คุณแม่ครรภ์ 39 สัปดาห์ เตรียมตัวสำหรับการคลอดดีแล้วหรือยัง ? สัปดาห์นี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ใกล้คลอดมากแล้ว อีกไม่นานก็จะได้เห็นหน้าลูกน้อยแล้ว พัฒนาการของลูกน้อยที่สมบูรณ์ มีขนาดตัวใหญ่ อาจทำให้คุณแม่อึดอัดได้ แต่ก็คุ้มค่าเมื่อได้เห็นทารกตัวน้อยอย่างแน่นอน
ครรภ์ 39 สัปดาห์ ภาพรวมเป็นอย่างไร ?
ในสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ใกล้คลอดเต็มที่แล้ว คุณแม่จะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ จากขนาดตัวของทารกที่ใหญ่ใกล้เคียงกับตอนคลอดที่สุด เช่น รู้สึกอึดอัด หรือเจ็บเมื่อลูกขยับตัว เป็นต้น ในส่วนของทารกในช่วงนี้จะโตเต็มที่ มีพัฒนาที่พร้อมสำหรับการดำรงชีวิตหลังคลอดแล้ว ดังนั้นคุณแม่จึงต้องคอยเฝ้าสังเกตอาการเจ็บท้อง ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญของการคลอด และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับรับมือการคลอดที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ พัฒนาการลูกในท้อง พร้อมกับอาการที่คุณแม่ควรต้องระวัง !
วิดีโอจาก : Nurse Kids
พัฒนาการทารกในครรภ์ 39 สัปดาห์
โดยเฉลี่ยแล้วแม่ท้องจะมีอายุครรภ์ประมาณ 40 สัปดาห์ บางคนอาจไปได้ถึง 42 สัปดาห์ ทำให้คุณแม่ที่มีครรภ์อยู่ที่ 39 สัปดาห์ ถือว่าเป็นช่วงที่พร้อมคลอดเต็มที่แล้ว โดยในช่วงนี้ทารกนั้นจะมีพัฒนาการที่ถือว่าสมบูรณ์แล้ว หรือใกล้เคียงสมบูรณ์สุด ๆ เตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบหายใจมีความสมบูรณ์ ได้แก่
- ทารกในครรภ์ตอนนี้จะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 3 กิโลกรัม และมีขนาดลำตัวยาวเฉลี่ยประมาณ 21 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดตัวที่ถือว่าอยู่ในช่วงเต็มที่ใกล้คลอดแล้ว
- ขนาดตัวของทารกที่ใหญ่ขึ้นนี้ ส่งผลให้แทบไม่มีที่วางเหลือเลยในมดลูก ถือว่าเป็นขนาดตัวที่ใกล้เคียงกับหลังคลอดที่สุดแล้ว
- สารแอนติบอดี (Antibody) ในร่างกายของคุณแม่จะอาจซึมผ่านผนังของรก และจะเข้าสู่ในกระแสเลือด ช่วยเสริมสร้างเป็นระบบภูมิคุ้มกันโรคชั่วคราวให้กับทารก และจะหมดภายใน 6 เดือน พอดีกับเป็นช่วงที่ทารกสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เองบ้างแล้ว
- ช่วงนี้ร่างกายของทารกยังคงสร้างไขปกคลุมบริเวณผิวหนังอย่างต่อเนื่อง ไขเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อควบคุมอุณหภูมิของร่างกายหลังจากคลอด ซึ่งไขนี้จะค่อย ๆ หลุดออกหลังจากคลอดไปได้เอง
- กระดูกกะโหลกของทารกจะมีความแข็งแรง เพียงพอสำหรับการเตรียมพร้อมที่จะคลอด และสามารถเลื่อนเข้ามาเกยกันได้ เพื่อให้ศีรษะสามารถลอดผ่านช่องเชิงกรานได้ขณะทำการคลอด
- พัฒนาการของร่างกายทารกในครรภ์ 39 สัปดาห์ มีความสมบูรณ์มาก เล็บมือ เล็บเท้ายาว และสามารถลืมตาได้ รวมถึงการทำงานของระบบหายใจก็ดี ทำให้หายใจได้คล่องแล้ว
ด้วยทารกมีพัฒนาการที่พร้อมแล้ว จึงอาจส่งผลให้มีความพร้อมในการคลอด คุณแม่จึงต้องระมัดระวัง เฝ้าติดตามสัญญาณของการคลอดให้ดี และควรเตรียมตัวให้พร้อมเอาไว้เสมอ
อาการของแม่ครรภ์ 39 สัปดาห์เป็นอย่างไร ?
อาการโดยรวมของแม่ท้องในสัปดาห์นี้ เป็นอาการที่เตรียมพร้อมสำหรับการคลอดของทารก โดยจะได้รับผลกระทบจากการที่ทารกเคลื่อนไหวในท่าพร้อมคลอด ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่ที่สุดของทารก ทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด หรือมีอาการปวดได้ นอกจากนี้ยังต้องระวังเรื่องของสัญญาณคลอดที่อาจเกิดขึ้นด้วย ดังนี้
- ช่วงใกล้คลอดนี้ คุณแม่อาจมีอาการเจ็บท้องหลอกได้ตลอด ซึ่งต้องคอยสังเกตให้ดี โดยความรู้สึกจะคล้าย ๆ กับการเจ็บท้องคลอดจริง อาการปวดจะเริ่มก่อนที่บริเวณหน้าท้อง และจะสามารถหายปวดได้ เมื่อคุณแม่ขยับตัวเปลี่ยนท่า คุณแม่ท้องอาจรู้สึกว่ามดลูกมีการหดรัดตัวเป็นช่วง ๆ และหายไป
- หากแม่ท้องรู้สึกถึงการหดรัดตัวอย่างต่อเนื่อง อาการหดรัดไม่หายไป นั่นคือสัญญาณว่าคุณแม่กำลังจะคลอดทารกน้อยแล้ว
- แม่ท้องบางคนอาจมีมูกขาว หรือมูกเลือดไหลออกมาได้ ในสัปดาห์นี้ตกขาวจะมีลักษณะเหนียวข้นเหมือนมูก โดยจะไหลออกมามากกว่าปกติ และบางครั้งอาจมีเลือดปนออกมาด้วย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ และอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณการคลอดที่ต้องเฝ้าระวัง
- ด้วยสัญญาณใกล้คลอดสำคัญมาก คุณแม่ควรจับเวลาของการหดรัดตัวของมดลูก นับตั้งแต่ตอนเริ่ม และควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที หากรู้สึกว่ามดลูกหดรัดตัวถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ยอมหยุด มีการบีบรัดที่แน่น และนานขึ้น เพื่อความปลอดภัย
- มีแรงกดที่มากขึ้นเกิดขึ้นบริเวณเชิงกราน เกิดจากระหว่างที่ลูกกำลังเตรียมพร้อมในท่าทางที่เหมาะสมสำหรับการคลอด ทารกอาจจะเคลื่อนตัวลงมาอยู่จุดที่ต่ำมาก จนอาจทำให้คุณแม่รู้สึกว่าร่างกายช่วงล่างของคุณแม่หนักมาก และมีความอึดอัด
- นอกจากแรงกดแล้ว คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บจี๊ดบริเวณของหัวหน่าว เพราะตอนนี้ลูกอยู่ต่ำมากเช่นกัน เมื่อลูกเคลื่อนไหวอาจจะไปกระทบกระเทือนบริเวณเส้นประสาทที่เปราะบางได้ คุณแม่จะมีอาการเจ็บจี๊ดที่บริเวณหัวหน่าว และอวัยวะเพศได้ บางครั้งอาจเจ็บมาก แต่อาการจะบรรเทาลงได้เองหลังทารกหยุดขยับตัว
การดูแลคุณแม่ใกล้คลอดควรทำอย่างไร ?
ทุกสัปดาห์ที่คุณแม่ท้องจะต้องไปหาแพทย์ หมอจะทำการตรวจครรภ์ประกอบกับการทำอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) เพื่อดูการเจริญเติบโต และตำแหน่งของทารก แพทย์อาจทำการตรวจภายใน เพื่อดูการเปิดของปากมดลูก เพื่อวิเคราะห์กำหนดคลอดให้แม่นยำที่สุด หากพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เกินกำหนด 1 – 2 สัปดาห์ แพทย์อาจใช้วิธีการเร่งคลอด แต่ถ้าหากคุณมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจต้องเร่งคลอดให้เร็วขึ้น เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ และทารก
นอกจากนี้คุณแม่ยังต้องดูแลในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น ควรเริ่มจัดกระเป๋าสำหรับการเตรียมคลอดได้แล้ว เพื่อให้ใช้ทันเวลา ในส่วนของเรื่องอาหาร ยังคงเป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องใส่ใจอยู่ ควรจะต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอเนื่องจากอาจมีความเหนื่อยล้า
ในช่วงที่ใกล้คลอดแบบนี้ คุณแม่และคนรอบตัว ต้องวางแผนเตรียมตัวรับมือให้พร้อมไว้ก่อน คอยระวังอยู่ตลอด หากพบความผิดปกติที่ไม่แน่ใจ ควรพาคุณแม่ไปพบแพทย์ในทันที
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เจ็บท้องคลอด สัญญาณเตือนที่คุณแม่หลายคนควรรู้ !
คลอดธรรมชาติดีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะคลอดแบบธรรมชาติได้ ?
ผ่าคลอดแล้ว ท้องต่อไปจะต้องผ่าอีกไหม ครรภ์แบบไหนต้องผ่าคลอด ?