ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ ลูกน้อยในครรภ์จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรบ้างนะ และคุณแม่จะมีอาการอะไรบ้าง มาเรียนรู้ไปพร้อมกัน 

 2150 views


ยินดีต้อนรับคุณแม่เข้าสู่บทความของเรานะคะ เราจะเรียนรู้ไปพร้อมกันว่าคุณแม่ที่กำลังอยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาส ทารกในครรภ์มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง คุณแม่นั้นสามารถพบเจออุปสรรคในการตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง วันนี้เรามาพบกับเนื้อหาสำหรับคุณแม่ ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ ทารกมีพัฒนาการทารกในครรภ์ อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย


ท้อง 4 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

ส่วนใหญ่แล้วเมื่อคุณแม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์แล้วไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิก แพทย์ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า สัปดาห์ เป็นการนับระยะเวลาในการตั้งครรภ์ ดังนั้น ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์เท่ากับ 1 เดือนนั่นเอง


ทารกในครรภ์อายุ 4 สัปดาห์ เป็นอย่างไรบ้าง

หากคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 4 สัปดาห์แรก ลูกน้อยในครรภ์ของคุณนั้นจะมีขนาดเล็กมาก โดยขนาดจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1 มิลลิเมตร หรือไม่ใหญ่กว่าเมล็ดงาดำ ซึ่งหากมองผ่าน ๆ หรือมองบริเวณภายนอกก็อาจจะสังเกตไม่ได้ว่าเราท้องอยู่หรือเปล่า เพราะขนาดท้องของเราอาจจะยังไม่ได้ใหญ่มากนั่นเอง ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าในช่วง 4 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง



ตัวอ่อน ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์


การฝังตัวที่มดลูก

ในช่วงไตรมาสที่ 1 เป็นช่วงที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดมากนัก บางครั้งคุณแม่บางท่านอาจยังไม่รู้ตัวว่าตนเองตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ แต่ภายในร่างกายของคุณแม่นั้นเจ้าตัวน้อยได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว การปฏิสนธิสมบูรณ์แบบและกำลังเข้าสู่กระบวนการการฝังตัวของตัวอ่อน ไข่ที่ถูกปฏิสนธิจะเคลื่อนตัวมายังมดลูกและทำการฝังตัวอยู่ในเยื่อบุโพรงมดลูก และปักหลักก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างรกขึ้นมาเพื่อเป็นที่พักพิงของทารกในอีก 8 เดือนข้างหน้า ซึ่งไข่ที่เคลื่อนตัวมาถึงที่หมายแล้วจะแบ่งตัวออกเป็นสองกลุ่ม คือตัวอ่อนที่จะกลายเป็นเจ้าตัวน้อย และอีกส่วนหนึ่งจะถูกสร้างเป็นรกที่มาห่อหุ้มร่างกายของทารก และมีการเชื่อมโยงท่อลำเลียงอาหารระหว่างแม่และลูกได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้


พัฒนาการของตัวอ่อนและถุงน้ำคร่ำ

ในขณะที่ทารกอยู่ในช่วงการก่อตัวหรือเริ่มมีพัฒนาการในการพัฒนาเซลล์ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยที่จะช่วยเป็นเหมือนเกราะป้องกันลูกน้อยในครรภ์คือน้ำคร่ำ หรือถุงน้ำคร่ำนั่นเอง ทั้งนี้ตัวอ่อนที่อยู่ด้านในถุงน้ำคร่ำจะเริ่มพัฒนาเซลล์เป็นอวัยวะส่วนต่าง ๆ โดยเซลล์ชั้นในสุดที่เรียกว่า เอนโดเดิร์ม (Endoderm) จะถูกพัฒนาเป็นระบบย่อยอาหาร เซลล์ชั้นกลางที่เรียกว่า เมโซเดิร์ม (mesoderm) จะถูกพัฒนาเป็นหัวใจ อวัยวะเพศ กระดูก ไต และกล้ามเนื้อของทารก และเซลล์ชั้นนอกสุดที่เรียกว่า เอ็กโทเดิร์ม (Ectoderm) จะก่อตัวเป็นระบบประสาท ผม ดวงตา และผิวหนังชั้นนอกของทารก


การเปลี่ยนแปลงของ คุณแม่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ มีอะไรบ้าง

อาการทั่วไปของคุณแม่ที่อยู่ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ หรือไตรมาสที่ 1 นั้นจะมีอาการที่เหมือนกับช่วงก่อนหรือระหว่างช่วงที่มีประจำเดือนทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่แปลกไปจนคุณแม่เองก็สามารถสังเกตได้คืออุณหภูมิร่างกายจะเปลี่ยนไปจากเดิม และอาการอื่น ๆ อีกมากมาย เรามาดูกันดีกว่ามีท้อง 4 สัปดาห์จะมีอาการอย่างไรบ้าง


มีอาการคล้ายประจำเดือนมา

Premenstrual syndrome (PMS) เป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่อาจส่งผลทำให้เกิดอาการคล้ายกับอาการของผู้หญิงทั่วไปก่อนที่จะมีประจำเดือน อาทิ อาการท้องอืด เหนื่อยง่าย อารมณ์แปรปรวน เต้านมอ่อน และอาจมีการเกิดตะคริวขึ้นเล็กน้อย ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงอาการเบื้องต้นของคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วง 4 สัปดาห์แรกเท่านั้น และแน่นอนว่าหากว่าที่คุณแม่ท่านใดมีอาการดังกล่าวและไม่มั่นใจว่าตนเองตั้งครรภ์หรือไม่ก็สามารถเริ่มตรวจครรภ์ได้ เพราะหลังจากการปฏิสนธิ 12 วันแล้วไข่จะเริ่มปล่อย hCG หรือ Human chorionic gonadotropin ซึ่งเป็นฮอร์โมนในการตั้งครรภ์เพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถใช้ที่ตรวจครรภ์ตรวจได้แล้วว่าคุณกำลังตั้งครรภ์อยู่หรือเปล่า


เลือดออกในช่องคลอด

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ บางครั้งคุณแม่อาจพบว่าตนเองมีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเหมือนกับการเป็นประจำเดือนแต่จริง ๆ แล้วเกิดจากการที่ตัวอ่อนได้เริ่มฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว ซึ่งการฝังตัวของตัวอ่อนนั้นส่งผมทำให้มีเลือดออกเล็กน้อยในช่องคลอด หรือมักจะถูกเรียกว่า “เลือดล้างหน้า” นั่นเอง แต่คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะว่าการที่พบเลือดออกที่มีสาเหตุมาจากการฝังตัวของตัวอ่อนในช่วงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกเกิดขึ้นน้อยมาก หรือแค่กับคุณแม่ตั้งครรภ์บางท่านเท่านั้น


ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ คัดตึงเต้านม


หน้าอกเต่งตึง

การเปลี่ยนแปลงของเต้านมเป็นอีกหนึ่งจุดสังเกตที่เป็นสัญญาณแรกสุดของการตั้งครรภ์ โดยปกติการเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่จะเริ่มในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 4 ถึงสัปดาห์ที่ 6 และกินเวลายาวไปจนถึงช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 ซึ่งคุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าหน้าอกของตนเองนั้นมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น หรือหัวนมมีสีที่คล้ำขึ้น และสำหรับคุณแม่บางท่านอาจเห็นเส้นเลือดสีน้ำเงินหรือสีม่วงได้อย่างชัดเจนบริเวณหน้าอกของคุณแม่เอง


คนท้อง ท้องอืด

เนื่องจากการตั้งครรภ์จึงทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่นั้นเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มีการเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้การย่อยอาหารนั้นทำงานได้ช้าลง ซึ่งนำไปสู่สาเหตุของการท้องอืด หรือมีแก๊สจำนวนมากอยู่ในช่องท้อง ทั้งนี้ในช่วงของการตั้งครรภ์คุณจะสังเกตได้ว่าหลังทานอาหารคุณมักจะมีการเรอ หรือจำเป็นจะต้องปลดกระดุมออกเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด ทั้งที่คุณก็รับประทานทุกอย่างแบบปกติในปริมาณเท่าเดิม


ตะคริว

หากคุณแม่ท่านใดมักเกิดอาการตะคริวระหว่างช่วงตั้งครรภ์ไม่ต้องกังวลไป เพราะในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เมื่อไข่ปฏิสนธิย้ายไปฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูกเรียบร้อยแล้ว อาจส่งผลทำให้เกิดตะคริวได้เช่นกัน ทั้งนี้การเกิดตะคริวในช่วงไตรมาสแรกพร้อมกับการมีเลือดออกนั้นอาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่แสดงถึงปัญหาในการตั้งครรภ์ก็ได้ อาทิ การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือการแท้งบุตร เป็นต้น หากคุณแม่ไม่แน่ใจหรือรู้สึกไม่สบายตัวให้รีบไปพบแพทย์ในทันที



คลื่นไส้ หรืออาเจียน

เริ่มต้นแล้วกับอาการที่คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะเป็น สำหรับอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนในช่วงเช้าของวัน หรือที่เรียกว่า อาการแพ้ท้อง (Morning Sickness) ซึ่งจะสามารถเริ่มอาการดังกล่าวได้เร็วสุดคือในช่วงตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 4 เป็นต้นไป จากการสำรวจคิดว่าเป็นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ และมีบางส่วนจะเริ่มมีอาการในช่วงสัปดาห์ที่ 6 หรือคุณแม่บางท่านอาจไม่พบอาการดังกล่าวตั้งแต่เริ่มไตรมาสที่ 1 จนถึงคลอดเลยก็มี


อารมณ์แปรปรวน

ฮอร์โมน ความเครียด และความเหนื่อยล้า ล้วนเป็นสาเหตุของการทำให้คนท้องนั้นมีอารมณ์ที่แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะรุนแรงมากที่สุดในช่วงของการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์นั้นเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากเป็นบ่อยครั้ง มีอาการรุนแรงมากขึ้น หรือมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ให้รีบพบคุณหมอเจ้าของไข้เพื่อประเมินอาการต่อไป บางครั้งคุณแม่อาจจะต้องพูดคุยกับจิตแพทย์ระหว่างตั้งครรภ์ แต่มีเพียง 14-23 เปอร์เซ็นต์ของคุณแม่ตั้งครรภ์เท่านั้นที่จะพบว่าเป็นโรคซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ระหว่างตั้งครรภ์



เคล็ดลับสำหรับการดูแลของคุณแม่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์

การดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่ามีการตั้งครรภ์นั้นถือเป็นพื้นฐานที่คุณแม่ทุกท่านควรที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อทำให้ตนเองและลูกน้อยแข็งแรงและปลอดภัยจนกว่าที่พวกเขาจะได้ออกมาลืมตาดูโลก เราจึงได้รวบรวมเคล็ดลับการดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ รายละเอียดมีดังต่อไปนี้


บริโภคไขมันดี

นอกจากสามารถอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายแล้ว ไขมันเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ลูกน้อยในครรภ์ของคุณต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันที่จำเป็น เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3) หรือ ดีเอชเอ (DHA) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของสมองและเรตินาของมนุษย์ และมีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองและดวงตาของทารกอีกด้วย ซึ่งคุณแม่สามารถรับ DHA ได้อย่างปลอดภัยจากการทานอาหารจำพวก ปลาเทราท์ ปลาแซลมอน และจากไข่ หรือไม่ทานเนื้อสัตว์สามารถทานเมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย วอลนัท หรือน้ำนมถั่วเหลือง เพื่อเสริมไขมันดีให้กับลูกน้อยในครรภ์ได้



หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์การสูบบุหรี่ ส่งผลอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ จากการวิจัยพบว่าการที่คุณแม่ตั้งครรภ์สูบบุหรี่หรือการได้รับควันจากบุหรี่จากผู้อื่นนั้นเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด พิการตั้งแต่กำเนิด พัฒนาการทางสมองช้า และส่งผลทำให้ทารกในครรภ์นั้นมีน้ำหนักแรกเกิดที่ต่ำกว่าปกติ รวมถึงอาจส่งผลทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนั้นควรงดการสูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้ชิดกับคนสูบบุหรี่ขณะที่กำลังตั้งครรภ์



เลือกทานอาหารที่เป็นประโยชน์

สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์การทานอาหารที่ดีเป็นเรื่องที่ดีสำหรับตัวของคุณแม่เองและสำหรับลูกน้อยในครรภ์เป็นอย่างมาก แต่เรื่องการเลือกอาหารการจะต้องระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น เพราะอาหารบางชนิดอาจทำให้อิ่มท้อง แต่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ นมสด ชีสบางชนิด อาหารปรุงไม่สุก อาการหมักดอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น


เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับคุณที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เราจะมาเรียนรู้ทั้งพัฒนาการของลูกน้อย อาการที่คุณแม่จะต้องพบเจอในแต่ละสัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ละเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยทำให้การตั้งครรภ์ของคุณแม่ง่ายขึ้น ซึ่งคุณแม่สามารถติดตามเรื่องราวของการตั้งครรภ์ในแต่ละสัปดาห์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของเรา หรือเลือกบทความเกี่ยวกับเรื่องตั้งครรภ์ในสัปดาห์ถัดไปและสัปดาห์ก่อนหน้าได้ที่ด้านล่างนี้


บทความที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

10 พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ แม่ท้องห้ามทำอะไรบ้าง

ที่มา : 1, 2, 3, 4