แม่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ ไตรมาส 3 กับภาวะเหนื่อยล้าจากขนาดครรภ์

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ กำลังเผชิญหน้ากับอาการเหนื่อยล้า หรือสายตาเริ่มพร่ามัวอยู่หรือเปล่า ? อาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ และจ 

 1322 views

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ กำลังเผชิญหน้ากับอาการเหนื่อยล้า หรือสายตาเริ่มพร่ามัวอยู่หรือเปล่า ? อาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ และจะหายไปหลังคลอด แต่หากมีความกังวลอาจปรึกษาแพทย์ได้ แล้วนอกจากอาการผิดปกติกับร่างกายที่เรากล่าวมา ทารกในครรภ์จะเป็นอย่างไรบ้าง ลองอ่านดูจากบทความนี้ได้เลย

ภาพรวมของคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วง 34 สัปดาห์

ครรภ์ช่วงนี้เป็นช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นไตรมาสสุดท้าย และท้องแก่เต็มที่แล้ว ทารกที่มีพัฒนาของตนเองเพื่อให้สามารถรับมือกับโลกภายนอกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลโดยตรงต่อขนาดของหน้าท้องของคุณแม่ที่ใหญ่ขึ้นมาก ในขณะที่ทารกกำลังมีพัฒนาการที่รวดเร็ว คุณแม่จะต้องคอยแบกรับน้ำหนักตัว จนทำให้เกิดความเสี่ยงที่คุณแม่จะพักผ่อนน้อยลง ทำให้เกิดภาวะอื่น ๆ ตามมา หากไม่ดูแลตนเองให้ดี หรือไม่ให้เวลาพักผ่อนกับตนเองอย่างเพียงพอ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์ และพัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 3

วิดีโอจาก : โตไปด้วยกัน Family Journey

พัฒนาการทารกในครรภ์ 34 สัปดาห์

ทารกในช่วงครรภ์สัปดาห์ที่ 34 จะมีพัฒนาการทางด้านระบบประสาทสมอง และการหายใจที่ดีมากขึ้น ด้วยเวลาที่เหลืออยู่ไม่มาก ส่งผลให้ทารกเริ่มเตรียมพร้อมต่อการดำรงชีวิตด้วยการหายใจได้เองหลังจากคลอด นอกจากนี้ยังมีขนาดตัว และผิวหนังที่เหี่ยวย่นน้อยลงมาก ดังนี้

  • ทารกน้อยจะมีน้ำหนักประมาณ 2.25 กิโลกรัม และมีขนาดลำตัวยาวขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 1/2 นิ้ว
  • ส่วนใหญ่ทารกในครรภ์ช่วงนี้จะอยู่ในท่าเอาศีรษะลงมาแล้ว โดยจะอยู่เหนือช่องเชิงกรานในท่ากลับหัว เป็นสัญญาณว่าทารกน้อยเตรียมพร้อมที่จะออกมาดูโลกแล้ว
  • เซลล์สมองทารกในครรภ์ 34 สัปดาห์จะขยายขนาดใหญ่ขึ้น  ใยของระบบประสาทมีการแผ่ขยายมากขึ้นตามไปด้วย สมองจะมีรอยหยัก เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บข้อมูล หากเซลล์สมองมีขนาดใหญ่ มีเส้นใยมาก จะทำให้มีความจำ มีการเรียนรู้ และสามารถรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ไขมันยังคงสะสมใต้ผิวหนังมากขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมให้ทารกรู้สึกมีความอบอุ่นหลังจากออกไปเจอโลกภายนอก ไขมันเหล่านี้ช่วยทำให้ผิวของทารกเรียบตึงไม่หย่อน หรือมีรอยย่นเหมือนช่วงแรก ๆ
  • ระบบประสาทส่วนกลาง และปอดของทารกในครรภ์ เริ่มพัฒนาจนเกือบสมบูรณ์แล้ว รวมถึงต่อมหมวกไตของทารกจะสามารถผลิตฮอร์โมนสเตอรอยด์ (Steroid Hormones) มากขึ้นได้สูงสุดเป็น 10 เท่า
  • เล็บมือกับเล็บเท้าของลูกน้อยในครรภ์มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นจนเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นแล้ว และปอดของลูกน้อยยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับในไตรมาสนี้ถือว่าใกล้จะสมบูรณ์รองรับการหายใจด้วยตนเองแล้ว


ครรภ์ 34 สัปดาห์


อาการของแม่ท้องครรภ์ 34 สัปดาห์เป็นอย่างไร ?

ในช่วงนี้อาการของคุณแม่จะพบกับความผิดปกติทางด้านร่างกายมากยิ่งขึ้น ซึ่งภาพรวมนั้นมาจากสาเหตุของขนาดครรภ์ในไตรมาสสุดท้ายที่มีขนาดใหญ่อย่างมาก ส่งผลให้คุณแม่ได้รับการพักผ่อนน้อยลง จนมีอาการ หรือผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาด้วย ได้แก่

  • เนื่องจากเป็นช่วงที่คุณแม่ท้องแก่แล้ว คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยเมื่อยล้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากตอนนี้คุณแม่จะต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่ค่อนข้างมากจากขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ที่สุดจากทุกไตรมาส และยังเจอปัญหากับการนอนไม่ค่อยหลับ นอนหลับยากอีกด้วย การพักผ่อนน้อย หรืออาการเหนื่อยล้านี้อาจทำให้คุณแม่เครียดได้
  • แม่ท้องบางคนอาจมีอาการท้องผูก เนื่องจากอาการท้องผูกจะพบบ่อยในช่วงสัปดาห์นี้ อาการนี้จะยิ่งทำให้คุณแม่รู้สึกไม่ค่อยสบายตัว อาจช่วยบรรเทาอาการด้วยการพยายามเดินให้บ่อย ๆ และดื่มน้ำให้มาก ๆ สามารถช่วยอาการขับถ่ายลำบากได้
  • เกิดแรงกดในท้องมากขึ้น จากการที่เจ้าตัวน้อยแสดงปฏิกิริยา เป็นสัญญาณว่าใกล้ออกมาดูโลกแล้ว เริ่มมีการเคลื่อนตัว มีการดิ้น และเตะมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณแม่รู้สึกว่าถูกกดที่บริเวณอุ้งเชิงกราน และทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ทำให้มีปัญหาปัสสาวะระหว่างวันได้
  • มีอาการปวดเกิดขึ้นหลายจุดบนร่างกายไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหลัง, ปวดขา หรือปวดหัวหน่าว เป็นต้น อาการปวดเหล่านี้มาจากท้องที่โตมากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ขนาดของท้องนั้นยังทำให้คุณแม่หายใจเร็ว หายใจถี่ขึ้นมากด้วย เนื่องจากอาจรู้สึกหายใจได้ไม่เต็มปอด เพราะมดลูกอาจเบียดกับอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย
  • แม่ท้องบางคนอาจเผชิญกับปัญหาตาสายตาเริ่มพร่ามัว ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากในช่วงนี้คุณแม่มักนอนพักไม่เพียงพอ นอกจากนี้อาจเจอกับอาการอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น อาการบวม, ปวดหัว หรือน้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น ซึ่งมักจะหายไปได้เองหลังจากคลอด แต่หากคุณแม่สังเกตว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ หรือมีความสงสัยในอาการของตนเองให้รีบพบแพทย์ทันที


บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 3

ครรภ์ 34 สัปดาห์ 2


ควรดูแลแม่ท้องช่วงนี้อย่างไรดี ?

เนื่องจากปัญหาหลักมาจากการได้พักผ่อนน้อย จนอาจทำให้เกิดความเครียด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งคุณแม่ และทารกในครรภ์ จึงต้องให้ความสำคัญกับการพักผ่อนระหว่างวันบ้าง หากพบว่าตนเองมีความเครียดควรหากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ และพยายามหาหมอนมาหนุนช่วยตอนกลางคืน เพื่อให้รู้สึกสบายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เช่น ท้องผูก ควรดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ และเพิ่มปริมาณการทานผักผลไม้ หรืออาการปัสสาวะบ่อย คุณแม่ควรวางแผนให้ดีก่อนเดินทางไกลด้วย ในช่วงนี้คุณแม่ต้องระวังมากขึ้นจากการเคลื่อนไหว เพราะมีน้ำหนักตัว และอาจพักผ่อนน้อย ไม่ควรรีบเคลื่อนไหว เพราะอาจล้มจนเป็นอันตรายได้

คุณแม่ท้องช่วงนี้อย่าลืมติดตามอาการ หรือสัญญาณของการคลอดด้วย คุณแม่ควรเตรียมตัวให้ดี เช่น กระเป๋าคุณแม่ หรือเตรียมการเดินทางไปยังสถานพยาบาลที่เร็วที่สุดไว้ เพราะอาการคลอดอาจมาได้ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องตรงตามกำหนดคลอดเสมอไป

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ครรภ์ 37 สัปดาห์ ช่วงแรกของกำหนดคลอด มีอะไรที่สำคัญบ้าง ?

ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 3

ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ ครรภ์เกินกำหนด ทำอย่างไรดี ?

ที่มา : 1, 2