึ้นกว่าปกติ
- สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้จะยังคงอยู่นั่นคือ อาการที่หิวบ่อย กินบ่อย ต้องการทานอาหารมากขึ้น ทั้งจากอาการแพ้ท้อง และเกิดจากการรับอาหารเผื่อทารกน้อยในครรภ์ด้วย ทำให้คุณแม่อาจอ้วนขึ้นในช่วงนี้
- แม่ท้องหลาย ๆ ท่าน อาจต้องเจอกับปัญหาอาการปวดศีรษะ และมีอารมณ์ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ รวมไปถึงการเหนื่อยง่าย สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้รุนแรงมาก แต่การที่เกิดขึ้นบ่อย และมีอาการร่วมกัน สามารถทำให้เกิดความเครียดได้
- ช่วงนี้หน้าท้องคุณแม่จะเริ่มนูนมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น เสื้อผ้าตัวโปรดอาจเริ่มใส่ได้ยากลำบากมากขึ้น หรือกางเกงเริ่มคับแล้ว เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าควรใช้ชุดคลุมท้องได้แล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2
การดูแลครรภ์ของคุณแม่ในช่วงนี้
การตั้งครรภ์ในสัปดาห์นี้คุณแม่ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง และต้องปรับตัวอยู่หลายอย่าง การดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการพักผ่อน เมื่อเหนื่อยล้านั้นสำคัญมาก ควรดูแลคุณแม่ท้อง 11 สัปดาห์ ด้วยวิธีต่อไปนี้
- เมื่อท้องของคุณแม่โตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ๆ ส่งผลให้ร่างกายจะผลิตน้ำคร่ำ, เลือด และเหงื่อออกมามากขึ้น ดังนั้นคุณแม่ควรจะต้องดื่มน้ำให้มาก ๆ เพราะร่างกายของคุณแม่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการใส่ชุดคลุมท้องเพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหว และความสบายในระหว่างวัน
- ช่วงที่ตั้งครรภ์ 11 สัปดาห์ อาหารที่ควรรับประทานคือ อาหารที่มีสารอาหารที่จำเป็น เช่น โปรตีน เพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์, ธาตุเหล็ก เพื่อใช้สร้างเม็ดเลือดแดง และในระหว่างตั้งครรภ์ วิตามินบี จะช่วยสร้างระบบประสาทต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ จึงต้องเน้นทานให้ครบ 5 หมู่ และไม่ขาดผักผลไม้
- ควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น โยคะ จริง ๆ หรืออื่น ๆ ตามที่เหมาะสม (ควรปรึกษาแพทย์ก่อน) สามารถทำได้ทุก ๆ สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ เพราะจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และคลายความกังวลไปได้แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดได้อีกด้วย
- เมื่อเกิดความเครียด หรือความเหนื่อยล้าต้องการพักผ่อนระหว่างวัน หากสามารถทำได้ก็ไม่ควรฝืน ควรแบ่งเวลาพักผ่อนงีบหลับระหว่างวันบ้าง เนื่องจากอาการง่วงง่าย ง่วงบ่อย เป็นหนึ่งในอาการทั่วไปของคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่แล้ว
สิ่งสำคัญในช่วงนี้ คือ การที่คุณแม่พยายามปรับตัว เข้ารับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะตามมาได้ การดูแลตนเองให้แข็งแรงพร้อมรับน้ำหนักของครรภ์ในอนาคตสำคัญมาก หากเตรียมตัวไว้ก่อนได้เร็วเท่าไหร่จะยิ่งดี
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เรียนรู้ครรภ์ 16 สัปดาห์ พัฒนาการทารกที่ก้าวกระโดดกว่าที่คิด
ช่วงตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ ทารกปลายไตรมาส 2 เป็นอย่างไร ?