ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

เข้าสู่การตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 9 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณแม่คงจะสงสัยกันแล้วว่า ลูกน้อยในครรภ์จะมีขนาดตัวเท่าไหนแล้วนะ แล้วพัฒนาการลูกใน 

 1498 views

เข้าสู่การตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 9 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณแม่คงจะสงสัยกันแล้วว่า ลูกน้อยในครรภ์จะมีขนาดตัวเท่าไหนแล้วนะ แล้วพัฒนาการลูกในช่วงสัปดาห์นี้จะเป็นอย่างไร ช่วง ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์ ลูกในท้องจะมีขนาดประมาณเท่าผลลำไย ตัวยาวประมาณ 2.3 เซนติเมตร แล้วพัฒนาการส่วนอื่นจะเป็นอย่างไรบ้าง ไปหาคำตอบพร้อมกันเลยค่ะ!

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 9

  • หัวใจของทารกมีโครงสร้างที่สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งตอนนี้หัวใจดวงน้อย ๆ แบ่งออกเป็นสี่ห้องแล้ว
  • ระบบหลอดเลือดมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น
  • กล้ามเนื้อกำลังเริ่มสร้างตัว รวมไปถึงอวัยวะเพศ ตับอ่อน และถุงน้ำดีก็เช่นกัน
  • ลิ้นกับฟันเริ่มพัฒนาขึ้นใต้เหงือก
  • หากทำการอัลตราซาวนด์ดู จะพบว่าลูกน้อยเริ่มเคลื่อนไหวภายในท้องคุณแม่แล้ว แต่ยังเร็วเกินไปที่แม่จะรับรู้การเคลื่อนไหว

ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์


อายุครรภ์ 9 สัปดาห์คุณแม่เปลี่ยนแปลงอย่างไร

คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยง่ายเป็นพิเศษ ซึ่งอาการเหนื่อยง่ายระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติ เพราะลูกน้อยกำลังเติบโตอยู่ในร่างกาย ในช่วงนี้อารมณ์คุณแม่ยังคงแปรปรวน เพราะระดับฮอร์โมนยังไม่คงที่ โดยเฉพาะท้องแรกก็จะยิ่งมีความเครียดและความกังวลใจ ทางที่ดีคนรอบข้างโดยเฉพาะคุณพ่อ ควรพูดคุย รับฟัง และให้กำลังใจ เพื่อให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

สิ่งที่ควรทำในการตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 9

  • เปลี่ยนยกทรง ให้เป็นแบบที่ใช้สำหรับคนท้องโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยรับน้ำหนักได้ดีกว่าแบบทั่ว ๆ ไป
  • ในช่วงตั้งครรภ์อาจเป็นช่วงที่มีความเครียดสูง โดยเฉพาะมือใหม่ กำลังใจและความช่วยเหลือจากคนรอบข้างโดยเฉพาะสามีเป็นสิ่งสำคัญมาก
  • ประเมินค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และตอนคลอด
  • หาเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ที่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 1 – 42 สัปดาห์ ติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์


อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 9

1. คลื่นไส้ แพ้ท้อง

ในช่วงสัปดาห์ที่ 9 นี้คุณแม่อาจจะไม่ค่อยสบายเท่าไหร่นัก เนื่องจากคุณแม่จะมีอาการคลื่นไส้แพ้ท้อง วิงเวียน หรือเหนื่อยง่าย คุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกดีขึ้นจากอาการเหล่านี้ ก็ตอนที่คุณแม่นั้นสิ้นสุดไตรมาสแรกนั้นเอง

2. เต้านมขยายและเจ็บคัด

ระดับฮอร์โมนเอสโทรเจน และโพรเจสเทอโรนที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เต้านมขยายใหญ่ขึ้น ต่อมผลิตน้ำนมขยายตัวมากขึ้น ลานนมจะขยายกว้างขึ้น และมีสีดำคล้ำขึ้น ทำให้คุณแม่มีอาการคัด และเจ็บเต้านมได้

3. อารมณ์แปรปรวนกว่าเดิม

ช่วงนี้แหละที่คุณแม่จะมีอารมณ์แปรปรวนอย่างมาก เนื่องจากฮอร์โมนต่าง ๆ มีความปั่นป่วน รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น การคลื่นไส้ และความอ่อนเพลียที่รุมเร้า คุณแม่อาจรู้สึกว่าควบคุมอารมณ์ได้ยาก ลองชะลอทุกอย่างลง พักบ้าง หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดเพื่อจิตใจของตัวคุณแม่เอง

4. ตกขาวเพิ่มขึ้น

ในช่วงนี้คุณแม่อาจมีตกขาวมากขึ้น แต่หากมีกลิ่นและสีที่ไม่ปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที

5. เส้นเลือดฝอยเห็นชัดขึ้น

เห็นเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ใกล้ผิวหนังชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะหน้าอกและขา หากคุณแม่มีอาการปวด แนะนำให้นั่งยกขาพาดบนเก้าอี้ หรือวางเท้าบ่อย ๆ เท่าที่ทำได้

6. เป็นตะคริว

เกิดตะคริวเป็นครั้งคราว และมีอาการปวดท้องน้อย แต่หากปวดท้องและมีเลือดออกแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที

7. สิวขึ้นเยอะ

สิวขึ้นเยอะ เนื่องจากฮอร์โมนในการตั้งครรภ์ทำให้เกิดสิวได้ พยายามอย่าใช้เครื่องสำอาง หรือครีมทาสิวที่เป็นอันตรายต่อแม่ท้องและทารกในครรภ์


ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์


อาหารบำรุงครรภ์ สำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 9 สัปดาห์

  • ทานอาหารทีละน้อย แต่หลายมื้อ แทนการทานทีละมาก ๆ เฉพาะในมื้อหลัก และดื่มน้ำมาก ๆ
  • หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องมาก ควรนอนพักผ่อนมาก ๆ หรือฝานขิงอ่อนเป็นแผ่นบาง ๆ แช่ในน้ำร้อน แล้วค่อย ๆ จิบ จะช่วยให้อาการแพ้ท้องดีขึ้นได้
  • คุณแม่ควรรับประทานอาหาร 5 หมู่ ที่มีสารอาหารโปรตีน โฟเลต แคลเซียม วิตามินต่าง ๆ เป็นประจำ

โภชนาการคุณแม่ตั้งครรภ์เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 9 สัปดาห์

  • ความหวาน

คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถทานหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้ แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่พอดี เลือกประเภทที่มีประโยชน์มากที่สุด เช่น แทนที่จะดื่มน้ำอัดลมกระป๋อง หันมาเลือกทานน้ำดื่มกลิ่นผลไม้ต่าง ๆ ที่ไม่ผสมน้ำตาล แต่ยังได้กลิ่นของผลไม้ หรือผสมน้ำมะนาวในน้ำดื่มก็ช่วยให้สดชื่นได้โดยไม่ต้องทานน้ำตาล หรืออาจเลือกทานผลไม้สดหั่นเป็นชิ้นคำเป็นมื้อว่าง ปริมาณไม่เกิน 1 กำมือต่อมื้อ ก็ช่วยให้อิ่มท้อง แถมได้วิตามินเกลือแร่ และใยอาหารอีกด้วย

  • ธัญพืช

ธัญพืชอาจเป็นอาหารที่ช่วยให้คุณแม่อิ่มนาน แต่ก็มีหลายชนิดที่มีปริมาณน้ำตาลสูงมากเกินไป แนะนำเลือกทานธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ซีเรียลธัญพืช เนื่องจากมีวิตามินบี และใยอาหารซึ่งเมื่อทานแล้วช่วยให้อิ่มท้องนาน และช่วยเรื่องการขับถ่ายอีกด้วย

  • โฟลิก

คุณแม่ควรทานอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง กรดโฟลิกหรือโฟเลตเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง พบมากในอาหารประเภทไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม ฯลฯ การทานโฟลิกให้เพียงพอขณะตั้งครรภ์ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับความพิการแต่กำเนิดของลูกน้อย เช่น โรคหลอดประสาทไม่ปิด และดาวน์ซินโดรม เป็นต้น

ธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็ก พบมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ตับ เลือด ไข่แดง โดยธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ช่วยนำพาออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางอีกด้วย

  • สังกะสี

ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย อาหารที่เป็นแหล่งของสังกะสี ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ และอาหารทะเล เป็นต้น นอกจากโภชนาการคุณแม่ที่แนะนำไปแล้ว การดื่มน้ำระหว่างตั้งครรภ์ในปริมาณที่เพียงพอระหว่างวัน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์มักเหงื่อออกง่าย ปัสสาวะบ่อย และเสียน้ำจากการคลื่นไส้อาเจียนในช่วงที่แพ้ท้อง

เคล็ดลับการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์

ในช่วงนี้ อารมณ์ของว่าที่คุณแม่ ก็อาจจะขึ้น ๆ ลง ๆ บ่อย สาเหตุจากความเหนื่อยล้า น้ำตาลในเลือดต่ำ และความเครียดแล้ว อาการอารมณ์สวิงนี้ ก็ยังเป็นเพราะความตื่นเต้นของคุณแม่ ความกังวลเกี่ยวกับลูกในครรภ์ อาการต่าง ๆ ของทารก รวมไปถึง ความประหม่าเมื่อนึกถึงการเป็นแม่คน ดังนั้น สุขภาพจิตใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการตั้งครรภ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 9 นี้

  • พักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานโปรตีนมาก ๆ และทานน้ำตาลให้น้อยลง
  • ออกกำลังกายเบา ๆ
  • ทำสมาธิ ทำใจจิตใจให้สงบ
  • ใช้เวลาอยู่กับสามี ครอบครัว และเพื่อน ๆ ให้มากขึ้น

สำหรับคุณแม่ที่เคยดื่มแอลกอฮอล์ก่อนจะรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ อาจมีคำถามว่าเคยดื่มเบียร์ตอนที่ยังไม่รู้ตัว จะเป็นอันตรายต่อลูกหรือไม่ ขออธิบายง่าย ๆ ว่า หากดื่มในปริมาณไม่มาก ก็อาจไม่ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้ว การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด อาจทำให้ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ หรือบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นแท้งก็เป็นได้ ทางที่ดีควรเลือกเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ เช่น นม นมถั่วเหลือง น้ำผักและน้ำผลไม้แทน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 11 สัปดาห์ ปลายไตรมาส 1 พัฒนาการทารกเป็นอย่างไร ?

ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2

ที่มา : 1