โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่อันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน และแม่ตั้งครรภ์ ที่อาจส่งผลร้ายต่อหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูงยังสามารถทำให้ร่างกายของเราเกิดโรคร้ายตามมาอย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคนี้มักไม่มีอาการ และมักจะเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมได้ วันนี้เรามีบทความดี ๆ เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง มาฝากเพื่อให้คุณแม่ได้พร้อมรับมือค่ะ
โรคความดันโลหิตสูงคืออะไร?
ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดง โดยจะสูงกว่าปกติตลอดเวลา ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะอันตรายต่อสุขภาพตามมา ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคความดันโลหิตสูง เกิดจากอะไร?
โรคความดันโลหิตสูง แบ่งสาเหตุในการเกิดเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด (Primary Hypertension หรือ Essential Hypertension) : เป็นชนิดที่ยังไม่สามารถระบุถึงต้นเหตุในการเกิดได้
- ชนิดที่ทราบสาเหตุ (Secondary Hypertension) : เกิดจากหลายสภาวะ เช่น ปัญหาต่อมไทรอยด์ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การใช้ยาบางชนิด หลอดเลือดผิดปกติ การใช้สารเสพติด และแอลกอฮอล์ เป็นต้น
โรคความดันโลหิตสูง อาการเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จะไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติ ยกเว้นผู้ป่วยที่เป็นในระยะรุนแรง ก็อาจมีอาการแสดงออกมา เช่น หายใจสั้น ปวดศีรษะรุนแรง และเลือดกำเดาไหล ซึ่งอาการเหล่านี้ยังถือเป็นอาหารที่บอกไม่ได้ชัดเจน ผู้ป่วยบางคนอาจตรวจพบภาวะซ้อนเหล่านี้ จากการตรวจความดันโลหิตสูงแล้ว เราจึงควาหมั่นตรวจสุขภาพ และวัดค่าความดันโลหิตเป็นประจำ เพราะโรคนี้อาจไม่แสดงอาการที่ชัดเจน จนบางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างไม่ทันตั้งตัวได้
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง
สำหรับผู้ป่วยที่ละเลยในโรคความดันโลหิตสูง และดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองไม่ถูกต้อง ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ โดยภาวะที่มักจะพบคือ โรคเกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือดแดง โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง มีปัญหาทางสายตา และทางสมองในด้านความจำ หรืออาจเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ โดยภาวะเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากโรคความดันโลหิตสูงโดยตรง จนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต
อันตรายของความดันโลหิตในระหว่างตั้งครรภ์
แม่ตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้เกิดภาวะอันตรายแก่ร่างกาย โดยเฉพาะตับ ไต และสมอง รวมทั้งยังส่งผลให้เลือดที่ผ่านรกไปยังลูกลดลง จนอาจเป็นอันตรายแก่เด็ก เพราะไม่ได้รับออกซิเจน และสารอาหารที่เพียงพอ นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามแม่ท้องควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดจนเกินไป และให้นับจำนวนการดิ้นของทารก เพื่อสังเกตว่ามีภาวะที่รุนแรงที่อาจอันตรายต่อลูกน้อยไหม จากนั้นจึงควรไปติดตามอาการตามที่แพทย์นัดค่ะ
แม่ท้องรายไหนที่ควรระวัง?
ภาวะความดันโลหิตสูงอาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน อย่างไรก็ตามคุณแม่บางคนอาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิงทั่วไป โดยผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่
- คุณแม่ท้องแรก
- คุณแม่ท้องแฝด
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคไต
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์
ผลร้ายของโรคความดันโลหิตสูง
ผู้ป่วยที่ไม่เข้ารับการรักษา อาจทำให้เกิดผลร้ายแก่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ตา : มีการเปลี่ยนที่เรตินา ซึ่งเป็นส่วนของประสาทตา และหลอดเลือดที่ทำให้มองเห็น โดยผู้ป่วยที่ไม่ยอมรักษาอาจมีเลือดออกหรือน้ำคั่งในบริเวณตา รวมทั้งยังทำให้ประสาทตาเสื่อมสมรรถภาพจนถึงขั้นมองไม่เห็นได้
- สมอง : ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ และอาจทำให้บางส่วนของเนื้อสมองเกิดอัมพาตได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเส้นเลือดในสมองโป่งพอง และอาจทำให้เส้นเลือดนั้นแตกจนเลือดออกในสมอง และถึงขั้นเสียชีวิต
- หัวใจ : ผู้ป่วยบางคนอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจที่หนาขึ้น หรือหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบลง จนทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจล้มเหลว
- ไต : ทำให้เนื้อจากหลอดเลือดแข็ง และตีบลง และทำให้ไตกรองของเสียได้น้อยลง จนเกิดการคั่งของของเสียในร่างกายมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ไตทำงานผิดปกติ และมีความเสี่ยงภาวะไตวายได้
การรักษาโรคความดันโลหิตสูง
หากพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต โดยเริ่มจากการรับประทาน ให้ลดอาหารประเภทเค็ม และเน้นการรับประทาน ผักผลไม้ที่มีกากใยสูง รวมถึงปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมัน หลีกเลี่ยงการทานเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง รวมถึงงดการดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยรักษาโรคนี้ได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคู่การรับประทานยาเพื่อปรับค่าความดันโลหิตให้ลดลง อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคความดันโลหิตสูงยังต้องคำนึงถึงชนิดของโรคด้วย เพราะหากผู้ป่วยเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ อาจยากต่อการรักษาจนต้องวินิจฉัยกันต่อไป
วิธีการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
การป้องกันความดันโลหิตในระยะยาว สามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ทั้งในเรื่องการรับประทาน การออกกำลังกาย และการควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถป้องกันภาวะนี้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- งดสูบบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนัก
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงอาการที่มีไขมันสูง
- ตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ
- จำกัดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง
- ตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลเป็นประจำ
โรคความดันโลหิตสูง ถือเป็นโรคที่ควรเข้ารับการรักษาอย่างเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ทราบว่าตัวเองมีภาวะความดันโลหิตสูงแล้ว ควรรีบเข้าวินิจฉัย และตรวจสุขภาพ เพื่อหาโรคที่อาจแฝงมากับความดันโลหิตสูงด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ครรภ์เป็นพิษ เกิดจากอะไร อันตรายต่อเด็กและแม่ท้องหรือไม่?
ไทรอยด์เป็นพิษ คืออะไร อาการแบบไหนเสี่ยงไทรอยด์ผิดปกติ?
โรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางทางพันธุกรรม สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา