คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 อย่างเป็นทางการ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบไหนบ้างที่ต้องรับมือ และพัฒนาการของทารกในครรภ์ที่ก้าวกระโดดกว่าที่คิด ถ้าหากคุณแม่ไม่อยากพลาดเรื่องที่สำคัญของครรภ์ช่วงนี้ ต้องรีบอ่านบทความนี้ก่อนเลย
ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ เริ่มต้นเข้าสู่ไตรมาสที่ 2
แม่ท้องที่มีอายุครรภ์ถึง 16 สัปดาห์ ถือว่าเป็นอายุครรภ์สัปดาห์แรกของไตรมาสที่ 2 (สัปดาห์ที่ 16 – สัปดาห์ที่ 24) ซึ่งเป็นช่วงที่คุณแม่สามารถปรับตัวได้มากขึ้น และเริ่มเข้าใจในอาการทั่วไปของคนท้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องร่างกาย หรือสภาพจิตใจ สำหรับในไตรมาสที่ 2 นี้ ท้องของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว หากไม่เตรียมตัวรับมือให้ดี ในอนาคตช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 3 อาจทำให้มีอาการปวดหลังได้ อีกทั้งทารกในครรภ์ยังมีพัฒนาการที่สามารถสังเกตได้มากขึ้นจากช่วงไตรมาสแรก และสิ่งต่าง ๆ ที่คุณแม่ต้องรู้ และเตรียมตัวสำหรับการเป็นคุณแม่ท้องแก่ในอีกไม่ไกลจากนี้
วิดีโอจาก : PRAEW
พัฒนาการของทารกในครรภ์ 16 สัปดาห์
ทารกในครรภ์ช่วงนี้จะเริ่มมีพัฒนาการทางด้านร่างกายบางอย่างที่ชัดเจนขึ้น เป็นไปตามขนาดของครรภ์ และขนาดตัว โดยมากจะเกี่ยวกับประสาทสัมผัสพื้นฐาน เช่น การได้ยิน หรือการมองเห็น ดังนี้
- ขนาดของทารกในครรภ์จะยาวประมาณครึ่งฝ่ามือ หรือประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น จะทำให้เริ่มเห็นการเคลื่อนไหวของทารกได้บ้างแล้ว
- ทารกที่มีขนาดตัวใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ขนาดของหน้าท้องคุณแม่ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย
- พัฒนากรเกี่ยวกับดวงตามีความชัดเจนขึ้น เช่น เปลือกตาเริ่มจับแสงได้ หรือเริ่มหรี่ตาได้ เป็นต้น
- พัฒนาการด้านการได้ยินเริ่มดีขึ้น เพราะกระดูกชิ้นเล็กในหูของทารกในครรภ์เริ่มขึ้นมา
- นิ้วมือ และนิ้วเท้ามีความชัดเจนขึ้นมาก อวัยวะสำคัญบางส่วนเริ่มสังเกตให้เห็น และเริ่มบอกเพศได้แล้ว
- ในช่วงไตรมาสที่ 2 สัปดาห์ที่ 16 – 20 แม่ท้องสามารถตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูเพศของทารกได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2
อาการของแม่ท้องในช่วง 16 สัปดาห์เป็นอย่างไร ?
หากคุณแม่คนไหนที่กำลังรอคอยการดิ้นของทารกในครรภ์ คราวนี้คงได้สมใจแน่นอน เพราะครรภ์ไตรมาสที่ 2 ทารกจะเริ่มดิ้นแล้ว แต่อาจไม่แรงมากพอจนรู้สึกได้อย่างชัดเจน เหมือนกับช่วงไตรมาสที่ 3 ส่วนขนาดของหน้าท้องคุณแม่จะเริ่มใหญ่ขึ้นจนสังเกตได้ชัดเจน และจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุครรภ์ ในช่วงนี้อาจเกิดการกดทับของมดลูกต่ออวัยวะภายใน โดยเฉพาะอวัยวะที่เกี่ยวกับระบบขับถ่าย อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบตามมา เช่น ท้องผูก, ปัสสาวะบ่อย หรือทำให้รู้สึกอึดอัด หายใจลำบากมากขึ้น เป็นต้น
ในช่วงนี้สิ่งที่หลายคนอาจสังเกตได้ คือ คุณแม่จะมีเส้นผมที่สวยงาม ดูเป็นประกาย หรือที่รู้จักกันดีในช่วง “Pregnancy Glow” เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ที่เรามักจะเห็นว่าคนท้องผมสวยขึ้น หรือภาวะอื่น ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงนี้นั่นเอง
การดูแลตนเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์
ในช่วงนี้สิ่งที่อาจเป็นปัญหาของคุณแม่ คือ หน้าท้องที่เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ทำให้สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันได้ และเรื่องจุกจิกเล็กน้อยอื่น ๆ ได้แก่
- ปัญหาเรื่องความอยากอาหารอาจมีมากขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งปกติที่เจอได้จากอาการของคนท้อง หากกลัวว่าจะทานเยอะเกินไป ให้แบ่งมื้ออาหารให้มีผัก และผลไม้ระหว่างวันร่วมด้วย
- การออกกำลังกายสำหรับคนท้องในช่วงนี้สามารถทำได้ เพื่อบริหารเชิงกรานในการรับน้ำหนัก และเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 เช่น การเดิน, การว่ายน้ำ หรือการเล่นโยคะ เป็นต้น
- แม่ท้องจะมีความอ่อนเพลียจากการอุ้มท้อง หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากขึ้น ให้คุณแม่พักผ่อนให้เพียงพอ แบ่งเวลานอนกลางวันบ้างก็ไม่เสียหายอะไร
- เมื่อขนาดของหน้าท้องใหญ่ขึ้น อาจทำให้มีความเสี่ยงกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จากการกดทับอวัยวะที่เกี่ยวข้อง จึงควรระวังการเดินทางไกล ควรเตรียมตัวให้ดีก่อนออกเดินทาง
- ระมัดระวังการเคลื่อนไหว เนื่องจากหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้คุณแม่อาจเคลื่อนไหวได้ลำบาก หรือช้าลง หากเคลื่อนไหวเร็วเกินไป อาจทำให้เสียหลัก หรือเกิดอุบัติเหตุได้
- ขนาดหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้น อาจทำให้คุณแม่นอนหลับได้ลำบากขึ้น สามารถแก้ได้ด้วยการนำหมอนข้าง หรือหมอนมาช่วยหนุนขา หรือช่วยขยับตัวเวลาพลิกในตอนกลางคืนก็ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้อง 9 เดือนปัสสาวะไม่สุด อย่ารอช้า เสี่ยงกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
อย่าพลาดที่จะเสริมพัฒนาการด้วยการคุยกับทารก
นอกจากการปรึกษากับแพทย์เพื่อวางแผนในการตรวจดูเพศของทารกน้อยในครรภ์แล้ว เนื่องจากพัฒนาการด้านการได้ยินของทารกเริ่มดีขึ้น จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มพูดคุยกับลูกเพื่อสร้างความคุ้นชิน และสร้างสายใยสัมพันธ์โดยที่ไม่ต้องมองหน้ากัน นอกจากการคุยแบบธรรมดา ยังสามารถร้องเพลงที่ฟังง่าย ฟังสบาย หรืออ่านหนังสือให้ทารกฟังก็ได้เช่นกัน
ถึงแม้การพูดคุย ร้องเพลง อ่านหนังสือ จะสามารถช่วยพัฒนาการได้ยินของทารกได้ แต่อย่าลืมว่าเมื่อทารกได้ยินได้บ้างแล้ว การอยู่ใกล้กับเสียงต่าง ๆ ที่ดังเกินไป ยังทำให้เกิดโทษได้เช่นกัน จึงควรระมัดระวังเสียงของสิ่งแวดล้อม ที่จะรบกวนการพักผ่อนของทารกในครรภ์ หรือเสี่ยงต่อความเสียหายต่อระบบการได้ยินของทารกด้วย
มื้ออาหารของคุณแม่เริ่มสำคัญมากขึ้น
ในช่วงนี้ทารกจะมีพัฒนาการ และการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมากขึ้น ทำให้ทารกต้องการสารอาหารที่ไม่สามารถหาได้เอง แน่นอนว่าต้องมาจากคุณแม่เท่านั้น สารอาหารที่คุณแม่ทานในช่วงนี้ จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อทารก ให้เน้นทานอาหารที่มีประโยชน์มีวิตามิน, โฟลิก และแคลเซียม ลดของมันของทอดจะดีที่สุด เนื่องจากอาจทำให้ทารกเสี่ยงต่อโรคร้ายไม่ใช่ในระหว่างตั้งครรภ์ แต่โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจนั้น สามารถเกิดขึ้นในภายหลังจากทารกคลอดได้ ซึ่งปัจจัยการทานอาหารของคุณแม่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องระวัง
การดูแลสุขภาพของแม่ท้องในช่วงไตรมาสที่ 2 มีความสำคัญมากขึ้น คนรอบข้างต้องคอยดูแลให้ดี เพราะขนาดหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้นกับการเจริญเติบโตของทารกกำลังเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คิด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ ครรภ์เกินกำหนด ทำอย่างไรดี ?
โรคอีสุกอีใสในคนท้อง มีอะไรที่ต้องรู้บ้างเพื่อรับมือ ?