อาการแพ้ท้อง คืออะไร คุณแม่รับมืออย่างไรไม่ให้แพ้ท้อง?

อาการแพ้ท้อง เป็นอาการที่คุณแม่หลายคนอาจพบเจอ โดยมักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หรือประมาณ 6 สัปดาห์จากการมีประจำเดือนครั้งสุด 

 1614 views

อาการแพ้ท้อง เป็นอาการที่คุณแม่หลายคนอาจพบเจอ โดยมักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หรือประมาณ 6 สัปดาห์จากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งคุณแม่อาจต้องเผชิญกับอาการต่าง ๆ เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน หรือง่วงนอน โดยเฉพาะในช่วงตื่นนอนตอนเช้า อย่างไรก็ตาม อาการแพ้ท้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ วันนี้ Mama Story ขอพาคุณแม่ทุกท่านมาดูกันว่า อาการแพ้ท้อง คืออะไร จะเป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์หรือเปล่า และมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง พร้อมแล้ว ไปติดตามกันค่ะ

แพ้ท้องคืออะไร

อาการแพ้ท้อง เป็นอาการในกลุ่มคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งถือเป็นอาการคนท้องระยะแรก คุณแม่ส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่าตัวเองตั้งท้อง จนกว่าจะเกิดอาการแพ้ท้อง ซึ่งอาการดังกล่าวนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก โดยผู้หญิงตั้งครรภ์บางส่วนมักจะมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียน ขณะที่บางส่วนอาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย ทั้งนี้อาการคลื่นไส้อาเจียนนั้น อาจไม่รุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล แต่สำหรับคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง อาเจียนบ่อยครั้ง และสูญเสียของเหลว และเกลือแร่ในร่างกายออกไปจำนวนมาก อาจต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

อาการแพ้ท้อง

อาการแพ้ท้องเกิดจากอะไร

อาการแพ้ท้องมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ระยะแรก โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกคนแรก อย่างไรก็ตาม สาเหตุในการแพ้ท้องนั้น อาจยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน แต่อาจเกิดจากสาเหตุหลัก ดังต่อไปนี้

  • ร่างกายของเกิดความเครียด
  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนจากทารกในครรภ์ ทำให้ปริมาณฮอร์โมนเพิ่มมากขึ้น
  • การต่อต้านอาหารบางชนิด จนส่งผลต่อเด็กในครรภ์ ทำให้คุณแม่เหม็นกลิ่นอาหาร

อาการแพ้ท้องมีอะไรบ้าง

เมื่อคุณแม่มีอาการแพ้ท้อง อาจแปลว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ เรามาดูกันว่าอาการแพ้ท้องมีอะไรบ้าง

  • คลื่นไส้ อาเจียน : อาการคลื่นไส้ และอาเจียน เป็นอาการแพ้ท้องที่พบได้บ่อยมากที่สุด โดยมักเกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่มักมีอาการดังกล่าว แต่บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย : เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายทำงานหนักขึ้น จนส่งผลให้คุณแม่มีอาการเหนื่อยล้า และอ่อนเพลียนั่นเอง
  • เบื่ออาหาร : เมื่อเกิดอาการแพ้ท้อง คุณแม่บางคนอาจมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น คุณแม่บางคนอาจอยากรับประทานอาหารแปลก ๆ หรือเบื่ออาหารที่ตนเองชอบ บางรายอาจอยากรับประทานอาหารเปรี้ยว ๆ เป็นต้น
  • เวียนศีรษะ : เมื่อฮอร์โมน และความดันในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้คุณแม่มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด และตาลายบ่อย ๆ ได้
  • อารมณ์แปรปรวน : คุณแม่บางรายอาจมีอาการอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายโดยไม่มีเหตุผล เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายมีอาการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
  • เลือดออกขณะปัสสาวะ : คุณแม่อาจมีเลือดออกขณะปัสสาวะ หรือมีเลือดออกจากช่องคลอด เนื่องจากตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่บนผนังมดลูก

บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 วิธีแก้คลื่นไส้อาเจียน ปัญหาน่าปวดหัวของคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแพ้ท้อง

วิธีรับมืออาการแพ้ท้อง

1. ดื่มน้ำให้มากขึ้น

การดื่มน้ำสะอาดช่วยให้ร่างกายคุณแม่ได้รับประโยชน์มากมาย และสามารถบรรเทาอาการเหนื่อยล้า อาการบวม และเวียนศีรษะจากอาการแพ้ท้องได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรดื่มน้ำให้มากขึ้น วันละ 8-12 แก้ว เพื่อสุขภาพที่ดี และช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง นอกจากนี้ การรับประทานน้ำผลไม้ ยังช่วยให้ทารกในครรภ์ได้รับประโยชน์จากผลไม้อีกด้วย เพราะฉะนั้นอย่าลืมฝึกนิสัยการดื่มน้ำเป็นประจำนะคะ

2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

เป็นที่รู้กันดีว่าการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแม่ท้องเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารไปหล่อเลี้ยงลูกน้อยแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้ด้วย โดยคุณแม่สามารถดื่มเครื่องดื่มชาสมุนไพร เพื่อช่วยเพิ่มความสดชื่น ลดอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ และบำรุงเลือด อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้ นอกจากนี้ คุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เน้นรับประทานโปรตีน และหลีกเลี่ยงอาหารมันจัด และเผ็ดจัด เพื่อป้องกันท้องอืด แน่นท้อง และท้องเสีย

3. พักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้สมดุล โดยหากคุณแม่มีอาการแพ้ท้อง ก็อาจมีอาการไม่สบายตัวได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะ และอากาศร้อน ๆ เพื่อช่วยลดอาการเวียนศีรษะ และคลื่นไส้ นอกจากนี้ คุณแม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว และควรเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ เพื่อช่วยให้ร่างกายนอนหลับได้อย่างเต็มที่

4. เดินบ่อย ๆ

หลายคนอาจไม่รู้ว่า การเดินช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้เป็นอย่างดี คุณแม่สามารถเดิน หรือวิ่งเหยาะ ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายได้ออกกำลังกาย อีกทั้งยังช่วยลดอาการจุกเสียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ คุณแม่ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ไม่นั่งหรือยืนท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ เพื่อช่วยลดอาการปวดที่อาจเกิดขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องเวียนศีรษะ อันตรายไหม ต้องรับมืออย่างไรดี

อาการแพ้ท้อง

5. นั่งสมาธิ

เชื่อหรือไม่ว่าการนั่งสมาธิ สามารถผ่อนคลายความกังวลได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยลดความเครียดให้กับคุณแม่ได้ คุณแม่ควรหาเวลานั่งสมาธิ เช่น ตอนเช้า หรือก่อนนอน เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับสมดุล และช่วยปรับสภาพจิตใจให้พร้อมรับการเปลี่ยนต่าง ๆ ของร่างกาย

6. รับประทานวิตามินเสริม

โดยปกติแล้ว แพทย์จะให้คุณแม่รับประทานอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย แต่คุณแม่สามารถรับประทานวิตามินเสริมอื่น ๆ เพื่อช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนรับประทานวิตามินเสริมใด ๆ นั้น คุณแม่ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของร่างกายตัวเอง และลูกน้อยในครรภ์

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

แพ้ท้อง เป็นอาการที่เกิดขึ้นทั่วไปได้กับผู้หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากช่วงไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • หน้ามืดบ่อยครั้ง
  • มีเลือดปนออกมากับอาเจียน
  • แพ้ท้องหนักมากจนน้ำหนักลดลง
  • รู้สึกใจสั่น และหัวใจเต้นแรงผิดปกติ
  • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ และมีสีเหลืองเข้ม
  • สูญเสียน้ำออกจากร่างกาย และไม่สามารถดื่มน้ำได้

อาการแพ้ท้อง เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก คุณแม่สามารถนำวิธีข้างต้นไปลองไปปรับใช้ดูนะคะ เชื่อว่าอาการแพ้ท้องต่าง ๆ จะหายไปอย่างแน่นอน ที่สำคัญคือ คุณแม่ควรสังเกตอาการแพ้ท้องของตัวเองด้วย หากมีอาการแพ้ท้องหนักมาก น้ำหนักลดลง หน้ามืดบ่อย และไม่สามารถดื่มน้ำได้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

คนท้องกินเยอะขึ้นเพราะอะไร กินแบบไหนถึงไม่อ้วน?

แม่ท้องง่วงนอนบ่อย เกิดจากอะไร ทำอย่างไรให้ง่วงน้อยลง

คนท้องปวดหัว รับมืออย่างไร แม่ท้องปวดหัวอันตรายต่อลูกในครรภ์ไหม?

ที่มา : 1, 2, 3, 4, 5