ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ต้องขอแสดงความยินดีกับว่าที่คุณแม่กันก่อนเลยนะคะ คุณแม่หลายท่านต้องกำลังตื่นเต้นกับการมีลูกน้อยที่จะได้เจอกันในอีก 9 เดือนข้างหน้าอย่างแ 

 1720 views

ต้องขอแสดงความยินดีกับว่าที่คุณแม่กันก่อนเลยนะคะ คุณแม่หลายท่านต้องกำลังตื่นเต้นกับการมีลูกน้อยที่จะได้เจอกันในอีก 9 เดือนข้างหน้าอย่างแน่นอน! ในระยะของการ ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ นั้น หลายคนจะเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทดสอบการตั้งครรภ์เบื้องต้น ด้วยตัวเอง ก็จะสามารถทราบผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าสัปดาห์ที่ 1 และ 2

ก่อนหน้านี้เรามักจะบอกว่า การทดสอบการตั้งครรภ์ในระยะแรกนั้น โอกาสทราบผลที่ชัดเจนจะทำได้ยาก เนื่องจากค่าฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน แต่เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 3 ระดับฮอร์โมน และค่า HCG ในเลือด จะเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น คุณแม่บางคน อาจจะเริ่มมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นจนสามารถสังเกตได้

ท้อง 3 สัปดาห์นับอย่างไร

การนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ ค่อนข้างมีความซับซ้อน และจำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ จึงจะช่วยคำนวณออกมาเป็นสัปดาห์ได้ง่าย แต่ในเบื้องต้นสามารถใช้วิธีเดียวกับการนับอายุครรภ์ได้ โดยอ้างอิงจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งถือว่าเป็นวันแรกของการตั้งครรภ์ เพราะหลังจากครั้งสุดท้ายผ่านไป 2 สัปดาห์ ก็จะเป็นช่วงเวลาที่จะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้หลังจากมีการปฏิสนธิผ่านไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะตรวจพบว่ามีการตั้งครรภ์ แต่อาจไม่ได้หมายความว่ากำลังตั้งครรภ์ได้ 2 สัปดาห์ เพราะอาจจะไปตรวจพบเมื่อผ่านไปแล้ว 1 เดือน 2 เดือน หรือ 3 เดือน หากเป็นเช่นนั้นอายุครรภ์ก็จะไม่ใช่ 2 สัปดาห์ เพื่อที่จะสามารถระบุอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ คุณแม่จำเป็นจะต้องไปทำการตรวจกับแพทย์โดยตรง จึงจะสามารถคำนวณออกมาเป็นสัปดาห์ได้แม่นยำขึ้น

พัฒนาการทารกในครรภ์ อายุครรภ์ 3 สัปดาห์

หากจะถามถึงพัฒนาการของทารกในระยะนี้ นับว่ายังตอบได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากตัวทารกนั้น ยังมีขนาดเล็กยิ่งกว่าเม็ดเกลือ (morula) หรือขนาดเล็กเท่าปลายหัวเข็ม ซึ่งยังคงสภาพเป็นลักษณะของกลุ่มเซลล์ ดังนั้นในระยะนี้จะยังไม่สามารถคาดหวังถึงผลอัลตราซาวนด์ได้แต่อย่างใด

โดยกลุ่มเซลล์จะแบ่งตัวรวดเร็วและต่อเนื่องเป็นทวีคูณตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนที่จะพัฒนาเป็นอวัยวะต่าง ๆ ต่อไปค่ะ ตัวไข่จะมีการฝังตัวเองในผนังมดลูก และเติบโตในอีก 8 เดือนข้างหน้าในช่วงสัปดาห์ที่ 4 หลังจากระยะนี้ เราจะเริ่มเห็นพัฒนาการของเด็กได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1



ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์



อายุครรภ์ 3 สัปดาห์คุณแม่เปลี่ยนแปลงอย่างไร

คุณแม่อาจจะรู้สึกตื่นเต้นที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับร่างกาย ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ท้องจะยังมีขนาดปกติ โดยรูปร่างจะยังไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าจะเข้าสู่การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 12 แต่คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าพุงป่องขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นยังมีเวลาให้เตรียมตัวก่อนที่พุงจะค่อย ๆ ขยายใหญ่จนดูออกว่าเป็นคนท้องจริง ๆ ซึ่งจุดสังเกตมีดังนี้

  • ในระยะนี้คุณแม่อาจยังไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ และอาจเร็วเกินไปที่จะสรุปได้ เพราะไม่มีสัญญาณบ่งบอกที่ชัดเจน แม้ว่าจะวางแผนมีลูกและหยุดคุมกำเนิดมาระยะหนึ่งแล้ว อาจต้องใช้ระยะเวลาอีก 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป กว่าจะรู้แน่ชัดว่าตั้งครรภ์จริง ๆ ค่ะ
  • คุณแม่อีกหลายท่านอาจเริ่มรู้ตัวว่าตัวเองตั้งครรภ์ เพราะมีอาการบางอย่างผิดปกติไป เช่น รู้สึกมีรสชาติแปลก ๆ ในปาก มีสัมผัสรับกลิ่นที่ไวและละเอียดอ่อนกว่าปกติ ช่วงตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ชัดเจนนะคะ คุณแม่อาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของตัวเอง แต่สัมผัสได้ถึงความรู้สึกบางอย่าง อาจเรียกว่าสัมผัสด้วยสัญชาตญาณก็ได้ค่ะ
  • ร่างกายคนท้องจะปรับตัวไปตามธรรมชาติ ในระยะนี้คุณแม่ยังไม่จำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษนะคะ ยังคงออกกำลังกายและทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติค่ะ ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะเคลื่อนที่ไปฝังตัวในมดลูกและฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกการตั้งครรภ์เองค่ะ

สิ่งที่ควรทำในการตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 3

  1. คำนวณวันกำหนดคลอด
  2. ตรวจการตั้งครรภ์ก่อนช่วงที่จะมีรอบเดือน
  3. เสริมวิตามินเพื่อการตั้งครรภ์ที่มีกรดโฟลิคทุกวัน
  4. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก



ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์



อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 3

คุณแม่หลายคนมักจะเริ่มทำการสังเกตตัวเองอย่างอัตโนมัติ เมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 สัปดาห์ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเพียงเล็กน้อย แต่เนื่องจากเราให้ความใส่ใจมากยิ่งขึ้น ทำให้สิ่งเล็กน้อย ปรากฏได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

1. มีไข้ต่ำ ครั่นเนื้อครั่นตัว

อาการไข้ต่ำ จะเริ่มมีปรากฏให้เห็นในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ และมักจะเป็นช่วงเย็นหรือหัวค่ำ ซึ่งอาการนี้จัดว่าเป็นอาการปกติที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีครรภ์อ่อน ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยให้อาการทุเลาลงได้

2. ปวดหลัง

เนื่องจากร่างกายเริ่มมีการขยายตั้งแต่ช่วงอุ้งเชิงกรานลงมา เพื่อเตรียมรองรับตัวอ่อนที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อขยายตัวตาม จึงเกิดอาการปวดเมื่อยตัว ปวดหลัง หรือบั้นเอวช่วงล่าง รวมทั้งอาจจะเป็นตะคริวได้ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนท่านอน หรือใช้หมอนหนุนช่วงขา เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง หากปวดจนทนไม่ไหว ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยด่วนค่ะ

3. อยากทานของเปรี้ยว หรืออาหารที่ไม่เคยทาน

อาการยอดฮิตที่มักจะเห็นคนตั้งครรภ์อ่อน ๆ คือ การอยากอาหารที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งอาการนี้ไม่มีผลวิจัยแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ในบางรายก็อาจจะอยากทานอาหารที่ตนเองไม่เคยมาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น

4. อารมณ์แปรปรวน

สำหรับเรื่องของอารมณ์ อาจจะต้องทำความเข้าใจคนข้างกายว่า คุณจะต้องเจอกับอาการงี่เง่าทางอารมณ์อยู่บ่อยครั้งในช่วงนี้ นั่นเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลถึงอารมณ์ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะร่างกายจะเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปกติ ดังนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรหากิจกรรมทำ เพื่อลดความเครียดทางด้านอารมณ์ค่ะ

5. ไวต่อกลิ่น

ในระยะนี้จะมีสัมผัสกับกลิ่นที่ไวมากยิ่งขึ้น เรียกอาการนี้ว่า “Super Smell” จนทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ได้ ซึ่งอาการนี้ไม่เพียงเฉพาะแค่กลิ่นอาหารเท่านั้น อาจจะเป็นกลิ่นน้ำหอม กลิ่นตัว ได้เช่นกัน

6. ความต้องการทางเพศเปลี่ยนไป

เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ความต้องการทางเพศเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน บางรายความต้องการทางเพศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่บางรายอาจจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นกว่าเดิม แต่ทุกอย่างจะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อเริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่สอง หรืออายุครรภ์ได้ 4 เดือน

7. ร่างกายเริ่มอวบ มีน้ำมีนวลมากขึ้น

ระยะนี้จะเริ่มสังเกตว่า ตัวคุณเหมือนจะอวบ มีน้ำมีนวลมากยิ่งขึ้น บางคนอาจจะสงสัยว่าทานไปหรือไม่ จนต้องหาวิธีลดน้ำหนักหรือควบคุมอาหาร แต่หากมีอาการที่เกริ่นมาในข้อแรก ๆ ประกอบด้วย ให้สันนิษฐานได้ว่าอาจจะตั้งครรภ์นั่นเอง ดังนั้นการใช้ชุดตรวจครรภ์มาทดสอบเบื้องต้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากค่ะ

อาหารบำรุงครรภ์ สำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 2 สัปดาห์

เป็นช่วงเริ่มการปฏิสนธิไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว จะขยายเซลล์ออกไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ดังนั้นต้องเอาใจใส่กับคุณภาพลูกน้อยในครรภ์ ควรเริ่มจริงจังนับตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป กินอาหารที่มีกรดโฟลิกสูงจะช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดง และตัวอ่อนควรได้รับกรดโฟลิก และวิตามินรวมให้ได้วันละ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ช่วงก่อนตั้งครรภ์ไปจนปลายสัปดาห์ที่ 12 โดยอาหารบำรุงครรภ์ช่วงเดือนแรก แม่ท้องควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมด้วยเมนูผักต่าง ๆ และผลไม้สด ควรเลือกกินดังนี้

  • อาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลต : จำพวกเนื้อสัตว์ ผักใบเขียว จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับเซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์ของตัวอ่อน รวมทั้งช่วยป้องกันและลดปัญหาความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง และระบบประสาทของทารกในครรภ์ด้วย
  • อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง : ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอด ไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ช่วยไม่ให้เกิดเลือดจาง สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กจะทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงได้มากพอ ที่จะลำเลียงออกซิเจนจากเลือดแม่ไปสู่ส่วนต่าง ๆ  ส่งต่อไปยังลูกผ่านทางรก อาหารที่มีธาตุเหล็กประกอบมีอยู่หลายชนิด เช่น อาหารกลุ่มธัญพืช ถั่วตระกูลต่าง ๆ ตับ ไข่แดง ผักใบเขียว และเนื้อสัตว์ เป็นต้น



ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์



เคล็ดลับการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์

เนื่องจากเป็นครรภ์อ่อนและยังไม่รู้ตัว บางคนอาจจะมีการทานยาคุมกำเนิด ทานวิตามิน หรือใช้ชีวิตตามปกติ แต่เมื่อเริ่มรู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้ว จำเป็นจะต้องจัดระบบชีวิตตัวเองใหม่ เพื่อความปลอดภัยของลูก และเพื่อสุขภาพของตัวคุณแม่เองค่ะ

  • ยาทุกชนิดที่คุณแม่เคยทานอยู่เดิม ควรจะหยุดก่อนค่ะ รีบไปพบและปรึกษาแพทย์เบื้องต้น : เนื่องจากยาหรือวิตามินบางประเภท อาจจะส่งผลกระทบเด็กในครรภ์ได้ ซึ่งโดยปกติคุณหมอมักจะให้คุณแม่เลือกทานวิตามินและกรดโฟลิกที่จำเป็น ทั้งนี้ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์อย่างเหมาะสม

  • ระมัดระวังอันตรายรอบตัว หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบกับร่างกายแม่ : ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมีต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการกระแทก เพราะอาจส่งผลกระทบถึงครรภ์ได้

  • งดดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาหารที่ไม่มีประโยชน์ : คุณจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าทานอะไรเข้าไป ลูกในท้องก็เช่นกัน เนื่องจากเขาต้องอาศัยสารอาหารจากที่คุณทานหรือดื่ม ดังนั้นควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และหันมาทานอาหารที่มีประโยชน์จะดีที่สุดค่ะ

  • งดทำความสะอาดกระบะทรายแมว : สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากสิ่งปฏิกูลของแมวนั้น จะมีเชื้อโรคที่ส่งผลจะกระทบโดยตรงผ่านการหายใจ หากมีการทำความสะอาดการจัดเก็บกระบะทรายแมว จะทำให้เชื้อเข้าสู่ปอด และส่งผลถึงเด็กในครรภ์ได้ ดังนั้นควรเลี่ยงไม่ให้คนท้องทำเด็ดขาดค่ะ

  • แจ้งทันตแพทย์ว่าคุณตั้งครรภ์ : การทำฟันมีหลายวิธีที่มีผลต่อครรภ์ ดังนั้นหากตั้งครรภ์จำเป็นจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อการหลีกเลี่ยงขั้นตอนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์นั่นเอง

  • งดกิจกรรมโลดโผนทุกชนิด : คุณแม่ที่มีกิจกรรมโลดโผน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหนัก เดินป่า ปีนป่าย ชกมวย ฯลฯ ให้งดกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ทันที เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเด็กในครรภ์นั่นเองค่ะ


หวังว่าข้อมูลในบทความนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่มือใหม่ หรือคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ เพื่อเป็นความรู้ในเรื่องการเจริญเติบโตของลูกน้อย อาการความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และข้อควรปฏิบัติเคล็ดลับต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจในสถานการณ์และเตรียมตัวรับมือไว้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ทุกท่านด้วยนะคะ หากต้องการข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่และลูกน้อยสามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของเราได้ในเว็บไซต์นี้ค่ะ


บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ที่มา : 1, 2