ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2

ยินดีต้อนรับคุณแม่เข้าสู่บทความของเรานะคะ เข้าสู่ช่วงตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์แล้ว ใกล้เวลาที่คุณแม่จะได้เห็นหน้าลูกน้อยเต็มที คุณแม่อาจสงสัยว่ 

 1583 views

ยินดีต้อนรับคุณแม่เข้าสู่บทความของเรานะคะ เข้าสู่ช่วงตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์แล้ว ใกล้เวลาที่คุณแม่จะได้เห็นหน้าลูกน้อยเต็มที คุณแม่อาจสงสัยว่าตอนนี้ทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง และคุณแม่นั้นจะต้องพบเจออุปสรรคในการตั้งครรภ์อย่างไร วันนี้ Mama Story จะพาไปดูกันว่า ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์ ทารกมีพัฒนาการในครรภ์อย่างไรบ้าง และมีเคล็ดลับดูแลคุณแม่ท้องอย่างไร ไปดูกันค่ะ

ท้อง 26 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

เมื่อเข้าสู่ช่วง 26 สัปดาห์ คุณแม่อาจเกิดความสับสนว่าตั้งครรภ์มากี่เดือนแล้ว คำตอบคือ ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์เท่ากับ 6 เดือนค่ะ คุณแม่อย่าลืมนะคะว่าคุณหมอจะติดตามการตั้งครรภ์เป็นรายสัปดาห์ ไม่ใช่รายเดือน เพราะการตั้งครรภ์จะใช้ระยะเวลา 40 สัปดาห์นั่นเอง

ทารกในครรภ์อายุ 26 สัปดาห์ เป็นอย่างไรบ้าง

ช่วงนี้ทารกในครรภ์จะมีน้ำหนักประมาณ 600-800 กรัม และจะมีความยาวประมาณ 36 เซนติเมตร โดยจะมีการพัฒนาจอประสาทตา และหูอย่างมาก ลูกน้อยอาจมีการตอบสนองโดยการถีบ หรือเตะหน้าท้องของคุณแม่ นอกจากนี้ ยังเริ่มฝึกการหายใจเข้าออกแล้วเพื่อเตรียมพร้อมในการหายใจด้วยตัวเอง อีกทั้งในช่วงนี้ทารกในครรภ์ยังรู้จักตื่น และนอนเป็นเวลาอีกด้วย เรามาดูกันว่าทารกอายุ 26 สัปดาห์ จะมีพัฒนาการอะไรอีกบ้าง

ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์

พัฒนาปอด

ลูกน้อยจะมีการพัฒนาปอดอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มเคลื่อนไหวในลักษณะคล้ายการหายใจเข้า และหายใจออก โดยทารกจะหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าออกเรื่อย ๆ เมื่อถึงเวลาคลอดบุตร ลูกน้อยจะหายใจด้วยตัวเองครั้งแรก และมักจะร้องออกมาหลังจากลืมตาดูโลก แต่สำหรับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด อาจต้องอาศัยการกระตุ้นจากแพทย์ หรือพยาบาลเพื่อให้เขาร้องออกมาเอง

ตอบสนองต่อเสียง

ช่วงนี้ลูกน้อยจะสามารถได้ยินเสียงของคุณแม่ได้ และอาจตอบสนองต่อเสียงนั้น ด้วยการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นหัวใจ การหายใจ และการเคลื่อนไหว หากคุณแม่เกิดเสียงดังออกมา ก็จะทำให้ลูกน้อยตกใจ จนเผลอถีบ หรือเตะหน้าท้องของคุณแม่ ทั้งนี้ คุณแม่สามารถอัลตราซาวนด์เพื่อจับการเปลี่ยนแปลงสีหน้าของทารกเมื่อได้ยินเสียงเพลงได้นะคะ

พัฒนาลูกอัณฑะ

สำหรับทารกเพศชายจะมีการพัฒนาลูกอัณฑะ โดยลูกอัณฑะจะเลื่อนลงในถุงอัณฑะนั่นเอง ซึ่งการพัฒนานี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของทารกเพศชายเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นคุณแม่ต้องหมั่นดูแลสุขภาพตนเองไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยนะคะ

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์ มีอะไรบ้าง

ในสัปดาห์ที่ 26 คุณแม่อาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งหากอุ้มลูกแฝดอยู่แล้ว จะสามารถสังเกตได้เลยว่ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และเห็นได้ชัดว่ายอดมดลูกอยู่เหนือสะดือขึ้นมา อีกทั้งท้องของคุณแม่จะเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย เรามาดูกันดีกว่าว่าการเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงนี้ จะมีอะไรบ้าง

นอนไม่หลับ

ยิ่งใกล้วันคลอดมากเท่าไหร่ คุณแม่อาจนอนไม่หลับมากยิ่งขึ้น ดังนั้นคุณแม่จึงควรปรับพฤติกรรมของตนเองเพื่อให้นอนหลับง่าย เช่น การเข้านอนให้ตรงเวลา ปิดไฟให้สนิท อาบน้ำอุ่นก่อนนอน หรือดื่มนมสักแก้วเพื่อช่วยให้นอนหลับง่าย นอกจากนี้ คุณแม่ระวังการดื่มคาเฟอีนนะคะ พยายามดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และออกกำลังกายบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย และนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

ท้องอืด ท้องเฟ้อ

คุณแม่บางคนอาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เนื่องจากมดลูกขยายใหญ่ขึ้นจนเต็มช่องท้อง ทำให้ลำไส้ถูกเบียดนั่นเอง อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนยังทำให้ลำไส้ทำงานได้ช้าลงอีกด้วย ส่งผลให้คุณแม่มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องผูกนั่นเอง เพราะฉะนั้นคุณแม่จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการแบ่งอาหารรับประทานทานเป็นมื้อย่อย ไม่ควรทานมื้อเดียวหนัก ๆ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ง่ายกว่าเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกท้องอืด เกิดจากสาเหตุใด คุณแม่รับมือกับอาการนี้ได้อย่างไรบ้าง?

ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์

เจ็บท้องหลอก

นอกจากอาการท้องอืดแล้ว คุณแม่อาจมีอาการท้องแข็งร่วมด้วย เนื่องจากการบีบตัวของมดลูก แต่อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ เพราะกล้ามเนื้อของคุณแม่กำลังเกร็งเพื่อฝึกการซ้อมคลอด หากเกิดการบีบตัวที่ไม่ได้รุนแรง และถี่ ก็ถือว่าไม่มีอันตรายใด ๆ ค่ะ แต่หากคุณแม่พบว่ามีอาการบีบตัวอย่างรุนแรง เจ็บปวด และไม่ยอมหยุด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดได้

ความดันโลหิตสูง

โดยปกติแล้ว ความดันโลหิตสูงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 26 แต่หากคุณหมอสังเกตว่าความดันโลหิตของคุณแม่สูงเกินไป แพทย์จะติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะความดันโลหิตสูงนั้น อาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะแทรกซ้อน หรืออาการ HELLP ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายต่อตัวคุณแม่ และลูกน้อยเลยทีเดียว

เคล็ดลับการดูแลของคุณแม่ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์

การดูแลตัวเองระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรใส่ใจ เพื่อให้ตนเอง และลูกน้อยแข็งแรง ปลอดภัยจนกว่าเขาจะลืมตาดูโลก ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงที่ใกล้เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่จึงต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษ เราจึงได้รวบรวมเคล็ดลับการดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์มาฝากค่ะ

ออกกำลังกายเป็นประจำ

เมื่อคุณแม่ท้องใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ควรหาเวลาเพื่อออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายได้เตรียมพร้อมสำหรับการรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมในการคลอดลูก และเสริมความแข็งแรงให้กับมดลูกอีกด้วย โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงนี้ เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ โยคะ และพิลาทิส เป็นต้น

ดื่มน้ำให้เพียงพอ

อย่างที่ทราบกันดีว่า การดื่มน้ำสะอาดเป็นประโยชน์แก่ร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงนี้คุณแม่อาจรู้สึกร้อนง่ายมากกว่าผิดปกติ เนื่องจากฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นคุณแม่ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อปรับอุณหภูมิในร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และช่วยปรับการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : 6 ประโยชน์ของน้ำสะอาด ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจไม่รู้

ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์

รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3

นอกจากการดื่มน้ำแล้ว คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 บ่อย ๆ เนื่องจากในช่วงนี้ ระบบดวงตาของลูกน้อยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารจำพวกปลา และอาหารทะเล เพื่อให้ช่วยพัฒนาดวงตาของลูก

เลือกชุดคลุมท้องที่ใส่สบาย

ช่วงนี้น้ำหนักของคุณแม่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งร่างกายที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้นคุณแม่จึงควรเลือกชุดคลุมท้องที่ใหญ่ด้วย โดยจะต้องเลือกชุดคลุมท้องที่สามารถรองรับการขยายขึ้นในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าอีกด้วย เพื่อช่วยให้คุณแม่รู้สึกสะดวกสบาย ไม่อึดอัดกับการสวมชุดคลุมท้องตัวเก่า

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ตอนนี้คุณแม่ก็ได้รู้ว่าทารกในครรภ์มีพัฒนาการอย่างไร และคุณแม่จะต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นคุณแม่อย่าลืมดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์นะคะ หากคุณแม่อยากรู้ว่าลูกน้อยจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป สามารถติดตามเรื่องของการตั้งครรภ์ในแต่ละสัปดาห์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของเรานะคะ หรือเลือกบทความที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ถัดไป และสัปดาห์ก่อนหน้าได้ที่ด้านล่างนี้เลย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2

ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2

ช่วงตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ ทารกปลายไตรมาส 2 เป็นอย่างไร?

ที่มา : 1, 2, 3