ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 3

ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ทุกคนนะคะ เข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 แล้ว ในช่วงนี้หน้าท้องของคุณแม่ก็เริ่มมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ แถมคุณแม่ยังสัมผั 

 1669 views

ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ทุกคนนะคะ เข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 แล้ว ในช่วงนี้หน้าท้องของคุณแม่ก็เริ่มมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ แถมคุณแม่ยังสัมผัสได้ถึงทารกในครรภ์มากขึ้นอีกเช่นกัน เรามาดูไปพร้อมกันดีกว่าว่าพัฒนาการทารกในครรภ์ ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์ เป็นอย่างไร ลูกจะตัวโตมากแค่ไหน และมีอาการอะไรที่คุณแม่ต้องเผชิญบ้าง ไปติดตามกันค่ะ

ท้อง 29 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

เมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์แรกของไตรมาสที่ 3 คุณแม่อาจสงสัยว่าท้อง 29 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน คำตอบก็คือ ท้อง 29 สัปดาห์เท่ากับ 7 เดือนค่ะ โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะติดตามการตั้งครรภ์เป็นรายสัปดาห์มากกว่ารายเดือน เพราะการตั้งครรภ์นั้นจะใช้เวลาทั้งสิ้น 40 สัปดาห์ แต่ก็อาจจะใช้เวลาเกิน 9 เดือนขึ้นไปเล็กน้อยค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้อง 7 เดือนลูกดิ้นน้อยลง อันตรายหรือไม่?

ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์

ทารกในครรภ์อายุ 29 สัปดาห์ เป็นอย่างไรบ้าง

ในสัปดาห์นี้ ลูกน้อยจะมีขนาดตัวเท่ากับฟักทองลูกเล็กแล้ว ซึ่งจะมีความยาวประมาณ 15 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 2.5-3.0 ปอนด์ค่ะ แต่ลูกก็ยังต้องโตขึ้นอีกมาก คุณแม่อาจต้องเตรียมตัวไว้ได้เลย เพราะน้ำหนักของลูกในครรภ์ จะเพิ่มขึ้นอีกสามเท่าก่อนคลอดเลยทีเดียว เรามาดูกันดีกว่าว่าทารกในครรภ์อายุ 29 สัปดาห์ เป็นอย่างไรแล้วบ้าง

การเจริญเติบโตของกระดูก

ในช่วงนี้กระดูกของลูกน้อยจะเริ่มพัฒนามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะดูดซึมแคลเซียมเพิ่มขึ้นในช่วงที่รับสารอาหาร ดังนั้นคุณแม่อย่าลืมดื่มนม โยเกิร์ต ชีส หรือน้ำส้มสูตรเข้มข้น และอาหารอื่น ๆ ที่ให้แคลเซียมมากขึ้น เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างกระดูก ซึ่งโดยปกติแล้ว ร่างกายของทารกจะดูดซึมแคลเซียมประมาณ 250 กรัมต่อวัน คุณแม่จึงควรรับประทานแคลเซียมเป็นประจำ

สร้างเยื่อหุ้มระบบประสาท

ทารกอายุ 29 สัปดาห์จะเริ่มสร้างเยื่อไมอีลินรอบ ๆ เส้นประสาท เพื่อป้องกันระบบประสาท โดยกระบวนการนี้ จะค่อย ๆ พัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ลูกน้อยคลอดออกมา

พัฒนาระบบทางเดินหายใจ

นอกจากการพัฒนากระดูก และเส้นประสาทแล้ว ระบบทางเดินหายใจของทารกก็ยังคงพัฒนาอยู่ด้วย โดยปอดของทารกจะผลิตสารลดแรงตึงผิว ซึ่งจะออกมาเป็นของเหลวที่ช่วยให้ถุงลมเปิดออก ภายใน 35 สัปดาห์นั้น ลูกน้อยของคุณจะผลิตสารลดแรงตึงผิวอย่างเพียงพอ เพื่อรองรับการหายใจตอนแรกเกิด

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์ มีอะไรบ้าง

ในสัปดาห์นี้ ลูกจะเริ่มขยับตัวบ่อย ๆ และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารของคุณแม่ อีกทั้งยังทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางคืน ปวดเมื่อย ปัสสาวะบ่อย และยังมีอาการริดสีดวงอีกด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ ถือเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ในช่วงท้อง 29 สัปดาห์ค่ะ

ปวดหัว

แม่ท้องในระยะนี้อาจมีอาการปวดหัว หรือเวียนหัวจากการอดหลับอดนอน เนื่องจากลูกในครรภ์มักจะดิ้นตลอดเวลา ส่งผลให้คุณแม่นอนไม่หลับนั่นเอง นอกจากนี้ อาการปวดหัวยังอาจเกิดขึ้นจากน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกปวดหัว และเวียนหัวอยู่บ่อย ๆ ดังนั้นให้พยายามพักผ่อนให้เพียง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้ค่ะ

มีผื่นขึ้น

คุณแม่อาจต้องเผชิญกับคันหน้าท้อง เนื่องจากผิวหนังหน้าท้องของคุณจะขยายออก และมีความบางลงด้วย ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกคันบริเวณหน้าท้อง มีผื่นขึ้น และอาจรู้สึกไวต่อความรู้สึก คุณแม่สามารถแก้อาการนี้ได้ง่าย ๆ ด้วยการทาโลชั่น และดื่มน้ำเป็นประจำ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว นอกจากนี้ คุณแม่สามารถลองใช้โลชั่นสำหรับคนท้อง เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน และลดอาการผื่นขึ้นอย่างรุนแรง

ปวดเมื่อย

อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายของคุณแม่ต้องแบกรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น รวมถึงทารกในครรภ์ก็เริ่มมีการขยับตัวอีกด้วย นอกจากนี้ ตำแหน่งของลูกยังอาจส่งผลให้คุณแม่รู้ปวดมากอีกเช่นกัน เพราะลูกจะเริ่มโตขึ้นจนไปกดทับบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย จนทำให้คุณแม่รู้สึกปวดเมื่อยมากยิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องปวดหัว รับมืออย่างไร แม่ท้องปวดหัวอันตรายต่อลูกในครรภ์ไหม?

ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์

ริดสีดวงทวาร

เนื่องจากลูกน้อยมีการเปลี่ยนตำแหน่งตัว เพื่อให้สอดรับกับการคลอดในอนาคต ทำให้ตัวของเขาไปกดทับอวัยวะของคุณแม่ ทำให้ระบบย่อยอาหารของคุณแม่ทำงานได้ไม่ดี โดยเฉพาะในส่วนของทวารหนัก อาจสร้างความลำบากให้แก่คุณแม่ นอกจากนี้ ฮอร์โมนในร่างกายยังทำให้กล้ามเนื้อลำไส้ของคุณแม่คลายตัว ส่งผลให้เกิดริดสีดวงทวารตามมา คุณแม่จึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง และดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำ เพื่อป้องกันริดสีดวงที่อาจเกิดขึ้นค่ะ

ปัสสาวะบ่อย

เมื่อมดลูกของคุณแม่ขยายมากขึ้น ก็ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อย ๆ คุณแม่จึงควรรับประทานน้ำในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของภาวะการขาดน้ำ อีกทั้งการดื่มน้ำนั้น ยังช่วยบรรเทาอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ รวมถึงยังช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นคุณแม่อย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอ และไม่ควรดื่มน้ำน้อยลงนะคะ

เคล็ดลับการดูแลของคุณแม่ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์

เพื่อสุขภาพที่ดี คุณแม่ควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน หรือเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน เรามาดูกันดีกว่า ว่าเคล็ดลับการดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ในสัปดาห์นี้ มีอะไรบ้าง

สังเกตการดิ้นของลูกน้อย

โดยปกติแล้ว ในช่วงนี้ลูกจะมีการตื่นตัว และดิ้นแรงมากขึ้นอย่างชัดเจน คุณแม่สามารถสังเกตการดิ้นของลูก เพื่อดูว่าลูกมีการเจริญเติบโตที่เป็นปกติไหม อีกทั้งการสังเกตการดิ้นของลูก ยังช่วยเฝ้าระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับลูกอีกด้วย หากลูกดิ้นผิดปกติ คุณแม่ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยต่อไป

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอ

ในช่วงตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์ กระดูกของลูกมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ร่างกายของลูกจึงต้องการแคลเซียมสูงถึง 250 มิลลิกรัมต่อวัน รวมถึงสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็น ดังนั้นคุณแม่จึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม โปรตีน ธาตุเหล็ก ไฟเบอร์ วิตามินซี วิตามินดี และกรดโฟลิก เพื่อการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ และการเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนม

บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ต้องรู้! อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง สำหรับคนท้อง มีอะไรบ้าง?

ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์

เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง

เต้านมของคุณแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้  ซึ่งอาจทำให้รู้สึกคัน เป็นผด แน่นหน้าอก และมีน้ำนมสีเหลืองไหลออกมา แต่คุณแม่ไม่ต้องตกใจนะคะ เพราะนั่นถือเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นแล้ว คุณแม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้โดยการเลือกชุดชั้นในที่ใส่สบาย ไม่อึดอัด และระบายอากาศได้ดี รวมถึงแผ่นซับน้ำนมในกรณีที่คุณแม่มีน้ำนมไหลออกมา

นอนตะแคง

คุณแม่อาจต้องเผชิญกับอาการนอนไม่นอน เนื่องจากลูกดิ้นบ่อย ๆ คุณแม่จึงควรนอนตะแคง แทนการนอนคว่ำ หรือนอนหงาย เพื่อช่วยให้คุณแม่ และลูกน้อยนอนหลับสบายได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การนอนตะแคงยังช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดทำงานได้ดี ส่งผลให้คุณแม่นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ คุณแม่ไม่ควรนอนตะแคงเพียงด้านเดียวนะคะ ให้ลองสลับข้างดูบ้าง ก็จะช่วยลดอาการเสียดท้องที่เกิดขึ้นได้

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ในช่วงนี้คุณแม่ก็อาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากลูกน้อยในครรภ์มีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวนั่นเอง หากคุณแม่มีภาวะการตั้งครรภ์ที่ดูผิดปกติ ควรลืมไปพบแพทย์โดยทันทีเลยนะคะ เพราะเราไม่รู้เลยว่าอาการต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์หรือเปล่า ทางที่ดีควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยต่อไปค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2

ตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์ และพัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 3

ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์เป็นอย่างไรบ้าง?

ที่มา : 1, 2, 3, 4