คนท้องอารมณ์แปรปรวน รับมืออย่างมืออาชีพ ทำอย่างไร ?

ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ สำหรับหลายครอบครัว อาจมองไปถึงการแพ้ท้องของคุณแม่ จนทำให้มีอารมณ์ที่แปรปรวน ไม่แน่นอน เดี๋ยวอารมณ์ดี เดี๋ 

 1612 views

ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ สำหรับหลายครอบครัว อาจมองไปถึงการแพ้ท้องของคุณแม่ จนทำให้มีอารมณ์ที่แปรปรวน ไม่แน่นอน เดี๋ยวอารมณ์ดี เดี๋ยวอารมณ์ร้าย แต่รู้หรือไม่ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ ไม่ได้มาจากการแพ้ท้องเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ทำไมคนท้องจึงมีอารมณ์แปรปรวนกว่าปกติ ?

การที่คุณแม่ท้องมีอารมณ์ที่ไม่คงที่ เป็นหนึ่งในอาการ “แพ้ท้อง” ที่สามารถพบได้เป็นปกติในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย คือ ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในเลือดที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการที่อ่อนไหวง่าย, โมโห, หงุดหงิดได้ง่าย แต่นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแล้ว ยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน โดยส่วนมากจะเกิดจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ หรือสุขภาพจิต ได้แก่

  • ภาวะวิตกกังวล : ขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ อาจมีความคิดกังวลเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ ในขณะนั้น ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว เช่น การเงิน, การงาน หรือเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องของอนาคต หรือโรคภัยใกล้ตัว ความรู้สึกกังวลนี้จะทำให้คุณแม่ควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ได้น้อยลง
  • อาการแพนิค : เป็นผลมาจากความกังวลที่มากเกินไป จนทำให้เกิดความไม่รู้สึกปลอดภัย ความรู้สึกกังวลมากจนควบคุมตนเองไม่ได้ จะมีอาการสั่นกลัว, ใจเต้นรัวและเร็ว หรือหายใจลำบาก เป็นต้น จะทำให้ครองสติได้ลำบากส่งผลต่ออารมณ์ได้เช่นกัน
  • โรคไบโพลาร์ : เรารู้จักกันดีว่าเป็นโรคที่ส่งผลต่ออารมณ์ได้โดยตรง นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่สามารถสังเกตได้ เช่น พูดเร็ว, นอนไม่หลับ หรือไม่อยากอาหาร เป็นต้น สำหรับในคนท้องอาการจะเด่นชัด ทำให้สังเกตได้ง่ายมากขึ้น
  • โรคซึมเศร้า : อาการของโรคซึมเศร้าไม่ใช่แค่เศร้าอย่างเดียว แต่บางรายอาจโมโหง่ายด้วย คุณแม่ท้องที่มีปัญหา หรือเผชิญกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ อาจมีความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ซึ่งถือว่ามีความรุนแรง และส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกอย่างมาก


นอกจากนี้อารมณ์ที่ไม่คงที่ของคุณแม่ตั้งครรภ์ ยังสามารถเกิดจากปัจจัยทั่วไปได้ด้วย เช่น ความเครียด, ความกดดัน หรือความเหนื่อยล้าในแต่ละวัน จึงต้องคอยดูแล และรับมือตามปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 วิธีแก้คลื่นไส้อาเจียน ปัญหาน่าปวดหัวของคุณแม่ตั้งครรภ์

วิดีโอจาก : theAsianparent


วิธีรับมือคุณแม่ท้องอารมณ์แปรปรวนง่าย

  • ทำความเข้าใจให้มากขึ้น : หากคุณแม่มีอารมณ์โกรธ โมโหง่าย ไม่เหมือนช่วงก่อนท้อง ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ปัญหาอาจไม่สามารถแก้ได้เหมือนกันทั้งหมด จึงต้องทำความเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง คุณแม่ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ให้มากที่สุด ส่วนคุณพ่อก็ต้องไม่ใช้อารมณ์โต้ตอบด้วยเช่นกัน
  • ปรึกษาแพทย์ : หากคุณแม่มีอารมณ์ไม่คงที่จากปัญหาด้านสุขภาพจิตตามที่เราได้กล่าวไป ทำให้มีอุปสรรคต่อการรับมือ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และฟังคำแนะนำในการแก้ปัญหาอย่างมืออาชีพ
  • ผ่อนคลายตนเอง : หากเกิดจากความเครียด ความกังวล เพียงแค่ชั่วคราว คุณแม่ควรหากิจกรรมอื่นทำ ที่สามารถช่วยให้สบายใจขึ้นได้ เช่น ดูหนัง, ฟังเพลง, อ่านหนังสือ, ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมใด ๆ ที่ตนเองชอบ หรือจะทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวก็ได้เช่นกัน
  • พักผ่อนให้มากขึ้น : หลายปัจจัยสามารถบรรเทาได้ด้วยการให้เวลาร่างกาย และความคิดในการพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะการนอนหลับที่ต้องนอนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • ควบคุมไม่ไหวอย่าฝืน : ถึงแม้จะไม่มีได้ป่วย ไม่ได้มีโรคที่ส่งผลต่อจิตใจ หรือสภาพอารมณ์ แต่หากอาการอารมณ์แปรปรวนส่งผลต่อชีวิตประจำวันมากเกินไป ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำได้เช่นกัน


อารมณ์แปรปรวน


แม่ท้องอารมณ์แปรปรวนเมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

หากคุณแม่ไม่รู้ว่าแบบไหนที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ให้สังเกตว่ากิจกรรมที่ตนเคยทำได้เป็นปกติ จากที่ผ่าน ๆ มา ในตอนนี้ยังสามารถทำได้ไหม, มีปัญหากับบุคคลอื่น ๆ ทุกวันหรือไม่, รุนแรงถึงขั้นทะเลาะ หรือมีปากเสียงกัน, ไม่สามารถควบคุมการแสดงออกของตนเองได้ หรือไม่สามารถสื่อสารได้ เป็นต้น หากมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงอารมณ์ที่ไม่คงที่ ต้องปรึกษาแพทย์เพราะสามารถส่งผลเสียต่อตัวของคุณแม่, ลูกน้อยในครรภ์ และบุคคลรอบข้างได้

คุณแม่ท้องยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องรับมือ และปรับตัว คนรอบข้างจึงต้องช่วยกันดูแล สร้างความเข้าใจต่อผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ในทุก ๆ เรื่อง รวมถึงเรื่อง “อารมณ์” ด้วยเช่นกัน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โยคะคนท้อง ดีต่อคุณแม่อย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม ?

ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

7 สัญญาณเตือนก่อนคลอด มีอาการอะไรบ้างที่คุณแม่ห้ามพลาด

ที่มา : 1, 2, 3