ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

สำหรับคุณแม่ที่ ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ ในระยะนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์บ้าง แล้วมีอะไรที่คุณแม่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศ 

 1608 views


สำหรับคุณแม่ที่ ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ ในระยะนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์บ้าง แล้วมีอะไรที่คุณแม่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับคุณแม่ที่ยังไม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์อยู่ จะสามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้หรือไม่ มาดูกันค่ะ



ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ เท่ากับท้องกี่เดือน

ในช่วงของการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 6 นั้น สำหรับคุณแม่ท้องแรกนับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องใช้เวลาศึกษามากพอสมควร ซึ่งโดยส่วนใหญ่ เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น คุณหมอ มักจะนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์มากกว่าเป็นเดือน เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้อย่างชัดเจน ถึงระยะเวลา และการเปลี่ยนแปลงของตัวเด็ก และตัวคุณแม่โดยละเอียด

ดังนี้ท้อง 6 สัปดาห์นั้น ก็จะเท่ากับ อายุครรภ์ประมาณ 1 เดือน กับอีก 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนครึ่งนั่นเองค่ะ



ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์



นับอายุครรภ์อย่างไร ?

การนับอายุครรภ์ อาจดูเป็นเรื่องวุ่นวายสำหรับคุณแม่มือใหม่ไม่มากก็น้อย แต่ถ้าเริ่มรู้หลักการในการนับอายุครรภ์ได้แล้ว คุณแม่จะสามารถตรวจเช็กการเปลี่ยนแปลง การดูแล และพัฒนาการต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งคุณแม่จะต้องเริ่มต้นนับอายุครรภ์จากวันสุดท้ายของการมีรอบเดือนครั้งล่าสุด ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่ กว่าจะทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ก็จะมีอายุครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 แล้วนั่นเอง แต่เราจะสามารถสังเกตได้ชัดเจนเมื่อประจำเดือนไม่มา นั่นแสดงว่า อายุครรภ์ของคุณเข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 แล้วค่ะ



พัฒนาการทารก อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 6 เป็นอย่างไรบ้าง ?

เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 ตัวเด็กจะเริ่มมีพัฒนาการในการเติบโตที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขนาดตัวของทารก แม้ว่าจะเล็ก แต่หากคุณแม่สามารถส่องดู จะเห็นว่าตัวเด็กมีการขยายขนาดตัวได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยเราสามารถรวบรวมการเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์ ได้ดังนี้

  • ทารกในช่วงสัปดาห์ที่ 6 จะมีขนาดตัวเท่ากับเม็ดสาคู หรือเมล็ดถั่ว หรือประมาณ 0.5 เซนติเมตร ซึ่งขนาดตัวของเด็ก จะค่อย ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เชื่อกันว่า ขนาดของเด็กจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในแต่ละสัปดาห์ของไตรมาสแรก
  • หัวใจของเด็กแม้ว่าเราจะมองไม่เห็น แต่จากผลการวิจัยพบว่า เด็กทารกในครรภ์ 6 สัปดาห์ จะมีการเต้นของหัวใจถี่มาก ประมาณ 150 – 180 ครั้งต่อนาที ซึ่งถือว่า เร็วกว่าการเต้นของหัวใจของคุณแม่มากถึง 2 เท่าด้วยกัน นั่นเป็นเพราะร่างกายของเด็ก กำลังถูกสร้างขึ้นอย่างขมีขมัน และจะเริ่มเต้นช้าลง เมื่อทารกในครรภ์เติบโตขึ้นเต็มที่แล้วนั่นเอง
  • หากทำการอัลตราซาวนด์ในระยะนี้ จะสามารถเห็นทารกในรูปทรงของหัว และรอยโค้งของกระดูกสันหลัง บางคนก็เปรียบเทียบเหมือนกับลักษณะของลูกอ๊อด



ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์




ภาวะเสี่ยงของคุณแม่ ในช่วงอายุครรภ์ 6 สัปดาห์

หากคุณแม่เข้าตรวจฝากครรภ์ในช่วงที่ท้อง 6 สัปดาห์ จะพบว่า คุณหมอจะทำการตรวจดูด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ เพื่อดูพัฒนาการของทารกในครรภ์เป็นหลัก ว่าเป็นไปตามอายุครรภ์หรือไม่ และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการดูตำแหน่งของการตั้งครรภ์ ว่ามีการท้องนอกมดลูก มีเนื้องอกในมดลูก หรือรังไข่หรือไม่ และการตรวจสอบจำนวนทารกในครรภ์ ว่ามีจำนวนทารกกี่คน หรือครรภ์นั้นเป็นครรภ์แฝด ก็สามารถตรวจสอบได้ ในช่วงอายุครรภ์ 6 สัปดาห์นี้เช่นกัน



ภาวะเสี่ยงของคุณแม่ ในช่วงอายุครรภ์ 6 สัปดาห์

ในช่วงอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ คุณแม่ยังคงต้องระมัดระวัง และดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี และสิ่งที่ควรทำมากที่สุด คือการฝากครรภ์ เพื่อให้แพทย์ได้เข้ามาดูแล ตรวจสอบ และป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ ซึ่งภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้


  • ท้องลม

ท้องลมนั้น โดยปกติจะมีอาการคล้ายกับคนท้องทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย จนทำให้สงสัยว่ามีการตั้งครรภ์ เพียงแค่การท้องลมนี้ เราจะไม่พบตัวอ่อนอยู่ภายในมดลูก หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ภาวะไข่ฝ่อ ซึ่งร่างกาย จะทำการขับของเสียออกจากร่างกายโดยอัตโนมัติ ทำให้คุณแม่มีเลือดออกบริเวณช่องคลอด ลักษณะคล้ายอาการแท้งนั่นเอง



  • ท้องนอกมดลูก

หากคุณแม่มีอาการเลือดออกในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก หรือในช่วงอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ การท้องนอกมดลูก ก็เป็นอีกหนึ่งภาวะเสี่ยงที่คุณแม่จะต้องระวังมากเป็นพิเศษ การท้องนอกมดลูกนั้น เกิดจากการที่ตัวอ่อนไม่สามารถเข้าไปฝังตัวอยู่ในมดลูกได้ ทำให้ตัวอ่อนค้างอยู่บริเวณท่อนำไข่ ส่งผลให้ตัวทารกไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ และเมื่อมีการเจริญเติบโตในระดับหนึ่ง ก็จะทำให้มีเลือดไหลออกมาบริเวณช่องคลอด ส่งผลให้เกิดอันตรายกับตัวคุณแม่ และทารกในครรภ์

บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ แม่ท้องห้ามทำอะไรบ้าง

ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์



  • แท้งคุกคาม

อีกหนึ่งความเสี่ยงของครรภ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 6 หรือในช่วงไตรมาสแรก ก็คือภาวะแท้งคุกคาม ภาวะนี้คุณแม่จะรู้สึกปวดเกร็งบริเวณมดลูก รวมถึงจะมีเลือดออกมาจากช่องคลอดอยู่ตลอดเวลา คล้ายประจำเดือน สามารถออกมาในแบบกะปริดกะปรอย หรือไหลออกมามากเหมือนช่วงมีประจำเดือน ก็ได้ทั้งสองแบบ ดังนั้น หากคุณแม่ท่านไหน มีอาการดังกล่าวอยู่จะต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจสภาพครรภ์ และรีบทำการรักษาโดยทันที เพราะอาการนี้ อาจส่งผลให้เกิดอาการแท้ง และตกเลือด ส่งผลถึงทารกในครรภ์ได้



  • ช่องคลอดติดเชื้อ

จากภาวะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายของเรา ทำให้บริเวณช่องคลอดมีการเปลี่ยนแปลง และมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นหากคุณแม่ไม่อยากให้อาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเอง การฝากครรภ์ให้เร็ว เพื่อทำการดูแล และตรวจเช็กสภาพร่างกาย อย่างต่อเนื่อง ทำให้เราสามารถดูแลรักษาร่างกายของตัวเองให้แข็งแรง ส่งผลให้ลูกน้อยแข็งแรง และเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ



  • รกเกาะต่ำ

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภาวะรกเกาะต่ำยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่ภาวะนี้ทำให้รกปิดขวาง หรือคลุมปากมดลูกได้เพียงบางส่วน หรืออาจปกคลุมทั้งหมด ซึ่งปกติ รกจะอยู่ด้านบนของมดลูก และห่างจากปากมดลูก ภาวะนี้จะมีสัญญาณเตือนในลักษณะของการไหลซึมของเลือด ออกมาทางบริเวณช่องคลอด หากใครที่พบเจอลักษณะอาการเช่นนี้เกิดขึ้นกับตนเอง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุ และทำการรักษาโดยทันที มิเช่นนั้น อาจส่งผลให้เกิดอาการแท้งได้ในที่สุด



สิ่งที่คุณแม่ควรทำในช่วงครรภ์ 6 สัปดาห์ มีอะไรบ้าง ?

ในระยะนี้ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่ จำเป็นจะต้องได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เพื่อการสร้างร่างกายให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่คุณแม่ควรทำ มีดังนี้


  • ควรทานอาหารมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อยครั้ง แทนการทานอาหารตามมื้อเหมือนช่วงปกติ
  • หากมีอาการแพ้ท้อง หรืออ่อนเพลีย ควรพักผ่อนเพิ่มมากขึ้น ทำจิตใจให้รู้สึกผ่อนคลาย
  • หมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะอาการเพียงเล็กน้อย ก็อาจแสดงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์
  • ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงกลิ่นบุหรี่ และการสูบบุหรี่
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ควรเป็นการออกกำลังกายอย่างเบา ๆ ในช่วงระยะนี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมี ไม่ว่าจะเป็น น้ำยาย้อมผม เครื่องสำอาง น้ำหอม ครีมลดสิว หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติ จะดีที่สุด



อาหารสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์

ในช่วงไตรมาสแรกนี้ คุณแม่บางคนอาจพบกับปัญหาของอาการแพ้ท้อง ทำให้ไม่สามารถทานอาหารต่าง ๆ ได้ดั่งใจ ในทางตรงข้ามคุณแม่ที่ยังคงทานทุกอย่างได้เป็นปกติ ก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของอาหารที่ทานเข้าไป และถ้าจะให้ดี การเลือกทานอาหารที่มีคุณค่าทางสารอาหารสำหรับลูกน้อย จะทำให้การพัฒนาของเด็ก จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอีกด้วย อาหารที่คุณแม่ควรทานมีดังนี้


ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์


  • อาหารที่มีปริมาณโฟเลตสูง เช่น ข้าวกล้อง, ตับหมู, ขนมปังโฮลวีต ผักใบเขียว เช่น ผักโขม บรอกโคลี, ถั่วชนิดต่าง ๆ (ทั้งนี้ต้องคอยสังเกตอาการด้วยว่า คุณแม่มีอาการแพ้ถั่วหรือไม่ เพราะอาจส่งผลถึงตัวเด็กด้วยเช่นกัน) ผลไม้จำพวก ส้ม, สับปะรด, มะละกอ เป็นต้น
  • กรด DHA (กรดไขมันโอเมก้า 3) กรดชนิดนี้มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กอย่างมาก ซึ่งเราจะได้สารอาหารจำพวกนี้จาก ปลากทูน่า, ปลาแซลมอน, ปลาซาร์ดีน, ปลาทู, ปลาช่อน, ปลากะพง, ปลาดุก เป็นต้น
  • ไอโอดีน ที่เราจะได้รับจากกลุ่มอาหารทะเล และเหลือที่มีส่วนผสมของไอโอดีน มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของสมอง และป้องกันการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ได้อีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : แคลเซียมแม่ท้อง สารอาหารที่ร่างกายคุณแม่ผลิตเองไม่ได้




วัคซีนที่คุณแม่จำเป็นจะต้องได้รับ

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่
  • วัคซีนบาดทะยัก
  • วัคซีนไวรัสตับอักเสบ


ทั้งนี้ การตั้งครรภ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 6 แม้ว่าตัวของเด็ก ยังคงมีขนาดเล็ก แต่คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ บางคนอาจรู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงนอน และสามารถหลับได้ทั้งวัน เนื่องจากตัวเด็ก กำลังสร้างส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเฝ้าติดตามการเติบโตอย่างใกล้ชิด จึงมีความสำคัญอย่างมาก



หากคุณแม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์แล้ว อย่ารอให้ท้องใหญ่ก่อนแล้วค่อยไปฝากครรภ์ค่ะ เพราะการฝากครรภ์นั้น ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ ลูกน้อยของเรา ก็จะได้รับการดูแลจากคุณหมอ และติดตามผลได้อย่างใกล้ชิดเร็วยิ่งขึ้น และตัวคุณแม่เอง ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดีด้วยนะคะ เพราะทุกการกระทำ ทุกอารมณ์ความรู้สึก สามารถถ่ายทอดถึงเจ้าตัวน้อยได้แล้วล่ะค่ะ




บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

อาการแพ้ท้อง คืออะไร คุณแม่รับมืออย่างไรไม่ให้แพ้ท้อง?

ที่มา : 1, 2